นับว่าใช้เวลานานพอสมควร กว่าที่จะมีค่ายหนังซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง ‘ชิน อุลตร้าแมน’ (Shin Ultraman) มาฉายในบ้านเราช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ (2565) หลังจากทางฝั่งประเทศญี่ปุ่นเปิดตัวนำหน้านานกว่า 17 สัปดาห์ พร้อมกวาดรายได้ทะลุหลักพันล้านเยนเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี การกลับมาอีกครั้งในรอบ 56 ปี ของยอดมนุษย์ยักษ์จากดินแดนแห่งแสงกาแล็กซีเอม 78 (M78) ผู้กำกับฯ มือทอง ชินจิ ฮิงุจิ (Shinji Higuchi) และมือเขียนบทคู่ใจ ฮิเดอากิ อันโนะ (Hideaki Anno) เลือกที่จะไม่ใช้การตีความเส้นเรื่องรวมถึงดีไซน์รูปโฉมตัวละครใหม่หมด เช่นผลงานก่อนหน้าอย่าง ชิน ก็อตซิลล่า (Shin Godzilla) แต่เลือกหวนคืนสู่จุดต้นกำเนิดในปี 1966 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ซีรีส์อุลตร้าแมนออกฉายครั้งแรกบนหน้าจอโทรทัศน์ ด้วยเทคนิคสุดตระการตา ไม่ใช่แค่นักแสดงสวมชุดยางมาต่อสู้กัน
เพื่อโหมโรงต้อนรับการกลับมาของฮีโร่ผู้พิทักษ์สันติสุข คอลัมน์ Screen and Sound สัปดาห์นี้ขอชวนคุณผู้อ่านร่วมรื้อฟื้นความทรงจำถึงประวัติและจุดเริ่มต้นของอุลตร้าแมนคนแรกอีกครั้ง ก่อนที่จะกลับไปพบกับฮีโร่ในวัยเด็กให้หายคิดถึงที่โรงภาพยนตร์
เอจิ สึบูรายะ บิดาผู้บุกเบิกหนังแนวโทคุซัทสึสู่สายตาชาวโลก
ย้อนกลับไปในปี 1954 อิชิโระ ฮอนดะ (Inoshiro Honda) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่น ได้นำผลงานเรื่องก็อตซิลล่าออกฉายเป็นครั้งแรก และสามารถเรียกเสียงฮือฮาด้วยตัวบทที่มีความซีเรียส สอดแรกประเด็นภัยจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทว่าอีกหนึ่งความสำเร็จต้องยกความดีความชอบให้กับฝ่ายเทคนิคพิเศษที่รังสรรค์ให้สัตว์ประหลาดยักษ์ตนนี้มีชีวิต คล้ายกับว่ามันเคยออกอาละวาดทำลายบ้านมาก่อน
ซึ่งชายผู้เป็นหัวเรือใหญ่ให้แก่ทีมเทคนิคพิเศษนั้นมีนามว่า เอจิ สึบุรายะ (Eiji Tsuburaya)
เอจิ สึบุรายะ ออกแบบเทคนิคพิเศษดังกล่าวด้วยการให้นักแสดงสวมชุดยางสัตว์ประหลาดน้ำหนักหลายสิบกิโล ควบคู่กับพร็อพประกอบฉากทั้งตึก รถถัง และเครื่องบินที่ถูกย่อส่วนจำลองมาจากของจริง โดยเวลาต่อมา เทคนิคนี้มีศัพท์เรียกขานเฉพาะว่า ‘โทคุซัทสึ’ (Tokusatsu) ทำให้ชื่อของสึบูรายะถูกพูดถึงและได้รับการยอมรับในฐานะชายผู้บุกเบิกการสร้างความสำเร็จให้แก่วงการหนังสัตว์ประหลาด
กระทั่งปี 1963 สึบุรายะที่ทำงานเป็นผู้กำกับเทคนิคพิเศษให้กับค่ายหนังเจ้ายักษ์ในญี่ปุ่นอย่างโตโฮ (TOHO) ตัดสินใจลาออกเพื่อมาเปิดบริษัทของตัวเองในชื่อ สึบุรายะ โปรดักชัน (Tsuburaya Productions) ก่อนที่ปีถัดมา สถานีโทรทัศน์ TBS (Tokyo Broadcasting System) จะเปิดโอกาสให้โปรดักชันเฮาส์ ของเขาผลิตรายการซีรีส์แนวไซไฟ-แฟนตาซี ลงจอช่วงไพร์มไทม์ด้วยงบประมาณราว 70 ล้านเยน ซึ่งนับว่ามหาศาลพอสมควรในช่วงเวลานั้น
