คุณคิดว่าการเมืองระดับเขต ระดับชุมชน มีความสำคัญและน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน?
เมื่อพูดถึงการเลือกตั้งในการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย คนส่วนใหญ่จะทุ่มความสนใจไปยังการเลือกตั้งระดับชาติ เลือกประธานาธิบดี เลือกนายกรัฐมนตรี เลือกผู้นำที่จะทำให้ประเทศดีกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ซึ่งการเลือกตั้งผู้นำระดับชาติถือเป็นการเลือกตั้งที่แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของประเทศ จะเห็นว่ามีภาพยนตร์และซีรีส์จำนวนมากนำเสนอการเลือกตั้งดังกล่าวหลายต่อหลายครั้ง
Into The Ring ซีรีส์เกาหลีที่ฉายในปี 2020 นำเสนอโลกการเมืองส่วนย่อยที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจ อย่างการเมืองในระดับเขต เริ่มตั้งแต่การพาไปดูวิถีชาวบ้านในชุมชนเมือง การแข่งขันเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) เพื่อดูว่านักการเมืองท้องถิ่นของเกาหลีใต้เป็นอย่างไร ทำงานกันแบบไหน และมีนักการเมืองน้ำดีหรือนักการเมืองชั้นเลวที่ฉ้อฉลในรูปแบบใดบ้าง
ผีเสื้อกลางคืนในชุมชนเขตมาวอน
Into The Ring เริ่มต้นเรื่องราวด้วยการพาผู้ชมไปเห็นการทำงานของพนักงานใน ‘ศูนย์บริการประชาชน ประจำสำนักงานเขตมาวอน’ พวกเขาต้องรับมือกับข้อร้องเรียนหลากหลายของคนในชุมชน ชายชราขี้โมโหที่แหกปากตะโกนให้พนักงานทุกคนต้องทำตามที่เขาสั่ง เพราะเขาเป็นประชาชนผู้จ่ายภาษีที่กลายเป็นเงินเดือนของข้าราชการ หรือคนที่มาพร้อมข้อร้องเรียนแปลกๆ ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน แต่ก็คงไม่มีอะไรน่ากังวลเท่ากับการโพสต์ข้อความร้องเรียนในกระทู้ของผู้ที่ใช้นามสมมติว่า ‘ผีเสื้อกลางคืน’ นักร้องเรียนตัวแม่ ที่จะโพสต์ข้อความหรือโทรเข้ามาร้องเรียนเรื่องต่างๆ ต่อเนื่องกันนาน 15 ปี แต่ไม่มีใครในศูนย์บริการประชาชนเคยเจอเธอคนนี้เลยสักครั้ง
“ไม่มีสิ่งใดที่ท่านผู้นั้นจะไม่เห็น และที่สำคัญ เธอจะไม่ยอมแพ้จนกว่าการร้องเรียนจะได้รับการแก้ไข เธอทำให้คนลาออกไปเยอะมาก เรียกได้ว่าเป็นคนขุดหลุมฝังศพข้าราชการละมั้ง”
ตัวอย่างคำร้องเรียนของผีเสื้อกลางคืนมีตั้งแต่การจัดงานเทศกาลเสียงดัง การตั้งคำถามว่าเขตมาวอนมีถุงขยะสำหรับทิ้งเศษแก้วและเซรามิกโดยเฉพาะหรือไม่ เพราะเขตอื่นๆ อย่างคังนัมกับโดบงก็มีการแยกขยะดังกล่าว ถามเรื่องการขายกุ้งดองเค็มในงานเทศกาลกุ้งดองเค็มของเขตมาวอน ที่อาจไม่ใช่กุ้งเกาหลีตามที่กล่าวอ้าง แต่เป็นกุ้งดองที่นำเข้าจากประเทศจีน หรือถ่ายรูปส่งมาที่ศูนย์บริการประชาชน แจ้งปัญหาว่าจอแสดงเวลามาถึงของรถเมล์ที่ป้ายรถเมล์พังมา 14 วัน และยังไม่มีการแก้ไข
