ดู – สัมผัส – รู้สึก

สองพ่อลูก ทริปฤดูร้อนที่เฉื่อยชา วันหยุดที่หมดไปกับการนอนและกินอาหารที่แสนธรรมดา 

หาก ‘ดู’ อย่างผิวเผิน เหล่านี้คือสิ่งที่หนังเรื่อง Aftersun นำเสนอให้เราได้รับชมผ่านดวงตา เรื่องราวของสองพ่อลูกอย่าง คาลัม (แสดงโดย พอล เมสคัล) และโซฟี (แสดงโดย แฟรงกี้ โคริโอ) ที่บริษัทจัดทัวร์เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เป็นนักท่องเที่ยว พักผ่อนในโรงแรมหรู มอบความสุขและสบายผ่านการกิน ดื่ม นอน กันอย่างอุตลุดตั้งแต่ฟ้าสว่างยันมืดค่ำ 

ทั้งหมดก็เพื่อสร้างบทสรุปให้สองพ่อลูกรู้สึกประทับใจ จนกลายจะเป็นเรื่องราวดีๆ ที่พวกเขาจะจดจำไปตลอดชีวิตหลังจากนั้น 

แต่หากเริ่ม ‘ดูและสัมผัส’ เราก็เริ่มมองเห็นบรรยากาศที่ขมุกขมัว มวลความรู้สึกที่หนักอึ้ง สัมผัสถึงบางสิ่งที่กำลังกีดขวางและปิดกั้น สอดแทรกอยู่ในเรื่องราว บทสทนา และความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกอยู่ตลอดเวลา 

คาลัม หนุ่มวัยกลางคนผู้เป็นพ่อของเด็กหญิงอายุ 11 ปี ที่มีโอกาสได้พาลูกสาวออกมาเที่ยวอีกครั้ง หลังความสัมพันธ์กับผู้เป็นแม่ของเด็กนั้นถึงจุดที่ต้องแยกทาง ทริปฤดูร้อนครั้งนี้เขาจึงหวังเอาไว้เป็นอย่างมากว่านี่จะเป็นประสบการณ์ที่มีความหมาย น่าจดจำ ถึงขนาดต้องถูกบันทึกไว้ในสมองและกล้องวิดีโอคู่ใจที่เขาพกมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ 

โซฟี เด็กหญิงผู้กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ทุกเรื่องราวและความสนใจแปรผันตรงตามฮอร์โมนที่พลุ่งพล่านอย่างก้าวกระโดด กลุ่มเด็กผู้ชาย กลุ่มเด็กผู้หญิง เรื่องราวรักใคร่ตามประสา เหล่านี้จู่โจมเข้ามาในก้านสมองของเธอ จนทำให้ตลอดทริปฤดูร้อนที่ผู้เป็นพ่อพามาท่องเที่ยว ดูเหมือนกิจวัตรที่เธอให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือเรื่องราวของตัวเธอและคนอื่นในโรงแรม มากกว่าตัวเธอและพ่อดั่งที่ควรจะเป็น

เอาแค่เป้าหมายตรงนี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้กิจวัตรในฤดูร้อนของทั้งคู่สวนทาง จนรู้สึกผิดปกติอย่างสัมผัสได้ แม้ทั้งคู่พยายามจะมีความสุขตลอดทริป แต่เราก็สัมผัสได้ว่าหลายอย่างเป็นไปโดยไม่ราบรื่น 

คาลัมที่หวังจะใช้เวลากับลูกเพียง 2 คน ส่งผลให้โซฟีรู้สึกเป็นคนนอกในกลุ่มนักท่องเที่ยวในโรงแรม ขณะเดียวกัน ความกระตือรือร้นของโซฟีเอง กลับสร้างความหัวเสียให้กับผู้เป็นพ่อ ที่หลังอะไรๆ ก็ไม่เป็นไปอย่างที่เขาหวัง 

แม้จะมีเป้าหมายเดียวกันคือสร้างฤดูร้อนอันแสนสุข แต่คำว่าความสุขนั้นกลับมีวิธีการต่างกัน ทุกอย่างจึงดูออกมาผิดที่ผิดทาง กลายเป็นทริปฤดูร้อนที่กร่อย เบื่อหน่าย เหมือนเป็นแค่การใช้ชีวิตถอนหายใจ รอให้เวลาผ่านไปอย่างช้าๆ จนกว่าทุกอย่างจะจบลง 

ที่น่าสนใจคือเมื่อเรา ‘ดูและรู้สึก’ จะพบว่าภายใต้ทริปฤดูร้อนอันสุดแสนจะจืดชืดของทั้งคู่นั้น เราจะเริ่มสังเกตและเข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิดของทั้งสองตัวละครมากยิ่งขึ้น

