ภาพของ จอร์จ คลูนีย์ มองตรงมาให้กล้อง ถือจักรยานด้วยมือสองข้างในเสื้อเชิ้ตสีดำและกางเกงยีนธรรมดา, ริซ อาห์เมด นั่งพิงพนักเก้าอี้หน้าต้นไม้ใหญ่, ลาคีธ สแตนฟิลด์ ยืนเท้าคางตามองกล้อง, สตีเฟน ยอน กับสีหน้าประหลาดบนเก้าอี้พับหน้ารถสีตุ่นๆ ทั้งหมดนี้มีจุดร่วมเหมือนกันคือมันถ่ายนอกสตูดิโอ และแทบไม่ผ่านการจัดแสง ซึ่งเป็นหน้าปกนิตยสาร W ฉบับ ‘Best Performances‘ ประจำปี 2021 และถ่ายโดยช่างภาพคนเดียวกันทั้งหมดคือ เยอร์เกน เทลเลอร์ อาห์เม็ดบอกว่า “นี่เป็นการถ่ายแบบที่เร็วที่สุดในชีวิตผมละ 20 วินาที ลั่นชัตเตอร์ไปสองครั้ง คุณมันคนจริง เยอร์เกน เทลเลอร์”

Image source: W Magazine (Feb, 2021)

พร้อมกันนั้น ความดิบสุดขีดจนดูเหมือนจะหลุดจากกรอบความเป็นงานภาพแฟชั่น ก็ทำให้หลายคนที่ตามดูอยู่ออกปากว่า “ถ่ายแบบนี้ใครก็ถ่ายได้!” หรือ “ใช้เครื่องคิดเลขถ่ายเหรอถึงได้ออกมาแบบนี้” แถมยังมีคนตามไปดูงานถ่ายภาพแฟชั่นยุคเก่าๆ ของเขาและพบว่า “งานของอีตานี่ช่างเป็นอาชญากรรมต่อวงการภาพแฟชั่นซะจริง” เพราะเขานี่แหละที่จับเอา ฆาเบียร์ บาเด็ม มายืนอยู่ในผ้าห่มสีเทาแล้วลั่นชัตเตอร์, เบน แอฟเฟล็ก กับเสื้อลายตารางยืนกางแขนเหมือนไม่ทันตั้งตัว (แต่มองกล้องนะ) หรือยอดนักบาสเก็ตบอล รัสเซลล์ เวสต์บรูก ยังถูกจับมายืนเปลือยท่อนบนอยู่กลางทุ่ง ขณะเดียวกัน ก็เป็นนายคนนี้อีกที่ลั่นภาพปกอัลบั้ม Let’s Get to It ของนักร้องสาว ไคลี มิโนก ตลอดจนแบรนด์แฟชั่นหัวใหญ่ๆ อย่าง Valentino, Louis Vuitton, Yves Saint Laurent ฯลฯ ต่างก็เคยเรียกใช้บริการเทลเลอร์ทั้งนั้น

ความดิบสด แสงเงาแห้งๆ และฉากหลังรกๆ นั้นเป็นเอกลักษณ์ของเทลเลอร์มานับตั้งแต่ที่เขาเริ่มทำงานเป็นช่างภาพ เขาเป็นคนเยอรมันโดยกำเนิด เข้าเรียนด้านการถ่ายภาพในมิวนิกและหาทางย้ายมาอยู่ลอนดอน ประเทศอังกฤษตอนอายุครบ 22 ปี เพื่อจะไม่ต้องเข้าร่วมกองทัพในบ้านเกิด เริ่มต้นถ่ายงานเล็กๆ น้อยๆ ที่สุดท้ายแล้วไปเตะตาแบรนด์ใหญ่ๆ เข้า จนในอีกไม่กี่ปีต่อมา ชื่อของเขาก็กลายเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมแฟชั่นในโลกตะวันตกอย่างปฏิเสธไม่ได้ งานชิ้นเอกของเขาคือภาพถ่ายนางแบบดังยุคเก้าศูนย์ เคต มอส กับผมสีแดงเพลิงบนผืนผ้าสีขาวสว่าง สาดแสงแฟลชบาดตา ตลอดจนในอิริยาบถต่างๆ ทั้งยืนตรงมองมายังกล้องเฉยๆ แปรงผม และสูบซิการ์มวนโต, นักร้องสาว บียอร์กกับเส้นสปาเก็ตตีสีดำและฉากหลังสีขาว หรือภาพขาวดำของ เคิร์ต โคเบน ก้มหน้าเล่นกีตาร์ซ้ายตัวเก่ง ปล่อยเรือนผมหล่นลงมาปรกใบหน้า

“ผมเริ่มถ่ายภาพครั้งแรกก็ตอนอายุ 18 ตอนนั้นผมแค่หยิบกล้องขึ้นมา มองลอดไอ้รูสี่เหลี่ยมเล็กๆ นั่นแล้วก็คิดว่าผม ‘เห็น’ อะไรบางอย่างผ่านเลนส์นั่นจริงๆ นะ ไอ้รูเหลี่ยมๆ นั่นช่วยให้ผมมองอะไรได้เยอะเลย” เขาบอก “ตอนนั้นแหละที่เริ่มคิดว่า ‘อยากเป็นช่างภาพจัง’ “

