‘วิมานหนาม’ นำเสนอประเด็นหลักว่าด้วยสิทธิการแต่งงานของกลุ่ม LGBTQIA+ ซึ่งถือว่าก้าวหน้าและตอบรับกับกระแสสังคมเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังสอดแทรกประเด็นเชิงสังคมอันชวนให้กระอักกระอ่วนใจไว้อีกหลายเรื่อง เช่น เพศ ชาติกำเนิด ความชายขอบ ศาสนา และทุนนิยม ผ่านความขัดแย้งและความสัมพันธ์เชิงอำนาจของบรรดาตัวละคร
บทความนี้จะวิเคราะห์ ถอดความ และพยายามตีความประเด็นเหล่านั้น ซึ่งจะเพิ่มอรรถรสในการรับชม และช่วยให้มองตัวละครลึกลงไปถึงแก่นรากของจิตวิญญาณ
ภายในสงครามวิมานหนามแห่งนี้ การต่อสู้กันในหมู่ตัวละครหลัก ทองคำ แม่แสง โหม๋ จะเป็นไปอย่างเข้มข้น เชือดเฉือนและห้ำหั่นมากเพียงใด ทั้งในเชิงกลวิธี สัญลักษณ์ และอุดมคติ
ทองคำ VS แม่แสง: เลือดข้นกว่าน้ำและคำถามที่ว่าความจริงเป็นของใคร?
ภายหลัง ‘เสก’ (เต้ย-พงศกร เมตตาริกานนท์) เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะทำสวนทุเรียน ‘แม่แสง’ (สีดา พัวพิมล) แม่แท้ๆ ของเสกย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านที่ตั้งอยู่ภายในสวนทุเรียนที่ลูกชายเคยอยู่ร่วมกับคนรัก ‘ทองคำ’ (เจฟ-วรกมล ซาเตอร์) โดยเชื่อว่า ตนมีสิทธิถูกต้องตามกฎหมายที่จะครอบครองบ้านหลังนั้น
ทองคำอธิบายกับแม่แสงว่า เงินที่นำมาใช้ไถ่ถอนที่ดินผืนนี้ ซึ่งเคยติดจำนองตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อของเสก รวมถึงบ้านและเงินลงทุนปลูกทุเรียนเป็นเงินของเขา จึงขอให้แม่แสงโอนที่ดินกลับมาเป็นชื่อเขา แต่เธอกลับปฏิเสธ สงครามระหว่างทั้งคู่จึงปะทุขึ้น
ทองคำซุ่มปรึกษาเจ้าหน้าที่กฎหมายเพื่อหวังสู้คดี บรรดาข้าวของที่เขาเตรียมมาเป็นหลักฐาน กล้องดูจะให้ความสนใจไปที่ภาพถ่ายของเสกและทองคำเป็นพิเศษ
โดยปกติแล้ว ‘ธรรมชาติ’ ของภาพถ่ายคือ การนำเสนอ ‘ความจริง’ หรือถูกเชื่อว่าเผยความจริงมากที่สุด แต่กรณีของทองคำ เจ้าหน้าที่ฯ กลับแจ้งว่า ภาพถ่ายเหล่านั้นไร้ความหมาย หรือใช้อธิบายได้เพียงว่า เขาทั้งคู่เป็นเพื่อนกัน เพราะรัฐไม่ได้รองรับความสัมพันธ์นอกสถาบันแบบเสกกับทองคำ อคติทางเพศจึงถือเป็นคำถามแรกที่ถูกโยนมาสู่ผู้ชม พ่วงด้วยความพยายามชี้ให้เห็นถึงการผูกขาด ‘ความจริง’ ของรัฐผ่านกฎหมาย
วลีเด็ดจากเจ้าหน้าที่ฯ ‘คนอย่างพวกเรา โง่ยกทุกอย่างให้ผู้ชายไม่ได้หรอกนะ’ เป็นวาทกรรมดาษดื่นที่คนรักเพศเดียวกันต้องเผชิญในทุกยุคทุกสมัย แต่ที่น่าสนใจในกรณีนี้ คือวาทกรรมนี้ไม่ได้ถูกผลิตซ้ำโดยบุคคลอื่น แต่มันออกจากปากผู้ที่มีเพศวิถีแบบเดียวกันกับทองคำ สะท้อนให้เห็นว่า วาทกรรมนี้ฝังรากลึกอยู่ในสำนึก แม้กระทั่งเป็นสำนึกของคน LGBTQIA+ เอง กลายเป็น ‘ความจริง’ ที่ยากเกินปฏิเสธ
แต่ถามกลับ เราด่วนสรุปว่า ทองคำ ‘โง่’ ได้จริงหรือ? ‘โง่’ หรือสังคม (ผ่านกฎหมาย) เหลือความเป็นไปได้เพียงไม่กี่ช่องทางให้คนแบบเขาทำ? หรือหากเสกและทองคำแต่งงานกันได้เหมือนคู่รักต่างเพศ การกระทำของทองคำจะถูกเรียกว่าโง่ได้อยู่อีกไหม?
