***เขียนจากการชมรอบการแสดงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568***
‘น้ำใหม่ จะไหลมาสักกี่ครั้ง
เจ้าปลาก็ยังไม่ว่ายไปไหน
แม้น้ำจะแล้งจนแห้งขอดเหือดหาย
ปลาอย่างพี่มิหน่ายจะขอตายคาคลอง’
น่าจะเป็นวรรคทองของน้ำใหม่น้ำเก่า เพลงเอกประจำละครเพลงแผลเก่า เดอะมิวสิคัล จัดแสดงโดย DreamBox ณ โรงละคร M Theatre ระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์-2 มีนาคมที่ผ่านมา ผลงานการประพันธ์เนื้อร้องโดย ดารกา วงศ์ศิริ จากบทประพันธ์อภิมหาอมตะอย่างแผลเก่า (2479) ของ ไม้ เมืองเดิม ในรูปแบบละครร้องแบบ Sung-through คือเล่าด้วยเพลงอยู่ตลอดทั้งเรื่องไม่เปลืองเวลามาสนทนา กับบทเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
ที่ยกเนื้อร้องบทนี้ขึ้นมาก็เพราะอยากจะแสดงความชื่นชมว่า ดารกาเริ่มพิถีพิถันกับการสรรถ้อยคำมาใส่ทำนองเป็นเพลงร้อง ให้มีการสัมผัสและคล้องจองมากขึ้นกว่าผลงานเรื่องก่อนๆ หน้า ที่ดูจะไม่นำพาเรื่องความงดงามในเชิงภาษามากนัก พอมาเรื่องนี้เธอจึงจัดหนักทั้งสัมผัสนอกและสัมผัสใน แม้จะยังห่างไกลจากความงดงามไพเราะ แต่ก็เป็นก้าวย่างที่เหมาะแก่การสรรเสริญว่า ดารกากำลังเดินมาถูกทาง สร้างมาตรฐานใหม่ในการประพันธ์เนื้อร้องของตนให้เข้าใกล้การเป็นกวีนิพนธ์มากยิ่งกว่าเดิม
เพราะศิลปะแห่งละครร้องต้องเริ่มมาจากบทเพลงเป็นองค์ประกอบสำคัญ ฉันทลักษณ์สัมผัสต่างๆ จึงควรต้องแม่นยำ สามารถร้อยเรียงถ้อยคำเพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างหมดจดและงดงาม ประกาศความเป็นมืออาชีพในงานด้านนี้
แต่ที่ยังบอกว่า ดารกาคงต้องฝึกฝนปฏิบัติกันอีกยาวไกล ก็เพราะถึงแม้ว่าเนื้อเพลงในแผลเก่า เดอะมิวสิคัลเรื่องนี้มีคำสัมผัสคล้องจองพ้องเสียงสระและตัวสะกดมากมาย หากหลายจุดก็ยังคงมาแบบผิดที่ผิดทาง โดยอาจลองดูจากตัวอย่างเนื้อเพลงในบทต่อไปซึ่งตัวละคร ‘ขวัญ’ และ ‘เรียม’ ชักชวนกันสาบานต่อหน้าเจ้าพ่อไทรว่า
‘พี่ขวัญ พี่รักฉันจริงหรือไม่
เรียมเอย เอ็งคือยอดดวงใจ
เอ็งถามทำไมกันเล่า
อย่างนั้นเรามาสาบานกันได้หรือเปล่า
สาบานต่อหน้าเจ้าพ่อต้นไทร’
