ช่วงระยะเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ปีนี้ เราได้เห็นผลงานของ แคลร์ มาธ็อง ผู้กำกับภาพชาวฝรั่งเศสในเวลาไล่เลี่ยกันถึงสองเรื่องคือ Petite Maman (2021) งานลำดับล่าสุดของ เซลีน เซียมมา เล่าเรื่องเด็กหญิงวัยแปดขวบที่วันหนึ่งพบว่าแม่ของเธอหายตัวไป พร้อมกับที่มีเด็กผู้หญิงอีกคนหนึ่งปรากฏตัวขึ้นมาแทน และอีกเรื่องคือ Spencer (2021) จับจ้องไปยังช่วงหกปีก่อนประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตของ ไดอานา เจ้าหญิงผู้เป็นที่รักแห่งราชวงศ์อังกฤษ กำกับโดย ปาโบล ลาร์เรน คนทำหนังชาวชิลี
Petite Maman ไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่มาธ็องได้ร่วมงานกับเซียมมา หากกล่าวกันอย่างรวบรัด งานที่ส่งให้มาธ็องมีชื่อเสียงและคว้ารางวัลทั้งในและนอกบ้านเกิดเป็นว่าเล่นคือ Portrait of a Lady on Fire (2019) หนังยาวลำดับที่สี่ของเซียมมา เล่าเรื่องของ มาเรียนเน (เนโอมี เมอร์ล็องต์) จิตรกรหญิงในศตวรรษที่ 18 ซึ่งถูกว่าจ้างให้ไปวาดภาพเหมือนเพื่อส่งไปเป็นภาพดูตัวแต่งงานของ เอลูอิส (อาเดล แอเนล) บนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งของฝรั่งเศส เพียงแต่เอลูอิสนั้นต่อต้านการวาดภาพนี้ มาเรียนเนจึงต้องแอบมองใบหน้า ท่วงท่าและความเป็นเอลูอิสทุกระเบียดนิ้วเพื่อจำไปวาดภาพอย่างลับๆ ในห้อง เพียงแต่ยิ่งเวลาไหลผ่านไปเท่าไหร่ ทั้งสองกลับยิ่งพบว่ามีบางอย่างงอกงามขึ้นมาระหว่างการจับจ้องนั้น
สิ่งที่ทำให้งานภาพของมาธ็องได้รับคำชื่นชมอย่างหนาหูจาก Portrait of a Lady on Fire คือการที่มัน ‘จ้องมอง’ ไปยังตัวละครโดยปราศจาก Male Gaze หรือการใช้สายตาเล้าโลม มองตัวละครเป็นเพียงวัตถุบนจอเท่านั้น ทั้งยังแนบเนียนไปกับวิธีที่ตัวละครมาเรียนเน ‘มอง’ เอลูอิสอย่างพินิจพิเคราะห์ วาบหวามและเปี่ยมไปด้วยความรักอย่างมากด้วย โดยทั้งเซียมมา, มาธ็องและ เอเลอเน เดลแมร์ จิตรกรหญิงที่เป็นผู้วาดภาพตัวละครในเรื่อง ออกสำรวจแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ทั่วทั้งฝรั่งเศสเพื่อนำมาใช้เป็นแหล่งอ้างอิงของงานภาพว่าควรออกมาในทิศทางใด
“เราไปเดินดูพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์กับพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ด้วยกัน เพื่อหาว่างานภาพของมาเรียนเนนั้นควรออกมาเป็นแบบไหน แล้วค่อยพัฒนาทิศทางของหนังจากตรงนั้น เราอยากให้เอเลอเน เดลแมร์ จิตรกรร่วมสมัยที่อายุเท่ากับมาเรียนเน วาดด้วยสไตล์และฝีแปรงของเธอเอง แต่พร้อมกันนั้นก็ต้องเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแบบยุคศตวรรษที่ 18 ด้วย” มาธ็องเล่า “และหนึ่งในจิตรกรที่เราใช้เป็นต้นแบบคือ ฌ็อง-บาติสต์-กามีย์ กอโร ซึ่งมีงานนิทรรศการเกี่ยวกับเขาในช่วงที่เรากำลังเตรียมทำหนังพอดี กอโรเป็นจิตรกรในศตวรรษที่ 19 และเป็นที่รู้จักจากงานภาพแลนด์สเคป แต่เขาก็มีงานที่เป็นส่วนตัวเอามากๆ อย่างการวาดภาพพอร์เทรตด้วยเหมือนกัน และงานของเขาก็ถ่ายทอดความลึกซึ้ง อ่อนไหว ในแบบที่เซลีนกับฉันมีเหมือนกัน