เขาเริ่มได้รับการจดจำในแง่พระบิดาแห่งความเซอร์เรียลไร้ขีดจำกัดก็ตอนปี 1996 สมัยที่ถ่ายภาพเปลือยอกของนางแบบ คริสเต็น แม็กเมนามี กับคำว่า Versace พาดกลางอกในนิตยสาร Süddeutsche Zeitung แต่นั่นยังไม่ชวนช็อกเท่าภาพอื่นๆ ในชุดนี้ที่เขาถ่ายเรือนร่างของแม็กเมนามีแบบ ‘ทุกซอกทุกมุม’ ทั้งภาพที่เธอนอนเปลือยอกในอ่างน้ำ, ยืนเปลือยท่อนล่างขณะสวมบราลูกไม้สีชมพู ตลอดจนรูก้นที่เขาสาดแฟลชใส่ไม่ยั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ปราศจากความวาบหวิวใดๆ มีเพียงแค่ความดิบอันยากจะอธิบายเท่านั้น

“ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องเปลือยหรืออะไรต่อมิอะไรในงานผมมากนักหรอก ผมเคยถ่ายภาพ มัลโกเชีย บีลา (นางแบบชาวโปแลนด์) นอนแก้ผ้าบนโซฟาของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ มาแล้วนะ แล้วผมก็แค่สนใจอยากสำรวจและไม่ได้มานั่งคิดหรอกว่า ‘ตายละ สังคมจะมองยังไงนะนี่’ หรืออะไรทั้งนั้น มัลโกเชียอายุ 35 แล้วนะ นอกจากนั้นผมก็เคยถ่ายภาพเปลือยของคริสเต็น แม็กเมนามี ซึ่งเธอก็อายุ 45 แล้ว” เทลเลอร์ว่า นั่นรวมไปถึงงานภาพถ่ายของเขากับชาร์ล็อตต์ แรมป์ลิง ที่นอนเปลือยกอดก่ายกันอยู่บนเตียง ตลอดจนภาพแรมป์ลิงนั่งอยู่หน้าเปียโน มีเทลเลอร์นอนหงาย กอดเข่าตัวเอง แล้วหันรูก้นตัวเองเข้าหากล้อง “ชาร์ล็อต แรมป์ลิงนี่ก็เข้าวัย 60 ได้แล้วมั้ง” เขาบอกอย่างไม่ยี่หระ “ผมเลยคิดว่ามันไม่ผิดอะไร แล้วอีกอย่างนะ สำหรับผมซึ่งเป็นคนเยอรมัน การแก้ผ้านี่เป็นเรื่องปกติมาก ตอนผมถ่ายรูปตัวเองนี่ก็แทบไม่ได้ใส่เสื้อผ้าหรืออะไรเลยนะ เราเกิดมาเปลือยกันทุกคนแหละ อีกอย่างผมชอบรูปร่างกับสีผิวของเนื้อหนังมนุษย์เราด้วย

“ผมชอบเรือนร่างของคน ชอบมัดกล้ามเนื้อ หรือจะไม่มีกล้ามใดๆ เลยก็ได้ จะอ้วนจะผอม ผมว่ามันสวยงามทั้งนั้น”

ความดิบในงานของเทลเลอร์นั้นปรากฏทั้งในภาพที่เขาถ่ายคนอื่น และภาพที่เขาถ่ายตัวเองด้วย เยอร์เกนเคยจัดแสดงนิทรรศการ The Quick and the Dead ที่เขาใช้สำรวจบาดแผลของตัวเองตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ ด้วยการแบกกล้องไปถ่ายแม่และสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว และไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เขาพบว่ามันกลายเป็นการบำบัดบาดแผลของตัวเองและคนอื่นๆ หลังแตกสลายจากโศกนาฏกรรมหลายปีก่อนเมื่อพ่อของเขาฆ่าตัวตายโดยปราศจากการร่ำลาใดๆ ในวัย 47 ปี “ผมได้ใกล้ชิดกับแม่ขึ้นก็เพราะงานนี้แหละ พ่อผมฆ่าตัวตายไปแล้ว” เขาเล่า และเพื่อสำรวจบาดแผลนี้ เขาจึงเปลือยกายทั้งตัว ยืนเหยียบลูกฟุตบอล กีฬาที่พ่อเขาเกลียดนักหนาต่อหน้าหลุมศพพ่อ มือข้างหนึ่งคีบบุหรี่ อีกข้างยกขวดเบียร์ขึ้นกระดก แน่นอนว่าหันหน้าให้กล้องอย่างโฉ่งฉ่าง 