ซอ กงมยอง (รับบทโดย พัค ซองฮุน) ข้าราชการระดับห้าที่เคยทำงานอยู่ในแผนกวางแผนงบประมาณ ผู้ถูกลงโทษให้มาทำงานอยู่ในศูนย์บริการประชาชน มองว่าผีเสื้อกลางคืนเป็นพวกคนไม่ปกติ เป็นคนที่นิสัยเสีย และสงสัยใคร่รู้ว่าคนที่มีเวลารายงานเรื่องราวพวกนี้แทบจะตลอดเวลาทำมาหากินอะไร
ตัวตนของผีเสื้อกลางคืนผู้โด่งดังในหมู่ข้าราชการคือ กู เซรา (รับบทโดย นานะ) เด็กสาวที่มีชีวิตแบบยอมหักไม่ยอมงอ เป็นตัวของตัวเอง ปากกล้า และไม่ยอมให้ใครมากดขี่ เธอมีข้อดีมากมาย แต่หนึ่งในข้อดีของเธอไม่ใช่การเรียนเก่งเป็นอันดับหนึ่งของชั้นเรียน หรือการแข่งขันคว้ารางวัลในหมวดความสามารถต่างๆ เธอเป็นคนรุ่นใหม่ตายซากเพราะไม่มีความสามารถโดดเด่น ไม่ใช่เด็กเรียน ไม่ใช่เด็กกิจกรรม ไม่ใช่นักกีฬา เป็นเด็กสาวธรรมดาคนหนึ่งที่มีความตั้งใจจริง ที่ไม่สามารถแสดงด้านดีของตัวเองให้คนอื่นเห็นได้ผ่านเรซูเม่เพียงไม่กี่หน้า
เมื่อเรียนจบก็ต้องรีบทำงานหาเงินมาจ่ายค่ากู้ยืมเรียน เพราะ กู เซรา มาจากชนชั้นกลางค่อนไปทางล่าง ที่แม่ขอยืมเงินก็ไม่มีให้ งานที่ทำอยู่ก็ไม่ใช่งานที่รักหรือทำให้รู้สึกภูมิใจในการมีชีวิต เป็นมนุษย์เงินเดือนไฟมอดที่มีภาระหนี้สินเต็มตัว ทำให้เธอไปทำงานแบบขอไปทีจนถูกไล่ออกจากบริษัท พอไปทำงานที่อื่นก็เจอหัวหน้าลวนลาม เจอหัวหน้าที่เบิกงบบริษัทไปกินเหล้าร้องคาราโอเกะ เธอก็ทนไม่ไหวจัดการกับทุกปัญหาตรงหน้า ทำให้อยู่ที่ไหนไม่ได้นาน
เหตุการณ์ทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันในมาวอน ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ กู เซรา กำลังตกงานและทำงานเป็นฟรีแลนซ์ ตำแหน่งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ว่างไป 1 ที่นั่ง ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณผ่านกระบวนการในสภาเขตไม่สามารถทำได้ โจ แมงด็อก ประธานสภาเขตมาวอน จากพรรคอนุรักษนิยมรักชาติ จึงต้องเร่งจัดการเลือกตั้งซ่อมเพื่อหาคนมาทำงานแทนให้เร็วที่สุด
เพียงไม่กี่ตอน Into The Ring ทำให้เห็นว่าผีเสื้อกลางคืนที่คนมองว่าเป็นพวกเพี้ยน โรคจิต ไม่ปกติ กลับกลายเป็นคนที่ชุมชนในมาวอนขาดไม่ได้ การร้องเรียนเรื่องถุงขยะทิ้งเศษแก้วและเซรามิกเกิดขึ้นเพราะเธอไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วได้ยินลุง 2 คนเถียงกัน เพราะไม่เข้าใจว่าอันไหนควรจะเป็นขยะรีไซเคิล เรื่องเทศกาลกุ้งดองเค็มที่เธอตั้งคำถามต่อเขต เป็นเพราะได้ยินสมาคมแม่บ้านคุยกันว่าไปซื้อกุ้งมาจากเทศกาลกุ้งดองเค็มที่เขตมาวอนเป็นผู้จัด แต่กลายเป็นว่าเขตนำกุ้งดองเค็มของจีนเข้ามาขาย
