อาจกล่าวได้ว่าความ ‘ห่วย’ ของโนบิตะ คือมุขตลกที่ต่อเนื่องและกลายเป็นองค์ประกอบของตัวละครหลักที่ถูกนำมาต่อยอดเป็นพล็อตของแต่ละตอนบ่อยที่สุด ในแอนิเมชันซีรีส์สำหรับเด็กเรื่องโดราเอมอน (Doraemon)

หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า หากโนบิตะถูกเลี้ยงดูโดยผู้ปกครองที่เข้าอกเข้าใจเขามากกว่านี้ หรือถ้าหากเขาเกิดจับพลัดจับผลูไปสนิทสนมกับเพื่อนร่วมห้องที่อ่อนโยนและมีความเป็นผู้นำอย่างเดคิซึงิ แทนที่จะเป็นหัวโจกอันธพาลอย่างไจแอนท์ หรือจอมเจ้าเล่ห์อย่างซึเนโอะ โนบิตะอาจไม่ได้โตมาเป็นเด็กที่อ่อนด๋อย เกียจคร้าน และขี้อิจฉาอย่างที่เรารู้จัก

แต่ก็เพราะตัวตนที่แสนห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบนี่แหละ โนบิตะจึงเป็นที่รักของผู้ชมทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ นอกเหนือจากเนื้อเรื่องและวิธีการนำเสนอที่สนุกสนาน น่าสนใจ และให้แง่คิดแล้ว จุดขายที่สำคัญที่สุดของโดราเอมอน คือความพยายามของโนบิตะในการที่จะเอาชนะความไม่เอาไหนของตัวเองด้วยเทคโนโลยีจากโลกอนาคต ทั้งในทางที่ถูกและผิด

‘อนาคตอุดมคติ’ ที่สังคมญี่ปุ่นวาดฝันไว้ในยุคโชวะ

ยุคโชวะเริ่มต้นขึ้นในปี 1926 หลังสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะขึ้นครองราชย์ แม้ในตอนนั้นญี่ปุ่นจะเริ่มผลิตแอนิเมชันยุคเริ่มต้นไปบ้างแล้ว แต่ผลงานเหล่านั้นถูกมองว่า ‘ดิบ’ และ ‘ด้อยพัฒนา’ เกินกว่าจะถูกเรียกว่า ‘อนิเมะ’

คำว่า ‘อนิเมะยุคโชวะ’ ที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ จึงหมายถึงอนิเมะยุคหลังจากที่ญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวจากความเสียหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังตื่นเต้นกับการมาถึงของเครื่องใช้ไฟฟ้าอำนวยความสะดวก รถยนต์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่

คนญี่ปุ่นในช่วงครึ่งหลังของยุคโชวะ จึงฝันหวานถึงอนาคตสดใสที่จะมาถึงพร้อมกับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็กังวลถึงผลกระทบที่จะตามมาจากความก้าวหน้าที่ ‘มากเกินไป’ ด้วยเช่นกัน โดยความกังวลเหล่านี้ถูกบอกเล่าผ่านงานแนวไซไฟเกี่ยวกับหุ่นยนต์ยักษ์ หรือเครื่องจักรที่วิวัฒนาการจนฉลาดพอจะยึดครองโลก

ซึ่งโดราเอมอนก็เป็นเช่นนั้น อนิเมะซีรีส์และภาพยนตร์ชุดแฟรนไชส์นี้ ถูกตีความทั้งโดยคนในและคนนอกวงวิชาการว่า เป็นต้นแบบสำคัญของภาพอนาคตแบบอุดมคติ เป็นจักรวาลสมมติที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งจะนำมาซึ่งทรัพยากรและความสะดวกสบาย ที่มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่รู้จบ โดยสะท้อนให้เห็นผ่านสารพัดของวิเศษจากกระเป๋าของโดราเอมอน

อย่างไรก็ดี ในโดราเอมอนทุกเวอร์ชัน ภาพอนาคตที่ว่านั้นกลับนำเสนออยู่เคียงคู่กับภาพอดีตที่ขัดแย้งกันอยู่เสมอ ผ่านครอบครัว ละแวกบ้าน และสังคมที่ถูกแช่แข็งเอาไว้ในชานเมืองโตเกียวยุค 60s โดราเอมอนจึงเป็นผลงานที่ไม่เพียงเฉลิมฉลองการมาถึงของอนาคตเท่านั้น แต่ยังเชิดชูค่านิยมบางอย่างในอดีตไปพร้อมกัน

เพราะหากมองข้ามเรื่องเทคโนโลยีจากโลกอนาคต สุดท้ายแล้วโนบิตะก็คงเป็นเบบี้บูมเมอร์ที่ยึดถือชุดคุณค่าที่แตกต่างจากเรามากพอสมควร และที่สำคัญคือสิ่งเหล่านี้ก็ยังคงปรากฏให้เห็นในเดอะมูฟวี่ภาคใหม่ๆ ผ่านทัศนคติเกี่ยวกับบทบาททางเพศและสถาบันครอบครัวของโนบิตะและเพื่อนๆ ที่ซ่อนอยู่ในฉากหลัง