ช่วงแรก เท็ตสึโอะ คินโจ (Tetsuo Kinjo) มือเขียนบทคู่ใจของสึบุรายะตั้งใจพัฒนาบทซีรีส์ที่มีชื่อเรื่องว่า ‘WoO’ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับก้อนเมฆมีชีวิตลึกลับจากอวกาศ ที่ร่อนเร่มาอาศัยอยู่บนโลก และออกปราบปรามเหล่าร้ายเพื่อสันติสุขของมนุษย์โลก แต่เมื่อนำไปเสนอก็ถูกปัดตก เพราะส่อแววใช้งบประมาณมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว
คินโจได้นำการบ้านที่ TBS มอบหมายกลับมาแก้ไขใหม่ ก่อนนึกถึงแนวหนังทริลเลอร์-ไซไฟ ของผู้กำกับชาวอเมริกัน อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock) มาใช้เป็นแรงบันดาลใจ และเมื่อนำไปเรียบเรียงกับทางสึบุรายะจึงเกิดเป็น อุลตร้า คิว (Ultra Q) ซีรีส์เรื่องสั้นจำนวน 28 ตอน ที่มีเนื้อหาเล่าถึงสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติทั้งสัตว์ประหลาด มนุษย์ต่างดาว ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ ตามสไตล์หนังสืบสวนสอบสวน และด้วยเนื้อหาที่มีความสดใหม่ผนวกกับเทคนิคพิเศษชั้นยอด อุลตร้าคิวจึงได้รับความนิยมถล่มทลายถึงขั้นที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต้องรีบกลับเข้าบ้านมาเฝ้าหน้าจอทีวีตอน 1 ทุ่มตรงทุกสัปดาห์
จากอุลตร้า คิว สู่ยอดมนุษย์อุลตร้าแมน
หลังจากอุลตร้าคิวได้รับกระแสตอบรับดีถล่มทลาย สถานีโทรทัศน์ TBS ไม่รอช้ามอบหมายให้สึบุรายะและทีมงานสร้างซีรีส์เรื่องที่ 2 คาบเกี่ยวต่อเนื่องกับซีรีส์อุลตร้าคิวที่จะฉายตอนสุดท้ายช่วงต้นเดือนกรกฏาคม 1966 เพื่อเป็นการเลี้ยงกระแสหนังสัตว์ประหลาดในหมู่คนดู และเพิ่มโจทย์ใหม่เข้าไปอีกว่า ครั้งนี้จะต้องเป็นการออกฉายในรูปแบบ ‘ภาพสี’ ทั้งหมด
ทีมงานสึบุรายะนำบทเรื่อง WoO กลับมาปัดฝุ่นใหม่ พร้อมวานให้ศิลปินนักออกแบบ โทรุ นาริตะ (Toru Narita) ช่วยปรับเปลี่ยนคาแรกเตอร์ตัวเอกจากก้อนเมฆมีชีวิต ให้กลายเป็นเอเลียนรูปร่างคล้ายกัปปะผสมพญาครุฑที่มีชื่อว่า เบมูล่า (Bemular)
อย่างไรก็ตาม ดีไซน์คาแรกเตอร์เบมูล่าถูก ทากาชิ คาโกอิ (Takashi Kagoi) โปรดิวเซอร์แห่ง TBS ปัดตกทิ้งทันที เพราะเกรงว่าคนดูจะแยกระหว่างสัตว์ประหลาดฝ่ายดีกับฝ่ายร้ายไม่ออก โทรุ นาริตะ จึงกลับไปแก้ไขให้คาแรกเตอร์ตัวเอก (ที่ ณ เวลานั้นถูกตั้งชื่อใหม่ว่าเร้ดแมน) ดูมีลักษณะกายภาพใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น โดยใช้โทนสีเงินและแดงเพื่อสื่อถึงความเป็นยุคของการแข่งขันทางอวกาศ (Space Edge) และหยิบหน้าตาของรูปปั้นพระพุทธรูปที่สื่อถึงความเมตตามาใช้ ภายใต้คอนเซปต์ อวตารแห่งความจริง ความยุติธรรม และความงาม (Incarnation of Truth Justice and Beauty)
แต่คอนเซปต์คาแรกเตอร์อุลตร้าแมนปี 1966 ก็ถูกขอให้มีการลูกเล่นเพิ่ม นั่นคือ ‘คัลเลอร์ไทม์เมอร์’ (Colour Timer) หรือปุ่มตรงกลางหน้าอก ที่จะเปลี่ยนจากสีฟ้าเป็นสีแดง ในยามที่อุลตร้าแมนใช้เวลาอยู่บนโลกเกินขีดจำกัด 3 นาที ตามกุศโลบายที่ต้องการให้คนดูเกิดความรู้สึกตื่นเต้นและอยากเอาใจช่วย ท่ามกลางความไม่พอใจของโทรุ นาริตะ ที่มองว่าเวอร์ชันแรกสมบูรณ์อยู่แล้ว
เนื้อเรื่องของซีรีส์อุลตร้าแมน 1966 มีความคล้ายคลึงกับบทต้นฉบับเรื่อง WoO พอสมควร และเพิ่มความน่าสนใจลงไปอีก ด้วยการเพิ่มกิมมิกการรวมร่างระหว่างอุลตร้าแมนและตัวเอก ชิน ฮายาตะ (รับบทโดย ซุซุมุ คุโรเบะ) เพื่อต่อสู้กับบรรดาสัตว์ประหลาดและผู้รุกรานจากต่างดาว ด้วยการกดปุ่มรีโมตเบต้า แคปซูล (Beta Capsule) โดยมีทีมวิทยะ (Science Special Search Party: SSSP) หน่วยงานพิทักษ์โลกคอยสนับสนุน
