ตื่นเต้น…

ตั้งแต่เล็กยันโต มีใครไม่เคยได้ยินชื่อ ‘พระแม่คงคา’ กันบ้าง 

ถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง วันลอยกระทง อย่างน้อยในชีวิตแต่ละคนต้องเคยซื้อกระทงไปลอยน้ำเพื่อขอขมาพระแม่คงคากันบ้าง แล้วจะไม่ให้รู้สึกตื่นเต้นได้อย่างไร เมื่อในที่สุดก็ได้ไปเยือนเมืองแห่งแม่น้ำคงคาอย่างแท้จริงเสียที นั่นคือพาราณสี

ยิ่งไล่เรียงความเป็นมาของเมืองพาราณสี ยิ่งรู้สึกทึ่ง 

พาราณสีเป็นหนึ่งในเมืองเก่าแก่ของโลกที่ไม่เคยร้างราผู้อยู่อาศัย  แล้วที่ว่าเก่าแก่น่ะ เก่าแก่ขนาดไหน อ้างอิงจากเรื่องราวในพุทธประวัติแล้วกัน ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ได้ทรงเสด็จไปยังนครกาศี (ชื่อเมืองพาราณสีในเวลานั้น) และได้แสดงปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นป่าในนครกาศี ซึ่งปัจจุบันคือตำบลสารนาถ นี่จึงเป็นสิ่งยืนยันชั้นดีว่า เมืองพาราณสีเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีมาก่อนกำเนิดพระพุทธศาสนา

เมื่อเป็นเมืองเทพเจ้าจึงมีรูปเทพเจ้าให้เห็นอยู่ทั่วไป

นอกจากนี้ยังเป็นเมืองของพระศิวะ เพราะหลังจากอภิเษกสมรสกับพระแม่อุมาเทวี ชายาเอกแล้ว ชาวฮินดูเชื่อกันว่าพระศิวะและพระแม่อุมาเทวีได้เลือกที่จะมาครองคู่ที่นครกาศี นครที่มีแม่น้ำคงคาไหลผ่าน พาราณสีจึงเป็นเมืองของพระศิวะ และเป็นเมืองแห่งแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์

เรื่องราวเทพปกรณัมของชาวฮินดูเล่าขานว่าต้นกำเนิดของแม่น้ำคงคานั้นมาจากสระอโนดาตในดินแดนหิมพานต์ และยังพวยพุ่งผ่านเศียรของพระศิวะ จึงเป็นแม่น้ำจากสรวงสวรรค์ที่เชื่อมระหว่างสวรรค์และโลกมนุษย์  และด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพาราณสีไม่เคยร้างราจากผู้คน ชาวฮินดูพากันหลั่งไหลเดินทางมายังที่นี่ อย่างน้อยสักครั้งในชีวิต ในการอาบน้ำคงคาเพื่อชำระบาป มาเพื่อทำพิธีบูชาเทพเจ้า มาเพื่อขอพรและสุดท้ายมาตายและปลงศพริมแม่น้ำ ด้วยเชื่อกันว่าเถ้ากระดูกของพวกเขาเมื่อลงสู่แม่น้ำ จะทำให้ได้เดินทางสู่สรวงสวรรค์

บรรยากาศริมแม่น้ำคงคา

ฉันกำลังย่ำเท้าตามเจ้าหน้าที่ของที่พักที่แบกกระเป๋าของพวกเราเดินนำจากทางถนนอันวุ่นวาย เข้าไปยังตรอกคับแคบที่เดี๋ยววกไปซ้าย เดี๋ยววนไปขวา ในใจนั้นนึกดีใจที่เลือกให้ที่พักจัดรถมารับพวกเราที่สนามบิน เพราะหากเดินทางมาเองแล้ว นึกสภาพไม่ออกเลยว่าจะหาที่พักเจอได้อย่างไร เพื่อนร่วมทางอีกสองรายที่มาด้วยกันพากันเหลียวซ้ายแลขวาสังเกตุทิศทางเพื่อจดจำ แต่เมื่อเส้นทางซับซ้อนหลายชั้นเข้า ก็ส่ายหัวยอมแพ้  เอ่ยปากยอมรับว่าจำทางเดินย้อนกลับไปยังถนนใหญ่ไม่ได้แล้ว

