เรือข้ามฟากพาเราจากท่าเรืออุโนะ (Uno Port) ทางตอนใต้ของเมืองโอกายามา (Okayama Prefecture) ประเทศญี่ปุ่น มายังเกาะศิลปะ ‘นาโอชิมา’ ซึ่งมีสัญลักษณ์ที่ใครๆ ต่างก็ต้องมาเก็บภาพ คือฟักทองลายจุดสีแดงสดที่ตั้งอยู่ตรงท่าเรือ และฟักทองสีเหลืองลายจุดที่อยู่อีกฝากหนึ่งของเกาะ ผลงานซึ่งเปรียบเสมือนลายเซ็นของ ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) ศิลปินหญิงที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

นักท่องเที่ยวที่หนาแน่นในร้านขายของที่ระลึกทำให้ยากจะเชื่อว่า เกาะกลางทะเลปิดแห่งนี้เคยเกือบถูกทิ้งร้าง หลังบริษัทข้ามชาติเลิกใช้เป็นฐานโรงงานเพื่อถลุงเหล็ก กระทั่งเมื่อ 30 ปีก่อน มีการลงทุนครั้งใหญ่โดยบริษัท เบเนสเซ โฮลดิงส์ (Benesse Holdings) ผู้นำด้านศิลปะสมัยใหม่ เพื่อสร้าง เบเนสเซ เฮาส์ (Benesse House) ที่พักหรูหราราคาแพงลิ่วและพิพิธภัณฑ์ศิลปะในตัว โดยเชิญสถาปนิกโมเดิร์นชื่อดังที่โดดเด่นด้วยการใช้วัสดุปูนเปลือยและคอนกรีตแผ่นหนาอย่าง ทาดาโอะ อันโดะ (Tadao Ando) มาเป็นผู้ออกแบบ พร้อมเชื้อเชิญเหล่าศิลปินจากทั่วโลกให้มาแสดงฝีมือ เกาะแห่งนี้จึงถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ในฐานะ ‘เกาะศิลปะ’

เราลัดเลาะไปตามชุมชนที่อยู่ไม่ไกลจากท่าเรือ ผ่านซอยเล็กซอยน้อยและบ้านเรือนที่ยังคงมีชีวิตชีวา เพื่อไปคว้าจักรยานไฟฟ้าที่ผสานกำลังคนกับกำลังเครื่องจักรเพื่อให้การตะลุยรอบเกาะไม่เหนื่อยเกินไป

หลังจากได้สองล้อคู่ใจ เราพาตัวเองไปอีกฟากหนึ่งของเกาะ ผ่านถนนสงบที่ถูกรบกวนด้วยเสียงจักจั่นประจำหน้าร้อน แดดอุ่นบอกให้เราเลาะเลียบไปหลบในร่มเงาต้นไม้ สองข้างทางไม่ต่างจากชนบทในไทย บ้านเรือนเรียบง่ายและแปลงนาเขียวสุดสายตา จุดแรกที่เราแวะพักคือชุมชนฮอนมูระ (Honmura District) ชุมชนเก่าแก่ที่บ้านบางหลังมีอายุกว่า 400 ปี

แม้มองเผินๆ จะไม่ต่างจากชุมชนแสนธรรมดา แต่ปัจจุบัน บ้านบางหลังในย่านนี้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นศิลปะร่วมสมัยในโครงการบ้านศิลปะ (Art House Project) ซึ่งเริ่มมาแล้วกว่า 20 ปี เช่น ผลงาน ทะเลเวลา’98 (Sea of Time’98) ในบ้านคาโดยะ (Kadoya) อายุกว่าสองร้อยปีที่ ทัตซึโอะ มิยาจิมา (Tatsuo Miyajima) เปลี่ยนใจกลางบ้านให้เป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ ด้านในมีตัวเลขดิจิทัล 125 ตัววิ่งสลับระหว่างเลข 1 ถึง 9 ในความเร็วที่แตกต่างกัน โดยมิยาจิมาให้สมาชิกในชุมชน 125 คนเป็นผู้กำหนดความเร็วของตัวเลขแต่ละตัว

บ้านอีกหนึ่งหลังที่น่าสนใจ คืออดีตร้านทำฟันไฮฉะ (Haisha) ที่ชินโร โอทาเกะ (Shinro Ohtake) นำภูมิทัศน์ความฝันมาปะติดปะต่ออยู่ด้านใน กลายเป็นผลงานที่ฉูดฉาดเหมือนกับภาพคอลลาจขนาดเท่าของจริง งานศิลปะยังซ่อนตัวอยู่บนเนินเขาที่ฮิโรชิ ซึกิโมโตะ (Hiroshi Sugimoto) ได้ปรับปรุงศาลเจ้าที่ถูกทิ้งร้าง ถอดแบบโครงสร้างดั้งเดิมและสอดแทรกวัสดุสมัยใหม่จนกลายเป็นงานศิลปะศาลเจ้าโกะ (Go’o Shrine) โดดเด่นด้วยบันไดอะคริลิก และยังคงจิตวิญญาณของศาลเจ้าญี่ปุ่นโบราณที่ใต้ดินจะถูกใช้สำหรับฝังศพ

ภูมิทัศน์ความฝันที่ดัดแปลงจากอดีตร้านทำฟันไฮฉะ (Haisha)

จุดที่ห้ามพลาดคือบ้านไม้หลังใหญ่มินามิเดระ (Minamidera) ที่ออกแบบโดย ทาดาโอะ อันโดะ ด้านในเป็นผลงานศิลปะน่าตื่นตาของเจมส์ เทอร์เรล (James Turrell) หนึ่งในศิลปินที่ผู้เขียนชอบผลงานมากที่สุด โดยการเข้าชมจะเป็นรอบรอบละ 15 นาที จำกัดคนครั้งละประมาณ 20 คน ด้านในบ้านไม้จะเป็นที่โล่งกว้างซึ่งมืดสนิท ก่อนที่ด้านหน้าจะค่อยๆ ปรากฏแสงสว่าง ความง่ายและงามของผลงานชิ้นนี้ทำให้บ้านมินามิเดระมีคนต่อแถวเข้าชมตลอดวัน

มินามิเดเระ หนึ่งในบ้านศิลปะที่ออกแบบโดยทาดาโอะ อันโดะ

หลังจากตะลุยบ้านศิลปะครบทั้งเจ็ดหลัง เราก็วางจักรยานและเดินเลาะไปตามตรอกซอยเพื่อหาอาหารใส่ท้อง ก่อนจะจบที่คาเฟ่ที่ขายอาหารชุดประจำถิ่น (ซึ่งกินเสร็จแล้วก็ยังไม่ทราบว่าคืออะไร) แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดคือร้านอาหารนี้มีเจ้าของคือชายญี่ปุ่นอายุราวปู่ แต่ลูกมือคือสามสาวผมทองร่างใหญ่ ที่ดูจะสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เข้าใจกว่าคุณปู่เสียด้วยซ้ำ เป็นสิ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า (เกาะ) ศิลปะนั้นไม่มีพรมแดนของเชื้อชาติหรือภาษา

ฟักทองสีเหลืองลายจุด

ฟักทองสีเหลืองลายจุด

เมื่อท้องอิ่ม ก็ได้เวลาพาสองล้อไปตามหาฟักทองสีเหลือง เราพาตัวเองออกจากย่านเมืองเก่า ฝ่าลมทะเลเลียบท่าเทียบเรือ ลัดเลาะไปตามชุมชนเงียบสงบแล้วมาพบกับชายหาดอีกฝั่ง และท่ามกลางนักท่องเที่ยวคือฟักทองสีเหลืองที่ตั้งตระหง่านบนสะพานที่ยื่นออกไปในทะเล ด้านหน้าเป็นทางแยก ฝั่งซ้ายถูกสงวนไว้สำหรับแขกที่พักโรงแรมหรูเบเนสซี เฮาส์ ส่วนนักท่องเที่ยวจนๆ อย่างเราก็ได้แต่ยืนถ่ายรูปคู่กับฟักทองและมองตาปริบๆ ไปยังแยกขวาซึ่งขึ้นเขาสูงชันเกิน 45 องศาจนต้องหันไปถามพนักงานที่ดูแลว่า กำลังขาและแรงส่งจากแบตเตอรี่จะพอมีปัญญาปีนขึ้นเขาลูกนี้หรือไม่

เขายิ้มแก้มปริ ชูนิ้วโป้งแล้วพยักหน้าหงึกหงัก เราจึงกัดฟันปั่นขึ้นทางชัน มันชันจนหัวใจผมเกือบหยุดเต้น แต่เมื่อถึงด้านบนก็พบกับอ่าวตระการตา ลมทะเลพัดโกรก และทางลงลดเลี้ยวตามลาดเขาที่อยากจะย้อนขึ้นไปแล้วปั่นลงมาอีกสักรอบ