“นอกจากนี้ เรายังดูงานวาดของ ฌัก-หลุยส์ ดาวีด (จิตรกรชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17) ซึ่งเต็มไปด้วยความละเมียด หลงใหลไปกับงานที่ดูทันสมัยและเล่นกับพื้นที่ว่างขึ้นมาหน่อยอย่างงานของ ฌ็อง-บาติสต์-ซีเมอง ชาร์แด็ง (จิตรกรชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18) การได้เห็นงานวาดเหล่านี้ด้วยตาตัวเองทำให้เราตระหนักถึงความละเอียดอ่อนบางอย่างในงานเหล่านั้น เช่น พื้นผิว หรือวิธีที่พวกเขาใช้จบงาน ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจในการแต่งแต้มภาพวาดของเรามาก”
หากแต่นั่นก็ไม่ใช่โจทย์เดียวที่มาธ็องต้องเผชิญ เธอกับเซียมมาถกเถียงกันเรื่อง ‘สายตา’ ของกล้องกันนานหลายสัปดาห์ เพราะเซียมมานั้นเข้าใจดีทีเดียวว่า แม้ผู้กำกับหนังและผู้กำกับภาพจะเป็นผู้หญิง แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ผลิตซ้ำสายตาแบบ Male Gaze ขึ้นมา ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม “เพราะเราถูกสอนมาแบบนั้น เรียนมาแบบนั้น” เซียมมาสาธยาย “ดังนั้นฉันจึงต้องระมัดระวังให้มากๆ”
อย่างไรก็ดี แกนหลักที่มาธ็องยึดถือไว้ตลอดระยะเวลาที่ถ่ายทำหนังคือสายตาและการจับจ้องไปยังตัวละครหลักทั้งสองบนเกาะอันโดดเดี่ยว “เราต้องถ่ายทอดความปรารถนาอันแรงกล้าของทั้งคู่บนจอให้ได้” เธอว่า “เราถ่ายทำอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า กล้องได้กลายเป็นมนุษย์ซึ่งคอยสังเกตการณ์อยู่ และขยับเคลื่อนไหวไปตามท่วงทำนองของนักแสดง”
“มันมีฉากที่ตัวละครทั้งสองยืนอยู่ริมผาแล้วลอบมองใบหน้ากันและกัน เซลีนเป็นคนแรกที่คิดฉากนี้ คล้ายๆ ว่ามันเป็นภาพในใจที่มาเรียนเนมีต่อเอลูอิสตลอดหนังทั้งเรื่อง และเราคิดกันว่างานที่จับจ้องไปยังความละเอียดอ่อนของใบหน้าผู้หญิงนั้นมีรากฐานมาจากงานภาพยนตร์ของเบิร์กแมน (อิงมาร์ เบิร์กแมน คนทำหนังชาวสวีเดน) ซึ่งเก่งกาจในการจับภาพผู้หญิงและความผูกพันของพวกหล่อนเหลือเกิน”
ทั้งนี้ แม้จะเพิ่งร่วมงานกับเซียมมาเป็นครั้งแรกใน Portrait of a Lady on Fire แต่ทั้งสองก็เคยเจอกันมาก่อนแล้วจาก Tomboy (2011) หนังยาวเรื่องที่สองของเซียมมา เพียงแต่จังหวะและเวลาที่เหลื่อมกันจนทำให้ทั้งสองได้มาร่วมงานกันครั้งแรกก็อีกหลายปีให้หลัง ก่อนหน้านั้น มาธ็องขึ้นชื่อเรื่องการเป็นคนกำกับภาพหนังสารคดีมือต้นๆ ของฝรั่งเศส เธอเป็นที่รู้จักจาก Le chemin noir (2010), Sheoeyin Kenna (2010) และการถ่ายทำหนังสารคดีมาก่อนนี่เองที่ทำให้เธอเชี่ยวชาญการใช้แสงธรรมชาติในหนังยาวด้วย ซึ่งปรากฏชัดในหลายๆ ฉากของ Portrait of a Lady on Fire เช่นเดียวกับ Petite Maman หนังลำดับล่าสุดของเซียมมา
