Venom (2018) เคยสร้างปรากฏการณ์สมัยเมื่อออกฉายในฐานะหนังซูเปอร์ฮีโร่ โดยเล่าถึงปรสิตจากต่างดาวที่เล็ดลอดเข้ามายังโลกมนุษย์ และจำต้องใช้ร่างของสิ่งมีชีวิตอื่น (host) ในการดำรงชีพ ‘เวน่อม’ หนึ่งในปรสิตที่ว่าจับพลัดจับผลูมาสิงร่างของ เอ็ดดี บร็อก (ทอม ฮาร์ดี) นักข่าวตกอับที่ต้องจำใจให้เจ้าเอเลี่ยนสิงสู่อยู่ในร่าง เพื่อใช้ความสามารถของเวน่อมปกป้องโลกและมนุษยชาติจากวายร้ายผู้มีพลังทัดเทียมกันกับพวกเขา

สิ่งที่ทำให้ Venom ถูกพูดถึงอย่างมากคือท่าทีที่หนังจับจ้องไปยังตัวละครเวน่อมและสถานะหลบๆ ซ่อนๆ อันเนื่องมาจากบร็อกเองก็ไม่อาจเผยรูปร่างหน้าตาแบบเวน่อมให้คนอื่นเห็นได้ เขาจึงกดให้มันสิงอยู่ในร่างเขา และเปิดโอกาสให้มันได้ออกมาบ้างก็เฉพาะเมื่อเขาอยู่เพียงลำพังในห้องส่วนตัวเท่านั้น ขณะที่เวน่อมเองก็ดิ้นรนอยากได้รับการปลดปล่อยจากเจ้าของร่างที่ก็กลายเป็นครึ่งหนึ่งของมันไปแล้วในที่สุด หลายคนจึงเทียบเคียงภาวะเช่นนี้ว่าราวกับเป็นคนที่ต้องเก็บเร้นความเป็นตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องรสนิยม เพศสภาพ ไว้ให้พ้นจากสายตาของสังคมเนื่องจากไม่อยากถูกตัดสิน และเวน่อมก็เป็นภาพแทนของตัวตนอีกส่วนหนึ่งที่โหยหาการได้รับการยอมรับ การได้เป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องถูกจำกัดให้ได้ ‘ออกมา’ แค่เฉพาะเมื่อบร็อกอยู่ลำพังเพียงคนเดียว

ยิ่งเมื่อเราพิจารณาจากภาคต่อ Venom: Let There Be Carnage (2021) เราจะพบว่าประเด็นความหลากหลายทางเพศและสถานะ ตัวตนต่างๆ นั้นยิ่งแข็งแรงขึ้นไปอีก กล่าวคือในภาคนี้ แม้บร็อกจะยังปรับตัวกับการมีเวน่อมมาอยู่ในชีวิตไม่ค่อยได้ แต่เขาก็พยายามขีดเส้นแบ่งและเขียนกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เวน่อมทำตามโดยที่ไม่ต้องเดือดร้อน โดยมีกฎเหล็กคือห้ามกินคน (อันเป็นอาหารโปรดของเจ้าปรสิต) และหันไปถูไถกินไก่ (ที่ในเวลาต่อมาเวน่อมก็เห็นว่าพวกมันเป็นเพื่อนเลยกินไม่ลง) หรือไม่ก็ช็อกโกแลตร้านขายของชำใกล้บ้าน (ที่บางทีของก็ขาด มาบ้างไม่มาบ้าง) จนถึงที่สุด ความกดดันของการใช้ชีวิตอยู่ในรั้วเงาเดียวกันก็ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองเป็นอันขาดสะบั้น 

