ในแวดวงฮอลลีวูดและภาพยนตร์โลก ข่าวใหญ่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาหนีไม่พ้น แอมะซอน บริษัทผู้จัดจำหน่ายหนังและสตรีมมิงยักษ์ของโลก ตัดสินใจซื้อกิจการของสตูดิโอ MGM หรือ เมโทร-โกลด์วิน-เมเยอร์ ด้วยดีลราคา 8.45 พันล้านเหรียญฯ นับเป็นการ ‘ย้ายบ้าน’ ครั้งใหญ่ของหนังในเครือ MGM รวมถึงแฟรนไชส์ เจมส์ บอนด์ สายลับสัญชาติอังกฤษที่อยู่ใต้ชายคาของเอ็มจีเอ็มมาช้านาน ก็ถูกจับตาว่าจะเป็นอย่างไรต่อ หากไปอยู่ในสตูดิโอแห่งใหม่ เท่ากับที่หลายๆ คนตั้งคำถามว่า ความหลากหลายของสตูดิโอต่างๆ รวมทั้งเนื้อหาและทิศทางภาพยนตร์นับจากนี้ จะลดน้อยถอยลงหรือไม่ เมื่อมันตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือสตูดิโอใหญ่ทุนหนาเกือบทั้งหมด

ภายหลังจากโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2020 สิ่งหนึ่งที่ขยายตัวรวดเร็วอย่างน่าจับตาคืออุตสาหกรรมสตรีมมิงภาพยนตร์ เมื่อโรงหนังหลายแห่งจำต้องปิดกิจการทั้งถาวรและชั่วคราว หลังจากที่ผู้คนไม่สามารถออกมารวมกลุ่มเพื่อใช้ชีวิตดูหนังในที่สาธารณะกันได้ตามปกติ สตรีมมิงใหญ่หลายเจ้านำทัพมาโดยเน็ตฟลิกซ์ ต่างได้รับความนิยมล้นหลาม เมื่อคนแห่กันสมัครสมาชิกเพื่อดูหนังและซีรีส์ระหว่างต้องกักตัวอยู่ในบ้าน เช่นเดียวกันกับแอมะซอน สตูดิโอ สตรีมมิงยักษ์ทุนหนาอีกเจ้าที่ออกตัวแรงด้วยการทุ่มงบเพื่อทำเนื้อหา 11 พันล้านเหรียญฯ เฉพาะของปีที่แล้ว และสอดสายตามองหาหนังกับซีรีส์อีกจำนวนมาก เพื่อนำมาฉายตอบสนองความต้องการของคนดูในตลาดที่ยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ช่อง HBO ก็งัดเอาไพ่ใบเด็ด Zack Snyder’s Justice League (2021) ความยาวสี่ชั่วโมงเต็มออกฉายผ่าน HBO Max โดยเฉพาะจุดแข็งอย่างซีรีส์มากหน้าหลายตา Euphoria, Westworld และ The Outsider ท้าชนกับฟากเน็ตฟลิกซ์กับดิสนีย์ สตรีมมิงอีกสองเจ้าที่มีภาพยนตร์และซีรีส์เป็นของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว

จากภาพรวม ไม่น่าแปลกใจ หากแอมะซอนจะเคลื่อนเกมครั้งใหญ่ด้วยการทุ่มเงินเพื่อซื้อภาพยนตร์มาลงช่องของตัวเอง และการซื้อกิจการของ MGM ก็เป็นหนึ่งในไพ่อีกใบที่แอมะซอนตัดสินใจหงายเพื่อสู้กับสตรีมมิงยักษ์เจ้าอื่นๆ ที่ล้วนมีคอนเทนต์หลักอยู่ก่อนแล้ว 

เจมส์ บอนด์และการโบกมือลาชายคา MGM

MGM คือหนึ่งในสตูดิโอผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์และซีรีส์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกา หลายคนน่าจะจดจำเอกลักษณ์เด่นอย่างหนึ่งได้จาก ‘เจ้าสิงโตลีโอ’ มาสคอตของสตูดิโอที่คำรามให้เราเห็นมาอย่างยาวนานตลอด 64 ปีเต็ม หนังของเครือนี้ที่เราๆ น่าจะคุ้นตากันคือซีรีส์ Vikings, The Handmaid’s Tale และที่ถูกจับตามองมากที่สุดในฐานะตัวละครหลักของสตูดิโอคือแฟรนไชส์ James Bond 007 ที่หากไม่คิดภาวะโรคระบาด No Time to Die (2021, แครี โจจิ ฟุคุนางะ) หนังบอนด์ลำดับที่ 25 กับทุนสร้าง 250 เหรียญฯ คงออกฉายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