ผู้คนลงมาอาบน้ำที่แม่น้ำคงคา

แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา ในพาราณสีใครเขาเที่ยวตามถนนสายหลักกัน ด้วยจุดมุ่งหมายแต่ละคนล้วนอยู่ที่ริมแม่น้ำคงคากันทั้งสิ้น และที่พักที่พวกเราเลือกพักก็ผ่านการเลือกแล้วเลือกอีกว่าขอใกล้แม่น้ำคงคาอย่างแน่นอน เมื่อเหวี่ยงสัมภาระเข้าที่พักเรียบร้อยจึงเดินไปถามหาเส้นทางเดินไปยังริมแม่น้ำ ซึ่งยังคงคุณลักษณะเล็กแคบ และท้ายสุดเป็นบันไดสูงชันดิ่งลงสู่ริมฝั่ง

ในที่สุดเราก็มาถึงริมฝั่งแม่น้ำที่เป็นทางเดินยาวที่ด้านหลังเชื่อมต่อกับชุมชนด้วยทางบันไดสูงชัน โดยด้านหน้าเป็นท่าน้ำที่เรียกว่า ฆาต (Ghat) ซึ่งตลอดริมฝั่งแม่น้ำคงคาที่ไหลผ่านตัวเมืองเป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร มีฆาตถึงกว่า 80 ฆาต เรียกได้ว่าแค่ขยับเดินไม่กี่ก้าวก็จะผ่านไปหนึ่งฆาต

เราเดินสำรวจริมแม่น้ำอยู่สักพักจึงค่อยเข้าใจว่าทำไมถึงต้องมีฆาตมากมายขนาดนั้น เพราะคนที่หลั่งไหลมายังแม่น้ำคงคามากมายจริง ๆ ฆาตจึงเป็นทางผ่านสำหรับพวกเขาในการลงไปอาบน้ำ ซักผ้า ลอยกระทง ทิ้งเถ้ากระดูก ล่องเรือ ฯลฯ นั่นทำให้เราใช้เวลาในการเดินสำรวจเส้นทางริมน้ำนานมากทีเดียว เพราะมีรายละเอียดยุบยิบเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้หยุดแวะชมอยู่ตลอด ตัวลานทางเดินเองก็น่าสนใจไม่แพ้ตัวฆาตเพราะพร้อมที่จะแปรสภาพเป็นลานเอนกประสงค์ให้ผู้คนทำกิจกรรม ไม่ว่าจะทำพิธีบูชาเทพเจ้า  ตากผ้า เล่นคริกเก็ต ชักว่าว นอน นั่งดื่มน้ำชา ขายของ นั่งสมาธิ เล่นโยคะ พูดคุยถกปรัชญา ปลงศพ ฯลฯ

ในบรรดา 80 กว่าฆาตริมแม่น้ำคงคา หลายฆาตโดดเด่นจนจดจำได้เป็นพิเศษ

วัดจมน้ำบริเวณท่าซินเด ฆาต

ฆาตแรกคือท่าเกดาร ฆาต (Kedar Ghat) เป็นฆาตแห่งศิวลึงด์โดยแท้ เพราะด้านบนเป็นที่ตั้งเทวาลัยสรรเสริญศิวเทพที่ด้านในเต็มไปด้วยศิวลึงค์ที่เป็นสัญลักษณ์ขององค์ศิวะ ทันทีที่เดินขึ้นไปบนเทวาลัย ความสนใจของเราก็ถูกดึงให้เข้าไปในห้องเล็กๆ ด้านข้างที่อยู่ด้านหน้าตรงทางเข้า ห้องนั้นเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ขนาดใหญ่ประมาณโอ่งใบย่อม ด้านบนมีดอกดาวเรืองร้อยประดับประดา ไม่รู้ว่านี่เป็นศิวลึงค์ที่ใหญ่ที่สุดในตัวเมืองหรือไม่ แต่เท่าที่เราเดินเที่ยวในเมืองพาราณสีอยู่หลายวันศิวลึงค์ที่นี่มีขนาดใหญ่ที่สุดแล้ว และเมื่อเข้าไปด้านในเทวาลัยเต็มไปด้วยศิวลึงค์และโยนีที่มีขนาดใหญ่น้อย และรูปปั้นเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ 

