กวีหนุ่มนั่งรถโดยสารประจำทาง เดินทางทุลักทุเลฝ่าหิมะที่โปรยปรายลงมาไม่ขาดสาย ความเงียบของหิมะ ผู้คนแปลกหน้า และเมืองอันห่างไกล ปลุกเร้าจินตภาพเชิงกวีนิพนธ์ของเขาให้ฟื้นตื่นขึ้นอีกครั้ง กวีหนุ่มนามว่า ‘คา’ เขากำลังเดินทางไปที่เมืองคาร์ส เมืองสุดขอบชายแดนของตุรกี เมืองที่กำลังจะมีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีในอีกไม่ช้า พร้อมๆ กับที่มีข่าวอื้อฉาวว่าด้วยการฆ่าตัวตายหมู่ของเหล่าเด็กสาวผู้ยืนยันจะสวมฮิญาบ เหตุฆาตกรรมปริศนา และการเคลื่อนไหวของกองกำลังกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มเคร่งศาสนาและกลุ่มชาตินิยม
ออร์ฮาน ปามุก (Orhan Pamuk) เขียนนวนิยายเรื่อง ‘หิมะ’ (Snow) ด้วยชั้นเชิงของวรรณกรรมแนว ‘ธรรมชาตินิยม’ (Naturalism) โดยการวาง คา—ตัวละครเอกของเรื่องลงไปในสภาพแวดล้อมของเมืองคาร์สที่พายุหิมะทำให้เมืองทั้งเมืองถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ความซึมเซาของเมืองและผู้คนในเมืองแทบจะหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ในแง่นี้ ‘หิมะ’ ในฐานะพลังของธรรมชาติ จึงไม่ได้กำหนดแค่ความเป็นไปในชีวิตของผู้คนในเมืองนี้เท่านั้น แต่พลังของมันยังมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองของเมืองชายแดนแห่งนี้อย่างคาดไม่ถึง
ก่อนที่คาจะเดินทางมาที่คาร์ส เขาเคยลี้ภัยการเมืองจากตุรกีไปอยู่ที่เยอรมนีนานถึง 12 ปี แต่แล้วเมื่อชะตากรรมผันผวนทำให้เขากลับมาตุรกีอีกครั้ง เสียงเพรียกแห่งชีวิตก็ทำให้เขาย้อนกลับมาทบทวนถึงความหมายและความว่างเปล่าของชีวิตที่ผ่านมา เขาหวนคิดถึง ‘อิเป็ค’ หญิงสาวผู้เป็นรักฝังใจในวัยเยาว์ ซึ่งบัดนี้เธอย้ายจากอิสตันบูลมาใช้ชีวิตที่เมืองคาร์สพร้อมกับบิดาและน้องสาว พร้อมกันนั้นคายังรู้อีกด้วยว่าอิเป็คมีชีวิตแต่งงานที่ล้มเหลวและหย่ากับสามีมานานแล้ว เขาจึงหวังว่าจะหว่านล้อมขอเธอแต่งงาน และพาเธอออกจากชีวิตในเมืองเล็กๆ ที่ปิดตายแห่งนี้กลับไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยกันที่เยอรมนี
แต่ในฐานะผู้มาเยือนจากต่างถิ่น คาไม่ได้บอกวาระส่วนตัวดังกล่าวนี้กับชาวเมืองและเจ้าหน้าที่ของทางการ ข้ออ้างที่เขาใช้ในการเดินทางมาที่เมืองนี้คือ มาทำข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ฆ่าตัวตายหมู่ของกลุ่มเด็กสาวที่สวมฮิญาบ ในช่วงต้น นวนิยายพาผู้อ่านลงไปสอบปากคำและพูดคุยกับชาวเมือง อันจะเผยให้เห็นความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนาที่คุกรุ่นอยู่ในเมืองอันหนาวเหน็บแห่งนี้