แฟรนไชส์สายลับอังกฤษที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมของ เอียน เฟลมมิง ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 1962 ในชื่อ Dr. No ซึ่งหนังได้ ฌอน คอนเนอรี นักแสดงชายจากสกอตแลนด์รับบทเป็นสายลับพราวเสน่ห์ จากทุนสร้างเพียงหนึ่งล้านเหรียญฯ มันได้สร้างปรากฏการณ์ถล่มทลายจนกวาดรายได้ไปที่ 60 ล้านเหรียญฯ และปูพรมให้มีหนังภาคต่อตามมาติดๆ ปีต่อปี ตลอดระยะเวลาร่วมหกสิบปี หากนับรวมทั้งหนังสือ เกมและของประดับต่างๆ ที่ตามมาหลังจากหนังออกฉาย แฟรนไชส์นี้ทำเงินให้ MGM ไปทั้งสิ้นที่ราวๆ 14.2 พันล้านเหรียญฯ มันจึงเป็นหนึ่งในตัวละครหลักที่น่าจับตาว่าแอมะซอนจะจัดการอย่างไรต่อ หลายคนคาดการณ์ว่าความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นคือ แอมะซอนอาจเปิดให้บริการนำบอนด์ทั้ง 24 ภาค (หากไม่นับ No Time to Die ที่เตรียมฉายโรง) เปิดให้บริการผ่านทางสตรีมมิงในเครือตัวเอง ก็น่าจะเป็นการกวักมือเรียกแขกครั้งใหญ่ให้บริษัทได้ 

พร้อมกันกับที่แอมะซอนก็สร้างหนังของตัวเองได้อย่างน่าจับตา ไม่ว่าจะ Sound of Metal (2019), Black Box (2020) นับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญสมกับที่ เจฟฟ์ เบโซส์ ประธานกรรมการบริหารของแอมะซอนเพิ่งประกาศในเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า สมาชิกคนดูของแอมะซอนเพิ่งจะผ่านหลัก 175 ล้านไปเมื่อปีที่แล้ว และยังตั้งเป้าว่าจะไล่กวดจำนวนสมาชิกของเน็ตฟลิกซ์ซึ่งอยู่ที่ 208 ล้านคนให้ทันโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็แน่นอนว่าการซื้อต่อกิจการของ MGM เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การไล่ตามนั้นด้วย

ประเด็นสำคัญคือ แอมะซอนไม่ได้เป็น ‘เจ้าบุญทุ่ม’ รายเดียวของสงครามนี้น่ะสิ

เมื่อแอมะซอนก็ไม่ได้มีไพ่ดีอยู่ฝ่ายเดียว 

หากวัดกันที่ความอลังการ ดีลระหว่างแอมะซอนและ MGM ไม่ได้เป็นดีลยักษ์ใหญ่เจ้าเดียวที่เกิดขึ้นในปีนี้ ย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน โลกเพิ่งจะเป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนมือครั้งใหญ่ เมื่อ AT&T บริษัทคมนาคมชื่อดังของสหรัฐฯ เจ้าของรายได้ 171.8 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2020 เพิ่งปิดดีลกับ Discovery ช่องสารคดีชื่อดัง

แล้วทำไมมันจึงน่าจับตา

คำตอบสำคัญคือ Discovery ไม่ได้เป็นสื่อแรกและสื่อเดียวที่บริษัท AT&T เข้าไปซื้อด้วยมูลค่าหลายพันล้านเหรียญฯ ย้อนกลับไปเมื่อสองปีก่อน AT&T ทุ่มเงินจำนวน 85 พันล้านเหรียญฯ เพื่อซื้อบริษัทสื่อขนาดยักษ์อย่าง WarnerMedia ซึ่งเป็นเจ้าของ CNN, HBO และสตูดิโอวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ผู้ครอบครองแฟรนไชส์พ่อมดผู้เป็นที่รักอย่าง Harry Potter และซูเปอร์ฮีโร่ Batman การขยับขยายเนื้อตัวของ AT&T มายังอุตสาหกรรมภาพยนตร์นี้จึงส่งผลให้สิทธิ์ต่างๆ ของบริษัทในเครือ WarnerMedia ส่วนหนึ่งแล้วตกเป็นของ AT&T ด้วย

