ก่อนอื่นผมต้องขอประกาศตัวเป็นแฟนพี่เบิร์ดก่อน… ละครเรื่องแรกที่ผมดูคือ ‘วันนี้ที่รอคอย’ ที่ ธงไชย แมคอินไตย์ เล่นคู่กับ สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ เทปเพลงแรกที่ผมซื้อด้วยตัวเองที่แผงตลาดนัดคือเพลงประกอบภาพยนตร์ ‘คู่กรรม’ ของพี่เบิร์ด ในยุคที่ต้องเปิดปกเทปดูเครดิต ดูเนื้อร้องทีละเพลง ขณะเดียวกัน ตอนพี่เบิร์ดออกชุด ‘รับแขก’ ชุด ‘Volume 1’ และชุด ‘Simply Bird’ ผมเองเป็นคนแรกๆ ที่เฝ้าหน้าแผงซีดีรอซื้อ
แต่นับจากนั้น ช่วงเวลาก็เปลี่ยนไป ตอนหลังใครฟังพี่เบิร์ดมักจะโดนหาว่า ‘แก่’ บ้าง ‘เชย’ บ้าง แน่ละ พี่เบิร์ดอยู่ในวงการเพลงมาตั้งแต่ปี 2529 ทว่ากลับมีอายุยืนยาว คาบเกี่ยวทุกยุคทุกสมัย หลายคนตามพี่เบิร์ดตั้งแต่ยังเล่นละคร บางคนเพิ่งตามพี่เบิร์ดในชุดธงไชย เซอร์วิส ขณะที่อีกหลายคนเพิ่งมาตามตอนแฟนจ๋า แต่ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร ผมก็ยังติดตามพี่เบิร์ดเรื่อยมา ไม่ว่าแกรมมี่จะ Shape พี่เบิร์ดไปในแนวทางใด จะถูกใจหรือไม่ จะเป็นตัวของพี่เบิร์ด หรือ ‘ฝืน’ จนไม่ใช่ตัวของพี่เบิร์ดก็ตามที
ประเด็นสำคัญที่น่าติดตามของ แบบเบิร์ดเบิร์ด 12 (ซึ่งเป็นครั้งแรกของพี่เบิร์ดหลังได้รับประกาศเกียรติคุณให้เป็น ‘ศิลปินแห่งชาติ’ อย่างเป็นทางการ) ก็คือความ ‘ท้าทาย’ อย่างมาก ของนักร้องวัย 65 ปี ที่ยังต้อง ‘โชว์’ เพราะใครก็ตามที่รู้จักแบบเบิร์ดเบิร์ดก็จะเข้าใจว่า แบบเบิร์ดเบิร์ดไม่ได้เป็นเพียงคอนเสิร์ตธรรมดา หากแต่เป็นโชว์ทุกรูปแบบที่พี่เบิร์ดและทีมงานรังสรรค์ขึ้น และแน่นอนต้องแลกกับการซ้อมอย่างหนัก การใช้พละกำลังอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะร้อง เต้น เอนเตอร์เทน การทำงานกับเอฟเฟกต์ กับแบ็กสเตจเบื้องหลัง เพื่อให้โชว์ออกมาสมบูรณ์ที่สุด
คำถามที่หลายคนตั้งถึงพี่เบิร์ดในวัยนี้ ก็คือ ‘แบบเบิร์ดเบิร์ด’ จะยังสมบูรณ์แบบอยู่หรือไม่ เมื่อเวลาล่วงไปถึงเพียงนี้ พี่เบิร์ดไม่ได้ดังเป็นพลุแตก หรือออกอะไรมาก็ดังเหมือน 20 ปีก่อนแล้ว ขณะที่ในวันที่วงการเพลงเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ มีศิลปินหน้าใหม่เปลี่ยนรุ่นไปมา ศิลปินไม่ใช่ผลผลิตที่เกิดจากการปั้นของค่ายเพลง หากแต่หลายคนดังด้วยตัวเอง นั่นทำให้คำว่า ‘ซูเปอร์สตาร์’ ที่พี่เบิร์ดเคยได้อาจไม่ได้ขลังเหมือน 20-30 ปีก่อนหน้านี้
แน่นอนว่าผลลัพธ์ของแบบเบิร์ดเบิร์ด 12 ดีกว่าที่คิดไว้ พี่เบิร์ดและทีมงานดูจะรู้จุดเด่น รู้ข้อจำกัดตัวเอง พี่เบิร์ดไม่จำเป็นต้องออกแรงเต้นฉับๆ ตลอดเวลาเหมือนเดิม ไม่ต้องใส่หน้ากากออกซิเจนในจังหวะพักเหมือนยุครุ่งเรือง แต่ก็ทำให้โชว์ออกมาดูดีได้ ไม่เสียความเป็นพี่เบิร์ด