อีกหนึ่งฉากที่ตั้งคำถามในประเด็นเดียวกันคือ ตอนที่ทองคำไม่อาจเซ็นชื่อยินยอมให้หมอผ่าตัดให้เสกได้ แม้ตนจะร้องไห้ อ้อนวอน คุกเข่า หรือพยายามแก้ผ้าให้เห็นถึงร่องรอยแห่งสัมพันธ์รักที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเขา ซึ่งนั่นคือ ‘ความจริงในเชิงปฏิบัติ’ แต่กลับไร้ค่า เพราะมันเป็นความจริงเถื่อน! กฎหมายไม่ยอมรับและให้ความคุ้มครอง!
ท้ายที่สุด ทองคำก็ต้องรอให้แม่ของเสกมาเซ็นเอกสาร ซึ่งสายเกินไป ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุปัจจัยที่ทำให้เสกเสียชีวิต เช่นนี้แล้ว นี่คือการตายจากอุบัติเหตุ หรือเป็นการฆาตกรรมในนามของรัฐกันแน่?
พอทองคำรู้ว่า ตนไม่เหลือโอกาสชนะคดี เขาจึงพูดกับแม่ตรงๆ อ้างสิทธิ์ความเป็นคนรัก หวังใช้ ‘ความรัก’ ไปเจรจาไกล่เกลี่ยให้แม่แสงสยบยอมต่อ ‘ความจริงในเชิงปฏิบัติ’ แต่ทองคำกลับต้องหงายเงิบ เมื่อแม่แสงยืนยัน ‘ความจริงบนฐานของชาติกำเนิด’ ประกาศเสียงแข็งว่า ‘ลูกคือทรัพย์สินของพ่อแม่’ เมื่อลูกตาย บ้านหลังนี้ก็ต้องกลายเป็นของแม่ ไม่ใช่คนนอกสายเลือด
จนแล้วจนเล่า รัฐที่ยึดความจริงผ่านชาติกำเนิดและปฏิเสธความสัมพันธ์นอกสถาบัน ก็ได้ตัดสินให้ฝ่ายแม่แสงชนะ สวนทุเรียนและบ้านถูกโอนกลับไปเป็นชื่อของแม่แสง ผู้เป็นมารดาบังเกิดเกล้าของเสก
นี่คือความพยายามของผู้สร้าง ที่จะทำให้สังคมมองเห็นถึงความสำคัญของการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเหนือกว่าสวัสดิภาพ ความปลอดภัยทางชีวิตและทรัพย์สินแล้ว พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม คือการฉุดกระชากปัจเจกบุคคลออกจากการเป็น ‘ทรัพย์สิน’ และการตัดสินคน ผ่านชาติกำเนิด แถมยังเชิดชูคุณค่าเชิงมนุษยนิยม ที่ว่ามนุษย์คนหนึ่งดำรงคงอยู่บน ‘การเลือก’ และ ‘การกระทำ’ ของตน และมนุษย์ควรรับผิดชอบจากสิ่งที่ตนกระทำ มากกว่าการมองว่าเขาเกิดมาจากใคร ที่ไหน อย่างไร
เมื่อไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมาย ทองคำจึงเปลี่ยนกลวิธี ในช่วงระหว่างการต่อสู้ครั้งใหม่นั้น เขากลับต้องเจอคู่แข่งอีกคน… ‘โหม๋’ (อิงฟ้า วราหะ) หญิงสาวที่ติดสอยห้อยตามมาดูแลแม่แสง ผู้ประสงค์จะได้ที่ดินผืนนี้มาเป็นของตนเองเช่นกัน
ทองคำ VS โหม๋: หมัดต่อหมัด ตาต่อตา ฟันต่อฟัน
