กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงบนโลกอินเทอร์เน็ต สำหรับ The Idol ซีรีส์เรื่องใหม่แกะกล่องจาก แซม เลวินสัน (Sam Levinson) ผู้สร้าง Euphoria และเดอะวีคเอนด์ (The Weeknd) ศิลปินชื่อดัง นอกจากชื่อโปรดิวเซอร์จะเป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้ว ตัวซีรีส์ยังนำแสดงโดยนางแบบและนักแสดงดาวรุ่งอย่าง ลิลลี่-โรส เดปป์ (Lily-Rose Depp) และเจนนี คิม (Jennie Kim) สมาชิกวง BLACKPINK ทำให้คอบันเทิงหลายคนเฝ้ารอและคาดหวังเป็นอย่างมาก
The Idol เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ โจเซลีน (แสดงโดยลิลลี่-โรส เดปป์) ป็อปสตาร์สาวที่เพิ่งผ่านช่วงสุขภาพจิตย่ำแย่หลังจากแม่เสียชีวิต เธอกำลังเบื่อหน่ายงานอันฉาบฉวยของตัวเอง จนได้มาพบกับ เทโดรส (แสดงโดยเดอะวีคเอนด์) หนุ่มเจ้าของคลับที่สามารถจุดประกายบางอย่างในตัวโจเซลีน จนนำไปสู่การเริ่มต้นความสัมพันธ์ซับซ้อนของทั้งคู่
หากอ่านแค่เรื่องย่อ ซีรีส์เรื่องนี้เหมือนจะสะท้อนสังคมได้ดี ไม่ว่าจะเป็นด้านปัญหาสุขภาพจิต หรือเบื้องลึกเบื้องหลังของวงการบันเทิงที่มีประเด็นน่าสนใจ สามารถหยิบจับมาเล่นได้ไม่รู้จบ
แต่ทว่าวิธีการนำเสนอของเลวินสัน ที่ลดทอนตัวละครโจเซลีนให้กลายเป็นวัตถุทางเพศเพื่อตอบสนอง Male Gaze ได้กลายเป็นปัญหาและถูกตั้งคำถามโดยผู้ชมเป็นวงกว้าง
Male Gaze คืออะไร
หากแปลเป็นไทยแบบตรงตัว Male Gaze คือการสื่อถึง ‘มุมมองที่มาจากผู้ชาย’ โดยคำดังกล่าวมาจากบทความปี 1975 ของนักทฤษฎีภาพยนตร์ ลอรา มัลวีย์ (Laura Mulvey) ที่กล่าวว่า เพราะโลกภาพยนตร์ถูกชักนำโดยแนวคิดปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องจึงถูกสร้างขึ้นมา ‘เพื่อตอบสนองความพอใจของผู้ชาย’ (For the pleasure of the male viewer)
ภาพยนตร์ที่สร้างผ่าน Male Gaze ทำให้ผู้ชายกลายเป็น ‘ฝ่ายมอง’ ส่วนผู้หญิงเป็น ‘ฝ่ายถูกมอง’ ผู้ชายมีอำนาจในการกำกับสายตาของตัวเองไปตรงไหนก็ได้ แต่ผู้หญิงไร้อำนาจ เป็นเหมือนวัตถุหยุดนิ่งบนจอที่รอผู้ชายมาเชยชมเท่านั้น พูดง่ายๆ คือ Male Gaze ลดทอนคุณค่าของตัวละครหญิงให้กลายเป็นวัตถุทางเพศมากกว่าที่จะเป็นมนุษย์นั่นเอง
โจเซลีน หญิงสาวผู้ถูกมองผ่าน Male Gaze
หนึ่งตัวอย่างของ Male Gaze ที่ชัดเจนใน The Idol คือฉากใน Episode 1 ที่โจเซลีนคุยกับเลอา (แสดงโดยราเชล เซนนอตต์) ผู้ช่วยส่วนตัวของเธอเรื่องเทโดรส
เลอา: ฉันไม่ถูกชะตากับเขา (เทโดรส)
โจเซลีน: ทำไมล่ะ
เลอา: เขาดูเหมือนพวกที่มีแนวโน้มจะข่มขืน
