Film Noir ของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล 

หนุ่มอีสานบ้านนา ตัดสินใจขายที่ดินทำกินของตน มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ หมายมั่นจะเอาดีในการขับแท็กซี่เพื่อสร้างชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเก่า แม้จะเป็นการเริ่มต้นครั้งใหม่ของชีวิตที่ดูมีหวัง แต่การอยู่ในเมืองหลวงของประเทศไทย ก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะนายทองพูน โคกโพ ราษฎรคนใหม่ของกรุงเทพฯ ต้องเจอบททดสอบมากมายจากความอันตรายที่แฝงอยู่ในทุกหนแห่ง

เหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของ ‘ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น’ (1977) ผลงานกำกับของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่น่าสนใจ เพราะด้วยรูปแบบการเล่าเรื่องที่มีกลิ่นความเป็น Film Noir บอกเล่าด้านมืดของสังคมที่ชนชั้นล่างต้องเผชิญ ชวนให้นึกถึงผลงานชั้นครูอย่าง Bicycle Thieves (1948) และ Taxi Driver (1976) ที่ทั้ง 3 เรื่องมีจุดร่วมเดียวกัน คือถ่ายทอดบรรยากาศของชีวิตในสังคมจริง ที่ดำเนินไปอย่างหม่นหมอง มองไปข้างหน้าก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่ดีกว่ารออยู่ ทุกตัวละครต้องปากกัด ตีนถีบ ทำงานหาเงินเพื่อซื้ออาหารประทังชีวิตให้รอดไปวันๆ อีกทั้งยังต้องเจอบททดสอบมากมายจากผู้คนที่จ้องจะเอาเปรียบกันอยู่ตลอด 

แต่ในขณะเดียวกันหนังเรื่องนี้ก็มีสไตล์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อยู่บ้าง จากการใช้ความเป็น ลูกอีสาน เข้ามาสอดแทรกในบริบทของบ้านนอกเข้ากรุง ดั่งที่ปรากฏให้เห็นตั้งแต่เริ่มเรื่อง เมื่อทองพูน ย้ายเข้ามาในกรุงเทพ ก็มีเพื่อนฝูงจากอีสานที่เข้ามาก่อนหน้าให้การต้อนรับเป็นอย่างดี

หรือแม้แต่วิธีการสร้างตัวละครนายทองพูน (รับบทโดย จตุพล ภูอภิรมย์) ที่ตีความให้เขาเป็นชายผู้ซื่อตรง มองโลกในแง่ดี เห็นเพื่อนมนุษย์ทุกคนเป็นเหมือนพี่น้อง พร้อมให้การช่วยเหลืออยู่ตลอด แม้จะรู้อยู่แก่ใจก็ตามว่าในเมืองหลวงนั้นผู้คนมากมายจ้องจะลวงหลอก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขามองว่าตนจะต้องเป็นคนใจไม้ไส้ระกำ เย็นชากับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแต่อย่างใด 

แต่ในที่สุดทองพูนก็เผชิญกับความเลวร้ายของสังคม จนเขาขอไม่ทนต่อชีวิตที่ถูกกัดกินเช่นนี้อีกต่อไป

 

 

“มันไม่ใช่เรื่องรถหาย มันคือสิทธิของกู อนาคตของกู”

ในขณะที่กำลังซื้อกับข้าวหลังเลิกงาน วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งโบกรถแท็กซี่ของนายทองพูน หวังให้ขับไปส่งที่หมายแห่งหนึ่ง แม้ออกจากกะเดินรถแล้ว แต่ด้วยความเป็นห่วงเพื่อนมนุษย์ กลัวจะไม่มีรถกลับบ้านในช่วงเวลาค่ำมืดแบบนี้ จึงตัดสินใจรับงานเรียกให้กลุ่มวัยรุ่น 3 คน ขึ้นรถตามที่พวกเขาต้องการ 

แต่ปรากฏว่า ความห่วงใยของเขากลับถูกตอบแทนด้วยคมมีดและห่าตีนเป็นจำนวนมาก ในระหว่างทาง กลุ่มวัยรุ่นได้กระทำการจี้รถแท็กซี่ของนายทองพูน แม้จะพยายามต่อสู้หรืออธิบายว่าเป็นเครื่องมือทำมาหากินเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่ แต่ก็ไม่เป็นผล ทองพูนถูกกระทืบจนสลบอยู่ในป่าละเมาะข้างทาง ส่วนรถนั้นก็อันตรธานหายจากชีวิตของเขาไปตลอดกาล