ฆาตถัดไปคือท่าหริศจัณทร์ ฆาต (Harishchandra Ghat) และท่ามณิกรรณิการ์ ฆาต (Manikarnika Ghat) ทั้งสองฆาตเป็นท่าเผาศพที่อยู่คนละด้าน  ภาพกองไฟที่ลุกไหม้จากการเผาฝืนแบบโบราณและควันที่ลอยโขมง ถึงไม่มีเจ้าถิ่นเข้ามาเตือนบอกไม่ให้ถ่ายรูป พวกเราก็รับรู้โดยอัตโนมัติว่าที่นี่นี่เอง ที่เป็นท่าเผาศพ  เปลวไฟที่เชิงตะกอนทั้งสองท่านั้นสว่างไสวตลอดเวลาไม่เคยดับ เราเดินผ่านครั้งใดก็จะเห็นลุกโพลงตลอดเวลา และเต็มไปด้วยญาติที่มาประกอบพิธีเผาศพ ขณะอยู่ที่ฆาตเผาศพริมน้ำคงคานั้นเอง เราจำบทความหนึ่งในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมเขียนโดย ผศ. ดร.อาชว์ภูริชญ์ น้อมเนียนได้ระบุไว้ว่าสำนวนไทยที่ว่า “ดวงไม่ถึงฆาต” ที่เราคุ้นเคยกันนั้นมีที่มาจาก หริศจัณทร์ ฆาตและ มณีกรรณิการ์ ฆาต ที่เป็นท่าเผาศพริมแม่น้ำคงคานี่เอง ดวงไม่ถึงฆาต หมายถึงร่างที่ยังมาไม่ถึงท่าเผาศพ นำมาใช้ในความหมายไทย ๆ นั่นคือดวงยังไม่ถึงที่ตาย 

 ใกล้ๆ กับท่ามณีกรรณิการ์ยังมีบ่อน้ำโบราณทรงสี่เหลียมผืนผ้าชื่อว่า มณีกรรณิการ์ กุณฑ์ (Manikarnika Kund)  เป็นบ่อน้ำขั้นบันไดที่เดินลงไปถึงด้านล่างได้ 

ขณะเดินไปตามริมน้ำจะเห็นภาพการตากผ้าแบบนี้ของชาวอินเดียเป็นระยะ

อีกฆาตที่ใครผ่านไปมาต้องสะดุดอย่างแน่นอนคือท่าซินเด ฆาต (Scindia Ghat) เพราะมีวัดจมน้ำ เทวาลัยสรรเสริญศิวเทพ ตั้งเอียงจมอยู่ในน้ำเหลือเพียงครึ่งเดียว เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะพาราณสีประสบเหตุน้ำท่วมใหญ่อยู่หลายครั้ง ซัดพื้นที่ริมตลิ่งให้ทรุดลง ตัววัดจึงเอียงจมลงไปกลายเป็นภาพแปลกตา

พิธีคงคาอารตี

และก็ถึงฆาตสุดท้ายที่สำคัญนั่นคือท่าทศาศวเมธ ฆาต (Dashashvamedha Ghat) เรียกขานกันอีกชื่อว่า เมน ฆาต เป็นท่าหลักที่เก่าแก่และวุ่นวายที่สุด  ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างฆาตทั้งหมดริมน้ำ และโชคดีที่ที่พักเราอยู่ใกล้ๆ กับท่าแห่งนี้ เมื่อเดินผ่านมายังท่านี้ทีไรรู้สึกมีชีวิตชีวาทุกครั้ง เพราะท่าแห่งนี้มีผู้คนลงมาอาบน้ำ ลอยกระทงบูชาพระแม่คงคา และขอพรกันเป็นกลุ่มใหญ่ตลอดทั้งวัน 