ทองคำประกาศสงครามกับโหม๋ด้วยการสาดคำกระแนะกระแหนใส่ว่า เธอเองก็ไม่ได้ต่างอะไรจากเขา ไม่ได้มีสิทธิ์หรือเกี่ยวข้องอะไรกับแม่แสงในเชิงสายเลือด ซึ่งจี้ปมในใจของโหม๋ที่ถูกซ่อนงำไว้อย่างรุนแรง
หมัดแรกที่โหม๋สวนกลับ คือการพา ‘จิ่งนะ’ (เก่ง-หฤษฎ์ บัวย้อย) น้องชายของตนเข้ามาอยู่ในบ้าน หวังให้จิ่งนะมาทำสวนทุเรียนแทนทองคำ นอกจากเป็นการลดบทบาทของทองคำในสายตาของแม่แสงแล้ว ยังเป็นการปิดจุดอ่อนต่างๆ ของเธอ ไม่ว่าด้วยเรื่องความเป็นผู้หญิง แถมยังต้องหมดเวลาทั้งวันไปกับการดูแลแม่แสง การต่อสู้ด้วยยุทธศาสตร์เชิงปฏิบัตินี้เกือบสำเร็จในทีแรก มันสามารถถีบทองคำให้กระเด็นออกไปจากสนามรบได้ชั่วคราว
หลังจากนั้น ทองคำเริ่มตั้งสติใหม่ ดึงตนเองกลับมาอีกครั้งและหันมาใช้ไม้อ่อนกับแม่แสง เอาอกเอาใจเธอสารพัด แต่ขณะเดียวกันก็ปล่อยหมัดรัวใส่โหม๋ แคนดิเดตอีกหนึ่งคนแบบไม่ยั้ง
จากสงครามภาษาสู่ยุทธศาสตร์เชิงปฏิบัติ ขณะนี้ทองคำเริ่มออกอาวุธในเชิงอุดมคติ ก่อนอื่นใด เขายอมก้มลงกราบเท้าศัตรู ใช้ ‘ศักดิ์ศรีความเป็นคน’ เข้าแลก เพื่อให้ได้กลับมายืนในสนามรบอีกครั้ง เป็นการบอกกับผู้ชมเป็นนัยว่า เขากำลังจะสู้ตาย ถวายจิตวิญญาณ
หมัดที่ 2 ไม่ว่าจะโดยความบังเอิญ โชคชะตา บุพเพสันนิวาส หรืออะไรก็ตาม ทองคำได้เปลี่ยนลูกน้องศัตรูเป็นมิตร ใช้เสน่หาที่พัฒนาไปเป็นความรักในวันข้างหน้า เปลี่ยนจิ่งนะ (ที่ออกตัวว่ามีใจให้เขา) มาเป็นคนใกล้ตัวที่สุด ถือเป็นการปลดอาวุธของโหม๋ ผู้ประสงค์จะใช้จิ่งนะมาแทนทองคำ อีกทั้งแถมยังได้ ‘ล้วงความลับ’ ของศัตรูอีกด้วย
แต่ความลับนั้นกลับเป็นมีดที่เสียบแทงเข้าตนเอง เพราะมันเปิดเผยว่า แท้จริงแล้ว โหม๋คือ ‘คนรัก’ อีกคนของเสก จุดนี้เปิดช่องให้โหม๋ชกสวนกลับพร้อมวลีเด็ดว่า ‘เมียผู้ชาย เขาเอาไว้หาเงิน ส่วนเมียผู้หญิง เขาก็เอาไว้ดูแลแม่เขา’ หมัดนี้ทำเอาทองคำถึงขั้นโซซัดโซเซอีกครั้งกับการต้องมารับรู้ว่า ตนถูกหลอก เข้าอีหรอบเดิมตามวาทกรรม ‘ถูกผู้ชายหลอก’ ตอกย้ำซ้ำแผลเดิมในใจของตนที่โง่เอง ไปยกของทั้งหมดให้ผู้ชาย แต่กระนั้นเขาก็ยังลุยต่อ
หมัดต่อมาที่หลายคนอาจมองว่าเล่นแรง คือทองคำใช้ข้อได้เปรียบเรื่อง ‘เพศกำเนิด’ ขอบวชให้แม่แสง หวังใช้พิธีกรรมทางศาสนาถ่ายโอนตนเองสู่ความเป็นลูก ‘ผมขอบวชให้แม่แทนพี่เสกนะ’ นี่คือการอุทิศทั้งชีวิตและดวงวิญญาณเพื่อสงคราม ทำคะแนนซื้อใจแม่แสงได้ไม่น้อย