สำหรับจุดหมายต่อไป หากใครปั่นเพลินจนลืมมองป้าย ก็คงปั่นเลยไปไม่ยาก เพราะทางเข้าพิพิธภัณฑ์ในเบเนสเซ เฮาส์สำหรับนักท่องเที่ยวนั้นหลบมุมอยู่ตรงไหล่เขา เราต้องจอดจักรยานไว้ข้างนอกเพื่อเดินเท้าหรือรอรถรับส่งของโรงแรม ด้วยความหนุ่มสาว เราเลือกใช้สองเท้าเพื่อชื่นชมธรรมชาติสองข้างทาง แต่หลังจากเดินไปเกือบครึ่งชั่วโมงท่ามกลางอากาศอ้าว เราก็นึกขำกับความห้าวที่ไม่ยอมรอที่ป้ายรถรับส่ง

ในที่สุดเราก็เดินมาถึงอาคารทรงประหลาดที่เป็นส่วนผสมของพิพิธภัณฑ์โมเดิร์นอาร์ตและโรงแรมหรูชายทะเลซึ่งห้องราคาประหยัดที่สุดอยู่ที่คืนละราว 80,000 เยน หรือเกือบ 25,000 บาท หากความหรูหราระดับนี้ยังไม่พอ เบเนสเซ เฮาส์ ยังมีห้องรูปไข่ (Oval) ที่เห็นวิวทะเล 360 องศาจำนวน 6 ห้อง ซึ่งมีรถไฟรางเดี่ยวคอยบริการ พร้อมสิทธิพิเศษในการชมสถาปัตยกรรมของทาดาโอะ อันโดะ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ในตอนกลางคืน สนนราคาคืนละ 100,000 เยนเศษๆ หรือราว 30,000 บาท

อ่านราคาไปพลาง ก็ควักแบงก์พันเยนเพื่อซื้อตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ แล้วถอนหายใจ

พิพิธภัณฑ์ เบเนสเซ เฮาส์ มีทั้งหมดสามชั้น แต่ละชั้นจะรวบรวมศิลปะยุคหลังศตวรรษที่ 20 มาให้ชม เช่น วงกลมจากวัสดุหลากชนิดของริชาร์ด ลอง (Richard Long) ก้อนหินสีขาวสะอาดขนาดยักษ์สำหรับนอนมองท้องฟ้า (The Secret of the Sky) โดยคาน ยาสุดะ (Kan Yasuda) และชิ้นที่ผมชอบที่สุดคือ ฟาร์มมดธงของโลก (The World Flag Ant Farm) ที่ยานางิ ยูกิโนริ (Yanagi Yukinori) ใช้ทรายสีเรียงเป็นธงชาติ 182 ประเทศ แล้วให้มดค่อยๆ เจาะทำรัง กลายเป็นผลงานธงนานาชาติที่แหว่งวิ่นจากเหล่ามดงาน

The World Flag Ant Farm

แม้หลายคนจะมองว่าศิลปะยุคโมเดิร์นเข้าใจค่อนข้างยาก แต่สำหรับผม ผลงานสมัยใหม่ไม่ได้วัดกันที่ความปราณีตของฝีแปรง และคือคมความคิดที่หยิบจับวัสดุต่างๆ ผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเปลี่ยนความคิดเหล่านั้นให้สื่อสารได้ในรูปแบบที่ค่อนข้างคลุมเครือ เมื่อเราได้สัมผัส ก็จะสวมประสบการณ์ส่วนตัวเพื่อตีความผลงานเบื้องหน้า ความสนุกจึงอยู่ที่บทสนทนาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมทาง ซึ่งอาจตีความผลงานเบื้องหน้าไปคนละทิศละทางกับที่เราคิด

ออกจาก เบเนสเซ เฮาส์ เราก็เห็นทะเลฉาบด้วยสีส้มอ่อน เราโดยสารรถรับส่งขาออกเพื่อไปคว้าจักรยาน ลัดเลาะผ่านไหล่เขาเพื่อไปยังที่หมายสุดท้าย คือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิชู (Chichu Art Musuem) อาคารสมัยใหม่ที่ออกแบบโดย ทาดาโอะ อันโดะ ประกอบสร้างด้วย คอนกรีต ไม้ เหล็ก และกระจก ซ่อนตัวอยู่ใต้เนินเขาตามชื่อซึ่งแปลตรงตัวว่า ‘พิพิธภัณฑ์ที่อยู่ใต้โลก’ ซึ่งยึดแนวคิดการเคารพธรรมชาติ สร้างอาคารที่ยังคงสภาพภูมิทัศน์ดั้งเดิมเอาไว้โดยไม่มีส่วนไหนของอาคารที่โผล่พ้นผืนดิน แต่หากมองจาก Google Maps เราจะเห็นว่าเนินเขาถูกเปิดโล่งเป็นรูปเรขาคณิตชวนฉงน

พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิชู

(ภาพจาก http://benesse-artsite.jp/en)

ผลงานที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิชูมีน้อยชิ้น แต่นับว่าอยู่ในระดับมาสเตอร์พีซ ตั้งแต่ภาพวาดสระบัวของคล็อด โมเนต์ (Claude Monet) ซึ่งจัดแสดงโดยใช้แสงธรรมชาติ หรือผลงาน Time/Timeless/No Time ของวอลเตอร์ เดอ มาเรีย (Walter De Maria) ที่ชวนให้เดินวนรอบแล้วรอบเล่า เพื่อดูการยั่วล้อระหว่างพื้นที่และเงาสะท้อน รวมทั้งตัวอาคารคอนกรีตของ ทาดาโอะ อันโดะ ที่นับว่าเป็นผลงานศิลปะอีกหนึ่งชิ้น ตามแนวคิดที่จะประสานงานสถาปัตยกรรมให้เป็นหนึ่งเดี่ยวกับศิลปะ

ชิ้นที่ผมประทับใจที่สุดคือผลงานของ เจมส์ เทอร์เรล ศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านแสงและที่ว่าง ที่จะสร้างประสบการณ์ให้ผู้ชมรู้สึกถึงเส้นบางๆ ระหว่างความจริงกับสิ่งที่มนุษย์รับรู้ ชิ้นที่ผมชอบที่สุดคือ Open Sky ห้องโล่งกว้างที่เราแค่เข้าไปนั่งและแหงนหน้ามองท้องฟ้าผ่านช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ใช้เทคนิคพิเศษในการก่อสร้างทำให้ขอบบางเฉียบ ไม่ต่างจากการจ้องมองกรอบรูป ราวกับเทอร์เรลได้จับเอาท้องฟ้าที่มีชีวิตชีวาให้มากลายเป็นผลงานของตัวเอง

Open Sky

(ภาพจากhttp://jamesturrell.com/work/opensky)

ความน่าสนใจไม่ได้จบแค่นี้ เพราะเราสามารถซื้อตั๋วราคาประมาณ 100 บาทเพื่อเข้าชมท้องฟ้าเปลี่ยนสีในช่วงเย็น ที่มีคนกว่าครึ่งร้อยนั่งแหงนหน้ามองท้องฟ้าอย่างสงบนิ่งเป็นเวลาเกือบชั่วโมง จากสีฟ้าสดใสค่อยๆ กลายเป็นสีดำหม่น พร้อมกับแสงไฟซีนอนในห้องซึ่งสลับสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนบางครั้งเราอาจมองท้องฟ้าด้านบนเป็นสีประหลาดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน หรืออาจต้องกลั้นหายใจเมื่อมีนกหรือแมลงปอบินผ่าน

เราออกจากพิพิธภัณฑ์ตอนที่ไฟถนนส่องสว่าง พาสองล้อไหลลงภูเขาช้าๆ ปล่อยให้กลุ่มวัยรุ่นหัวเราะร่าแซงหน้าไปขณะกำลังอิ่มเอมกับภาพท้องฟ้าในช่วงชั่วโมงที่ผ่านมา

เราโดยสารเรือรอบเกือบสุดท้ายออกจากเกาะ โบกมือลานาโอชิมาและฟักทองสีแดงสด แต่ทริปตะลุยหมู่เกาะศิลปะยังไม่จบ เพราะในทะเลปิดแห่งนี้ คลื่นศิลปะสมัยใหม่ได้ไหลบ่าไปยังเกาะข้างเคียงอีกสองเกาะ คือ เทชิมา (Teshima) และอินุจิมา (Inujima) ซึ่งเราวางแผนว่าจะเดินทางไปเยือนเป็นจุดหมายถัดไป

ขอบคุณเพื่อนร่วมทาง ธิษณา กูลโฆษะ

FACT BOX

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับนาโอชิมาและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ได้ที่

  • Benesse House
  • An Architect’s Paradise: The Hidden Treasures of Tadao Ando’s Art Island
  • The World’s Best Museum: Chichu Art Museum in Naoshima
  • How Art Transformed A Remote Japanese Island
Tags: , , , , , , , , , , , ,