ผู้คนมานั่งรอชมพิธีคงคาอารตี

เราเดินผ่านฆาตนี้ตอนหัวค่ำ ก็ประหลาดใจในความคึกคักที่ผู้คนทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว พากันมานั่งกันเต็มบันไดทางเดิน ทั้งยังเปิดเพลงบรรเลงกันคึกคัก เพราะที่นี่เป็นสถานที่ทำพิธีคงคาอารตี (Ganga-Aarti) พิธีบูชาพระแม่คงคาด้วยดวงไฟ ผู้คนจำนวนมากที่เราเห็นนั่งกันเต็มพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเย็นย่ำ พวกเขามานั่งรอเพื่อชมการประกอบพิธีคงคาอารตีที่จะเริ่มขึ้นหลังพระอาทิตย์ตกดินเป็นประจำทุกวันนั่นเอง 

นักท่องเที่ยว คนท้องถิ่น และเทพเจ้า

 บรรดาพราหมณ์จะทำพิธีบูชาแม่น้ำคงคาด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ ท่ามกลางเสียงบทสวด และเสียงลั่นระฆังที่ดังประกอบพิธีอยู่ตลอดเวลา สำหรับคนพื้นถิ่นแล้วพวกเขาอยู่กันจนจบพิธีด้วยศรัทธา และรอรับผลไม้ที่ผ่านการทำพิธีแล้วมาแบ่งกันทานเพื่อเป็นสิริมงคล 

เช้าวันรุ่งขึ้น เราเริ่มกิจกรรมริมแม่น้ำคงคาด้วยการล่องเรือรับพระอาทิตย์ขึ้น

ดูเหมือนรอบๆ แม่น้ำคงคาไม่เคยหลับไหลจริง ๆ ฟ้าไม่ทันสว่างแต่ผู้คนมากมายก็มุ่งมายังแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์กันแล้ว เราล่องเรือจากท่าใกล้ ๆ กับท่าหลัก มุ่งตรงสู่ทิศใต้ไปสิ้นสุดที่ท่าอัสสี (Assi Ghat) ก่อนวนกลับไปยังท่าน้ำสุดท้ายทางทิศเหนือ ก่อนจะวนมาจบตรงบริเวณท่าหลักอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้เราเดินสำรวจฆาตทั้งหมดมาแล้ว แต่การได้ล่องเรืออีกครั้งทำให้ได้เห็นภาพริมฝั่งแม่น้ำคงคาในมุมกว้าง และได้เห็นกิจกรรมหลากหลายที่เกิดขึ้นริมน้ำอีกครั้งหนึ่ง

ศิวลึงค์สัญลักษณ์ศิวเทพ

กระทงดอกไม้สำหรับบูชาพระแม่คงคา

หลังจากสำรวจริมฝั่งแม่น้ำทั้งการย่ำเดินและล่องเรือจนเต็มอิ่ม ถึงเวลาที่เราควรจะสำรวจชุมชนที่อยู่ถัดเข้าไปด้านในบ้าง เส้นทางผ่านชุมชนเมืองเก่า เป็นทางตรอกคับแคบคดเคี้ยวเต็มไปด้วยเศษขยะที่ถูกทิ้งเกลื่อน มีทั้งวัว และหมาเดินย่ำผ่าน และอึทิ้งไว้เรี่ยราด เป็นการเดินที่ไม่น่าสนุก เพราะต้องระวังไม่ให้เดินเหยียบโดนขยะและกับระเบิด 