หนังถ่ายทอดฉากที่ทั้งสองปะทะกันด้วยน้ำเสียงและท่วงท่าแบบหนังโรแมนติก-คอมเมดี้ ที่สามีตีกันในครัวกับภรรยา ไล่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกจากบ้าน ทั้งยังโยนข้าวของอีกฝ่ายออกจากหน้าต่าง ยิ่งย้ำชัดถึงสถานะของบร็อกกับเวน่อมที่มีลักษณะเหมือนคู่รัก ขณะที่ตัวเวน่อมเอง ในฐานะปรสิต ก็ไม่มีเพศสภาพที่ชัดเจน ทั้งหนังเองก็ไม่เคยระบุว่าเวน่อมเป็นเพศอะไร มันจึงมีลักษณะลื่นไหลทางเพศอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี Let There Be Carnage เน้นย้ำเรื่องตัวตนของเวน่อมผ่านฉากที่มันออกไปท่องราตรีโดยไม่มีบร็อกเคียงข้าง ในงานปาร์ตี้ที่ทุกคนแต่งตัวแฟนตาซีกันเต็มยศ มันจึงถูกห้อมล้อมด้วยผู้คนที่ตรงดิ่งเข้ามาชื่นชมด้วยความเข้าใจว่าเรือนร่างสีดำหนาเตอะของมันนั้นเป็น ‘คอสตูม’ ของงาน นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่เวน่อมปรากฏกายในฐานะตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่ต้องหลบเร้นร่างกายตัวตนในเรือนร่างมนุษย์ของบร็อก หรือไม่จำเป็นต้องกลายร่างเป็นตัวเองในที่ลับตาคน เช่น เวลาที่บร็อกอยู่เพียงลำพังกับมันในห้อง เวน่อมจึงรู้สึกว่านี่ช่างเป็นค่ำคืนที่งดงาม ไม่เพียงแต่ผู้คนจะ ‘มองเห็น’ มัน แต่มันยังได้รับการยอมรับจากคนอื่นๆ ที่รายล้อม 

ในคืนที่บรรยากาศสนุกสนานรื่นเริงเต็มที่เช่นนี้ เวน่อมกลับโหยหาการยอมรับและการได้รับการมองเห็นจากบร็อกเพียงคนเดียวเท่านั้น (ซึ่งก็ยิ่งขับเน้นเส้นเรื่องราวกับความสัมพันธ์ของคู่รักที่ระหองระแหงกัน แต่ก็ยังตัดใจเลิกไม่ได้)

แอนดี เซอร์คิส นักแสดงชาวอังกฤษที่เรามักคุ้นหน้าในฐานะราชาแห่งการสวมร่างเป็นตัวละคร CGI ไม่ว่าจะในแฟรนไชส์ The Lord of the Rings (2001-2003) หรือจักรวาล Planet of the Apes (2011-2017) รับบทเป็นผู้กำกับหนังเป็นเรื่องที่สามถัดจาก Breathe (2017, เล่าเรื่องคู่รักนักเดินทางที่ไม่ยอมแพ้แม้ฝ่ายหนึ่งจะป่วยด้วยโรคร้าย ชิงรางวัลหนังยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังฟิลาเดลเฟีย) กับ Mowgli: Legend of the Jungle (2018, เรื่องราวของ เมาคลี เด็กชายผู้ใช้ชีวิตอยู่ในป่ากว้างท่ามกลางสารพัดสัตว์ที่คอยดูแลเขา เซอร์คิสพากย์เสียงเป็นคุณหมีบาลูในเรื่องด้วย) เล่าว่าฉากนี้เป็นเสมือนฉากที่เวน่อมได้ ‘เปิดเผยอัตลักษณ์’ (coming out) ของตัวเองเป็นครั้งแรก

“สิ่งที่น่าสนใจคือ ในฉากนี้เขาพูดประมาณว่า ‘เราต้องหยุดทำเรื่องโหดร้ายต่อเอเลี่ยน (หรือในอีกความหมายหนึ่งคือคนที่ถูกสังคมมองว่าเป็นอื่น) ได้แล้วนะ’ และ ‘ยังไงเราก็ต้องอยู่ร่วมกันนี่’ ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่เขาเป็นปากเป็นเสียงเพื่อคนอื่นแม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตามที เหมือนเขาเรียกร้องเสรีภาพให้แก่คนอื่นๆ ด้วย