การจัดแจงของคาลัมที่อยากใช้ชีวิตแบบพ่อลูกในทุกวินาที หากพิจารณาอย่างละเอียด เราจะพบว่าสิ่งนี้คือความตั้งใจไถ่โทษให้กับลูกสาวอย่างสุดชีวิต แม้หนังจะไม่ได้ให้คำตอบอย่างละเอียดและชัดเจน แต่เราก็สัมผัสได้ถึงการอยากเป็นพ่อที่ดีที่สุดคนหนึ่ง เป็นพ่อที่พึ่งพาได้ ได้รับการไว้ใจ และเป็นบุคคลที่ลูกยังคงรู้สึกรักและเคารพได้ แม้ที่ผ่านมาเขาจะไม่ได้ใช้เวลาร่วมกับลูกสาวคนนี้มากเท่าที่ควรก็ตาม แต่ความรู้สึกดังกล่าว ก็ผลักดันไปสู่การกระทำที่ยัดเยียดความรักให้กับทั้งตัวเขาและโซฟี จนกลายเป็นความอึดอัด เป็นมวลบรรยากาศที่หายใจไม่ทั่วท้องอย่างที่กล่าวไปข้างต้น 

ฟากฝั่งโซฟีก็เช่นกัน การเบนความสนใจจากพ่อไปสู่คนอื่นตลอดทั้งทริปของเธอ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเธอรู้สึกว่าการมาเที่ยวครั้งนี้ไม่ได้จำเป็นต้องเก็บความทรงจำร่วมกันกับพ่อของเธอขนาดนั้น ขอเพียงแค่ได้เที่ยว ได้เล่น ได้สนุก ได้เจอผู้คนก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ที่สำคัญคือเธอเองก็ไม่ได้รู้สึกสนิทแนบชิดกับพ่อขนาดนั้น ในหลายๆ บทสนทนาและท่าทีของโซฟีก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่า พ่อไม่ใช่ผู้ปกครองหรือผู้ที่ดูแลเธอมาแต่อย่างใด เธอจึงไม่ได้รู้สึกผูกพันหรือใกล้ชิดกับชายคนนี้อย่างที่อีกฝั่งคาดหวัง

ทั้งหมดนี้เองทำให้การดู Aftersun เต็มไปด้วยความอึมครึม มึนงง ตั้งคำถาม และไม่เข้าใจว่าสุดท้ายแล้วคนดูอย่างเราควรรับสารแบบใดกลับไปจากหนังเรื่องนี้กันแน่ 

Harest

“สิ่งสำคัญสุดท้ายที่อยากจะชี้แจงคือเรื่องที่ว่า Aftersun นั้นเป็นหนังส่วนตัวสำหรับฉันขนาดไหน หนังส่วนใหญ่ล้วนมีความส่วนตัวทั้งสิ้น แต่เรื่องนี้อาจจะส่วนตัวกว่าเรื่องอื่นๆ แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมาใหม่ แต่ภายใต้ 145,550 เฟรม ที่จะถูกฉายลงไปบนจอเงินคือความจริงที่เป็นของฉัน ความรักที่เป็นของฉัน”

อ้างอิงจากจดหมายของ ชาร์ลอตต์ เวลส์ ผู้กำกับเรื่องนี้ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของ A24 น่าจะอธิบายถึงเป้าหมายของหนังเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนมากที่สุด ว่าทั้งหมดคือความเป็นส่วนตัวของชาร์ลอตต์ ที่อยากให้ผู้ชมได้ลองดู ได้สัมผัส และได้รู้สึก

 แน่นอนว่าตัวละครโซฟี คือการถอดแบบตัวตน เรื่องราวและความรู้สึกของเธอ จึงเป็นเหตุให้ตลอดการดูหนังเรื่องนี้เราจะเห็นมุมกล้องที่แปลกประหลาดเล็กน้อยกว่าหนังทั่วไปที่ดูกัน 

แต่แผ่นหลังของคาลัมผู้เป็นพ่อ มุมกล้องที่ซูมไปยังการจับมือกันของทั้งสอง การจ้องมองอะไรที่ไม่เป็นเรื่องเป็นราว อย่างเช่นภาพโพราลอยด์ที่กำลังขึ้นรูป หรือบาร์ที่อยู่ห่างออกไปจากระยะสายตา เหล่านี้คือการจำลองดวงตาของตัวะครโซฟีอย่างไม่ต้องสงสัย 

แต่สิ่งที่ชาร์ลอตต์เด็ดขาดยิ่งกว่า คือการปล่อยพื้นที่ที่ว่างในเรื่องราวผ่านการใช้เทคนิคทางภาพยนตร์สร้างหนัง Aftersun ให้มีรายละเอียด ความปะติดปะต่อเป็นเรื่องราวน้อยลง มีการสอดแทรกฉากที่ไม่เป็นฉาก แต่กลับช่วยให้คนดูรู้เรื่องและเข้าใจสิ่งที่ชาร์ลอตต์ เวลส์ กำลังประสบเป็นอย่างมาก

หากใครยังไม่ได้ดูและอ่านมาถึงตรงนี้คงต้องบอกว่าผมบ้าแน่ๆ หนังที่เรื่องราวมันไม่ต่อเนื่องถูกตัดไปตัดมาแบบนี้ จะดูรู้เรื่องได้อย่างไร แต่เชื่อเถอะครับ ไม่ว่าจะเป็นเพราะการจำลองความทรงจำที่ขาดๆ หายๆ เป็นบางท่อนของชาร์ล็อต หรืออาจเป็นการใส่สัญญะทางภาพยนตร์บางอย่างของเธอก็ตาม 

