หากมีใครสักคนมาบอกว่าเขา ‘ไม่มีวันตาย’ ก็คงไม่มีใครเชื่อ 

ไม่นานมานี้ผู้เขียนได้ดูซีรีส์เรื่อง The Sandman (2022) ทางสตรีมมิงเจ้าดัง ปรากฏว่ามีตอนหนึ่งที่กล่าวถึงเทพเจ้าที่อยากรู้จักความคิดของมนุษย์ให้มากขึ้น จึงมอบความเป็มอมตะให้กับบุรุษคนหนึ่งโดยมีข้อแม้ว่าต้องมาพบกับเทพเจ้าผู้มอบพลังให้ในทุก 100 ปี เพื่อเล่าเรื่องราวและ ประสบการณ์ต่างๆ ที่เจอให้ฟัง เมื่อดูจบผู้เขียนย้อนนึกไปถึงภาพยนตร์เรื่อง The Man from Earth (2007) ที่เคยผ่านตาเมื่อนานมาแล้ว ซึ่งทั้ง 2 เรื่องต่างใช้วัตถุดิบการเล่าเรื่องเป็นสารตั้งต้นเดียวกัน นั่นคือ ‘ภาวะที่อยู่เหนือความตาย’ 

The Man from Earth (2007) คือ ภาพยนตร์แนวไซไฟ (Science fiction) ที่กำกับโดย ริชาร์ด เชนค์แมน (Richard Schenkman) เขียนบทโดย เจอโรม บิกซ์บี้ (Jerome Bixby) นักเขียนชั้นแนวหน้าที่ฝากบทภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้าย ก่อนจะเดินทางไกลไม่หวนกลับมา เขาใช้เวลาในการเขียนบทเรื่องนี้ถึง 5 ปีเต็ม ก่อนที่ลูกชายของเขาจะนำเรื่องราวจากหน้ากระดาษสู่จอภาพยนตร์ในภายหลัง

ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ใช้ทุนในการสร้างเพียง 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวๆ 7 ล้านบาท มีการใช้สถานที่ถ่ายทำเพียงแห่งเดียว และใช้นักแสดงเพียง 8 คน แต่กลับกวาดรางวัลมากถึง 12 รางวัล โดย IMDb ให้คะแนนไว้ที่ 7.9 ส่วนบรรดานักวิจารณ์จากเว็บมะเขือเน่า (Rotten Tomatoes) ก็มอบคะแนนให้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม ส่วนผู้ชมก็มอบให้ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ 

ความสำเร็จดังกล่าวต้องยกความดีความชอบให้กับบทของภาพยนตร์ที่สามารถเติมเต็มช่องว่างให้กลายเป็นภาพยนต์แนวไซไฟที่ล้ำหน้าในทางความคิดที่แฝงปรัชญาในบทสนทนา โดยนำเสนอว่า บนโลกเรามีผู้ที่อยู่เหนือความตาย และจะเกิดอะไรขึ้นหากเขามาเล่าเรื่องราวต่างๆ โดยใช้ ‘ความจริง’ ที่ประสบพบมาด้วยตัวเอง จนนำไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ ที่น่าสนใจ

*บทความชิ้นนี้อาจเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

The Man from Earth (2007) เล่าเรื่องของอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งชื่อ จอห์น โอลแมน (นำแสดงโดย David Lee Smith) มีหน้าที่การงานมั่นคง และกำลังอยู่ในช่วงก้าวกระโดดของชีวิต เขาได้เลื่อนขั้นเป็นอธิการบดีตั้งแต่วัยหนุ่ม แต่กลับปฏิเสธและยื่นใบลาออกเสียดื้อๆ พร้อมกับเก็บข้าวของเพื่อจากไปอย่างทันที 

ในระหว่างที่กำลังเก็บของ เหล่าอาจารย์ที่ในมหาวิทยาลัยก็ตามมาอำลาเขาตามประสาเพื่อนร่วมงาน แต่สิ่งที่ทุกคนสงสัยคือ ทำไมคนวัยหนุ่มเช่นเขาถึงหันหลังให้กับความสำเร็จ ซึ่งคำตอบที่พวกเขาได้รับจากจอห์น ที่เขาไม่เคยเปิดเผยกับใครว่า เขาเป็นคนที่ใช้ชีวิตในยุคน้ำแข็งและรอดชีวิตมาถึงปัจจุบันนี้โดยมีอายุมากกว่า 1.4 หมื่นปี 