ที่ต้องชมมากเป็นพิเศษก็คือการเรียบเรียงดนตรี ทำให้เพลงที่มีอายุ 33 ปีแล้วอย่าง ‘หมอกหรือควัน’ ออกมามีสีสัน ‘ทำไมต้องเธอ’ ที่ถูกทำใหม่เสียหวานหยดย้อย เช่นเดียวกับเพลงที่แฟนๆ พี่เบิร์ดแทบไม่เคยได้ยินในคอนเสิร์ตใหญ่มาก่อนอย่าง ‘ใจเย็นๆ’ จากชุด ‘เสียงกระซิบ’ ถูกหยิบยกขึ้นมาเล่นในคอนเสิร์ตในปี 2566 ด้วยการเรียบเรียงอย่างมีสีสัน โดยไม่เสียรสชาติของต้นฉบับ
นอกจากนี้ ว่ากันด้วยการจัดลิสต์เพลง จัดแคตตาล็อกของพี่เบิร์ด ที่น่าจะมีเพลงดังรวมกันเกิน 50 เพลง และเพลงลึกๆ ที่หลายคนชอบ ดังบ้าง ไม่ดังบ้าง แต่ไม่ค่อยถูกหยิบมาร้อง ย่อมเป็นไปอย่างยากลำบาก
แบบเบิร์ดเบิร์ดครั้งนี้ดูพยายาม ‘แหกขนบ’ ด้วยการนำเพลงรุ่นหลังเข้ามาผสมผสาน จากที่เดิมแบบเบิร์ดเบิร์ดมีเพียง ‘ชุดเพลงมาตรฐาน’ เป็นต้นว่า ‘จับมือกันไว้’ ‘บูมเมอแรง’ หรือยุคหลังอย่าง ‘แฟนจ๋า’ แต่ครั้งนี้ เพลงรุ่นใหม่อย่าง ‘ช่วยรับที’ ‘พริบตา’ ‘กว่าจักรวาล’ ‘อย่าหลบตากัน’ ‘พูดเล่นเล่น’ ต่างก็มีที่ทางของตัวเอง มีเรื่องราวของตัวเองที่น่าสนใจ และกลมกลืนไปกับโชว์ได้ไม่น้อย
อีกส่วนหนึ่งก็คือการจัดวาง ‘สถานะ’ พี่เบิร์ดว่าจะอยู่จุดไหน แฟนเพลงพี่เบิร์ดที่อยู่ในคอนเสิร์ตคือใคร คือคนวัยพี่เบิร์ดที่โตมาพร้อมพี่เบิร์ด หรือคนรุ่นหลัง เพราะเอาเข้าจริงการให้พี่เบิร์ดเล่นมุขตลกคาเฟ่ในละครอย่าง ‘สีเหลือง – Yellow’ ก็ดูประดักประเดิดไม่น้อย และหากย้อนไปดูแบบเบิร์ดเบิร์ดครั้งก่อน ทุกอย่างดูเป็น ‘ธรรมชาติ’ แบบพี่เบิร์ด โดยไม่ต้องประดิษฐ์ขนาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลงสากลในแบบเบิร์ดเบิร์ดครั้งที่ 8 เล่นละครแบบ ‘อโรคาจอมยากับยาใจ’ หรือร้องลำตัดแบบตอนแบบเบิร์ดเบิร์ดครั้งที่ 5 ก็ไม่ดูต้อง ‘พยายาม’ มากขนาดนี้
กระนั้นเอง ด้วยตัวตนของพี่เบิร์ดที่คิดบวกกับทุกอย่าง เป็นธรรมชาติ และมีสายเลือดเอนเตอร์เทนเนอร์อยู่ในตัว ก็ทำให้ทุกอย่างออกมาราบรื่น ไม่ได้ดูฝืนจากสคริปต์เท่าไรนัก พี่เบิร์ดยังรับหน้าที่แบบที่เคยเป็นมา คือการส่ง ‘พลังบวก’ ให้กับคนดูอย่างเต็มที่ ไม่ว่าสคริปต์จะมาอย่างไร แต่พี่เบิร์ดก็มีวิธีเล่าเรื่องของตัวเองที่ทำให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์ที่สุด
นั่นทำให้สีหน้าของคนดูที่ออกจากงาน ไม่เพียงแต่ ‘อารมณ์ค้าง’ เท่านั้น แต่ยังเดินออกมาด้วยรอยยิ้ม และความอิ่มเอม แบบที่ไม่น่าจะมีศิลปินคนใดในประเทศนี้ทำได้แบบพี่เบิร์ดอีกแล้ว
ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการออกแบบเวที พี่เบิร์ดน่าจะเป็นจุดริเริ่มของการออกแบบเวทีให้เป็น ‘แคตวอล์ก’ ที่ไม่ใช่แค่ทำเวทียืดยาวแค่ชั้นหนึ่ง แต่ชั้นสองก็ต้องมี ‘แฟนเซอร์วิส’ ต้องเดินไปให้ถึง ‘ชั้นสอง’ ซึ่งรอบนี้มีทั้งช่วงที่พี่เบิร์ดเดินเอง และขึ้นรถแห่ในช่วงปลายของคอนเสิร์ต แม้ไม่ได้ขึ้นเครนไปสัมผัสกับชั้นสามเหมือนครั้งก่อนๆ แต่ก็เข้าหาคนดูได้ใกล้ชิดที่สุดเท่าที่จะทำได้