แต่สำหรับคนดู ช่องว่างตรงนี้เปิดโอกาสให้เราได้ลองหยิบประสบการณ์ชีวิตของตัวเองแต่งแต้มลงไปดู หากเราได้ไปเที่ยวกับพ่อกัน 2 คน กิจวัตรแต่ละวันในทริปนั้นจะเป็นอย่างไร เราจะเอาแต่นอนกันหมดวันอย่างคาลัมกับโซฟีไหม หากถ่ายวิดีโอกันจะพูดถึงเรื่องอะไรในคลิปนั้น ซึ่งก็แล้วแต่จะสรรหาความเป็นส่วนตัวของแต่ละคนลงไปเติมกัน 

หากเราเผลอหลงกลตรงนี้เข้าไปแล้วล่ะก็ พวกคุณจะเจอหมัดเด็ดของชาร์ลอตต์ ที่เก็บเอาไว้ในท้ายเรื่องเข้าอย่างจัง 

เมื่อดูกันอย่างผิวเผิน ฉากจบของหนังเรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการจบทริปของสองพ่อลูกที่ต่างคนต้องแยกย้าย โซฟีต้องกลับไปอยู่กับแม่ที่เป็นผู้ปกครองต่อไป ส่วนคาลัมก็กลับไปใช้ชีวิตเพียงลำพังตามที่เขาเคยได้ตัดสินใจเอาไว้ก่อนหน้า ทริปครั้งนี้เป็นเหมือนห้วงเวลาสั้นๆ ที่ไม่สลักสำคัญจนถึงขนาดเปลี่ยนแปลงชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งแม้แต่น้อย 

ซึ่งผมก็เป็นเหมือนพวกคุณหลายคนที่ดูจบแล้วรู้สึกมึนงง ไม่เข้าใจ ยังประมวลผลไม่ได้ว่าหนังเรื่องนี้เป้าหมายมันอยู่ตรงไหน มันต้องการบอกอะไรกับเรา

แต่จนวันหนึ่งที่คุณกลับมาคิดถึงหนังเรื่องนี้อีก คุณจะเริ่มตั้งคำถามกับมันมากยิ่งขึ้น นั่นเป็นทริปพ่อลูกครั้งสุดท้ายของพวกเขาไหม คาลัมจะรู้สึกปลดล็อกและมองว่าตัวเองเป็นพ่อที่ดีพอหรือยัง ส่วนโซฟีเองจนถึงปัจจุบันเธอยังรู้สึกว่าคาลัมคือพ่อที่เคารพรักได้สักทีหรือไม่ เธอจะรู้สึกว่าการใช้ห้วงเวลาร่วมกับพ่อครั้งนั้นมันดีพอหรือเปล่า เหล่านี้ชวนให้คนดูตั้งคำถามถึงชีวิตที่ยังดำเนินต่อของทั้งสองตัวละครได้อย่างไม่รู้จบ 

และหากคุณเริ่มคิดถึง Aftersun ให้ใกล้ตัวมากขึ้น ผ่านคำถามประมาณว่า แล้วตัวเราทุกวันนี้กับพ่อใช้เวลาร่วมกันเต็มที่หรือยัง เรามีโอกาสได้คุย ได้มองแผ่นหลัง ได้จับมือ ได้ถ่ายรูปโพลารอยด์ร่วมกันมากพอแล้วหรือเปล่า และที่สำคัญเราจะใช้ชีวิตกันอย่างเต็มที่ จนไม่มีความรู้สึกประมาณว่า ‘อยากให้อยู่ด้วยกันนานกว่านี้’ แล้วหรือยัง

จนถึงตอนนั้นเอง คุณจะเริ่มรู้สึกสัมผัสประสบการณ์ที่หนังพยายามมอบให้กับคนดูได้อย่างเต็มที่ ซึ่งนั้นอาจกินเวลาเป็นวัน สัปดาห์ หรือเป็นเดือนก็ได้ หากมันกระทบและตกค้างความรู้สึกของคุณเป็นอย่างมาก

สำหรับชาร์ลอตต์ เธอนิยามหนังเรื่องนี้ผ่านคำว่า ‘Hasret’ หมายถึงความรู้สึกทั้งรัก โหยหา และสูญเสีย ซึ่งเธอบอกว่าเป็นคำภาษาตุรกีที่เหมาะสมที่จะใช้แทนความรู้สึกของหนังเรื่องนี้มากกว่าภาษาอังกฤษและภาษาอื่นใด 

แต่แน่นอนว่านั่นก็ยังไม่ชัดเจนเท่ามวลอารมณ์และความรู้สึกที่เธอเล่าผ่านภาษาภาพยนตร์ ถ่ายทอดประสบการณ์อันเป็นส่วนตัว ให้ทุกคนได้สัมผัส เติมแต่ง และตระหนักถึงความรัก ความสัมพันธ์ ของผู้คนที่ครั้งหนึ่งเคยมอบความรักให้กับเรา… จนมิอาจรู้ลืม

Tags: , , , , , , ,