การท้าทาย ‘ความจริง’ ของ จอห์น โอลแมน

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแนวความคิดที่คัดค้าน ‘ความจริง’ ที่ไม่เป็นข้อเท็จจริงมาเปิดเรื่องได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในขณะเดียวกันก็ให้เหล่าคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในมหาวิทยาลัยเป็นผู้พูดคุยกับจอห์น และถามในสิ่งที่พวกเขามีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ จนถึงปรัชญา 

มีช่วงหนึ่งที่ตัวละครที่เป็นอาจารย์ด้านโบราณคดีกล่าวกับวงสนทนาว่า ‘ถ้าคนในยุคน้ำแข็งมีอายุเท่าพวกเรา เขาคงเรียนรู้ได้มากกว่าพวกเราในปัจจุบัน’ ข้อความตรงนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงที่มาของคำว่า ปรัชญา (Philosophy) ที่เป็นการรวมกันระหว่างคำว่า ความรัก (Sophia) กับความรู้ (Philos) กลายเป็นความรักในความรู้ และความรักดังกล่าวทำให้ความรู้ ‘ไม่มีวันตาย’ ถูกส่งต่อไปในอนาคตเรื่อยๆ เสมือนกับตัวของจอห์นที่มีอายุมากกว่าใครๆ บนโลกนี้ เขาได้โอกาสเรียนรู้มากกว่าใครๆ และได้ออกค้นหาความหมายของชีวิตมาหลายพันปี จนกระทั่งได้พบเจอบุคคลที่ชื่อเสียงในอดีต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโซฟิสต์ โคลัมบัส แวนโก๊ะ หรือแม้แต่พระพุทธเจ้า 

ความจริงของจอห์นนำมาสู่การตั้งคำถามอีกมากมายที่พยายามคัดค้านและขัดแย้งสิ่งที่เขาเล่า โดยยกหลักฐานต่างๆ แต่ปรากฏว่าจอห์นสามารถตอบได้ทั้งหมด โดยใช้ ‘ความจริง’ จากประสบการณ์ที่ได้พบเจอมาในระหว่าง 1.4 หมื่นปี ทำให้ไม่มีใครสามารถแย้งได้ 

ขณะเดียวกัน ในช่วงเปิดเรื่องมีเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งกล่าวกับจอห์นว่า วันแรกเมื่อสิบปีที่แล้วกับวันนี้ หน้าตาของเขายังคงเหมือนเดิม แสดงให้เห็นว่า ‘ความจริง’  ของจอห์นยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไป และความไม่เคยเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้จอห์นต้องย้ายที่อยู่ทุก 10 ปี ไม่เช่นนั้นจะมีคนเริ่มสงสัยว่าเขาไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป

ผู้เขียนคิดว่าตรงนี้คือความท้าทายประการแรก ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของกลุ่มโซฟิสต์คนสำคัญอย่างเพลโต ที่เสนอแนวความคิดเรื่องโลกแห่งแบบหรือโลกเหนือประสาทสัมผัส เป็นโลกแห่งสัจจะแท้ (The Absolute Reality) ซึ่งไม่แปรปรวน มีความจริง เป็นนิรันดร และเป็นโลกที่สมบูรณ์ เช่น มนุษย์แต่ละคนต่างมีความเป็นปัจเจกแตกต่างกัน สิ่งที่มีร่วมกันคือความเป็นคน ที่เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย แต่ต่อให้มนุษย์ตายไป ความเป็นคนไม่ได้ตายไปด้วย แตกต่างจาก จอห์น โอลแมน ที่ ‘ความจริง’ ของเขา คือการไม่มีวันตาย แสดงว่าไม่ว่าจะในโลกแห่งความจริงหรือโลกแห่งแบบ การมีชีวิตอยู่ของจอห์น โอลแมน ก็คือความท้าทายความจริงอย่างถึงที่สุด