แต่มันก็ไม่ได้ง่ายเพียงนั้น เพราะระหว่างพิธีกรรมการบวช แม่แสงเอ่ยถึงเงื่อนไขขั้นสูงสุดที่จะทำให้เธอยอมรับทองคำเป็นลูก คือทองคำต้องทำเงิน 2 ล้านบาทจากการเก็บเกี่ยวทุเรียนให้เป็นจริง เรียกได้ว่า สวรรค์กูก็จะขึ้น! เงินกูก็จะเอา! แม่แสงคือภาพสะท้อนความลักลั่นระหว่างความเชื่อทางศาสนากับทุนนิยมในสังคมไทย
จะว่าไปแล้ว ประเด็นความเชื่อทางศาสนาถูกท้าทายไม่น้อยเช่นกันในฉากอื่นๆ เช่น ตอนที่ทองคำกับจิ่งนะเดินคู่กันไปเพื่อไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จิ่งนะบอกกับทองคำว่า หากเดินไปถึงจุดขอพร แล้วอธิษฐานตรงจุดนั้น พรที่ขอก็จะเป็นจริง
พรที่ทองคำขอ ที่ว่าขอให้แม่แสง ทองคำ โหม๋ และจิ่งนะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุข แท้จริงแล้ว คือการประกาศสงบศึก ทองคำไม่ได้ยอมแพ้บนสนามการรบ แต่ยอมบนสนามรัก แต่ที่ตลกร้าย คือในตอนท้ายเรื่อง ทุกตัวละครต่างฝ่ายต่างมีส่วนฆ่ากันตายด้วยกันทั้งนั้น แล้วอย่างนี้จะให้ศักดิ์สิทธิ์กี่โมง?
อีกหนึ่งฉากคือ การแต่งงานระหว่างโหม๋กับสามีใหม่ที่เป็นไปอย่างถูกต้องตามพิธีกรรมทางศาสนาและจารีตประเพณี แต่แท้ที่จริง นี่คือความสัมพันธ์จากผลประโยชน์ต่างตอบแทน กล่าวคือ โหม๋ต้องการผู้ชายมีความรู้ เข้ามาปิดช่องความไร้การศึกษาของเธอ (ถึงขั้นต้องให้ตัวละครใส่ชุดข้าราชการเข้ามาจีบ) ในขณะที่ฝ่ายชายก็เข้าหาโหม๋ เพราะรู้ว่าเธอคือสาวบ้านสวนทุเรียนที่กำลังมีอนาคต
ฉากงานแต่งตามขนบดำเนินตัดสลับไปพร้อมกับการแต่งงานของทองคำกับจิ่งนะที่เป็นไปอย่างเรียบง่าย มีธรรมชาติ (สัญญะของความจริงแท้) เป็นสักขีพยาน และความแน่วแน่ของคนทั้งคู่ที่มีต่อคำมั่นสัญญา มันทั้งบริสุทธิ์ ทรงพลัง ศักด์สิทธิ์ และมีศักดิ์ศรี
การตัดสลับเปรียบเทียบกันไปมาของ 2 งานวิวาห์นั้น นอกจากจะทำให้เห็นถึงความแตกต่างกันของ 2 คู่ในทุกมิติแล้ว ยังชวนผู้ชมตั้งคำถามด้วยว่า พิธีกรรมมีหน้าที่ยืนยันของความรักของคน 2 คนจริงหรือ? หรือเป็นเพียงกลไกทางสังคมที่กำกับ จำกัดและจำแนกรูปแบบความรักของปัจเจกฯ ตามกรอบคิดเรื่องเพศกำเนิด และผลักไสความรักแบบอื่นให้อยู่นอกรีต?