การที่ AT&T เพิ่งจะปิดดีลกับช่องสารคดี Discovery ไปนั้น จึงเท่ากับว่าพวกเขากำลังพยายามหาทางขยายช่องทางในอุตสาหกรรมสื่อภาพเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ด้วยการนำเนื้อหาจาก WarnerMedia มาดัดแปลงและสร้างเป็นเนื้อหาใหม่ๆ เพื่อลงฉายในช่อง  Discovery โดยวางแผนไว้ว่าเนื้อหาต่างๆ จะปรากฏให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างกันก็ช่วงกลางปี 2022 ที่จะถึงนี้ มีรายงานว่าเรื่องสัญญาการเงินนั้น ฝั่ง AT&T เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ 71 เปอร์เซ็นต์ขณะที่อีก 29 เปอร์เซ็นต์นั้นถือไว้โดยช่อง Discovery เอง ด้านสำนักข่างวิเคราะห์การเงินชื่อดังอย่าง The Financial Times ประมานการณ์ว่า หากประสบความสำเร็จ มันจะสร้างมูลค่าได้ถึง 150 พันล้านเหรียญฯ ทีเดียว

ยังไม่นับรวมว่า ในเครือนี้ AT&T และ WarnerMedia ยังมีสตรีมมิง HBO เป็นอาวุธชิ้นใหญ่อยู่อีกเจ้า แม้เทียบกันแล้วสมาชิกผู้ติดตามจะยังน้อยกว่าเจ้าอื่นๆ คืออยู่ที่ 64 ล้านราย แต่ก็ยังน่าจับตาหากมองว่ามันยังเติบโตไปได้มากกว่านี้ เอาเฉพาะแค่กลางปีนี้ เราก็มีหวังจะได้ดู No Sudden Move (2021) หนังยาวลำดับล่าสุดของ สตีเวน โซเดอร์เบิร์กห์ ที่หวนกลับมาร่วมงานกับ เบนิซิโอ เดล โตโร อีกหนหลังจากเคยส่งนักแสดงหนุ่มชาวเปอร์โตริกันคว้าออสการ์มาแล้วจาก Traffic (2000)

ที่สำคัญคือ อย่าลืมว่า ไพ่ตายอีกอย่างที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาดคือการถือครองสิทธิ์แฟรนไชส์ Harry Potter ทั้งแปดภาค ซึ่งที่ผ่านมา มูลค่าโดยรวมนับจากที่ the Philosopher’s Stone (2001) ออกฉายจนถึง the Deathly Hallows Part 2 (2011) มันก็ทำเงินไปทั้งสิ้น 7.7 พันล้านเหรียญฯ

แต่เราต้องไม่ลืมว่า ขาใหญ่อีกเจ้าหนึ่งก็มี ‘ไพ่ใบเด็ด’ อยู่ในมือเหมือนกัน

รายนั้นคือดิสนีย์

ดิสนีย์ เจ้าหนูขาใหญ่ผู้ปิดตำนาน The Big Six 

มองจากภาพรวม เราน่าจะเห็นแล้วว่า บริษัทใหญ่ๆ ทั้งแอมะซอนที่เป็นราชาของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ชและการส่งสินค้าออนไลน์ กับบริษัทคมนาคม AT&T พยายามขยับขยายแขนขามายังโลกของภาพยนตร์และสื่อบันเทิง ด้วยการพยายามจับตลาดสตรีมมิงซึ่งถือว่ามาแรงจนกลายเป็นการแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่างทีมงานที่คอยผลิตเนื้อหาป้อนแต่ละช่อง ก็ชวนนึกถึงดีลยักษ์ที่มาก่อนโรคระบาดเมื่อสี่ปีก่อนอย่าง ดีลสะเทือนโลกระหว่างดิสนีย์กับ สตูดิโอ 21st Century Fox เมื่อปี 2017

ดิสนีย์ซื้อหุ้นของสตูดิโอ 21st Century Fox ด้วยราคาที่ช็อกกันทั้งโลกคือ 52.4 พันล้านเหรียญฯ นับเป็นการปล่อยหมัดตรงของยักษ์ใหญ่ ราวกับประกาศว่านับจากนี้ โลกกำลังจะเคลื่อนเข้าสู่การสตรีมมิงอย่างเต็มตัว ทั้งมันยังเป็นการปิดฉาก The Big Six หรือหกสตูดิโอยักษ์แห่งฮอลลีวูด ได้แก่ ฟ็อกซ์, พาราเมาต์ พิกเจอร์ส, วอร์เนอร์ บราเธอร์ส, ยูนิเวอร์แซล พิกเจอร์ส, โคลัมเบีย พิกเจอร์ส และวอลต์ ดิสนีย์ ซึ่งเป็นสตูดิโอทั้งหกที่กินพื้นที่ทางการตลาดในอเมริกาเหนือไปกว่า 83 เปอร์เซ็นต์ เมื่อในที่สุดแล้ว ฟ็อกซ์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของดิสนีย์อย่างเต็มตัว 

ปลายปี 2019 เจ้าหนูก็ปล่อยหมัดฮุคเข้าสู่จักรวาลของการสตรีมมิงด้วยการเปิดตัว ดิสนีย์พลัส (Disney+) ที่ประมาณการกันว่าจะมีซีรีส์กว่า 7,000 ตอนและหนังอีกอย่างต่ำ 500 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือหนังจากเครือฟ็อกซ์ รวมถึงหนังและซีรีส์ในจักรวาล Star Wars ในเครือของลูคัส ฟิล์ม ที่ออกฉาย Episode IV – A New Hope (1977) เรื่อยมาจนถึงภาคล่าสุด Episode IX – The Rise of Skywalker (2019) และภาคย่อยขยาย Rogue One (2016) กับ Solo (2018) ทั้งหมดนี้ทำเงินไปทั้งสิ้น 68.7 พันล้านเหรียญฯ และแม้ว่ายังไม่แน่ชัดว่าหนังทุกภาคจะได้ลงฉายในดิสนีย์พลัสหรือไม่ แต่ลำพังการมีแฟรนไชส์ Star Wars ไว้ในมือก็การันตีถึงคอนเทนต์อันอุ่นหนาฝาคั่งในอนาคตของสตรีมมิงเจ้านี้ได้

และหากยังฟังดูอลังการไม่พอ ดิสนีย์พลัสยังพร้อมจะงัดไพ่เด็ดอีกใบอย่างหนังและซีรีส์ในเครือมาร์เวลมาด้วย ประเดิมกันไปอุ่นๆ กวาดคำชมไปกราวใหญ่ทั้ง The Mandalorian ซีรีส์แยกย่อยออกมาจากจักรวาล Star Wars ที่ความเฉียบคมของเส้นเรื่องบวกความน่ารักของโยดาจิ๋วช่วยเรียกให้คนสมัครเป็นสมาชิกตั้งแต่เปิดตัวใหม่ๆ เรื่อยมาจนซีรีส์ภาคขยายของมาร์เวลอย่าง WandaVision และ The Falcon and The Winter Soldier ที่ตกกลุ่มแฟนคลับได้มหาศาล ยังไม่นับซีรีส์ Loki ซึ่งเตรียมจะออกฉายในปีนี้อีก

เน็ตฟลิกซ์ เมื่อพี่ใหญ่ถูกหายใจรดต้นคอ

ท่ามกลางการแข่งขันที่ค่อยๆ ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เน็ตฟลิกซ์ซึ่งเป็นสตรีมมิงยักษ์ก็ยังครองตำแหน่งสตรีมมิงที่มีคนสมัครเข้าเป็นสมาชิกมากที่สุด คืออยู่ที่ 207.64 ล้านราย โดยที่คู่แข่งที่ตัวใหญ่ที่สุดในเวลานี้คือแอมะซอนซึ่งมีจำนวนผู้ติดตามห่างแบบหายใจรดต้นคอที่ 200 ล้านราย ลำพังสองเจ้านี้คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดในสหรัฐฯ ที่เจ้าละ 28 เปอร์เซ็นต์ 