โจเซลีน: ฉันค่อนข้างชอบตรงจุดนั้นของเขานะ
องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยประสบกับความรุนแรงทางเพศจากคนรักหรือจากผู้ชายอื่น นี่เป็นปัญหาที่มีมายาวนานและทำร้ายผู้หญิงมามากมาย แต่ผู้เขียนบทชายอย่างเลวินสัน กลับเขียนให้ตัวละครหลักหญิงในซีรีส์ออกตัวว่าชอบผู้ชายที่มีแนวโน้มข่มขืน ราวกับจะส่งต่อแนวคิดว่า ความรุนแรงทางเพศคือสิ่งที่ผู้หญิงเลือก อยากได้ และยอมจำนนกับมัน ทั้งที่จริงไม่ใช่เลย
อีกฉากที่น่าพูดถึงใน Episode 1 หลังจากโจเซลีนพบกับเทโดรสครั้งแรกในคลับและรู้สึกสนใจเขา เธอกลับบ้านมาช่วยตัวเองอย่างเผ็ดร้อน พร้อมกับบีบคอตัวเองไปด้วย ซึ่งทั้งฉากใช้เวลาประมาณหนึ่งนาที
ฉากดังกล่าวไม่ได้เสริมอะไรให้เนื้อเรื่องเป็นพิเศษ คนดูรับรู้อยู่แล้วว่าโจเซลีนสนใจเทโดรส เพราะยังมีอีกหลายฉากที่พวกเขาแสดงออกว่าชอบพอกัน ไม่จำเป็นต้องฉายภาพเธอที่ช่วยตัวเองเพื่อตอกย้ำความสนใจที่มีต่อเขาเลย นอกจากนี้มุมกล้องหลายๆ มุมก็ชวนให้ตั้งคำถาม มีการโคลสอัพใบหน้าโจเซลีนตอนกำลังสุขสมอารมณ์หมาย มีการโชว์เรือนร่างของเธอ ราวกับถ่ายมาเพื่อให้ผู้ชมได้ทำหน้าที่ ‘มอง’ ส่วนโจเซลีนกลายเป็นฝ่าย ‘ถูกมอง’ กิจกรรมทางเพศที่ควรจะเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้หญิงคนนี้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ และกลายเป็นเครื่องมือช่วยทุเลาความใคร่ของผู้ชมนับล้าน
มุมมองผู้หญิง มุมมองผู้ชาย
เรื่องน่าสนใจคือ แรกเริ่มเดิมที The Idol ตั้งใจจะตีแผ่ความเน่าเฟะของวงการฮอลลีวูดและอุปสรรคต่างๆ ที่ดาราหญิงต้องเจอ เอมี ไซเมตซ์ (Amy Seimetz) ผู้กำกับคนก่อนของซีรีส์เรื่องนี้เป็นผู้หญิง แต่หลังถ่ายทำไปครึ่งทางไซเมตซ์ก็ออกจากทีม
มีรายงานจากสื่อว่า เดอะวีคเอนด์มองว่าซีรีส์นำเสนอ ‘มุมมองของผู้หญิง’ มากเกินไป จากนั้นเลวินสันจึงเข้ามาแทน เขาเขียนสคริปต์และถ่ายทำใหม่เกือบทั้งหมด โดยเน้นไปที่การเพิ่มฉากทางเพศ
หนึ่งในทีมงานบอกกับสื่อว่า “จากที่ตอนแรกตั้งใจจะเสียดสีสิ่งหนึ่ง สุดท้าย The Idol ดันกลายเป็นสิ่งนั้นเสียเอง”
นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมซีรีส์ที่เหมือนจะมีสารตั้งต้นชั้นดี กลับลงเอยด้วยการติดหล่ม Male Gaze เสียจนดูไปต้องขมวดคิ้วไป
เพราะสื่อบันเทิงมีอิทธิพลกว่าที่คิด จึงยิ่งต้องระมัดระวัง