กลับมาที่ประเด็นหลัก อีกหมัดเด็ดของทองคำที่จะชกตรงเป้ามากที่สุดคือ การนำเสนอ ‘เทคโนโลยี’ ให้แก่แม่แสง
ทองคำเริ่มจากซื้อรถเข็นไฟฟ้าให้แม่แสง หยอกล้อเล่นสนุกกับเธอด้วยการถ่ายวิดีโอผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นการบอกให้แม่แสงรู้เป็นนัยว่า ชีวิตเธอไม่จำเป็นต้องมีโหม๋ เธอสามารถเคลื่อนที่ไปไหนมาไหนได้สะดวกด้วยตนเอง
‘ความเจริญ’ สะท้อน ‘อัตลักษณ์ความเป็นเมือง’ ของตัวละครทองคำได้ไม่มากก็น้อย มันถูกขับเน้นให้การเป็นคู่ตรงกันข้ามกับ ‘ความบ้านนอก’ และ ‘ความชายขอบ’ ของโหม๋อย่างชัดเจน ซึ่งทองคำอาจไม่ได้นำเสนอความเป็นเมืองจ๋า 100% แบบที่เราจินตนาการ แต่น่าจะใช้อธิบายการสไตล์การแต่งตัวสุดเปรี้ยวของทองคำได้ (ที่หลายคนอาจรู้สึกขัดตาและหาคำอธิบายไม่ได้) อาจสรุปได้ว่า อย่างน้อยเขาก็อยู่ใกล้ ‘เมือง’ มากกว่าตัวละครอื่น (ผสมกับความพอรู้หนังสือ เข้าใจตลาด การรู้จักเล่นโซเชียลมีเดียโปรโมตสินค้า)
หมัดนี้เกือบเป็นหมัดน็อกของทองคำ สังเกตได้จากเสื้อผ้าของแม่แสงที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป คือดูจัดจ้านแบบขาดๆ เกินๆ ตามสไตล์ทองคำ แตกต่างจากเสื้อผ้าของเธอตอนต้นเรื่องโดยสิ้นเชิง ประหนึ่งกำลังบอกเป็นนัยว่า แม่แสงเริ่มตอบรับทองคำเข้ามาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณของชัยชนะ
หมัดที่รัวเข้าใส่ในทุกมิตินี้ บีบให้โหม๋ต้องลุกขึ้นต่อสู้เป็นครั้งสุดท้าย โดยงัดไม้ตายขึ้นมาใช้ แม้จะเป็นไม้ตายของเธอ ผู้ที่ถูกทำให้เป็น ‘ของตาย’ แต่มันกลับสัมฤทธิผลและพาเธอเข้าเส้นชัยไปในที่สุด
แม่แสง VS โหม๋: ผู้ปกครอง-ผู้อยู่ใต้ปกครอง ใครเหนือกว่าในเกมแห่งความสัมพันธ์เชิงอำนาจ?