“พ่อผมไม่ชอบฟุตบอล เพราะงั้นเราจึงไม่เคยดูบอลด้วยกันสักที ผมเลยไปได้ความสนใจด้านกีฬามาจากแม่แทนซึ่งทำให้พ่ออิจฉาแม่เข้าไปอีกเพราะผมดันสนิทกับแม่มากกว่าเขา จากนั้นในปี 1988 เขาก็ฆ่าตัวตายซะได้ สำหรับผม การถ่ายภาพนี้มันทำให้ผมเข้าใจว่าตอนนั้นพ่อฆ่าตัวตายทำไม แถมยังรู้ตัวด้วยว่าตัวเองก็มีปัญหาการติดบุหรี่กับแอลกอฮอล์เหมือนกันกับเขานั่นแหละ” เขาบอก “พอทำแบบนี้มันก็ช่วยรื้อฟื้นบทสนทนาเก่าๆ และทำให้เราเข้าใจสิ่งที่พ่อทำลงไปมากขึ้นนะ แม่น่ะเข้าใจว่าทำไมผมต้องทำอะไรที่มันโคตรจะเจ็บปวดแต่ก็สำคัญมากๆ แบบนี้” 

หากไม่นับการยิงแฟลชจัดจ้า งานของเทลเลอร์ก็แทบใช้แสงธรรมชาติทั้งหมดแบบเดียวกับที่ปรากฏในนิตยสาร W โดยทั่วไปแล้วเทลเลอร์หลงใหลกับแสงในชีวิตประจำวันอยู่แล้วดังที่เขาเคยถ่ายภาพแรมป์ลิง นั่งกอดสุนัขไว้ในอ้อมแขนข้างถังขยะ หรือภาพที่เธอพุ่งเข้าหากล้องในสนามฟุตบอลด้วยลีลาราวกับเป็นผู้รักษาประตูชั้นยอด “บางครั้งแสงธรรมชาติมันก็ดีมากๆ อยู่แล้ว แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่บางวันผมลองไปสถานที่ถ่ายทำก่อนหน้าถ่ายจริงหนึ่งวันแล้วพบว่าอากาศเปลี่ยน เลยต้องมาคำนวณใหม่ว่าควรจะจัดแสงไหม” เขาสาธยาย “หรือบางครั้งเวลาเราไปถ่ายรูปใครในบ้านเขา เราก็ต้องทำตัวให้กลมกลืนกับบรรยากาศด้วยนะ ถ่ายไปดื่มกาแฟไปยังได้เลย ผมเคยไปถ่ายภาพ เดวิด ฮ็อกนี (จิตรกร) ในบ้านเขา ปรากฏว่าเขานั่งอยู่บนโซฟา สูบบุหรี่ปุ๋ย คุยเรื่องสัพเพเหระกับผม ตอนนั้นแหละที่ผมเดินไปคว้ากล้องแล้วลงมือถ่ายเขาเลย”

อย่างไรก็ดี งานของเขาที่ปรากฏในนิตยสาร W หากไม่นับคำแซวที่ว่า “แบบนี้ใครก็ถ่ายได้” คือมันทำให้หลายคนฉุกคิดถึงความเพียบพร้อม ไร้ที่ติของภาพที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ตลอดจนความยึดติดที่ผู้คนมีต่อความสมบูรณ์แบบ การที่เห็นนักแสดงหรือคนดังที่มักจะถูกคาดหวังว่าต้องสวยหล่อดูดีตลอดเวลา ปรากฏกายในรูปลักษณ์แสนจะธรรมดา แสงไม่ได้จัด สวมเสื้อยืดที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด และดู ‘ทั่วไป’ มากกว่าเคยจินตนาการ ก็นับเป็นเรื่องผิดคาดของหลายๆ คน “คนในฮอลลีวูดห่วงภาพลักษณ์ตัวเองจะตายไป แล้วพอผมไปถ่ายมันก็มีความระห่ำบ้าคลั่งบางอย่างหลุดออกมาอยู่ดี” เทลเลอร์บอก 

“ที่ผ่านมาเวลาผมถ่ายรูปใครสักคน อาจต้องใช้เวลาในการกระตุ้นให้พวกเขาแสดงความเป็นตัวเองออกมาสักอึดใจหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้มันยากขึ้น เพราะคนถ่ายรูปเซลฟี่กันเยอะขึ้นซึ่งทำให้พวกเขาแก้ไข ดัดแปลงภาพได้ตามสะดวก คุณลองไปดูภาพในนิตยสารต่างๆ ก็ได้ ทุกรูปมันผ่านการรีทัชหมดแหละ แล้วทุกคนก็คาดหวังให้มีการรีทัชด้วยนะ แต่ผมไม่มีทางทำอย่างนั้นแน่นอน” เขาเล่า “จริงๆ ผมไม่ค่อยมีปัญหากับพวกนางแบบหรอก แต่กับนักแสดงนี่มีนิดหน่อย คือมันก็มีนักแสดงบางคนที่ไม่อยากให้ผมถ่ายรูปพวกเขาเลย ผมก็ไม่ถ่ายไง”

“เอาจริงๆ มั้ย ภาพถ่ายสวยๆ มันมีอยู่ทุกที่แหละ ไม่ว่าจะอยู่ในโทรศัพท์หรืออินสตาแกรม ที่ขนาดถ่ายขี้ยังออกมาดูดีได้เลย” เขาปิดท้าย

Tags: ,