เรื่องนี้สร้างความเจ็บช้ำให้ทองพูนเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อไม่มีรถแท็กซี่ให้ขับ เขาจึงกลายเป็นคนไร้งาน ไม่มีรายได้มาจ่ายค่าเช่าบ้าน ต้องกลายเป็นคนเร่ร่อน ยังดีที่ได้อาศัยความช่วยเหลือจาก แรมจันทร์​ (รับบทโดย วิยะดา อุมารินทร์) หมอนวดคนสนิทของทองพูน หญิงที่เข้าใจหัวอกของคนที่ต้องระแวดระวัง และเอาตัวให้รอดในเมืองอันแสนอันตรายเช่นกัน เขาจึงฝากลูกชายให้หญิงคนนี้เลี้ยงดู ส่วนตัวเขาตั้งใจไว้ว่าจะตามทวงคืนแท็กซี่กลับมา

แม้จะมีพรรคพวกอีสานอยู่เป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่มีใครคิดอยากจะช่วยทองพูนเอารถคืนมา ยิ่งเมื่อสืบถึงกลุ่มคนร้ายแล้วพบว่าเป็นลูกน้องของเจ้าของอู่ซ่อมรถที่มีอิทธิพลในสังคม ทุกคนก็ต่างผละหนีไปจากทองพูน อีกทั้งยังแนะนำว่าควรปล่อยวาง กับรถแท็กซี่คันเดียว จะเอาชีวิตตัวเองเข้าไปเสี่ยงทำไม 

จุดนี้ถือเป็นความสิ้นหวังขั้นสูงสุดที่ปรากฏในเรื่อง หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ได้สะท้อนให้คนดูเห็นถึงความเน่าเฟะของบ้านเมือง ที่ชีวิตของชนชั้นล่างมีค่าน้อยกว่ารถยนต์คันหนึ่งด้วยซ้ำ มันต้อยต่ำจนพวกเขากลัวที่จะต้องเอาชีวิตไปแลกกับความถูกต้องตามกฎหมาย แม้กระทั่งขนาดตำรวจที่สนิทสนมกับทองพูนเองยังบอกกับเขาว่า การทวงคืนรถของตัวเองกลับมานั้น เป็นการกระทำที่เกินตัว

“มันไม่ใช่เรื่องรถหาย มันคือสิทธิของกู อนาคตของกู” วลีที่ทองพูนตอบกลับคนเหล่านั้น คือเครื่องยืนยันว่าเขาจะสู้เพื่อทวงคืนรถแท็กซี่ของตัวเองต่อไป คือความชัดเจนของประชาชนคนหนึ่งที่กล้าพอจะสู้กับความผิดปกติของบ้านเมือง สู้เพื่อจะเป็นราษฏรเต็มขั้นที่เชื่อว่า ประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียม 

แม้วิธีการจะสุดโต่ง เลยเถิด และใส่อารมณ์จนเกินไป (ส่วนหนึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นวิธีการเขียนบทของผู้กำกับเพื่อขมวดปมของเนื้อเรื่องให้ชัดแจ้งมากยิ่งขึ้น)  แต่ก็ยังดู ‘เมกเซนส์’ และเข้าใจได้ว่าคนที่ไม่เหลืออะไรในชีวิตอีกต่อไปอย่างทองพูน พร้อมจะสู้จนตัวตาย แม้ชีวิตจะไม่มีโอกาสได้เห็นอนาคตอันโชติช่วงดั่งที่ใจหวัง แต่หากคนทำผิดไม่ได้รับการลงโทษอย่างยุติธรรมในบ้านเมืองนี้ เขาก็จะเป็นคนทำให้มันยุติธรรม ให้คนมันกลับมาเท่ากันได้สักครั้งหนึ่ง 

เรื่องทั้งหมดจึงลงเอยด้วยเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในอู่รถยนต์ ดั่งที่ปรากฏในช่วงท้ายของเรื่อง

 

สุดท้าย ‘ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น’ คงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นภาพยนตร์ที่รังสรรค์เรื่องราวได้ฉูดฉาด ก้าวล้ำ หรือมีเอกลักษณ์ อย่างที่หนังไทยเรื่องดังๆ ส่วนใหญ่เป็นกัน แต่การที่หนังเรื่องนี้สะท้อนภาพของบ้านเมืองในช่วงเวลาหนึ่งได้อย่างชัดแจ้ง แสดงให้เห็นว่า กรุงเทพมหานครไม่ใช่เมืองแห่งโอกาสดั่งที่คนต่างจังหวัดเข้าใจ 

มหานครของประเทศยังเต็มไปด้วยปัญหามากมาย ซึ่งน่าเศร้าไม่น้อยที่ในปัจจุบันหลากหลายปัญหาก็ยังคงทน ติดตรึงอยู่ ณ ที่แห่งนี้ เป็นปัญหาเรื้อรังที่ผู้คนต้องเผชิญอยู่ตลอดมา 

และถึงแม้จะมีราษฎรเต็มขั้น เดินทางเข้ามาอีกมากแค่ไหน แต่หากระบบของบ้านเมืองยังเป็นเช่นนี้อยู่ พวกเราก็ยังต้องเจอกับเหตุแห่งความอยุติธรรมไม่จบสิ้นในอนาคตข้างหน้าอย่างแน่นอน

Tags: