*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์บางส่วน

“ในโลกนี้มีคนอยู่สองประเภท คือ ‘ผู้ตระเตรียม’ และ ‘ผู้กิน’ ฉันแค่อยากรู้ว่าเธอเป็นพวกไหน ผู้ให้หรือผู้รับ”

“เธอต้องเลือก ถ้าอยู่ข้างเรา เธอก็ไปแบกถังบาร์เรลมาที่ครัว แต่ถ้าจะอยู่กับพวกเขา ก็กลับไปนั่งที่โต๊ะ และวันนี้เธอจะตาย”

เชฟสโลวิกพูดกับมาร์โกต์ด้วยสีหน้าเรียบเฉยแต่น้ำเสียงหนักแน่น หญิงสาวหวาดกลัวและตัดสินใจรับกุญแจโรงเก็บของ ก่อนเดินออกไปอย่างเร่งรีบ

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื้อหาแนว Rich vs Poor หรือสงครามระหว่างชนชั้นในโลกภาพยนตร์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นหนังรางวัลแบบ Parasite (2019) JOKER (2019) หรือภาพยนตร์ชุด Knives Out (2019) ที่นำเสนอความเน่าเฟะของสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ การกระทำที่น่าขยะแขยงของคน 1% และความโกรธแค้นของคนชั้นล่าง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการรับชมผลงานแนวนี้อาจเป็นหนทางเดียวที่ผู้คนสามารถใช้เพื่อระบายความรู้สึกทุกข์ยากในโลกนอกจอเงิน หรือ ‘โลกที่คนจนไม่เคยชนะ’ 

ภาพยนตร์แนวทริลเลอร์คอเมดีเรื่อง The Menu เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลกช่วงปลายปี 2022 ก่อนจะเข้าสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิงเมื่อต้นเดือนมกราคม 2023 ได้นักแสดงระดับท็อป อาทิ เรล์ฟ ไฟนส์ (Ralph Fiennes) แอนยา เทย์เลอร์-จอย (Anya Taylor-Joy) และนิโคลัส โฮลต์ (Nicolas Hoult) ร่วมแสดงบทนำ สร้างเสียงวิจารณ์เชิงบวกจากทุกสำนักไม่ว่าจะเป็น IMDb, Variety และ Rotten Tometoes โดยยกให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์เสียดสียอดเยี่ยมแห่งปี 

นักวิจารณ์จากเว็บไซต์วาไรตีถึงขั้นใช้คำว่า ‘หนังเลือดสาดระดับมิชลินสตาร์’ และ ‘หนังเสียดสีรสชาติเยี่ยม ไม่ต่างจากคอร์สไฟน์ไดนิ่งราคาแพง’ ซึ่งถือเป็นคำวิจารณ์ที่ไม่เกินจริง เพราะความละเมียดของเนื้อหากับการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ผู้ชมไม่ทันสังเกตเห็นประเด็นรสขมที่สอดแทรกอยู่ได้ 

The Menu คือเรื่องราวของ ‘มาร์โกต์’ หญิงสาวที่ถูกแฟนหนุ่มมีฐานะอย่าง ‘ไทเลอร์’ ชวนมาเข้าร่วมโอต์กุยซีน (Haute Cuisine) ณ ภัตตาคารฮาวธอร์น บนเกาะห่างไกล รังสรรค์โดย ‘เชฟจูเลียน สโลวิก’ ในงานก็มีแขกพิเศษระดับไฮโซเข้าร่วมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิจารณ์อาหาร เหล่าลูกน้องของนักลงทุนผู้ซื้อเกาะ อดีตนักแสดงกับผู้ช่วย และคู่สามี-ภรรยาเศรษฐีใหญ่ 

ทุกอย่างดำเนินไปอย่างลื่นไหล ตั้งแต่ช่วงพาชมเกาะเพื่อให้เห็นถึงความพิถีพิถันในขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบแบบออร์แกนิก ไปจนถึงช่วงเริ่มคอร์ส มาร์โกต์เป็นแขกคนเดียวที่แทบไม่แตะอาหารตรงหน้า เธอรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลและไม่สมเหตุสมผลของมื้ออาหารราคาหลักล้านมากคอนเซปต์ที่กินอย่างไรก็ไม่มีวันอิ่ม 