เห็นได้ชัดว่าใช้รูปแบบฉันทลักษณ์ที่แตกต่างไปจากบทก่อนหน้า เพราะมีจำนวนถึง 5 วรรค และหมุดหลักการคล้องจองของสระ ไ- และ เ-า ย้ายมากองตรงท้ายวรรค ที่มักจะใช้กันในเพลงสากลจนดูหัวมังกุท้ายมังกรจากวรรคก่อนหน้า ทำให้จังหวะลีลาของเพลงดูจะเสียกระบวนไปไม่ลื่นไหลอย่างที่ควรเป็น ส่วนสัมผัส ‘ใจ’ ท้ายวรรคสอง กับ ‘ทำไม’ กลางวรรคสาม ก็มิได้ดำเนินตามกระบวนฉันทลักษณ์ เพราะตามหลักจะต้องมาลงที่ท้ายวรรคทั้งคู่
และที่ชวนให้รู้สึกอยู่ตลอดทั้งการแสดงเลยก็คือ ดารกาลิขิตมันทุก ‘สัมผัสต้องห้าม’ ที่เหล่านักกลอนเขาพยายามเลี่ยงกันหนักหนา ไม่ว่าจะเป็นสัมผัสซ้ำ เอาคำเดิมที่เพิ่งใช้กลับมาสัมผัสใหม่ สัมผัสเผลอ ที่ให้สระเสียงสั้นต้องมาเจอกับสระเสียงยาวแล้วหยวนๆ เจ๊าๆ เอามาสัมผัสแบบเนียนๆ ไป อย่างสัมผัส ‘เล่า’-‘เปล่า’-‘เจ้า’ ในบทที่ยกมาข้างต้นนี่ก็ใช่ เพราะคำว่า ‘เปล่า’ ต่อให้สะกดด้วยสระ เ-า ก็จริง แต่สิ่งที่เราอ่านมักจะยานจนกลายเป็น ‘ปล่าว’ ซึ่งไม่เข้ากันเลยกับเสียง ‘เล่า’ และ ‘เจ้า’ ที่เอามาคล้องจอง
หรือบางวรรคก็ใส่คำพ้องเสียงสระมาหลายที่ จนไม่รู้ว่าคุณพี่จะให้ลงสัมผัสที่ตำแหน่งใด กลายเป็น สัมผัสแย่ง/สัมผัสเลือน/สัมผัสเกิน อันไม่พึงปรารถนา หรือบางทีก็มาในลีลากลอนหัวเดียวเทียวสัมผัสมันด้วยเสียงสระเดิมแบบวนไป แล้วพอส่งไม้ต่อไม่ได้ก็แอบเปลี่ยนเป็นเสียงใหม่ กลายเป็น ‘สัมผัสเรื้อรัง’ ที่ไม่ได้ตั้งใจแทน! นี่ยังไม่นับแบบแผนเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคที่ดารกามักจะไม่ใส่ใจ อย่างคำว่า ‘เหือดหาย’ ท้ายวรรคที่สามซึ่งปกติจะห้ามไม่ให้ลงท้ายด้วยเสียงจัตวาก็ยังมีมา ทำให้บทเพลงส่วนใหญ่ของดารกามีอาการ ‘โกงเสียงวรรณยุกต์’ กันอย่างโกลาหล จนคนร้องต้อง ‘เหน่อ’ เสียงให้เพลงยังถูไถไปได้ แม้บางคำจะฟังไม่รู้เรื่องเลยว่ากำลังพูดอะไร เพราะเสียงวรรณยุกต์ได้ถูกบิดผันจนแปร่งเพี้ยนไปหมด
ลองกดหาฟังเพลงเอกอย่างน้ำใหม่ดูก็ได้ แค่คำว่า ‘น้ำใหม่’ ต้นวรรคต้น วนฟังอย่างไรก็จะได้ยินว่า ‘น้ำไหม? (กระหายอยู่หรือเปล่า?)’ อยู่ทุกครั้ง ซึ่งยังดีที่มีคำว่า ‘น้ำเก่า’ เข้ามาสื่อให้เข้าใจว่ากำลังพูดถึง ‘น้ำเก่า-น้ำใหม่’ มิใช่ชักชวนกันดื่มน้ำเพื่อดับกระหาย ลองแล้วจะตระหนักซึ้งเลยว่า การแต่งเนื้อเพลงไทยเป็นอะไรที่ไม่ง่าย มีปัจจัยทั้งด้านเสียงสระ ตัวสะกด บทบาทของวรรณยุกต์ คำและความหมายสะตะระต่างๆ มากมาย กว่าจะได้เนื้อเพลงที่สื่อสิ่งที่ต้องการได้ผ่านฉันทลักษณ์อันลื่นไหลไม่มีคำใดให้สะดุด