เหมือนกับซีรีส์ชี้ให้เห็นว่า ตำแหน่ง ส.ข. ที่กำลังว่างอยู่ หากได้หญิงสาวธรรมดาอย่าง กู เซรา มานั่งในตำแหน่งนี้ เธออาจทำหน้าที่ดังกล่าวได้ดีกว่าที่คิดก็เป็นได้
ช่วงที่การเมืองสนุกที่สุดก็คือช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
“คนแบบนั้นเป็นสมาชิกสภาเขตได้ไง”
“ผู้คนมักไม่สนใจสมาชิกสภาเขต เพราะอย่างนั้นเลยทำให้ตำแหน่งนี้เหมือนกับเทพเจ้า ทำงานแค่ 90 วัน แต่มีรายได้ปีละ 50 ล้านวอน คนใหญ่คนโตในท้องที่ เจ้าของที่ดิน สมาชิกพรรค เลยเอาเงินที่ได้มาแบ่งกันกิน”
หากใครยังไม่เคยดู Into The Ring มาก่อน อาจคิดว่าซีรีส์เรื่องนี้จะเน้นเล่าชีวิตรักของนางเอกที่ทำงานสายการเมือง กับพระเอกที่ถูกลดตำแหน่งงาน ส่วนประเด็นการเมืองอาจเป็นเพียงฉากหลังจางๆ ที่ไม่ได้โดดเด่น เพราะภาพจากภาพโปรโมต โปสเตอร์ ตัวอย่างซีรีส์ แต่จริงๆ แล้วซีรีส์เรื่องนี้เน้นการเสียดสีการเมือง สอดแทรกคุณค่าของประชาธิปไตย และเผยให้เห็นระบบการทำงานของข้าราชการมากกว่าที่คิด
กู เซรา ที่อับจนหนทางในการใช้ชีวิตบนโลกทุนนิยม เบื่อการทำงานแบบพนักงานออฟฟิศกินเงินเดือนและทำงานซ้ำเดิมที่ไม่ได้ชอบ มีแผนจะลงสมัครเป็น ส.ข. แต่การสมัครจะต้องจ่ายเงิน 2 ล้านวอน เพื่อลงทะเบียน ต้องจ่ายเงินลงทุนทำเรซูเม่ดีๆ จ่ายเงินใช้ทำป้ายทำโปรเจกต์หาเสียง แม้แรกเริ่มจะต้องลงทุนเยอะ แต่ถ้าได้รับตำแหน่ง รายได้ 50 ล้านวอนต่อปีอาจทำให้ถอนทุนได้ จนทำให้มีคนมองว่าการลงสมัครครั้งนี้ของ กู เซรา และใครอีกหลายคน เกิดขึ้นเพราะกำลังเอาเงินก้อนสุดท้ายมาพนันกับโชคชะตาของตัวเอง และคิดว่าคนเหล่านี้มองรายได้ที่ตัวเองจะได้เมื่อรับตำแหน่ง โดยไม่สนใจว่าเนื้องานของ ส.ข. จะต้องทำอะไรบ้าง
“สมาชิกสภาเขตเป็นคนที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรา อย่างการติดตั้งไฟถนน สร้างห้องสมุดชุมชน การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นควรให้ความสำคัญกับประโยชน์ของผู้อยู่อาศัย มากกว่าแนวคิดของพรรคการเมือง เราจึงควรจะมอบหมายหน้าที่ให้คนที่รู้จักและรักบ้านเกิดของเรามากที่สุด เพื่อให้เป็นคนดูแลจัดการเรื่องราวต่างๆ ในเขต เป็นกระบอกเสียงแทนประชาชน”
