***เขียนจากการชมรอบการแสดงเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567***

เทศกาลละครกรุงเทพ (Bangkok Theatre Festival) ประจำปี 2024 มีการแสดงที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น Grand Opening ประจำเทศกาล (แม้จะไม่ได้เป็นงานเบิกโรงอย่างเป็นทางการ) อันได้แก่ผลงานละคร Original Play เรื่อง The Life That Was ของคณะ LiFE THEATRE ในกลุ่ม Other Venues เพราะการแสดงชิ้นใหม่ของผู้กำกับ พันพัสสา ธูปเทียน เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ใช้เปิดตัวพื้นที่ละครสถานแห่งใหม่ ภายใต้การดูแลของกลุ่ม LiFE THEATRE สถานที่พบเจอของเหล่าคนรักละครในนาม Life Studio โอ่อ่า ณ อาคารพระนครเก่า ตรงแยกสำราญราษฎร์เข้าถนนบำรุงเมือง ผู้ชมจึงมีโอกาสได้ชมละครเรื่องใหม่ในบรรยากาศใหม่ๆ ซึ่งสามารถดัดแปลงใช้พื้นที่ชั้น 3 ของอาคารห้องแถวตกแต่งด้วยแนวเก่าผสมใหม่ จุผู้ชมแต่ละรอบได้มากถึง 100 คน

จุดที่น่าสนใจในละครเรื่องนี้ นอกจากจะมีนักแสดงดังระดับแถวหน้าอย่าง สินจัย เปล่งพานิช, ธนพร แวกประยูร และอนุชิต สพันธุ์พงษ์ มาร่วมแสดง เนื้อหาของละครซึ่งแต่งโดยผู้เขียนบท ปริดา มโนมัยพิบูลย์ ยังวางศูนย์กลางของตัวละครให้สะท้อนรสนิยมทางเพศที่หลากหลาย ซึ่งกลายเป็นกระแสร่วมสมัยในปัจจุบัน ผ่านความสัมพันธ์ของทั้งตัวละครคู่หญิง-หญิง และชาย-ชาย

เนื้อหาหลักของ The Life That Was ถ่ายทอดภาวะป่วยไข้ในอาการหลงยึดติดอดีตของ เพชร (แสดงโดย สินจัย เปล่งพานิช) แม่เลี้ยงเดี่ยววัยกลางคน ผู้ไม่อาจทนทานต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในโลกปัจจุบันได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่ที่เธอไม่อาจทำใจ ปล่อยให้ความทรงจำอันสวยงามในกาลก่อนย้อนกลับมายังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เธอมี นาว (แสดงโดย ธนพร แวกประยูร) หญิงสาวรุ่นน้องที่มีความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกันจากการซื้อขายเปียโน จนมิตรภาพเบ่งบานและเติบโต เชื้อเชิญให้นาวได้มาโชว์ทักษะการร้องและเล่นดนตรีที่บ้านของเธอเสมอๆ โดยเพชรดูแลบุตรชาย ‘ภูมิ’ (แสดงโดย ดนัยนันท์ กฤดากร ณ อยุธยา) แต่เพียงลำพังหลังจากที่สามีของเธอได้ทอดทิ้งไป โดยมีว่าที่ลูกสะใภ้นาม ‘ปูเป้’ (แสดงโดย สรินยา ออลสัน) มาทำให้เวลาในปัจจุบันของเพชรมีความหมาย โดยเธอไม่เคยระแคะระคายเลยว่า ‘ภูมิ’ มีเพื่อนสถาปนิกหนุ่มนาม ‘ต่อ’ (แสดงโดย อนุชิต สพันธุ์พงษ์) เป็นคู่ขา และอยากจะประกาศสถานะที่แท้ของเพื่อนชายคนนี้ให้แม่ได้รับรู้เสียที!

ละครเรื่องนี้มีพื้นที่แสดงหลักเป็นฉากนิวาสสถานของ ‘เพชร’ ในเวลาปัจจุบัน ตกแต่งแบบกลางเก่ากลางใหม่ด้วยเปียโนอัปไรต์ เตียงโซฟาที่จะนั่งหรือเอนนอนก็ได้ ประดับด้วยต้นกระบองเพชรในกระถางใหญ่ที่ต้องใช้ ‘ใจ’ ในการดูแล แต่ในพื้นที่เดียวกันก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นเปียโนบาร์ ธุรกิจร้านอาหารแห่งใหม่ของภูมิที่ทำให้เขาได้เจอกับต่อ และพอตกกลางคืนก็เป็นรังรักอันหวานชื่นระหว่างคนหนุ่มทั้ง 2 คน ที่ต้องมาทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่องการตากผ้าเช็ดตัว! เรียกได้ว่าใช้พื้นที่แสดงของห้องอาคารชั้น 3 ได้ถ้วนทั่ว ปล่อยให้ตัวละครวิ่งขึ้นลงบันไดไปตามสถานการณ์ผ่านเข้าออกกันอย่างเป็นธรรมชาติ