Petite Maman ต่างไปจากเรื่องก่อนของเซียมมาอย่างสุดขั้ว เพราะมันเล่าเรื่องของเด็กหญิงสองคนในโลกส่วนตัวที่แทบไม่มีผู้ใหญ่มาข้องเกี่ยว (อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเอกลักษณ์หนังของเซียมมาคือ ตัวละครหญิงนั้นมักจะได้ไปใช้เวลาด้วยกันในพื้นที่เล็กๆ อันเป็นส่วนตัวเสมอ) ยังผลให้มาธ็องต้องหาแหล่งอ้างอิงที่จะถ่ายภาพให้มีบรรยากาศของความเป็นเด็ก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีกลิ่นอายของความเข้มข้น เป็นผู้ใหญ่ด้วย “เซียมมามาคุยเรื่องความรู้สึกบางอย่างของหนัง อย่างพวกสีของฤดูใบไม้ร่วง หรือเรื่องในวัยเด็กของเธอ และอยากให้หนังมันเล่าเรื่อง ‘การเดินทางผ่านช่วงเวลา’ เธออยากให้มันเป็นหนังที่เรียบง่ายและเปี่ยมมนตร์สะกด” มาธ็องเล่า “และเธอก็ไม่ได้อยากให้หนังมันระบุช่วงเวลาใดๆ ได้ อยากลบสิ่งที่สะท้อนบอกยุคสมัยต่างๆ ออก เพราะแกนหลักของเรื่องคือการจับจ้องไปยังสิ่งที่ตัวละครสองตัวแบ่งปันต่อกันมากกว่าจะทำให้ทั้งสองดูแตกต่างกัน”
“เราอ้างอิงจากคนทำอนิเมะชาวญี่ปุ่น ฮายาโอะ มิยาซากิ กับ มามูรุ โฮโซดะ เยอะมากเลยค่ะ แน่นอนว่ามันไม่ได้เหมือนการทำหนังแอนิเมชันเลยเสียทีเดียวหรอก แต่เราก็ได้รับแรงบันดาลใจจากงานวิช่วลและวิธีที่พวกเขาเล่าเรื่องที่ทั้งมหัศจรรย์และเรียบง่าย รวมทั้งงานภาพสไตล์ La Ligne Claire (ภาพการ์ตูนที่เน้นความเรียบง่าย) ไม่ว่าจะการใช้สี ฉากหลังที่ดูสมจริง แต่ยังคงเน้นความเรียบง่ายผ่านตัวการ์ตูนเป็นหลัก” เธอบอก “ส่วนอื่นๆ นั้นเราก็อ้างอิงมาจากชีวิตส่วนตัวของเซลีน ไม่ว่าจะอพาร์ตเมนต์ของคุณยาย และโดยเฉพาะกับงานผิว งานสีต่างๆ ของวอลเปเปอร์และพรม ฉันเองก็ตื่นตาตื่นใจกับการได้เล่นแสงธรรมชาติจากมุมต่างๆ ของบ้านมากเลย”
และกับหนังของลาร์เรน Spencer ที่จับจ้องไปยังชีวิตของ ไดอานา (คริสเทน สจวร์ต) ช่วงเวลาสามวันของเทศกาลคริสต์มาสที่เธอต้องกลับไปใช้ชีวิตในพระราชวังร่วมกันกับคนในราชวงศ์อังกฤษ กับความตึงเครียดและอึดอัดจากการถูกจับจ้องทั้งจากคนในบ้าน ข้าราชบริพาร รวมทั้งสื่อมวลชนผู้โหยหาเรื่องฉาวโฉ่จากวัง และผู้ที่คอยประคองไม่ให้เธอเสียสติไปก่อนคือลูกทั้งสอง เจ้าชายวิลเลียมกับเจ้าชายแฮร์รี รวมทั้ง แม็กกี (แซลลี ฮอว์กินส์ ผู้ปรากฏตัวไม่มากนักแต่สร้างแรงสะเทือนได้อย่างน่าฉงน) ข้ารับใช้ผู้เข้าอกเข้าใจเธออย่างที่สุด
ตามประสาหนังลาร์เรน ตัวละครหลักนั้นถูกจับจ้องอย่างใกล้ชิดเสียจนเราแทบจะเห็นมัดกล้ามเนื้อบนใบหน้าของสจวร์ตในทุกห้วงอารมณ์ ไม่ว่าจะแตกสลาย ยินดี หรือปีติสุข และคนที่รับหน้าที่ถ่ายทอดการแสดงอันเดือดพล่านของสจวร์ตไว้คือมาธ็องนี่เอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ง่ายเลย