อันที่จริง กู เซรา ใส่ใจชุมชนมากกว่าที่หลายคนมองเห็น เธอคือผีเสื้อกลางคืนที่จดบันทึกความบกพร่องของเมืองลงในสมุดเล่มน้อยหลายสิบเล่ม ไม่ว่าจะเรื่องป้ายรถเมล์ไม่มีแสงไฟส่องสว่างช่วงกลางคืน ถนนเส้นไหนควรจะเพิ่มลูกระนาด พื้นที่ปลอดภัยหลังโรงเรียนสำหรับเด็กๆ ควรเป็นแบบไหน ฯลฯ ประสบการณ์กว่า 15 ปี ทำให้เธอกล้าที่จะสมัครท้าชิงตำแหน่ง ส.ข. ไม่ใช่คิดแค่หวังเสี่ยงดวงอย่างที่คนอื่นมอง
ช่วงหาเสียงเลือกตั้งซ่อม ส.ข. ถือเป็นอีกช่วงที่น่าสนใจ สำหรับคนไทยที่เคยชินกับการหาเสียงแบบไทยๆ พอมาเห็นการรณรงค์หาเสียงของเกาหลีใต้ แม้จะเป็นการหาเสียงในการเลือกตั้งสนามเล็ก แต่ก็เต็มไปด้วยสีสันและความแปลกตา ทุกผู้สมัครจะมีสีประจำตัว มีหัวหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นคุณป้าแม่บ้านรับหน้าที่นำเต้นในลานอเนกประสงค์ ทีมงานทุกคนจะต้องแต่งตัวด้วยสีประจำทีม สวมสายสะพายเหมือนนางงาม เต้นชูไม้ชูมือหมายเลขของผู้สมัคร ท่องสโลแกนและนโยบายของต้นสังกัด เพื่อดึงดูดความสนใจของประชาชนที่เดินผ่านไปผ่านมา
ระหว่างกำลังหาเสียงเลือกตั้ง Into The Ring พาเราไปพบเจอกับผู้คนในชุมชน ชายรุ่นลุงในสวนสาธารณะที่ไม่สนใจฟังว่า กู เซรา มีนโยบายอะไร กลับถามแต่ว่าเธออายุเท่าไหร่ แต่งงานแล้วหรือยัง ก่อนจะแนะนำว่าอย่าลงเล่นการเมือง เพราะงานการเมืองเป็นหน้าที่ของผู้ชาย กู เซรา ควรจะแต่งงานมีลูกได้แล้ว เพราะความสุขของผู้หญิงคือการเป็นแม่และเป็นเมียของใครสักคน นอกจากนี้ยังมีเด็กประถมที่ยืนมองผู้สมัครอยู่ไกลๆ มนุษย์เงินเดือนที่ไม่สนใจจะฟังนโยบายและไม่คิดจะไปเลือกตั้ง
ทางด้านของผู้สมัคร พวกเขาจะต้องเอาตัวเองไปปรากฏตามงานต่างๆ ทั้งงานเสวนา งานสมาคมแม่บ้าน คาเฟ่คุณแม่ สภากาแฟ สถานที่ทางศาสนา หรือแม้กระทั่งในการชุมนุมประท้วง เพื่อให้คนเห็นหน้าและจดจำตัวเองให้ได้มากที่สุด
แทบทุกการเลือกตั้งเราจะได้พบกับการยื่นข้อเสนอเย้ายวนมากมาย ที่สามารถทำให้ผู้สมัครหลายคนหลุดออกจากการเลือกตั้ง ล้มมวย รับส่วย หรือประกาศถอนตัวเพื่อสนับสนุนคู่แข่ง พ่อของ กู เซรา ก็ได้รับคำแนะนำจากนักการเมืองท้องถิ่นว่าควรให้ลูกสาวถอนตัวจากการเลือกตั้ง เพราะถ้าถอนตัวก็จะได้ตำแหน่งข้าราชการแบบสบายๆ เพราะถ้าอยากทำงานเพื่อประชาชนจริงๆ ก็ต้องเป็นข้าราชการ ไม่ใช่เป็นนักการเมือง
อะไรที่ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอในช่วงเลือกตั้ง