แล้วเรื่องประหลาดก็เกิดขึ้น เมื่อเชฟสโลวิกเดินตามเธอเข้าไปในห้องน้ำหญิงด้วยความเดือดดาล ถามว่าอาหารของเขาไม่ดีตรงไหน ทำไมเธอถึงไม่กินเหมือนคนอื่นๆ จนผู้ชมได้พบความจริงว่าที่แท้ ‘เธอไม่ใช่แขกในลิสต์’ และหลังจากนั้นอาหารมื้อหรูก็แปรเปลี่ยนเป็นมหกรรม ‘ลวงฆ่า’

ทุก ‘ทุกข์’ มีสาเหตุ และคนที่ต้องชดใช้

คุณเคยนั่งถามตัวเองไหมว่า ปมปัญหาที่ฝังรากลึกและบ่อนทำลายชีวิตคุณ มีจุดเริ่มต้นมาจากใคร? 

เจ้านายขี้บงการที่ทำให้ทุกวันในออฟฟิศเป็นเหมือนนรก พ่อ-แม่ที่ดูแลคุณไม่ดีพอ แถมยังคาดหวังการตอบแทนจากคุณมากมาย คนปากเสียในอินเทอร์เน็ต หรือเพื่อนปลอมๆ ที่จ้องจะหักหลังคุณ

เชฟสโลวิกเองก็มีสิ่งนั้น

ตัวละครเชฟสโลวิกและผู้ช่วยเชฟทั้งหมดในห้องครัว เป็นภาพแทนของเหล่าชนชั้นแรงงานในสังคม พวกเขาทำงานอย่างหนักเพื่อเตรียมมื้อที่ดีที่สุดให้ ‘ลูกค้า’ แม้จะต้องพบเจอกับความเครียดและความกดดัน จากการควบคุมเวลาและคุณภาพของอาหาร ในขณะเดียวกันก็ต้องแบกเอาความทุกข์ส่วนตัวหรือเรื่องอื่นๆ มาทำงานด้วย แต่พวกเขาก็ยังก้มหน้าก้มตาทำต่อไปจนจบ เพราะ ‘งาน’ คือความมั่นคงเดียวในชีวิตที่พวกเขามี จะสูญเสียมันไปไม่ได้ 

ในการจัดโอต์กุยซีนสุดพิเศษในครั้งนี้ เชฟสโลวิกจึงขอเป็นคนเลือกลูกค้าของเขาด้วยตัวเอง เริ่มที่แม่ขี้เมาของเขา ตรงโต๊ะใกล้กับครัว มาร์โกต์และไทเลอร์ ใกล้กันกับคู่เศรษฐีลูกค้าประจำบริเวณทางออก โต๊ะของนักวิจารณ์อาหารตรงกลาง และโต๊ะของอดีตนักแสดงกับผู้ช่วยตรงริมหน้าต่าง ทุกคนที่นี่คือ ‘โจทก์’ ในชีวิตของเขาทั้งหมด ซึ่งตัวเขาเองในฐานะ ‘เจ้านาย’ ก็ถูกนับเป็นต้นเหตุความทุกข์ของผู้ช่วยเชฟหลายคนในครัวเช่นกัน  

อีเวนต์นี้จึงถูกจัดขึ้นเพื่อสะสางทุกความทุกข์ของคนครัว และทำให้พวกลูกค้ารู้ว่า นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่คนเหล่านั้นได้ตักตวงผลประโยชน์จากน้ำพักน้ำแรงของพวกเขา 

ในสังคมนี้คุณคือ ‘ผู้ตระเตรียม’ หรือ ‘ผู้กิน’

ข้อมูลจากประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11)