อีกจุดที่น่าวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กันก็คือ การประพันธ์ท่วงทำนองของบทเพลงต่างๆ อ้างอิงจากเนื้อหาที่ดารกาประพันธ์เอาไว้ก่อนหน้า หรือว่าคณะคีตกวี สุธี แสงเสรีชน, ภูดินันท์ ดีสวัสดิ์มงคล และไกวัล กุลวัฒโนทัย ได้สร้างทำนองเอาไว้ แล้วให้ดารการับหน้าที่หาคำมาใส่ในแต่ละโน้ต ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ประเมินยากอยู่เหมือนกันว่า ผู้สร้างวางลำดับงานไว้อย่างไร และทำไมมันจึงมีความ ‘ไม่เข้าปี่เข้าขลุ่ย’ กันถึงขนาดนี้ สังเกตว่าดนตรีประกอบของ แผลเก่า เดอะมิวสิคัล ตั้งใจหันหลังให้กับแนวทางลูกทุ่งไทย แล้วหันไปใช้สำเนียงแนวทางสร้างงานละครเพลงแบบตะวันตกเสียมากกว่า ต่อให้มีเสียงปี่หรือลูกเอื้อนในการขับร้องฟ้องออกมา ทว่าลีลาดนตรีโดยส่วนใหญ่ก็ยังใช้ขนบแบบเพลงสากลอยู่
ทางเลือกนี้อาจช่วยให้ละครเพลงฟังดูทันสมัยมากขึ้นก็จริง แต่สิ่งที่ชวนให้ถึงกับตกใจเลยก็คือสไตล์ดนตรีที่ออกจะกระด้าง สร้างเสียง Dissonance ทึบแน่นอย่างกระแทกเสียดสากจากเครื่องดนตรีสังเคราะห์ไร้ความเสนาะ เพื่อสะท้อนสถานการณ์ทะเลาะเบาะแว้งระหว่างครอบครัวของ ‘อีเรียม’ กับ ‘ไอ้ขวัญ’ โดยเฉพาะความเคืองแค้นอันอำมหิตของบ้านฝ่ายหญิง ซึ่งก็ยิ่งทำให้ความรักระหว่างทั้งคู่แลดูจะเป็นไปไม่ได้ จนตัวละครฝ่ายชายของเรือนหลังนั้นเหมือนถูกปั้นให้กลายเป็น ‘ตัวร้าย’ อย่างจงใจ
สำเนียงดนตรีในช่วงต้นๆ นี้จึงใส่ความเป็น ‘เทคโนฯ’ ลงไปราวกำลังได้ดูละครเพลง The Phantom of the Opera ซึ่งเป็นลีลาที่ไม่ได้เข้ากันเลยกับบรรยากาศของท้องเรื่อง ทว่าหลังจากที่ ‘อีเรียม’ ย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง ท่วงทำนองดนตรีก็มีสีสันที่ต่างออกไปเพื่อสะท้อนความศิวิไลซ์ของพระนคร ช่วงตอนกลางไปถึงท้ายของละครจึงเริ่มจะใช้ดนตรีที่อ่อนหวานเหมาะกับตัวงานเหมือนได้ส่งไม้ผลัดเปลี่ยนท่านไปในการประพันธ์ แต่ก็ทำให้ในภาพใหญ่มันเกิดความลักลั่นในทางดนตรีที่ต่างคนก็จะต่างไป โดยไม่มีใครมาคอยกำกับบัญชาขมวดลีลาให้เป็นเนื้อเดียวกันในภาพรวม เนื้อเพลงและดนตรีใน แผลเก่า เดอะมิวสิคัล มันเลยดูกุกกักกำกวมไปเสียทั้งหมด จนไม่อาจสะกดผู้ฟังให้ต้องมนต์ขลังแห่งคีตนิพนธ์ได้ ห่างไกลจากคุณสมบัติของการเป็นงานอมตะคลาสสิกที่ทุกๆ คนจะจดจำและร้องตามได้ กระทั่งกลายเป็นทำนองฮิตติดหูติดใจจนไม่มีใครคิดจะลืม!