อย่างไรก็ดีละครเรื่องนี้ก็มิได้นำเสนอด้วยบรรยากาศในแบบสมจริงเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะเมื่อบทละครเริ่มบิดเลี้ยวแบบหักมุม ยามความกลัดกลุ้มภายในของตัวละคร ‘เพชร’ ไม่อาจแบ่งแยกแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับสัมพันธ์สวาทในครั้งหลัง โดยเฉพาะความหวังที่จะได้ใช้ชีวิตกับ ‘นาว’ ซึ่งไม่เคยเป็นจริง ด้วยอคติที่เธอยังคงมีต่อความรักระหว่างหญิงกับหญิง อันเป็นสิ่งที่สังคมไม่เคยยอมรับ การสลับภาวะตัวละครจริงซ้อนลวงลวงซ้อนจริง ยิ่งเล่ายิ่งเฉลยว่าใครอยู่ในระนาบเวลาไหน ทำให้สิ่งที่คนดูได้เห็นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเสมอไป สะท้อนให้เห็นว่า อาการป่วยไข้ของเพชรหนักหนาจนน่าเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน จนไม่น่าจะมีใครมาเยียวยาทำให้เธอหันหน้ามายอมรับกับความเป็นจริงได้เลย

กระนั้นเมื่อเรื่องราวทุกอย่างถูกเฉลย สาระหลักของละครมันกลับกลายเป็นความอ่อนเชย เผยให้เห็นถึงอาการลุ่มหลงยังคงยึดติดอยู่กับโลกอดีตตามขนบจารีตของละคร สะท้อนภาวะเปราะบางทางจิตใจที่เราเคยเห็นกันมามากแล้วโดยทั่วไป ด้านความสัมพันธ์ในรูปแบบตัวละคร LGBTQIA+ ก็แสดงทรรศนะแห่งการแอบซ่อนตัวตนราวเป็นคนที่หลุดมาจากยุค 1970s ยุคสมัยเดียวกับตอนที่ กฤษณา อโศกสิน เขียนนิยายเรื่องประตูที่ปิดตาย เกี่ยวกับเกย์ที่แต่งงานบังหน้า เพื่ออำพรางความเสน่หาที่มีต่อกายาของผู้ชายด้วยกัน ความสัมพันธ์ของตัวละคร LGBTQIA+ ในเรื่องนี้จึงยังมีอาการที่ออกจะ ‘ตกสมัย’ ในขณะที่ปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มนี้กลับวิวัฒน์พัฒนาไปไกลจนชักจะสงสัยว่า LiFE THEATRE กำลังทำละครเรื่องนี้ให้คนที่เกิดช่วงปีไหนดู

ความเชยอันนี้จะนำไปสู่ลีลาการแสดงของเหล่านักแสดง ที่เหมือนจะเป็นศูนย์รวมแห่งความหลากหลายไม่แพ้ในเรื่องเพศ มีทุกเฉด ทุกโทน ทุกยุคสมัย 5 คน 5 สไตล์ ต่างทิศทางกันไปเหมือนจะไม่ได้อยู่ในเรื่องเดียวกัน บทละครที่มีการปั้นคำนำเสนอด้วยถ้อยภาษา ซึ่งเหมือนจะดึงมาจากงานประพันธ์สายวรรณกรรม ทำให้คนที่แสดงได้เข้าปากที่สุดคือสินจัย ด้วยประสบการณ์การแสดงแบบ Old School ผ่านบทที่อุดมไปด้วยจริตเชิงวรรณศิลป์มาทั้งชีวิต ทำให้สินจัยมอบทั้งความหมายและความรู้สึกภายในในทุกถ้อยคำด้วยความบอบช้ำที่กำลังกล้ำกลืนอยู่ ต่อให้มันจะฟังดูเป็นละครโทรทัศน์กันขนาดไหนก็ตาม การแสดงของสินจัยจึงมีความ ‘ตอบโจทย์’ แบบศิษย์โปรดหน้าห้องของคุณครู ผู้กำกับ/ เขียนบท คิดคำตอบของตัวละครนี้ไว้อย่างไร เด็กหญิงสินจัยก็จะจัดให้แบบถูกต้องตรงตามเฉลยอย่างเป๊ะทุกคำ ราวการคิดทำอะไร ‘นอกกรอบ’ มันคือบาปกรรมหรือความมิชอบที่ไม่ควรประพฤติปฏิบัติ!