มีผลใช้บังคับวันที่ 1 ตุลาคม 2022 ระบุขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยจากวันละ 313 บาท ในปี 2021 ขยับเป็น 328-355 บาท ขึ้นอยู่กับภูมิภาค ในขณะที่ผลประกอบการต่อปีของบริษัทบนตลาดหลักทรัพย์ไทยสุทธิ รายงานโดยกลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2022 อยู่ที่ 1.97 พันล้านบาท ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในปีดังกล่าว รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ 6.3%  

ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความไม่สัมพันธ์กันอย่างยิ่งระหว่างรายได้ของคนทำงานกับรายรับของผู้ประกอบการรายใหญ่ พวกเขาปิดยอดแต่ละปีด้วยเงินหลักล้าน ในขณะที่พนักงานแทบไม่เหลือเงินพอให้กินอาหารดีๆ สักมื้อเพื่อฉลองปีใหม่ ไหนจะวิกฤตเงินเฟ้อ ที่ทำให้การลืมตาอ้าปากแทบจะเป็นไปไม่ได้ เท่านี้ก็ชัดเจนพอแล้วว่าสังคมที่พวกเราอาศัยอยู่มีระดับขั้นของผู้ให้และผู้รับอย่างชัดเจน เปรียบได้กับภาพแสดงของห้องครัวและโซนห้องอาหารในฮาวธอร์น

ขณะที่เหล่าผู้ช่วยเชฟวิ่งวุ่นตระเตรียมอาหารแต่ละเมนูอย่างเคร่งเครียด ทุ่มเทหยาดเหงื่อ พละกำลัง ความสามารถทั้งหมดที่มีเพื่อเสิร์ฟอาหารชั้นยอด สิ่งที่พวกลูกค้าบนโต๊ะทำกลับเป็นแค่การชมวิวทะเล จิบไวน์ พูดคุยเรื่องธุรกิจ เพ้อฝันถึงปณิธานอันยิ่งใหญ่ พออาหารมาถึงโต๊ะก็แทบจะไม่สนใจเรื่องราวหรือคุณค่าที่เชฟต้องการจะสื่อสาร พวกเขาแค่ถ่ายรูปและกิน เวลาเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจก็ยกมือเรียกพนักงานมาต่อว่า ขอเปลี่ยนอาหารกันตามใจ 

ตอนต้นของเรื่อง ในขณะที่ตัวละครเอลซา ผู้จัดการห้องอาหารพาลูกค้าเดินชมส่วนที่พักของผู้ช่วยเชฟ ที่มีลักษณะเหมือนโรงนอนในค่ายทหาร ต้องใช้ห้องน้ำรวมกัน แขกคนหนึ่งแสดงทีท่ารังเกียจ และถามขึ้นมาว่า

“พวกคุณอยู่กันแบบนี้หรือ”

เอลซาตอบ

“ที่นี่เราคือครอบครัว เราเก็บเกี่ยว เราหมัก เราเชือด เราทำของเหลว เราทำสเฟียร์ เราทำเจล” 

ประโยคข้างต้นสื่อความหมายโดยนัยแทนคนชนชั้นแรงงานและกรรมาชีพทั้งหมดที่มีจุดร่วมเดียวกันคือพวกเขาลำบาก ทำงานหนัก แต่ถ้าไม่มีคนเหล่านี้อยู่บนสายพานอุตสาหกรรม จะไม่มีใครตระเตรียมชีวิตที่สุขสบายให้กับผู้กิน เชฟสโลวิกจึงเน้นย้ำกับแขกทั้งหมดก่อนเริ่มเสิร์ฟอาหารให้พึงระลึกไว้ว่า ในวันนี้วัตถุดิบทุกอย่างที่จะถูกนำเข้าร่างกายเป็นของล้ำค่าจากระบบนิเวศ ขอให้พินิจมันให้ลึกซึ้ง อย่าแค่กินด้วยความโหยหรือกระหาย 

อีกฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่สะท้อนประเด็นเรื่องชนชั้นได้อย่างชัดเจนคือ ช่วงเสิร์ฟเมนูชื่อ ‘ชุดขนมปังที่ไร้ขนมปัง’ (Breadless Bread Plate) เชฟสโลวิกอธิบายว่าขนมปังเป็นอาหารของคนยากจนมาตั้งแต่โบราณ เป็นอาหารที่ทำง่ายมาก เพราะมีส่วนประกอบแค่แป้ง น้ำ และยีสต์ แต่เมนูนี้จะมีให้แค่ซอสหรือซุปที่มีไว้กินคู่กับขนมปังเท่านั้น ไม่มีขนมปังให้ เพื่อให้ผู้กินได้รับอรรถรสของสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของเมนูขนมปัง จนสามารถคิดถึงรสของขนมปังขึ้นมาได้เอง โดยซอสทั้งหมดถูกหยดไว้ในจานหลุมเล็กๆ 

หลังจากอาหารเมนูดังกล่าวมาเสิร์ฟ มาร์โกต์เป็นคนเดียวที่รู้ว่านี่คือการเย้ยเหยียดที่รุนแรง เธอจึงตัดสินใจไม่กิน คนอื่นๆ พยายามทำท่าทีว่าเข้าใจคอนเซปต์ที่ลึกซึ้งของเชฟ ส่วนกลุ่มผู้ถือหุ้นร้านเลือกที่จะโวยวายขอขนมปัง โดยให้เหตุผลว่าพวกเขาไม่มีทางอิ่มได้หากทางร้านมีอาหารให้กินเท่านี้ ตัวละครเอลซาจึงเดินมากระซิบข้างหูกลุ่มผู้ถือหุ้นว่า 

“ต่อจากนี้พวกคุณจะได้กินน้อยกว่าที่ต้องการ และมากกว่าที่พวกคุณคู่ควร”

เป็นการเฉลยว่าสำหรับเชฟสโลวิกแล้วคนเหล่านี้ไม่ควรค่ากับขนมปัง ที่เป็นอาหารของคนยากไร้ด้วยซ้ำ เพราะพวกเขา ‘กิน’ มากพอแล้ว 

โลกแห่งการทำงาน ที่ต้องพิสูจน์ตัวเองจนตาย

จุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่อง เริ่มต้นขึ้นในเมนูเมนคอร์สชื่อ ‘ความยุ่งเหยิง’ (The Mess) ที่เปิดตัวด้วยการที่ทีมงานออกมาปูผ้าขาวกลางห้องอาหาร พร้อมวางสมุนไพรและเครื่องเทศไว้กระจัดกระจาย เชฟสโลวิกเรียก ‘เจเรมี’ ซูส์เชฟมือขวาของเขาออกมาจากโซนครัว และเริ่มพูดจาดูถูกเขาต่อหน้าแขกทุกคน 

เชฟสโลวิกเล่าว่า ตลอดอาชีพการเป็นซูส์เชฟของเจเรมี เขาอยากเก่งและเจริญก้าวหน้าเหมือนสโลวิกมาตลอดแต่ก็ทำไม่ได้ เจเรมียอมรับทุกคำด่าทอด้วยน้ำตาเต็มหน้า ว่าเขาจะไม่มีวันดีเท่าเชฟใหญ่ได้ และเขาก็ไม่ต้องการจะมีชีวิตแบบสโลวิกด้วย 

สโลวิกจึงถามว่าเขาอยากจบความรู้สึกสิ้นหวังอันน่าอนาถใจนี้ไหม เจเรมีตอบตกลง พร้อมยกปืนขึ้นมายิงกรอกปากตัวเองและสิ้นใจไปบนผ้าสีขาวผืนนั้น พนักงานทุกคนรีบยกสเต๊กเนื้อชิ้นใหญ่ชุ่มเลือดมาเสิร์ฟโดยไม่พูดพร่ำทำเพลง และบางส่วนก็ช่วยกันยกร่างของเจเรมีไปที่หลังครัวราวกับเหตุการณ์นั้นไม่เคยเกิดขึ้น 