แต่ส่วนที่ทำให้รู้สึกปลาบปลื้มได้มากๆ ก็คือการรับบทบาทที่ทั้งหินและยากของ เขมวัฒน์ เริงธรรม ในบทขวัญ และสยาภา สิงห์ชู ในบทเรียม เพราะทั้งเนื้อร้องและทำนองที่ทีมงานเตรียมไว้ มันต้องใช้เทคนิคการร้องมาคอยแก้ไขเสียงวรรณยุกต์ต่างๆ ที่เพี้ยนไป คือวัตถุดิบต่างๆ ที่มีให้ นอกจากไม่ส่งไม่ช่วยแล้ว ยังจะป่วยจนนักแสดงต้องอาศัยเชิงมวยมาคอยเยียวยาแก้ปัญหา จนนับเป็น ‘วาสนา’ ของแผลเก่า เดอะมิวสิคัลอย่างมากมาย ที่ได้นักแสดงทั้งหญิงและชายคู่นี้มาช่วยตีเนียน จนคนดูอาจไม่เห็นความผิดเพี้ยนอะไรต่างๆ ได้อย่างชัดเจนนัก
เนื้อร้องอาจมีหลุดฉันทลักษณ์จนไม่เข้าปากและจดจำได้ยาก หากพวกเขาก็ทำให้มันฟังดูเข้าท่าด้วยความศรัทธาที่มีอยู่ต่อทุกบทเพลง ท่วงทำนองบรรเลงอาจจูงอารมณ์เรื่องไปยังทิศทางใหม่ และทั้งคู่ก็ใช้สมาธิจดจ่อกับอารมณ์ภายใน จนเรารู้สึกจับใจไปกับอาการคลั่งรักของพวกเขาได้จริงๆ ยิ่งเล่นก็ยิ่งทำให้เห็นว่า ข้อบกพร่องของทั้งเพลงและดนตรีที่ยังมี มันก็มิได้ขี้ริ้วขี้เหร่อะไรขนาดนั้น เรียกได้ว่าเป็นนักแสดงคู่ขวัญที่ช่วยกันพยุงให้ละครทั้งเรื่องรอดมาได้ ด้วยเสน่ห์และบุคลิกอันเฉิดฉายจนเราไม่อาจละสายตาไปได้เลย และที่ต้องเอ่ยชมอีกอย่าง ก็คือทั้งคู่สร้างลีลาการร้องที่ผิดแผกไปอย่างเห็นได้ชัดในแต่ละช่วงของเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะเมื่ออีเรียมกลายมาเป็น ‘โฉมยง’ สาวชาวเมือง เนื้อเสียงของเธอก็เหมือนเปลี่ยนเครื่องดนตรีเป็นชิ้นใหม่จนไม่เห็นถึงเค้ารอยเดิม
ในขณะที่นักแสดงรายอื่นๆ ก็พอจะช่วยกันเติมเต็มเนื้อเรื่องตามเนื้อหาในนิยายได้ จะมีก็แต่ฝั่งฝ่ายครอบครัวของยายเรียมที่พยายามจะเก๊กให้แข็งให้เหี้ยมจนหนักมือมากเกินไป ดูเป็นตัวประกอบในฝ่ายผู้ร้าย จนหาได้มีมิติอารมณ์ใดๆ อันจะชวนให้เชื่อได้สักนิด