“นี่มันจึงเป็นหนังรัก แต่ก็ไม่ใช่หนังรักแบบที่คุณเคยคิดนะ มันเป็นเหมือนหนังที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปรสิตกับร่างโฮสต์ของมันมากกว่า ความรักที่เห็นมันมีทั้งขึ้นและลง ความสัมพันธ์ระหว่างบร็อกกับเวน่อมสร้างปัญหาและความเครียดให้ทั้งคู่แน่นอนอยู่แล้ว จนถึงจุดหนึ่งพวกเขาก็แทบจะทำลายล้างกันอยู่รอมร่อ แต่พวกเขาก็ยังจำเป็นต้องอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่งตลอดเวลา เพราะไม่อาจแยกขาดจากกันได้” เซอร์คิสสาธยาย “แต่พวกเขารักกันนะ และนี่แหละที่เป็นหัวใจสำคัญของหนังเลย”

“สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างบร็อกกับเวน่อม ผมว่าพวกเขาเหมือนคู่รักเพี้ยนๆ ที่ใช้ชีวิตด้วยกันในอพาร์ตเมนต์ ถึงจุดหนึ่งก็ทนกันและกันไม่ไหว” เขาสาธยาย “แล้วสิ่งที่เจ๋งมากๆ ของตัวละครเวน่อมคือ เขาอ่านบร็อกขาดเสมอ รับรู้และเข้าใจความเปราะบางของบร็อก เข้าใจความพังในชีวิตหรือภาวะเกลียดตัวเอง ตลอดจนอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ของอีกฝ่าย ขณะที่ตัวบร็อกเองก็พยายามซ่อนเร้นสิ่งเหล่านี้ไว้ โดยที่ก็ต้องใช้ชีวิตอยู่กับเวน่อม—หรือที่เราเรียกกันว่าเจ้าทารกยักษ์ซึ่งควบคุมอะไรไม่ได้เลย ด้วยกัน”

“เวน่อมนั้นอยากจะเป็นตัวของตัวเอง ใช้ศักยภาพที่ตัวเองมีร่วมกันกับบร็อกอย่างเต็มที่ ดังนั้นมันจึงรู้สึกราวกับถูกบร็อกควบคุมอย่างหนัก เป็นเหมือนวัยรุ่นกึ่งทารกสูงสองเมตรกว่า ที่พยายามเปิดเผยตัวตนของตัวเองตลอดเวลา นี่ล่ะครับ ความสัมพันธ์ของคู่นี้”

หนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญที่ทำให้เวน่อมและทิศทางของ Let There Be Carnage มีกลิ่นอายความหลากหลายหรือเป็นภาพแทนของการเปิดเผยอัตลักษณ์และความเป็นตัวตน คือทอม ฮาร์ดี นักแสดงนำที่รับบทเป็นทั้งเอ็ดดี บร็อก และให้เสียงเวน่อม (แล้วให้ทีมงานเอาไปดัดแปลงให้มีความดิบหยาบอีกทีหนึ่งในกระบวนการโพสต์โปรดักชัน) โดยฮาร์ดีรับหน้าที่เขียนบทหนังร่วมกันกับ เคลลี มาร์เซล (เขียนบท Venom, Fifty Shades of Grey) นับเป็นหนังยาวเรื่องแรกที่ฮาร์ดีมีส่วนร่วมในการลงมือเขียนบท เนื่องจากก่อนหน้านี้ เขาเคยเขียนบทให้หนังสั้นความยาว 14 นาที Get a Grip (2001) เล่าถึงชีวิตสุดเหวอของแร็ปเปอร์หนุ่มและซีรีส์ Taboo (2017) ว่าด้วยนักเดินทางที่กลับไปยังอังกฤษช่วงกลางสงครามเมื่อปี 1812 และปะทะเข้ากับรัฐบาล ตลอดจนศัตรูทางการค้าที่หวังทำให้เขาล่มสลายลงให้ได้โดยเร็วที่สุด