ปัจจุบันผู้คนตระหนักเรื่องความเท่าเทียมทางเพศกันมากขึ้น สื่อบันเทิง จึงไม่อาจหลีกหนีเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับ Male Gaze ไปได้ ซึ่งในอดีต The Handmaiden (2016) ภาพยนตร์แซฟฟิกเกาหลีชื่อดัง ก็เคยถูกครหาว่าติดหล่ม Male Gaze โดยเฉพาะเซ็กซ์ซีนช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งโชว์เรือนร่างของสองนางเอกชัดเจน และมุมกล้องพาให้รู้สึกเหมือนผู้ชมกำลังได้เฝ้ามองกิจกรรมส่วนตัวระหว่างคู่รักหญิง-หญิง
ในบทสัมภาษณ์ปี 2016 ผู้กำกับ พัค ชานอุค (Park Chan-wook) ปฏิเสธข้อกล่าวหาข้างต้น โดยอธิบายว่าเขาเพียงต้องการนำเสนอผู้หญิงที่มีความต้องการทางเพศแบบตรงไปตรงมา และนำเสนอเรือนร่างของผู้หญิงออกมาอย่างสวยงามเท่านั้น ผู้ชมหลายๆ คนออกตัวปกป้องพัค ชานอุค แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มผู้ชมที่รู้สึกอึดอัดกับเซ็กซ์ซีนในเรื่อง โดยเฉพาะผู้ชมเพศหญิงและแซฟฟิก ซึ่งเสียงของคนเหล่านี้ก็ไม่ควรถูกมองข้าม
สำหรับ The Idol เอง ปัจจุบันเพิ่งปล่อยมา 2 Episode จึงยากจะตัดสินในทันทีว่าข้อคิดหลักที่เลวินสันกับเดอะวีคเอนด์ ตั้งใจจะส่งต่อคืออะไรกันแน่ ทั้งที่ตัวซีรีส์มีวัตถุดิบคุณภาพอยู่แล้ว สามารถกลายเป็นซีรีส์เสียดสีสังคมน้ำดีได้ หากผู้สร้างต้องการ
อย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า 2 Episode ที่เพิ่งฉายไปมี Male Gaze แบบอัดแน่น
นิตยสาร Glamour กล่าวว่า The Idol มี ‘นัยยะของการเหยียดเพศหญิง’ (Overtones of Misogyny) ส่วนนิตยสาร Variety มองซีรีส์เรื่องนี้เป็น ‘ภาพเพ้อฝันสกปรกของผู้ชาย’ (Sordid Male Fantasy)
เพราะสุดท้ายสื่อบันเทิงคือสื่อที่มีอิทธิพลสามารถชักจูง เปลี่ยนแปลงไปจนถึงจุดประกายความคิดผู้คนได้ ยิ่ง The Idol เป็นซีรีส์เครือ HBO ซึ่งมีฐานคนดูล้นหลาม (ข้อมูลปลายปี 2022 ชี้ว่าเครือ HBO มีผู้ติดตาม 96.1 ล้านคนทั่วโลก) จึงน่าตั้งคำถามไม่น้อยว่า การนำเสนอตัวละครหญิงในรูปแบบวัตถุทางเพศซ้ำไปซ้ำมานั้น จะส่งผลต่อทัศนคติเรื่องเพศในสังคมวงกว้างอย่างไร
อ้างอิง:
https://www.amherst.edu/system/files/media/1021/Laura%2520Mulvey,%2520Visual%2520Pleasure.pdf
https://www.glamourmagazine.co.uk/article/the-idol-weeknd-lily-rose-depp-misogyny
https://variety.com/2023/tv/reviews/the-idol-review-the-weeknd-lily-rose-depp-1235622311/
https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/violence-against-women
https://variety.com/2023/tv/news/hbo-max-subscribers-discovery-plus-q4-2022-1235533690/
Tags: Screen and Sound, The Idol, เจนนี คิม, ลิลลี่-โรส เดปป์