อาจสรุปได้ว่าในขณะที่ จอห์น โอลแมน (แค่ชื่อก็แสดงถึงนัยสำคัญ) เล่าเรื่องต่างๆ มากมายที่กำลังท้าทายความเป็นจริงของโลกใบนี้ในมุมมองของเขา แน่นอนว่าอาจเป็นเพียงทฤษฏีสมทบคิด (Conspiracy theory) ที่ในหนึ่งเรื่องอาจมีเรื่องเล่าเป็นร้อยหรือพันแบบแตกต่างกันไป แต่ในโลกของความเป็นจริงที่พวกเราอาศัยอยู่ จอห์นคือตัวละครที่ทำหน้าที่ ‘ท้าทาย’ ความคิดตัวละครอื่นๆ พร้อมกับผู้ชมไปพร้อมกัน 

การตามหา ‘จุดเริ่มต้น-สิ้นสุด’ 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พูดถึงการกำเนิดและความตายไว้ค่อนข้างมาก โดยมีช่วงหนึ่งเพื่อนอาจารย์ของเขาถามว่า จอห์นจำพ่อและแม่ของเขาได้หรือไม่ ซึ่งเขาเล่าว่าจุดเริ่มต้นชีวิตของเขาไม่ได้สวยงามมากนัก เขาเพียงมองขึ้นไปบนฟ้าและคิดว่าตนเองมาจากไหน และต้องไปที่ไหนกันแน่ และอีกคำถามที่เพื่อนของเขาถามคือ ผู้คนในอดีตมองความตายว่าอย่างไร จอห์นตอบเพียงว่า มันเรียบง่ายกว่าที่คนในปัจจุบันคิด แค่ล้มลงแล้วไม่ลุกอีกเลย

มองในด้านปรัชญา คงเป็นคำถามที่ยากจะตอบว่าจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของมนุษย์อยู่ตรงไหน แต่การตั้งคำถามนี้คือความสำคัญที่ทำให้ชีวิตของมนุษย์มีความหมาย เปรียบเทียบอย่างง่ายคือ มนุษย์เป็นผู้ที่มีความต้องการอะไรบางอย่างอยู่เสมอ และสิ่งเหล่านั้นทำหน้าที่ผลักดันให้ชีวิตเคลื่อนที่ไปข้างหน้าโดยอยู่ระหว่างจุดเริ่มและจุดสิ้นสุด

ฉากหนึ่งที่น่าสนใจคือ เพื่อนของเขาได้ฟังสิ่งที่จอห์นคุยกับอีกคนหนึ่งว่า เขาเคยมีครอบครัวและมีลูก จึงต้องใช้นามแฝงเสมอมา ปรากฏว่านามแฝงหนึ่งในนั้นไปตรงกับชื่อพ่อของเขาที่ทิ้งครอบครัวไปในอดีต เขาจึงเข้ามาถามหาความเป็นจริงจากจอห์น และจอห์นตอบคำถามได้ตรงกับสิ่งที่พ่อและครอบครัวในอดีตเขาเป็น ทำให้เขาหัวใจวายเสียชีวิตในอ้อมแขนของจอห์นทันที เรื่องพยายามชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นครั้งแรกที่จอห์นได้เห็นลูกๆ ของเขาที่เติบโต แต่กลับต้องมาเสียชีวิต

ในโลกความเป็นจริง แน่นอนว่ามนุษย์สามารถหาคำตอบในจุดกำเนิดของทุกสิ่งได้เท่าที่องค์ความรู้ในยุคนี้ไปถึง แต่สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ยังไม่สามารถหาคำตอบได้คือ เมื่อมนุษย์ล้มลงแล้วไปไหนต่อ จึงไม่แปลกเมื่อเพื่อนของเขาถามจอห์นว่ากลัวความตายหรือไม่ เขาจึงยอมรับง่ายๆ ว่ากลัว เพราะไม่รู้ว่าคืออะไร

เสมือนจอห์นไม่รู้ว่าจุดสิ้นสุดของเขาคืออะไร เขาจึงเดินทางเพื่อค้นหาความหมาย ถึงแม้ในเรื่องจะไม่ได้เฉลยว่าจอห์นได้ค้นพบหรือไม่ก็ตาม

ความท้าทายเรื่อง ‘ความเชื่อ’ และ ‘ความศรัทธา’

สิ่งที่ภาพยนตร์พยายามแสดงออกอย่างชัดเจนคือ การนำพาผู้ชมไปจุดที่กำลังท้าทาย ‘ความเชื่อ’ และ ‘ความศรัทธา’ ของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้หรือแม้แต่เรื่องศาสนา