คาตกกระไดพลอยโจนเข้าไปพัวพันกับผู้คนและเหตุการณ์หลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์สังหารผู้อำนวยการสถาบันการศึกษา นวนิยายใช้เหตุการณ์นี้เป็นบทโหมโรงเปิดไปสู่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐซึ่งถืออุดมการณ์แบบโลกวิสัย (secularism) ที่ต้องการจะแยกศาสนาออกจากการเมืองอย่างเด็ดขาด ผ่านการออกกฎห้ามไม่ให้เด็กสาวสวมฮิญาบไปโรงเรียน กับฝ่ายอิสลามการเมืองซึ่งเป็นกลุ่มเคร่งศาสนา ที่ต้องการจะตอบโต้กับอำนาจอันไม่ชอบธรรมของรัฐที่พยายามจะจำกัดการแสดงออกทางศาสนา
ความขัดแย้งดังกล่าววางอยู่บนสิทธิเหนือร่างกายตนเองสองแบบที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิงนั่นคือ สิทธิเหนือร่างกายตนเองที่รัฐมอบให้ผ่านการออกกฎห้ามสวมฮิญาบ (ซึ่งจะปลดปล่อยสตรีออกจากการบังคับของศาสนา) กับสิทธิเหนือร่างกายตนเองที่จะสวมหรือไม่สวมฮิญาบ (โดยที่ไม่ต้องมีอำนาจรัฐเข้ามายุ่มย่าม) ในแง่นี้ การยืนยันจะสวมฮิญาบมาโรงเรียนจึงกลายเป็นการขบถต่ออำนาจรัฐที่เข้ามายุ่มย่ามกับร่างกายของพลเมือง แม้ว่าโดยจุดมุ่งหมายทางอุดมการณ์แล้วรัฐต้องการจะปลดปล่อยพลเมืองออกจากข้อบังคับทางศาสนาก็ตาม ‘กับดัก’ ทางอุดมการณ์ดังกล่าวนี้จึงกลายเป็นจุดอ่อนที่ฝ่ายอิสลามการเมืองนำมาโจมตีฝ่ายรัฐได้อย่างทรงพลัง
ในขณะเดียวกัน ฝ่ายอิสลามการเมืองซึ่งเป็นกลุ่มเคร่งศาสนาก็ต้องเผชิญกับดักทางความคิดความเชื่อที่ทิ่มแทงตัวเองไม่แพ้กัน กล่าวคือ ศาสนาอิสลามซึ่งเชื่อว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาปมหันต์ จนกระทั่งต้องมีการติดประกาศคำเตือนไว้ทั่วเมืองว่า “มนุษย์เป็นผลงานชั้นเลิศของพระเจ้า การฆ่าตัวตายเป็นการลบหลู่พระองค์” จะตอบคำถามอย่างไรเมื่อมีเด็กสาวสวมฮิญาบพร้อมใจกันฆ่าตัวตายเพื่อยืนยันศรัทธาอันแรงกล้าที่มีต่อศาสนา
…
ถัดจากนั้น เราจะค่อยๆ รับรู้ว่าผู้คนที่เดินทางมาเมืองคาร์สในช่วงเวลาที่เมืองทั้งเมืองถูกจองจำไว้ด้วยพายุหิมะไม่ได้มีเพียงแต่คาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคณะละครเวทีของ ซูเนย์ ซาอิม และฟันดา อีเซอร์ คู่สามีภรรยานักแสดงละครเวทีแนวปฏิวัติที่เดินทางมาเปิดการแสดงที่โรงละครแห่งชาติในเมืองนี้ด้วย
ทั้งซูเนย์และฟันดาโด่งดังและเติบโตขึ้นบนพลังของอุดมการณ์แบบโลกวิสัย การแสดงละครของทั้งคู่จึงมิใช่เพียงแค่การเต้นกินรำกินเท่านั้น ทว่าทั้งคู่มีอุดมคติในการแสดงละครที่ทะเยอทะยานอย่างยิ่งนั่นคือ การหลอมรวมศิลปะการแสดงและอุดมการณ์ทางการเมืองเข้าไว้ด้วยกัน ซูเนย์อาศัยการเมืองเป็นบันไดเพื่อบรรลุความเป็นเลิศทางศิลปะ และอาศัยพลังทางศิลปะประกาศกร้าวถึงพลังอุดมการณ์ทางการเมือง