ส่วนงานโปรดักชันโดยรวมๆ ก็ต้องถือว่าทำออกมาได้วิจิตร มีหลายฉากที่ออกแบบมาได้อย่างเกินคาดคิด ติดไฮโดรลิกพลิกหมุนเวทีตีวงกันอย่างชะเวิบชะวาบ เนรมิตบรรยากาศท้องทุ่งบางกะปิจนได้กลิ่นโคนสาบควาย โอบอุ้มท้องเรื่องทั้งหมดได้อย่างสบายตา ทว่าถึงแม้จะมีประดาเครื่องไม้เครื่องมือที่ถือว่าทันสมัยเหล่านี้กันอย่างไร Blocking หรือตำแหน่งนักแสดงบางฉากก็ดูแปร่งแปลกจนอดตงิดๆ ไม่ได้ อย่างในฉากร่วมสาบานต่อหน้าเจ้าพ่อไทร ทำไมไอ้ขวัญกับอีเรียมถึงได้นั่งเตรียมธูปพนมเทียน ณ ตำแหน่งที่ดูผิดเพี้ยนได้ขนาดนั้น หรือฉากที่สองบ่าวเกาะราวบันไดศาลาเจื้อยแจ้วเจรจาฉอเลาะเจ้านาย ตะละคนคือต้องบิดกายกันให้คนดูได้เห็นหน้า ทำท่าราวฤาษีดัดตน เพื่อทุกคนจะได้รายเรียงกันแบบหน้ากระดาน ก็ถ้าพื้นเวทีมันจะหมุนควงสว่านได้แบบนั้น ทำไมไม่เอามาใช้เพื่อมิให้เกิดความลักลั่น จะหมุนจะหันอย่างไรให้คนดูไม่ว่าจะฝั่งขวาหรือซ้ายเห็นได้เท่าๆ กัน มันจะได้มิต้องเป็นภาระหนักของเหล่านักแสดงที่แค่เล่นแค่ร้องนี่ก็ต้องแอบหอบลอบปาดเหงื่อกันแล้ว ยังจะต้องจัดแถววางระเบียบร่างกายให้เข้าแพตเทิร์นการ Blocking กันอีกต่างหาก
แผลเก่า เดอะมิวสิคัลจึงเป็นการรับมือกับท่ายากของการสร้างละครเพลงที่อยากจะให้กำลังใจค่าย DreamBox ว่า ถึงแม้เส้นทางมันจะแสนยาวไกล แต่แค่นี้ก็ต้องถือว่าผ่านอะไรๆ มาแล้วมากมาย เพียงแต่ยังจะต้องขวนขวายฝึกฝีไม้ลายมือให้ได้ชื่อว่าเป็น ‘มืออาชีพ’ ตัวจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉันทลักษณ์กานท์กลอนในการประพันธ์เนื้อร้องที่จะปล่อยให้มี ‘มลทินมัวหมอง’ ใดๆ มิได้ และควรตั้งใจพิสูจน์ฝีมือโดยยึดถือตำรับแบบแผนให้แม่นยำเสียก่อนที่จะอุตริทะลึ่งไป ‘ทดลอง’ เล่นของกับองค์ประกอบใดๆ เพราะก่อนจะ ‘เล่น’ คุณจะต้องเข้าใจขนบครรลองของมันกันเป็นด่านแรก จากนั้นจะ ‘แหก’ จะ ‘พลิก’ จะ ‘ตุกติก’ อะไรก็ค่อยว่ากันใหม่ ทว่าตอนนี้เอาให้ทุกอย่างอยู่ในระดับ ‘พอใช้’ ให้ได้เสียก่อน!
Tags: ละครเวที, Dreambox, Screen and Sound, แผลเก่า เดอะมิวสิคัล, แผลเก่า