ก่อนหน้าจอห์นเล่าถึงตัวเขาเองที่นับถือมาหลายศาสนา ทั้งศาสนาผี และชาแมนที่เคารพในธรรมชาติ และการนำวิญญาณของสัตว์มาสิ่งสู่มนุษย์ ข้ามความเป็นมนุษย์สู่ความเป็นผู้ติดต่อพระเจ้า แต่หลายปีถัดมา ‘ความเชื่อ’ ของเขาก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย และสิ่งเก่าก็ค่อยๆ ถูกลืมเลือนในที่สุด

อีกช่วงสำคัญคือจอห์นเล่าถึงประวัติศาสตร์ของศาสนา ระหว่างศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ โดยจอห์นกล่าวว่าตนเคยเจอกับพระพุทธเจ้าและเป็นผู้นำคำสอนของศาสดาแห่งศาสนาพุทธมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต เขาร่วมเดินทางไปกับพระพุทธเจ้าอยู่พักหนึ่ง และจึงเดินทางย้อนกลับไปทางตะวันตก เพื่อนำคำสอนเหล่านั้นมาเผยแพร่ในประเทศแถบยุโรปอีกครั้ง 

อีกทั้งจอห์นได้ยอมรับว่าตนคือคนที่โดนตรึงบนไม้กางเขน เนื่องจากนำคำสอนที่ได้เรียนรู้มาผนวกกับความคิดของตน เพื่อเผยแพร่ยุคมืดของอาณาจักรโรมันที่อยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5-15 ไม่ต่างจากยุคมืดของจักรวรรดิโรมัน ที่มองว่าศาสนาคริสต์ไม่ต่างจากภัยความมั่นคง ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่า คัมภีร์อันหลากหลายของแต่ละศาสนาต่างมีจำนวนมาก และหลายสิ่งถูกแต่งเติม เพื่อให้ใครก็ตามที่เป็นผู้เขียนได้มีอำนาจที่เกิดจาก ‘ความศรัทธา’ เท่านั้น 

เมื่อจอห์นเล่ามาถึงตรงนี้ เพื่อนของเขาแต่ละคนต่างไม่สบอารมณ์ในสิ่งที่จอห์นเล่าและกล่าวว่าเขากำลังล่วงเกินศาสนา รวมถึงท้าทายความเชื่อของศาสนาต่างๆ แต่จอห์นก็สามารถให้เหตุผลต่างๆ นานาจนทุกคนเริ่มคล้อยตามและตั้งใจฟังจอห์นอีกครั้ง แต่หากสิ่งที่จอห์นเล่าคือความจริง หลายสิ่งต่างถูกเติมแต่งเพื่อก่อให้เกิดความเชื่อและความศรัทธา คำถามสำคัญคือ เพื่อนของจอห์นในห้องนั้นจะยังคงศรัทธาในคำสอนของศาสนา หรือทำให้ความเชื่อที่เคยมีเริ่มสั่นคลอน

อย่างที่กล่าวไปว่า เมื่อความรักในความรู้ของแต่ละคนแตกต่างกันไป ทำให้ภาพการมองโลกย่อมแตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้เองที่ค่อยๆ กลายเป็นพลังเปลี่ยนแปลงไปสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเชื่อ’ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้นำเรามายืนอยู่ตรงปากเหวของความเชื่อ พยายามล่อลวงด้วยการบอกว่าที่ไม่มีความเชื่อไหนผิด ถูก หรือเป็นความจริงที่แน่นอน แต่เป็นเพียงชุดความคิด แม้แต่สวรรค์หรือนรกที่ตัวละครจอห์นก็ยังไม่แน่ใจว่ามีสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ แต่การทำตัวให้ไม่เป็นที่ลำบากของผู้อื่น ก็ถือว่าดีที่สุดแล้วสำหรับจอห์น

กล่าวโดยสรุป แม้กว่าร้อยละ 90 ของ The Man from Earth คือบทสนทนา แต่กว่า 80 นาทีของภาพยนตร์ ไม่มีช่วงไหนที่น่าเบื่อเลย แต่กลับทำให้เรายิ่งอยากรู้เรื่องราวจากปากของชายผู้อ้างตัวเองว่าเคยเจอพระพุทธเจ้า เป็นเพื่อนแวนโก๊ะ และเป็นพระเยซูคริสต์มากขึ้น กับการตั้งคำถามถึงความเชื่อและความศรัทธา นี่จึงเป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

Tags: , ,