ความเครียด ความสิ้นหวัง ปัญหาด้านการเงิน เป็นสิ่งที่คนวัยทำงานทั่วโลกต้องเผชิญ และบางครั้งมันมากจนหลายคนตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองไม่ต่างกับตัวละครเจเรมี ซึ่งเหตุการณ์ต่อมาก็เป็นไปตามนั้น งานยังคงดำเนินต่อไปได้ด้วยแรงงานคนอื่น แขกบางคนยังสามารถกินอาหารต่อไปและเลือกที่จะไม่มองความโหดร้ายตรงหน้า เพราะโลกนี้ไม่มีพื้นที่มากพอให้ความท้อแท้ หรือการยอมแพ้ ทุกคนต้องก้าวเข้าสู่การแข่งขันและเอาชนะให้ได้

ค้นหา ‘แก่นสาร’ และ ‘ความสุข’ ของตัวเองให้พบ

จริงอยู่ที่โลกแห่งความจริงไม่ใจดีเท่าไรนัก ผู้คนพยายามใช้งานในการปีนป่าย ขยับขยายฐานะเพื่อความสำเร็จและความร่ำรวย ปะปนไปด้วยคนสมหวังและผู้ล้มเหลว แต่ท้ายที่สุดแล้ว ในอาหารมื้อสุดท้ายของชีวิต อะไรคือสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ?

เชฟสโลวิกเริ่มต้นอาชีพการทำอาหารด้วยตำแหน่งคนทำเบอร์เกอร์ในร้านฟาสต์ฟูด เขาเป็นเด็กฐานะยากจน มีพ่อแม่ขี้เมาที่ทำร้ายร่างกายเขา ถึงอย่างนั้นสโลวิกยังมีรอยยิ้มเสมอเมื่อทำงานในร้านเบอร์เกอร์ ต่างจากในปัจจุบันที่ทุกวินาทีเป็นไปด้วยความเคร่งเครียด เขาต่อสู้หลายปีจนได้เป็นเชฟอันดับต้นของประเทศ ที่สามารถคิดค่าหัวลูกค้าในร้านได้ครั้งละ 7 แสนบาทต่อคอร์ส เป็นเจ้าของห้องอาหารและเกาะของตัวเอง แต่ไร้ซึ่งความสุขหลงเหลือในชีวิต สโลวิกถวายทุกอณูของวิญญาณให้กับงานของเขา ซึ่งสุดท้ายมันไร้ความหมาย และเขาจะให้เปลวไฟเผาทำลายมันให้หมด

ตัวละครมาร์โกต์รู้ถึงความลับนี้ เลยขอให้เชฟสโลวิกทำ ‘ชีสเบอร์เกอร์ที่ธรรมดาที่สุด’ ให้เธอกิน ไม่ต้องมีคอนเซปต์ ไม่ต้องใช้วัตถุดิบชั้นเลิศ ขอแค่เบอร์เกอร์ชิ้นเดียว นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่ผู้ชมได้เห็นรอยยิ้มของเชฟ เขาได้กลับมาเจอความสุขในการทำอาหารของตัวเองอีกครั้งและพร้อมที่จะจากไปอย่างสงบ

ปัจจุบัน ภาพยนตร์เรื่อง The Menu มีรายได้จากการฉายในสหรัฐอเมริกาไปกว่า 36.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.2 พันล้านบาท) หากใครสนใจอยากรับชมเรื่องราวที่ลึกซึ้งชวนสยองภายใต้อาหารแต่ละเมนู จากคอร์สพิเศษของเชฟสโลวิก ก็สามารถรับชมได้ง่ายๆ แล้วที่ Disney Plus Hotstar 

ที่มา:

https://www.rottentomatoes.com/m/the_menu 

https://screenrant.com/every-dish-course-in-menu-movie/ 

https://www.vulture.com/article/the-menu-review-a-deliciously-mean-satire.html 

https://variety.com/2022/film/reviews/the-menu-review-ralph-fiennes-anya-taylor-joy-1235374185/ 

https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/Documents/PressMPC_62565_fsic9q.pdf 

https://www.mol.go.th/

https://classic.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=CMO&ssoPageId=5&language=th&country=TH 

ภาพ: Searchlight Pictures

Tags: , , , , , , , ,