“ฉันชอบความลึกลับดำมืดบางอย่างที่แทรกซึมอยู่ในสคริปต์นะ เหมือนเป็นอีกด้านของไดอานา ที่มีทั้งความอ่อนไหวและภาพในจินตนาการบางอย่างที่ทำให้ฉันอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในจักรวาลของปาโบล” มาธ็องกล่าว “แรกๆ ที่เราคุยกัน เราคุยกันยาวเหยียดว่าควรจะจับภาพคริสเทน ซึ่งรับบทเป็นไดอานาจากระยะไกลและสูง รวมทั้งแง่ที่ว่าควรจะเคลื่อนกล้องอย่างไรด้วย แต่ปาโบลนั้นอยากให้กล้องใกล้ชิดกับตัวละครมากๆ เพื่อสร้างความใกล้ชิด พร้อมกันนี้ก็ต้องควานหาแรงขับบางอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่มันคือความกระวนกระวายของตัวละครในงานภาพด้วย ดังนั้นการเคลื่อนกล้องจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของภาษาภาพยนตร์แบบปาโบล และถูกหยิบมาใช้ในหนังเรื่องนี้ค่ะ”
และไม่เพียงแต่ ‘ใบหน้า’ ของนักแสดงเท่านั้นที่มาธ็องฉวยไว้ได้ หากแต่เป็นการเคลื่อนไหว ท่วงท่าบางอย่างของตัวละคร สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นอย่างมากใน Spencer คืองานเคลื่อนกล้องที่ร่ายรำไปพร้อมกันกับตัวละคร ทั้งฉากที่ไดอานาสติแตกในห้องโถง หรือเมื่อเธอกระโดดโลดเต้นกับลูกๆ อย่างเปี่ยมสุข ไล่เรื่อยมาจนเมื่อเธอไปเดินผ่อนคลายที่ชายหาด ทุกห้วงขณะนั้นมาธ็องถ่ายทำโดยราวกับเธอกำลังร่ายรำไปพร้อมกันกับนักแสดง
“มันเหมือนเป็นมิวสิคัลเลย เกือบจะพูดได้ว่าเป็นการเต้นแล้ว เราใช้กล้องสเตดิแคม, ดอลลี่ และถ่ายทำฉากเหล่านี้ในระดับไหล่ เพื่อสร้างท่วงทำนอง ความตึงเครียด และความใกล้ชิดในระดับที่แตกต่างกันไปกับไดอานา” เธอบอก “ฉันสุขใจกับการได้จับภาพลมหายใจของตัวละคร ได้เป็นหนึ่งเดียวกันคริสเทนและตัวละครของเธอ”
“มีหลายครั้งทีเดียวที่ฉันรู้สึกราวกับเกือบได้สัมผัสตัวเธอแล้ว ฉันรับรู้ถึงลมหายใจของเธอขณะจับจ้องทุกห้วงขณะ ทุกห้วงที่เธอรู้สึกและทุกขณะที่เธอเคลื่อนไหว”
และระหว่างที่ Spencer เดินหน้าเข้าฉายในโรงภาพยนตร์หลายๆ ประเทศ กระแสชื่นชมต่อตัวหนังทั้งในเชิงการกำกับ งานแสดง งานออกแบบรวมทั้งงานกำกับภาพก็เริ่มกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ จนนักวิจารณ์หลายคนออกแนวฉงนที่ตัวหนังได้ชิงรางวัลใหญ่ๆ น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่อย่างไรก็ดี ตัวมาธ็องเองก็เดินหน้าแสวงหาความท้าทายในงานอื่นๆ โดยล่าสุดนั้น เธอกำกับภาพ A Flower in the Mouth (2022) หนังร่วมทุนสร้างสองสัญชาติ (ฝรั่งเศส-เยอรมนี) ของ อีริก โบเดอแลร์ ที่ตัวหนังแบ่งออกเป็นสองส่วนคือสารคดีและเรื่องแต่ง ซึ่งน่าจับตาทีเดียว เพราะนั่นหมายถึงตัวมาธ็องจะได้หวนกลับไปกำกับภาพแบบหนังสารคดีที่เธอถนัดอีกครั้ง หลังห่างหายจากงานแนวนี้มาตั้งแต่ Un Film Dramatique (2019) นั่นเอง
Tags: Portrait of a Lady on Fire, Screen and Sound, Spencer, Male gaze