‘โนบิตะ’ เด็กชายไม่เอาไหนที่ครองใจผู้ชมทั่วโลก

เอกลักษณ์ของตัวละคร โนบิ โนบิตะ ที่ทำให้เขาโดดเด่นท่ามกลางบรรดาพระเอกอนิเมะยุคโชวะ ‘คนพิเศษ’ ‘อัจฉริยะ’ และ ‘ผู้ถูกเลือก’ ทั้งหลายแหล่ ก็คือความธรรมดาสามัญที่มีชื่อเรียกว่า ‘ความไม่เอาไหน’ นี่แหละ

เป็นที่รู้กันว่าโนบิตะเรียนไม่เก่ง แถมยังแทบไม่มีข้อได้เปรียบที่จะทำให้เป็นที่ชื่นชอบในหมู่เพื่อนๆ เลยสักข้อ ต่างจากไจแอนท์ที่แม้จะเรียนแย่พอกันแต่ก็ยังเก่งกีฬา หรือซึเนโอะที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย

หากเป็นการ์ตูนเด็กเรื่องอื่นๆ คงเขียนให้เขามีจุดเด่นตรงนิสัยใจคอที่ชดเชยความสามารถที่ขาดไป อย่างความใฝ่รู้ มุมานะ และขยันขันแข็ง แต่โนบิตะกลับมีนิสัยเกียจคร้าน เอาแต่ใจ แถมยังขี้อิจฉาเป็นที่หนึ่ง

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เนื้อเรื่องของโดราเอมอนกลับไม่ได้เขียนมาเพื่อ ‘ทุบตี’ ลงโทษโนบิตะให้หลาบจำ เพื่อให้ผู้ชมเรียนรู้จากโนบิตะในฐานะตัวอย่างที่ไม่ดีเสมอไป

กระทั่งบางตอนที่โนบิตะยืมของวิเศษไปใช้ในทางที่ผิดแล้ว ของวิเศษของโดราเอมอนยังถูกนำไปใช้เพื่อเติมสีสัน ความสุข และความสนุกสนานตามความชื่นชอบส่วนตัวด้วย ซึ่งขัดแย้งกับค่านิยมการศึกษาอันเข้มงวดในยุคที่การ์ตูนเรื่องนี้ถูกวาดขึ้น

ด้านสถาบันครอบครัวก็เช่นกัน นอกเหนือจากบทบาทผู้ปกครองตามค่านิยมเดิมที่จะต้องสั่งสอน เคี่ยวเข็ญ ดุด่า บังคับ และคาดหวังความสำเร็จจากลูกๆ ที่เราได้เห็นในตัวละคร โนบิ ทามาโกะ (แม่ของโนบิตะ) เรายังได้เห็นบทบาทผู้ปกครองอีกแบบที่คอยสนับสนุน ตักเตือน โน้มน้าว ร้องไห้เคียงข้างไปด้วยเมื่อโนบิตะเป็นทุกข์ โดยไม่คาดหวังสิ่งใดตอบแทน ผ่านตัวละครหุ่นยนต์อย่างโดราเอมอน

หลายคนที่อ่านมาถึงท่อนนี้อาจจะรู้สึกว่า แล้วอย่างไรล่ะ? เพราะบทเรียนต่างๆ ที่ว่ามานั้นช่างล้าสมัย เป็นข้อคิดเกร่อๆ ชนิดที่ว่าใครๆ ก็ต้องเคยได้ยิน ทำให้รู้สึกราวกับว่าโดราเอมอนนั้นไม่ได้นำเสนออะไรใหม่ๆ เลย

แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ใช่ไหมว่า กลุ่มคนที่รู้สึกถึงคุณค่าทางใจและผูกพันกับโดราเอมอนมากที่สุด อาจไม่ใช่เด็กที่โตมาในยุคสมัยที่ค่านิยมเริ่มผ่อนปรนลงบ้างแล้ว แต่เป็นเด็กที่ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยแทบไม่มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตเยาว์วัยอย่างสนุกสนานอย่างโนบิตะ

เป็นกลุ่มเด็กที่ลึกๆ แล้วก็เกียจคร้าน เอาแต่ใจ และขี้อิจฉาไม่ต่างจากโนบิตะ แต่ไม่มีใครเข้าใจ

เป็นเด็กไม่เอาไหนที่อยากเป็นความภาคภูมิใจของใครสักคน เหมือนที่โดราเอมอนภูมิใจในตัวโนบิตะอยู่เสมอ ไม่ว่าโนบิตะจะห่วยแค่ไหนก็ตาม

อ้างอิง

Benson, A. “The utopia of suburbia: the unchanging past and limitless future in Doraemon” Japan Forum, Vol. 27, No. 2, pp. 235-256. Routledge, 2015.

Fujita, J. (2020). “Showa Economic Miracle Still Affects Anime Today” OTAQUEST. https://www.otaquest.com/showa-miracle-still-affects-anime/

Tags: , , , , , ,