ตลอดทั้งเรื่อง โหม๋พยายามทำให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะแม่แสงตระหนักรู้ว่า ความสำคัญของเธอ แม้จะเป็นแค่ ‘ของตาย’ แต่เธอก็เป็นพื้นที่ปลอดภัยของแม่แสงแบบที่ไม่อาจมีใครแทนได้ แม้ทองคำจะพยายามทำดีเพียงไร แต่สุดท้าย โหม๋คือคนเดียวที่แม่แสงยอมให้เปลี่ยนผ้านุ่ง ยอมให้เช็ดขี้-เยี่ยวได้
แต่เมื่อเริ่มมองเห็นว่า โอกาสที่ตนจะแพ้ทองคำมีมากขึ้นทุกที โหม๋จึงใช้ความพยายามเฮือกสุดท้าย ขอแม่แสงให้เซ็นโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ตน เธอพยายามสร้างบรรยากาศที่ดี พาแม่แสงไปซูเปอร์มาร์เก็ต ซื้อของกินให้ บอกว่าจะดูแลแม่แสงให้ดีแบบนี้ตลอดไป สำหรับบางคน อาจมองว่าทำได้แค่นี้หรือ แต่สำหรับโหม๋ นี่คือความพยายามแบบสุดเพดานแล้วที่เธอจะมีปัญญาทำได้
ทีแรกแม่แสงปฏิเสธแบบไร้เยื่อใย จนทั้งคู่ปะทะคารมกันอย่างเชือดเฉือน โหม๋เคลมว่า เธอสังเวยชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดเพื่อดูแลแม่แสง แต่แม่แสงตอกกลับว่า ตนไม่เคยรั้งโหม๋ไว้ โหม๋เองต่างหากที่ไม่ไป เพราะเธอไม่มีทางไป
จากนั้นแม่แสงก็ไล่โหม๋ออกจากบ้าน ‘มึงมายังไง มึงไปอย่างนั้นเลยนะ แล้วอย่าหยิบของกูไปล่ะ ไปแต่ตัว’ คำพูดนี้ทำให้ผู้ชมเห็นภาพที่มาของโหม๋ที่มีเพียงตัวกับชุดสีชมพู ซึ่งสภาพคงไม่มีทางเหมือนวันแรกที่มาอยู่กับแม่แสงแน่ๆ เพราะนอกจากจะฉีกขาดยับเยินแล้ว มันยังเปื้อนขี้-เยี่ยวของแม่แสง ราวกับสะท้อนชีวิตที่ผ่านมาในช่วงหลายปีของเธอ
อีกสิ่งที่โหม๋ถือติดมือไปด้วยคือ กระเป๋าสตางค์ที่เสกใส่เงินไว้ให้ ก่อนเขาจะทิ้งเธอไปหาทองคำ
ผิวเผินเราอาจมองว่า มันคือเงินที่ต้องนำติดตัวไป แต่อย่าลืมว่า นี่คือของที่ผูกเธอไว้กับแม่แสง มันสะท้อนและย้ำเตือนสถานะ ‘ความเป็นเมีย’ (แม้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย) เพราะเป็นเมีย จึงได้สิ่งนี้ และเพราะยังเชื่อว่าตนเป็นเมีย จึงยังมีกระเป๋าไว้เพื่อแสดงสถานะ (อย่างน้อยก็ให้ผู้ชมเห็น)
ภาพการเดินจากไปของโหม๋ในฉากนั้น พร้อมกับชุดสีชมพูและกระเป๋าสตางค์ จึงสะท้อนอัตลักษณ์ของเธอได้เป็นอย่างดี ในฐานะ ‘เมีย-สะใภ้-ขี้ข้า’ แบบที่เธอกล่าวว่า “เมียผู้หญิง เขาก็มีไว้เลี้ยงดูแม่เขา”