ข้อพิจารณาสำคัญ คือหลังจากนี้ ที่ทางของธงไชยและแบบเบิร์ดเบิร์ดจะเป็นอย่างไรต่อ…
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เมื่อดูคอนเสิร์ตพี่เบิร์ดในยุคหลังๆ มีหลายจังหวะเวลาที่เคยรู้สึกว่า หากศิลปินที่เราชอบ วันหนึ่งเกิดแก่ตัวลง วันหนึ่งอาจจะไม่ได้รับความนิยมเหมือนเดิม เราจะยังชอบเขา เรายังจะสนับสนุนเขาเหมือนเดิมอยู่ไหม
พี่เบิร์ดก็ไม่ต่างกัน วันนี้สถานะซูเปอร์สตาร์อาจเลือนหายไปจากความรู้สึกของเด็กรุ่นใหม่ แฟนคลับเดนตายพี่เบิร์ดก็คงมีจำนวนไม่น้อยที่ร่วงโรยไปพร้อมกัน แน่นอนว่าอีก 10 ปีข้างหน้า คอนเสิร์ตพี่เบิร์ดอาจ ‘เชย’ มากขึ้น บางอย่างอาจฝืนมากขึ้น ความรู้สึกสนุกที่เคยมีเมื่อแบบเบิร์ดเบิร์ดยุค ‘บูมเมอแรง’ หรือยุค ‘อโรคาฯ’ อาจไม่ได้เหมือนเดิมแล้ว… ถึงวันนั้น เราจะรับได้อยู่หรือไม่
แต่ใน 3 ชั่วโมงของแบบเบิร์ดเบิร์ด 12 สิ่งที่สำคัญที่ยังมองเห็นอยู่ก็คือ ‘ความเป็นมืออาชีพ’ ของพี่เบิร์ดและทีมงานเบื้องหลัง ที่ทุกอย่างยังเห็นความตั้งใจ ไม่มีช่วงไหนที่รู้สึกว่าอายุพี่เบิร์ดเป็นอุปสรรค พี่เบิร์ดบนเวทีก็ยังคงเป็นพี่เบิร์ด ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นซูเปอร์สตาร์ที่ต้องเหาะไปหา
ถ้าใครเป็นแฟนแบบเบิร์ดเบิร์ด ทุกครั้งพี่เบิร์ดมักมี ‘ลูกอ้อน’ ก็คือพี่เบิร์ดไม่รู้จะได้ยืนบนเวทีคอนเสิร์ต จะได้เล่นแบบเบิร์ดเบิร์ดอีกเมื่อไร จะได้เล่นไปอีกนานแค่ไหน
ถึงตรงนี้ สิ่งที่พี่เบิร์ดพูดมาตลอด 37 ปี ดูจะเป็นเรื่องจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเวลาที่เปลี่ยนไป ด้วยอายุของพี่เบิร์ดและของแฟนเพลงที่มากขึ้นทุกวัน
แต่ ณ วันนี้ ศิลปินอาวุโสจำนวนมากยังโลดแล่นบนเวที หากเปิดในยูทูบ วงร็อก วงป็อป ยุค 70s ในต่างประเทศก็ยังคง ‘แอ็กทีฟ’ ได้ บางคนยังออกทัวร์หลายประเทศเสียด้วยซ้ำ
คนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้อง ‘ฝืน’ ยุคสมัย ต้องทำอะไรแบบที่คนหนุ่มสาวเขาทำกัน แน่ละ อาจมีบ้างให้พอสนุกสนาน พอให้รู้ว่ายังแอ็กทีฟอยู่ แต่ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องยึดให้เป็นเรื่องใหญ่
หากพี่เบิร์ดรักษาระยะนี้ได้ ยังคงพลังที่ ‘ทรงพลัง’ แบบเดิม ไม่ฝืนยุคสมัย ไม่ฝืนสังขารมากไป ไม่ต้องทำทุกอย่าง แต่ยืน ‘ความสุข ความทรงจำ ไม่มีที่สิ้นสุด’ แบบเดิมๆ ที่เป็นมาตลอด
เพราะแบบเบิร์ดเบิร์ดไม่ใช่ ‘เบิร์ด’ อย่างเดียว ไม่ใช่โชว์อลังการ ไม่จำเป็นต้องมีน้ำพุ มีเรือเดินสมุทรทั้งลำ แต่คือการสร้างความสุขและมอบความสุขให้กับผู้คน
หากพี่เบิร์ดยังยืนระยะนี้ได้ อีก 20 ปีข้างหน้า เราก็จะได้ดู ‘แบบเบิร์ดเบิร์ด’ ต่ออีกสบายสบาย
Tags: เบิร์ด ธงไชย, แบบเบิร์ดเบิร์ด