Burning Man คือเทศกาลดนตรีประจำปีที่จัดขึ้นกลางทะเลทรายเนวาดา เป็นงานที่เปิดให้ผู้คนนับหมื่นได้มา ‘ไม่ใช่เงิน’ ลองใช้ชีวิตท่ามกลางความร้อนแล้ง เต็มไปด้วยฝุ่นและพายุทราย อยากได้อะไรก็ทำเองหรือใช้วิธีแลกเปลี่ยนกัน ตัดขาดตัวเองจากโลกภายนอกและทุนนิยมสักพัก

แต่ในยุคอินสตาแกรมเฟื่องฟู ตัวงานที่เคยเป็นพื้นที่โหดหิน ให้ผู้คนได้เผชิญกับสภาพอากาศอันเลวร้าย แล้วมุ่งเสพศิลปะและงานออกแบบสไตล์ post-apocalypse เริ่มเปลี่ยนไป ในงานเต็มไปด้วยนางแบบนายแบบหรืออินฟลูเอนเซอร์ ที่มาเพื่อถ่ายภาพ อัดวิดีโอ ไลฟ์ เพื่อเสริมส่งตัวตนทางออนไลน์และความเป็นที่นิยมของตัวเองเป็นหลัก และพวกเขาและเธอก็ดึงดูดแบรนด์สินค้าให้มาไทอินกันแทบไม่หวาดไม่ไหว

จากแนวคิดหลักของงานที่ต่อต้านทุนนิยมและบริโภคนิยม ต้องกลายเป็นย้อนแย้งเมื่อมีแบรนด์ต่างๆ เข้ามายุ่งเกี่ยว เช่นทำแพ็กเกจข้าวของสำหรับใช้ชีวิตใน Burning Man ส่งให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ในงานใช้ และถ่ายรูปแชร์ หรือธุรกิจสไตลิสต์สำหรับการแต่งตัวไปร่วมงาน Burning Man ไปจนถึงแพ็กเกจที่พักสุดหรูแบบฟูลออบชั่น ให้ไปใช้ชีวิตสบายๆ ข้างในนั้นโดยไม่แคร์แก่นแท้ของงานกันเลย

มาเรียน กูเดล ผู้บริหารของงาน Burning Man เขียนระบายและชี้แจงเอาไว้ใน journal.burningman.org ว่าเธอพบเห็นปัญหาเหล่านี้เป็นจำนวนมาก มีคนร้องเรียนปัญหามาที่ผู้จัดงานจำนวนมาก เช่นชายวัย 65 ปีคนหนึ่งที่พบว่าพวกรถอาร์ตในงาน (รถที่นำมาแต่งตามธีมงาน) ไม่เคยจอดรับเขา คู่เกย์ก็ไม่ถูกรับเช่นกัน คล้ายกับว่าพวกเขาจะรับแต่สาวๆ สวยๆ เท่านั้น ทุกอย่างทำให้อุดมการณ์ดั้งเดิมผิดเพี้ยนไปหมด และที่เธอยอมรับไม่ได้อย่างมากก็คือลัทธิทุนนิยมที่เข้ามายึดครองพื้นที่นี่เอง

อันที่จริงผู้ร่วมงานหลายคนก็ต่อต้านลัทธิบริโภคนิยมเหล่านี้ กลายเป็นความขัดแย้งในตัวงาน เช่นในปี 2016 มีกลุ่มวัยรุ่นที่บุกเข้าไปทำลายแคมป์หรูของแกงค์ดีเจและลูกชายมหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ด้วยการสาดน้ำเข้าใส่และทำการตัดน้ำตัดไฟ ไม่ให้เครื่องทำความเย็นทำงาน

อีกหนึ่งอุดมการณ์ที่ใกล้จะเสียไปของงานคือ Leave no trace คือการกลับไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่ทิ้งขยะหรือความเสียหายใดๆ ไว้บนพื้นที่ แน่นอนว่าเมื่อมีกลุ่มคนที่ไม่ได้อินกับแก่นของงานขนาดนั้น กลายเป็นว่าเริ่มมีขยะหลงเหลืออยู่หลังจบงานเสียแล้ว

“Burning Man คืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่ความสะดวกสบาย” มาเรียนยืนยันในบทความของเธอ โดยวิธีที่จะพยายามแก้ปัญหาคือ ทางงานจะออกแบบควิซเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งในการคลิกเข้าจองบัตร รวมถึงส่งอีเมลถึงเจ้าของชื่อบนบัตรทุกคน เกี่ยวกับตัวงานและอุดมการณ์ เพื่อข้อความร่วมมือให้ทุกคนยึดมั่น ส่วนจะได้ผลหรือไม่นั้น คงต้องรอติดตามชมภาพจากงาน Burning Man 2019 ที่จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้

ที่มา:

http://www.dazeddigital.com/life-culture/article/43363/1/instagram-influencer-destroying-burning-man-culture

https://journal.burningman.org/2019/02/philosophical-center/tenprinciples/cultural-course-correcting/?fbclid=IwAR1E2Ys2bzZwLZ9PjULiRXeNKzYnPKbKTIZgt4VPdaKh1C6WaC74USI3Y6k