ต่อที่ประเด็นเรื่องชื่อโหม๋ ที่เป็นเรื่องที่ผู้ชมถกเถียงกันไม่น้อยว่า ‘โหม๋’ มีหมายความว่าอย่างไรกันแน่ บ้างว่าเป็นชื่อไทใหญ่ บ้างว่าเป็นชื่อเฉพาะที่อาจไม่มีความหมาย บ้างว่าน่าจะมาจากคำว่า ‘โหม’ ที่แปลว่า ‘โหมไฟ’ หรือ ‘โหมกำลัง’
แต่ยังมีอีกหนึ่งข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจ คือคำว่า โหม๋ ที่ออกเสียงแบบเดียวกับโหม ยังเป็นชื่อเรียกผักชนิดหนึ่งที่มีอยู่ทางภาคเหนือ ลักษณะของมันมี ‘หนาม’ (อันเป็นลักษณะร่วมของทุเรียน)
ผู้กำกับเล่าว่า เขาใช้คำว่า หนาม แทนความหมายของความเป็นทั้งหมดของทุเรียนในชื่อภาพยนตร์ ‘วิมานหนาม’ หากหนามแทน ‘ความเป็นทุเรียน’ ได้ ในทัศนะของผู้สร้าง หนามของผักโหมก็อาจมีน้ำหนักมากพอที่จะชวนให้เรามอง ‘โหม๋’ เป็น ‘ทุเรียน’ ซึ่งหากลองเปรียบเทียบสถานะของโหม๋กับทุเรียนแล้ว มันแทบไม่มีอะไรแตกต่างเลยสักนิดในเชิงสัญลักษณ์ กล่าวคือ เคยเป็น ‘ทรัพย์สิน’ ของเสก และตกมาเป็นของแม่แสง
ความเชื่อมโยงระหว่าง ‘โหม๋’ ‘ผักโหม’ ‘หนาม’ ‘ทุเรียน’ ‘ขี้-เยี่ยว’ ‘ความเป็นเมีย’ และ ‘การตกอยู่ในสถานะของทรัพย์สิน’ ทั้งหมดนี้สะท้อนอัตลักษณ์ของโหม๋ในทุกระดับ แต่เรื่องนี้สำคัญอย่างไร?
แน่นอนว่า เราไม่ปฏิเสธมิติการตีความในเชิงสังคมที่นักวิจารณ์หลายคนมองว่า เหตุปัจจัยหลักที่บั่นทอนชีวิตโหม๋คือ ความเป็นชายขอบทั้งในเชิงชาติพันธุ์และเศรษฐกิจ ทำให้โหม๋เหลือทางเลือกในชีวิตไม่กี่ทาง แต่ในอีกแง่ เราก็ปฏิเสธได้ยากว่า สำนึกที่ติดอยู่กับโหม๋ที่ว่าด้วย กูเป็นเมีย-ลูกสะใภ้-ขี้ข้า-ทรัพย์สิน นี่เองที่กักขังเธอไม่ให้ไปไหน ให้ต้องอยู่แต่ตรงนั้น ใช้ชีวิตอยู่แบบนั้น
อย่าลืมว่า โหม๋บอกด้วยไว้ซ้ำว่า เคยถูกชักชวนให้ไปทำงานในเมืองใหญ่ แต่ตนกลับไม่ไปเองและเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบนั้น
ดังนั้น สำหรับตัวละครโหม๋ เหตุปัจจัยเรื่องสำนึกรู้แห่งตัวตน น่าจะมีน้ำหนักไม่แพ้กับคำอธิบายในเชิงปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างสังคม แต่สำนึกที่ว่านี้ มันส่งผลต่อการทำให้แม่แสงยอมเซ็นโอนที่ดินให้โหม๋ได้อย่างไร?