การกำเนิดของซีรีส์อุลตร้าแมนกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับวงการโทคุซัทสึเป็นอย่างมาก ด้วยจำนวนตอนที่มากถึง 39 ตอน มีธีมเพลงเปิดก่อนเริ่มเรื่อง เปลี่ยนเทคนิคการถ่ายทำจากขาว-ดำเป็นสีเต็มหมดจด และยังมีสเปเชียลเอฟเฟกต์ที่ผ่านวิธีการวาดแบบเฟรมต่อเฟรม เราจึงได้เห็นอุลตร้าแมนปล่อยแสงปราบสัตว์ประหลาดอย่างตระการตา
อุลตร้าแมน 1966 กลายเป็นต้นแบบซีรีส์ให้กับอุลตร้าแมนคนอื่นๆ ในยุคโชวะ (Showa Era) อาทิ อุลตร้าเซเว่น, อุลตร้าแมนแจ็ค, อุลตร้าแมนเอซ และอุลตร้าแมนทาโร่ หรือแม้แต่อุลตร้าแมนยุคสมัยอื่นๆ ก็ตาม แต่ทุกเรื่องยังคงปลูกฝังคติธรรมมะย่อมชนะอธรรม, การยอมรับความแตกต่าง และความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเรื่อยมา ตามกลุ่มเป้าหมายที่ส่วนใหญ่เป็นเด็ก
หวนคืนสู่จอภาพยนตร์ด้วยรูปแบบดั้งเดิม
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า ผู้กำกับฯ ชินจิ ฮิงุจิ และมือเขียนบท ฮิเดอากิ อันโนะ ได้มีโอกาสนำเรื่องราวของอุลตร้าแมนปี 1966 กลับมานำเสนอในรูปแบบใหม่ ด้วยการตั้งข้อสงสัยเสมือนคนเจนเอ็กซ์ที่เติบโตมากับยอดมนุษย์ยักษ์รายนี้ว่า ถ้าเขามาปรากฏตัวบนโลกยุคปัจจุบันจะมีบริบทเป็นแบบใด
“เจ้ารักในมนุษย์มากขนาดนั้นเลยหรือ อุลตร้าแมน”
เป็นคำโปรยบนโปสเตอร์ให้พอคาดเดาทิศทางของหนัง ว่าอย่างน้อยการกลับมาของอุลตร้าแมนมาในฐานะมิตรผู้ผดุงความยุติธรรมดังเช่นในอดีต ส่วนรูปร่างหน้าตาดูเหมือนจะเป็นการหยิบคอนเซปต์เริ่มแรกสุดของ โทรุ นาริตะ มาใช้ ที่อุลตร้าแมนจะไม่มีปุ่มคัลเลอร์ไทม์เมอร์บนอก ลักษณะบุคลิกก็ไม่ได้ดูกำยำล่ำสัน และถูกปรับให้มีความผอมเพรียว ดูเป็นเอเลียนจากนอกโลกมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงไว้ลายท่าไม้ตายสำคัญอย่างลำแสงสเปซเซียม (Specium Beam) รวมถึงการแปลงร่างผ่านอุปกรณ์เบต้าแคปซูล
นอกจากนี้ชิน อุลตร้าแมน ยังได้ ซาโตชิ ฟุรุยะ (Satoshi Furuya) ผู้สวมชุดยางรับบทเป็นอุลตร้าแมน 1966 มาร่วมออกแบบการขยับท่าทางตัวละครผ่านเทคนิค ‘โมชันแคปเจอร์’ (Motion Capture) เหมือนภาพยนตร์ระดับฮอลลีวูดอย่างพิภพวานร (Planet of the Apes) ดังนั้น จึงอาจพูดได้ว่านี่เป็นโปรเจกต์คืนสู่เหย้าของยอดมนุษย์ยักษ์อย่างแท้จริง
ชิน อุลตร้าแมน จะเริ่มเข้าฉายตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2565 ใครที่เป็นสาวกของแฟรนไชน์ยอดมนุษย์จากแดนอาทิตย์อุทัยไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะนี่อาจหมายถึงการหวนกลับมาเจอเพื่อนเก่าอีกครั้งในรอบหลายสิบปี
ที่มา:
https://www.denofgeek.com/culture/the-complete-history-of-ultraman-part-1-1966-1987/
https://en.tsuburaya-prod.co.jp/company/founder
https://tvtropes.org/pmwiki/pmwiki.php/Series/UltraQ
Tags: Ultraman, Ultraman1966, ShinUltraman, HideakiAnno, Tsuburaya, ชินอุลตร้าแมน, อุลตร้าแมน, #ScreenandSound