ในขณะที่ธนพรกลับสามารถจัดการแสดงได้เป็นธรรมชาติมากกว่า ไม่ว่าปริดาจะเขียนบทเอาไว้อย่างไร ธนพรก็จะปรับจูนตัวละครให้เข้ากันกับบุคลิกของตัวเองได้ ตัวละคร ‘นาว’ จึงให้ภาพของสาวเก่งสาวเท่ มีเสน่ห์ชวนฟังทุกๆ ครั้งที่ได้นั่งเล่นและร้องท่วงทำนองหน้าเปียโน ด้าน โอ อนุชิต ก็เป็นนักแสดงที่ติดอาการเก๊กหยิ่งผู้ไม่เคยทิ้งมาด ถึงโอกาสต้องแสดงเมื่อไร กล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกายคล้ายจะมีอาการเขม็งเกร็งเพ่งสมาธิ ใช้วิธีออกคำสั่งกดปุ่ม ‘จงแสดง’ ซึ่งแม้จะไม่ได้เสแสร้ง แต่มันก็ดูเป็นการออกแรงอย่างตั้งใจจนเกินไป ทว่าโชคดีขนาดไหนที่บท ‘ต่อ’ อนุญาตให้นักแสดง ‘เล่นเก๊ก’ ได้ เพราะมันก็ไม่ถึงกับไปขัดบุคลิกของเขาแต่อย่างใด หากถนัดเก๊กก็จงจิกเกร็งกันต่อไป ขอให้มีอารมณ์ภายในไปตามตัวบทที่เขียนไว้เป็นพอ ส่วนภูมิก็มีอาการ “พึ้ดม่ายช้าด” แบบตัวละคร ‘สาย ฝ.’ ขอนำเสนอศาสตร์และศิลป์แห่งการแสดงแบบตะวันตกร่วมสมัย ตามที่ได้รับประสบการณ์มาจากการทำงานที่นิวยอร์ก บ่งบอกเรื่องราวอย่างเข้านอกออกในใช้ครบทั้ง Inner และ Outer นำเสนอการแสดงที่มีชีวิตจิตใจไปพร้อมกับการใส่เทคนิควิธี ส่วนสรินยาก็น่าเสียดายที่ตัวบทไม่ค่อยจะส่งสักเท่าไร ในหลายฉากจึงออกจะจมหาย แต่ก็ยังถือว่าสอดรับกับเป้าหมาย ที่ไม่ต้องการให้ตัวละครรายนี้มีตำแหน่งเป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องราวอะไรมากนัก

ซึ่งจากบทบาทหลักอันมีความหลากหลายขนาดนี้ ก็ชักไม่แน่ใจว่าผู้กำกับพันพัสสามีเจตนาจะ ‘ทดลอง’ การปะทะกันระหว่างทรรศนะกับมุมมองของการแสดงต่างสูตรต่างขนาน ว่าสุดท้ายจะสามารถผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้หรือไม่ เพราะถ้าผู้สร้างต้องการนำเสนอเรื่องราวภาวะภายในของตัวละครกันเป็นหลักใหญ่ ก็น่าจะเลือกใช้การแสดงที่มีมิติทางจิตวิทยาอันสมจริง ยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกสะเทือนใจไปกับทุกๆ ชะตากรรมของพวกเขา แต่ใน The Life That Was กลับปล่อยให้เราได้เห็นกระบวนการด้านคราฟต์ ทางการแสดงที่นักแสดงแต่ละรายถ่ายทอดกันตามความถนัดในเชิงสไตล์ อารมณ์ความรู้สึกร่วมมันจึงออกจะหล่นหาย ไม่ซึ้ง ไม่ทัชใจ อย่างที่เรื่องราวได้พยายามเล่าเอาไว้เลย!

The Life That Was จึงกลายเป็นงานละครที่ออกจะอ่อนเชย เป็นเวทีให้นักแสดงได้เผยทักษะและประสบการณ์ทางการแสดงที่แต่ละคนเคยฝึกฝนกันมา เหมือนเป็นงาน Showcase ที่อยู่ในระหว่างการพัฒนามากกว่าจะเรียกน้ำตาแห่งความสงสารเห็นใจ และร่วมระทมขมขื่นไปกับภาวะอาการอันเหลือเชื่อ ที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ยามเส้นทางอนาคตทุกสายได้ตีบตัน จนต้องหวนหันกลับไปหาโมงยามแห่งห้วงเวลาอันแสนงดงามในอดีต!

Fact Box

ละครเรื่องจะนำกลับมาแสดงใหม่อีกครั้งที่ LiFE Studio ระหว่างวันที่ 23 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2568 ติดตามรายละเอียดได้ทาง https://www.facebook.com/wearelifebkk

Tags: , , , , , ,