“มันก็คือเรื่องของคนสองคนที่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเหมือนคู่แต่งงานหรือเพื่อนร่วมห้อง ที่คอยทำอีกคนอารมณ์เสียอยู่เรื่อยนั่นแหละ มันแค่ไปไม่รอด ไอ้แบบว่าเราก็มีสิ่งที่ชอบในตัวคนคนนี้ กับสิ่งที่เราไม่ชอบในตัวพวกเขาเอาเสียเลย” ฮาร์ดีว่า “เพราะงั้นในภาคนี้ เราก็จะพบว่าทั้งสองตัวละครใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมาสักระยะและเจ็บปวดกับมันแทบจะบ้า พวกเขาเป็นคู่ประหลาดที่ฝ่ายหนึ่งมาจากต่างดาว แต่ก็โคตรจะมั่นใจในตัวเอง ส่วนอีกฝ่ายเกิดและโตในโลกนี้ แต่ก็ตาขาวเสียเหลือเกิน”

สำหรับฮาร์ดี หนังปรสิตสิงสู่ร่างมนุษย์และวาดหวังจะได้เขมือบคนเป็นอาหารจึงเป็น ‘หนังรัก’ ชุ่มชื่นใจ “มันเป็นหนังรักร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว แค่ว่าความรักที่เห็นในเรื่องมันบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน” เขาเล่าอย่างอารมณ์ดี แล้วจึงขยับไปเทียบเคียงรูปแบบความรักที่ปรากฏในเรื่องทั้งสามรูปแบบผ่านตัวละครสามคู่ ได้แก่ แอนน์ (มิเชลล์ วิลเลียมส์) อดีตคนรักของบร็อกที่มีรักใหม่อันมั่นคงกับชายหนุ่มอีกคน, ความสัมพันธ์ระหว่างบร็อกกับเวน่อมที่ขึ้นๆ ลงๆ และหวนกลับมา ‘ปรับตัว’ ด้วยกันอีกหน, คลีตัส (วูดี ฮาร์เรลสัน) กับ ฟรานเซส (นาโอมิ แฮร์ริส) ฆาตกรต่อเนื่องผู้ลุ่มหลงในกันและกันอย่างถอนตัวไม่ขึ้น “เราจึงมีแง่มุมที่อยากเล่ามากมาย คำถามคือเราจะทำอย่างไร จะดึงตัวละครที่เรารักนี้ออกมาได้มากแค่ไหน แนะนำตัวละครใหม่อย่างไร หรือจะเทียบเคียงความรักของคนแต่ละคู่ในเรื่องได้หรือไม่ จะเล่ายังไง ซึ่งผมว่านี่แหละที่สนุกเป็นบ้าเลย”

ในท่าทีของการเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่เลือดโชก เต็มไปด้วยการสาวหมัดปะทะกันของปรสิตจากต่างดาว (ที่เรียกแบบเซอร์คิสคือ ทารกสูงสองเมตรครึ่ง) มันก็ยังเป็นหนังที่พูดถึงอัตลักษณ์และตัวตนได้อย่างน่าสนใจ ชัดเจนในตัวเองและชวนตั้งคำถามต่อสังคมถึงการต้องปิดกั้นเนื้อตัว เก็บงำแสงที่เปล่งประกายของตัวเองไว้เพียงเพราะสังคมตัดสินว่ามันเป็นอื่น อันเป็นเรื่องที่ดูแล้วก็ชวนย้อนกลับมายังบรรยากาศบ้านเราหลัง ‘สมรสเท่าเทียม’ ยังไม่เกิดขึ้นจริงสักที

Tags: , , , ,