มองในมุมกลับ สำนึกแห่งการเป็นเมีย-สะใภ้-ขี้ข้า-ทรัพย์สิน นี่เองที่ได้สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แม่แสง ทำให้โหม๋ถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เป็นของตายที่ขาดไม่ได้ ทำให้แม่แสงกลายเป็น ‘ผู้ปกครอง’ ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเธอกับโหม๋
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า เป็นเพราะแม่แสงกลัวว่าจะไม่มีใครดูแลตนเอง เชื่อมโยงไปจนถึงหลักสวัสดิการทางพยาบาลของรัฐ ซึ่งก็เป็นบทวิเคราะห์ที่น่าฟัง อีกทั้งยังมีน้ำหนักและสร้างคุณค่าให้แก่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้มาก
แต่ในอีกแง่ เราก็น่าจะสามารถอธิบายมันได้โดยอิง ‘ธรรมชาติ’ ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คู่ขนานกันไปกับมิติเชิงโครงสร้างทางสังคมได้ด้วยเช่นกัน
กล่าวคือ ในวันที่ผู้อยู่ใต้ปกครองเลือกที่จะออกจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม หรือผลลัพธ์จะไปเป็นอย่างไรก็ตาม สถานะของผู้ปกครองก็จะสั่นคลอนและพังทลายลงไปพร้อมกันทันที เฉกเช่นที่แม่แสงยอมแพ้โหม๋ ตอนที่โหม๋เดินออกจากชีวิตของเธอไป
แน่นอนว่า การไร้คนดูแลในยามสังขารร่วงโรย มีชีวิตในรัฐที่รวบอำนาจและความเจริญเข้าสู่ส่วนกลาง ปล่อยให้คนชนบทอยู่กันแบบตามมีตามเกิด ไม่ใช่บรรยากาศที่ดีและปลอดภัยแน่
ทั้งหมดจึงสรุปได้ว่า เหตุผลที่โหม๋ได้ที่ดินมาครอง แทบไม่ได้เป็นผลพวงมาจากการต่อสู้หรือกลวิธีใดที่เธอซัดอยู่กับทองคำ แต่ลึกที่สุด มันมาจากสำนึกความเป็นเมีย-สะใภ้-ขี้ข้า-ทรัพย์สิน-ผู้อยู่ใต้ปกครอง ที่ทำให้ผู้ปกครองไม่อาจสลัดทิ้งได้ลง จนต้องยอมแพ้ต่อเธอในที่สุด
ดังนั้น การเป็นผู้ถูกกดขี่ก็ไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกถึงเพียงนั้น คุณอาจมีต่อรองอำนาจกับผู้ปกครองได้มากกว่าที่คุณคิด!
นี่คือภาพยนตร์ที่สะท้อนโศกนาฏกรรมอันชวนเจ็บปวด ทุกการแย่งชิง ทำร้าย เข่นฆ่า ล้วนแล้วแต่เกิดจากเหตุปัจจัยในเชิงโครงสร้างสังคม รวมถึงอำนาจที่แฝงตัวอยู่อย่างแยบยลภายในระบบ
อย่างไรก็ดี หากมองในเชิงประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ LGBTQIA+ ไทย นี่คืออีกก้าวที่ต้องปักหมุดหมายไว้ เพราะเราได้เห็นการนำเสนอชีวิต LGBTQIA+ ในจอแก้ว ที่ไม่ผูกติดกับมายาคติแบบขนบ อกหัก ผิดหวัง ถูกหลอก หรือกลายเป็นแฟนตาซีคู่จิ้นที่ถูกความสวยงามโรแมนติก กลบเกลื่อนความขมขื่นในชีวิตจริงที่คนรักเพศเดียวกันต้องเผชิญ แต่ใน ‘วิมานหนาม’ ภาพเสนอของ LGBTQIA+ เป็นคนปกติ มีดีมีชั่ว รักโลภโกรธหลง ครองตนแบบธรรมดาสามัญ
ความธรรมดาสามัญนี้ เรารอคอยกันมานานเท่าไรแล้ว?
อีกเรื่อง ‘วิมานหนาม’ เป็นอีกหนึ่งประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นแล้วว่า กฎหมายที่ดี คือกฎหมายที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ ช่วยเหลือมนุษย์ และยึดหลักมนุษยนิยมและมนุษยธรรม
ในวันที่กฎหมายเปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวก จะมีคนบริสุทธิ์อีกหลายคนรอดชีวิตจากช่องว่างทางกฎหมายและความอยุติธรรม
คุณคิดว่า เรายังมีความทุกข์ร้อนใดอีกบ้าง ที่ยังรอคอยการแก้ไขผ่านบทกฎหมาย หรือคิดว่ายังมีกฎหมายใดอีกบ้าง ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้ชีวิตของคนในสังคมดีขึ้น?
อ้างอิง
https://youtu.be/j56jS9GhCXU?si=exrbP5FX_K4GtEoB
https://workpointtoday.com/the-paradise-of-thorns/
https://thestandard.co/the-paradise-of-thorns-movie/
Tags: GDH, สังคม, LGBTQ, สิทธิ, มนุษยธรรม, Screen and Sound, สมรสเท่าเทียม, วิมานหนาม, สิทธิการแต่งงาน, LGBT