แต่เรารู้สึกว่าเป็นการเดินที่มีเสน่ห์อย่างบอกไม่ถูก อาจด้วยวิถีชีวิตของผู้คนในตรอกนี้ กลับเรียบง่าย ดังเช่น พ่อค้าขายหมากนั่งบรรจงจัดหมากพลูเป็นชุด ๆ วางบนตั่งแคบ ๆ ทำไปเรื่อย ๆ ด้วยท่าทางพออกพอใจ ดูแล้วสบายตา

ความเป็นมิตรฉายฉานบนใบหน้าของคนที่นี่ พวกเขาชอบที่จะต้อนรับขับสู้นักท่องเที่ยว แม้การเข้าหาจะมีวัตถุประสงค์เพื่อขายของ หรือขอเงิน แต่หากเราพูดคุยด้วยแล้ว พวกเขาพร้อมที่จะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านเมืองของพวกเขาให้ฟัง อีกทั้งคนที่นี่ไม่อันตราย พวกเขาอาจจะช่างขอ ช่างตื๊อ แต่พวกเขาไม่ใช่ขโมย นั่นทำให้ ไม่ต้องคอยระมัดระวังทรัพย์สินว่าจะสูญหาย

บรรยากาศล่องเรือยามเช้า

ชาวพุทธอย่างเราเมื่อมาพาราณสีแล้ว ต้องไปสารนาถที่อดีตคือป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เมื่อจบปฐมเทศนา โกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ได้บรรลุโสดาบันจึงขออุปสมบทเป็นพระ และกลายเป็นพระสงฆ์รูปแรกของโลก  นั่นทำให้สารนาถ กลายเป็นจุดกำเนิดของพระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการ เพราะมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ 

ธัมเมกขสถูป สถูปหินทรงบาตรคว่ำ

ทางการอินเดียได้ดูแลสถานที่นี้เป็นอย่างดี สิ่งก่อสร้างที่เป็นภาพจำของที่นี่เห็นจะเป็นธัมเมกขสถูป สถูปหินทรงบาตรคว่ำ ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระจ้าอโศกมหาราชในช่วงที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดในดินแดนอินเดีย และจุดที่สร้างสถูปแห่งนี้นี่เองที่เชื่อกันว่าเป็นบริเวณที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาต่อปัญจวัคคีย์ทั้ง 5

หัวเสาหินอโศก

และที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่งคือเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์สารนาถที่ตั้งยู่ใกล้ๆ ภายในพิพิธภัณฑ์มีหัวเสาหินอโศกที่เป็นรูปสลักสิงโต 4 ตัวหันหน้าออกสี่ทิศวางแสดง นี่เป็นหัวเสาพระเจ้าอโศกที่สมบูรณ์ที่สุด ไม่น่าเชื่อว่าจะมีอายุหลายพันปีแล้ว ด้านบนนั้นที่จริงจะต้องมีธัมมจักรเทินอยู่บนสิงห์ทั้งสี่นั้น หากหักพังเป็นชิ้น ๆ ทางพิพิธภัณฑ์จึงได้จำลองรูปภาพหัวเสาที่สมบูรณ์ และนำชิ้นส่วนที่หักพังนั้นมาประกอบแสดง

ธัมมจักรอยู่บนสิงห์ทั้งสี่ที่หักพัง

เช้าวันสุดท้ายในพาราณสี เราย้อนกลับไปเดินริมฝั่งแม่น้ำคงคาอีกครั้ง ภาพกิจวัตรเดิมๆ ปรากฏให้เห็น ผู้คนยังหลั่งไหลมาทำกิจวัตรของพวกเขาที่นี่ เปลวไฟที่หริศจัณทร์ ฆาต  และมณีกรรณิการ์ ฆาตยังคงสว่างไสว สะท้อนให้เห็นว่าเมืองเก่าแก่กว่า 4,000 ปีแห่งนี้ยังคงความเป็นเมืองเทพเจ้าที่ผู้คนยังเปี่ยมล้นไปด้วยศรัทธา  

Tags: ,