สิ่งที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้เปล่งประกายอย่างยิ่งคือ การใช้มายากลทางศิลปะพร่าเลือนระหว่าง ‘ความจริง’ และ ‘การแสดง’ เพื่อก่อการปฏิวัติยึดอำนาจในทางการเมือง อันที่จริงการปฏิวัติดังกล่าวเป็นทั้ง ‘การปฏิวัติทางศิลปะ’ และ ‘การปฏิวัติด้วยศิลปะ’ ที่ทำให้อุดมคติทางศิลปะและอุดมคติทางการเมืองเคลื่อนเข้ามาบรรจบกัน ดังนั้นกว่าที่ผู้ชมในโรงละครและเมืองทั้งเมืองจะรู้ว่าพวกตนตกอยู่ใต้อำนาจของคณะปฏิวัติเข้าให้แล้ว ก็เมื่อเสียงปืนดังขึ้น มีการล้อมปราบ การประกาศกฎอัยการศึก และการจับกุมคุมขังที่ตามมาหลังจากนั้น โดยพุ่งเป้าไปที่ผู้นำและกองกำลังของกลุ่มเคร่งศาสนาที่แฝงตัวอยู่ในเมืองนั้น
ในขณะที่การปฏิวัติและความผันผวนทางการเมืองดำเนินไป คากับอิเป็คก็ค่อยๆ สานสัมพันธ์กันเงียบๆ แม้ทั้งเมืองจะเต็มไปด้วยกลิ่นคาวเลือด ควันปืน และไฟแห่งความขัดแย้ง แต่ก็ราวกับว่าสิ่งเหล่านั้นถูกทอนออกไปให้เป็นเพียงฉากหลังจางๆ ไม่ต่างจากเกล็ดหิมะที่โปรยปรายลงมา คาพยายามจะกันตัวเองออกมาจากเหตุการณ์เหล่านั้นเท่าที่ทำได้ ความปรารถนาของเขามีอยู่เพียงไม่กี่อย่าง การค้นพบความสุขในบทกวี การได้แต่งงานกับอิเป็คและใช้ชีวิตร่วมกับเธอที่เยอรมนี
ชีวิตของคาในเมืองแห่งนี้จึงเสมือนการตื่นอยู่ในฝันของคนอื่น ความฝันเฟื่องบ้าบอของการปฏิวัติปาหี่ที่ทำให้เขาต้องติดหล่มอยู่ในเมืองเพี้ยนๆ แห่งนี้ เพียงรอเวลาให้หิมะหยุดตก เส้นทางรถไฟเปิดทำการ เขาและอิเป็คจะหอบกระเป๋าออกไปให้เร็วที่สุด ในสายตาของคา ทั้ง ‘หิมะ’ และ ‘การปฏิวัติ’ กลายเป็นสิ่งสามัญเสมอกันในฐานะอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เขาค้นพบความสุขในชีวิต
…
ในช่วงท้ายของนวนิยาย ผู้เขียนท้าทายผู้อ่านอีกครั้งด้วยการใช้ชั้นเชิงการเขียนในแบบ ‘อภินวนิยาย’ (metafiction) หรือ ‘เรื่องเล่าที่เล่าถึงตัวมันเอง’ เพื่อเผยให้เห็น ‘เบื้องหลังการถ่ายทำ’ ด้วยการเปิดทางให้ ‘ผม’ ซึ่งก็คือออร์ฮาน ปามุก—ผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ ก้าวเข้ามาเป็นตัวละครในนวนิยายของตัวเองในฐานะเพื่อนของคา
ปามุกพาเราย้อนกลับไปตามรอยชีวิตของคาที่เยอรมนี ตามหาบทกวีที่หายไป และนำสมุดบันทึกจำนวนมากของคาที่เขียนบันทึกถึงช่วงเวลาที่เขาเดินทางไปคาร์สมาปะติดปะต่อกันเข้าเป็นนวนิยายที่เรากำลังอ่านอยู่นี้ ด้วยกลวิธีนี้ไม่เพียงแต่นวนิยายจะยั่วล้อตัวมันเอง แต่ยังเป็นการคืนอำนาจให้ตัวละคร และเปิดทางให้เสียงของตัวละครได้กล่าวกับผู้อ่านโดยตรง ดังที่ตัวละครหนึ่งกล่าวกับออร์ฮานในตอนท้ายเรื่องว่า
“…ผมอยากจะบอกคนอ่านของคุณว่า อย่าเชื่ออะไรก็ตามที่คุณบอกเกี่ยวกับตัวผม หรืออะไรก็ตามที่คุณเขียนเกี่ยวกับพวกเราที่นี่ ไม่มีใครที่อยู่ไกลขนาดนั้นจะเข้าใจเราได้หรอกครับ” (หน้า 563)
Tags: หิมะ, Orhan Pamuk