ไม้เด็ดของเน็ตฟลิกซ์คือซีรีส์หลากสัญชาติจำนวนมหาศาล แต่ที่ขึ้นชื่อและได้รับความนิยมจนสร้างภาคต่อตามมาได้หลายต่อหลายซีซั่นคือ Stranger Things, Money Heist หรือแม้แต่ The Witcher ทางสตูดิโอก็ไฟเขียวให้ลุยซีซันสองได้แล้วเต็มที่ หลังจากซีซันแรกได้รับความนิยมจากทั้งแฟนเกมและแฟนหนังสือไปถล่มทลาย ขณะที่ในเชิงภาพยนตร์นั้น แม้ภาพรวมจะหนักเอียงไปทางหนังแอ็กชั่นระเบิดระเบ้อทั้ง Triple Frontier (2019), Bright (2017) แต่ในอีกด้าน สตูดิโอก็ยังพร้อมจะดันหนังขวัญใจเวทีรางวัลทั้ง Mank (2020), The King (2019)

แต่ก็แน่นอนว่าในสังเวียนการแข่งขันที่ระอุขึ้นเรื่อยๆ เน็ตฟลิกซ์อาจต้องออกแรงเพื่อรักษาฐานคนดูไว้ให้ได้มากที่สุด หนึ่งในทางออกคือการยังประคองซีรีส์ที่มีฐานแฟนคลับแน่นหนาอยู่แล้ว และขยายพื้นที่ไปยังพรมแดนใหม่ๆ ด้วยการสร้างหนังหลากสัญชาติ Dancing Queens (2021) หนังสัญชาติสวีเดน, Baggio: The Divine Ponytail จากอิตาลี และรวมถึง Ghost Lab ของไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสตรีมมิงยังน่าจับตามากๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้คนยังไม่อาจกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติหลังโรคระบาด เรายังมีสตรีมมิงเจ้าอื่นๆ อีกมากที่รอขยับขยายตัวสร้างภาพยนตร์และซีรีส์ใหม่ๆ มาเพื่อดึงตัวคนดูให้ไปใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้มากที่สุด ไม่ว่าจะ Apple TV+ ที่แม้ยอดผู้ติดตามจะยังทิ้งห่างจากเน็ตฟลิกซ์และแอมะซอนอยู่หลายเท่าตัว แต่ก็สร้างซีรีส์ที่กลายเป็นขวัญใจกลายๆ คนไปแล้วอย่าง The Morning Show ตลอดจนสารคดีบ้าพลังของ แวร์เนอร์ แฮร์โซก กับไคล์ฟ โอฟเพนไฮเมอร์ Fireball: Visitors from Darker Worlds (2020) หรือสตรีมมิงสัญชาติจีน iQiyi ที่เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา มียอดผู้ใช้งานทะลุ 100 ล้านคนไปแล้ว ยังไม่นับรวมช่องเฉพาะทางอย่าง ESPN+ ที่เน้นกีฬาครบวงจร หรือสตรีมมิงจากสตูดิโอ เช่น พาราเมาต์พลัส ที่เตรียมขยายฐานคนดูจากคนดูโรงมาเป็นคนดูสตรีมมิงที่บ้าน

ทั้งนี้ ภายใต้การแข่งขันอันดุเดือดเลือดพล่านของชาวสตรีมมิงยักษ์ใหญ่ทั้งมวล สิ่งที่น่าจับตาอีกอย่างคือภาวะการควบรวมกิจการแบบ ‘กินรวบ’ อันจะเห็นได้จากการขยับเข้าไปถือหุ้นหรือกระทั่งซื้อกิจการของบริษัททุนใหญ่ๆ เพราะเป็นไปได้ว่าเมื่อเป็นเช่นนั้น ความแตกต่างหลากหลายของภาพยนตร์และซีรีส์ต่างๆ จะค่อยๆ เลือนหายภายใต้เงื้อมมือของทุนหนา ที่อาจมุ่งมั่นในการผลิตคอนเทนต์ป้อนคนดูกลุ่มใหญ่ หรือหาทางสร้างผลประโยชน์กลับมาให้ได้โดยเร็วที่สุด หากแต่นั่นก็ดูจะเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป อย่างน้อยก็ในโมงยามเช่นนี้

Tags: , , , , , ,