ระหว่างหาเสียง กู เซรา จำเป็นต้องแข่งขันกับผู้สมัครอีกคนหนึ่งที่เป็นเหมือนแรงบันดาลใจในชีวิตของเธอ นักการเมืองหญิงที่ต่อต้านแนวคิดอนุรักษนิยม แสดงเจตจำนงชัดเจนว่าต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองเพื่อพัฒนาชุมชน และเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่ทำให้ กู เซรา กลายเป็นผีเสื้อกลางคืนมานานถึง 15 ปี แล้วนักการเมืองหญิงรายนั้นก็มาขอให้เธอถอนตัวจากการเลือกตั้ง กลายเป็นอีกหนึ่งความยากที่จะต้องก้าวผ่านไปให้ได้
โลกของผู้หญิงธรรมดาอย่าง กู เซรา ไม่เคยมีอะไรได้มาง่ายๆ เลยสักครั้ง
นักการเมืองหน้าเก่ามักร้ายเดียงสา บ้าอำนาจ และชอบตีหน้าซื่อตาใส
“สำหรับเกาหลี ถ้าตัดการศึกษา เส้นสาย ชาติตระกูล แล้วจะเหลืออะไรล่ะครับ”
เมื่อ กู เซรา จับพลัดจับผลูได้เป็น ส.ข. ตามที่ตั้งใจไว้ เราจะได้เห็นโลกการเมืองของเกาหลีใต้แบบใกล้ชิดมากขึ้นไปอีกขั้น ในแวดวงการเมืองที่มีตัวละครหลากหลาย มีทั้งนักการเมืองอาวุโสเก๋าเกม เป็นจอมวางแผน นิ่ง เงียบ สุขุม ไปไหนมาไหนก็จะต้องมีลูกน้องตามประกบเป็นขบวน แถมยังชอบการดีลลับๆ เป็นที่สุด ไหนจะนักการเมืองมีอายุที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ ชอบการกินเหล้าสังสรรค์ นายใหญ่สั่งให้ทำอะไรก็พร้อมทำตาม ชอบโอ้อวด ยึดถือระบบอาวุโส และชอบหลับในการประชุมสภา
ถัดมาอีกหน่อยเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ คนกลุ่มนี้มักเข้าสู่โลกการเมืองด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกัน ไม่เป็นทายาทจากตระกูลนักการเมืองเก่า ก็เป็นลูกพ่อค้า ลูกนายทุน ลูกชนชั้นศักดินา ที่ลงสนามมาเพื่อทำงานให้กับประชาชน แบ่งแยกย่อยไปได้ทั้งนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์แน่วแน่จริงๆ กับนักการเมืองลูกแหง่ที่วันๆ ไม่คิดจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่เข้าสู่โลกการเมืองได้ด้วยฐานที่มั่นคง
“สมัยนี้เงินสามแสนวอนยังไม่พอให้นักเรียนจ่ายค่าเหล้าหนึ่งคืนเลยครับ”
นักการเมืองหนุ่มไฟแรงจากตระกูลที่มั่งคั่ง อธิบายถึงจำนวนเงินที่เขามองว่าน้อยนิด
“ขอโทษนะ ค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมงของเราอยู่ที่ 8,590 วอน ต่อให้ทำงานวันละ 4 ชั่วโมง 24 วันต่อเดือน ก็ยังหาเงินถึงล้านไม่ได้ แล้วนักศึกษาประสาทกลับที่ไหน จะเอาเงินสามแสนมาดื่มเหล้าหมดในคืนเดียว ถ้าเป็นคนที่ศึกษามา ก็ไม่น่าจะมีใครคิดแบบนั้นได้”
กู เซรา อดีตนักเรียนกู้เงินเรียนและอดีตมนุษย์เงินเดือน แสดงความคิดเห็นบ้าง
เห็นได้ชัดเลยว่าคนอย่าง กู เซรา ผู้หญิงอายุ 29 ปี ที่มีฐานะกลางค่อนไปทางล่าง เป็นชาวบ้านธรรมดา ไม่ร่ำรวย ไม่มีเส้นสาย กลายเป็นนักการเมืองหายากที่ไม่ค่อยมีให้เห็นในสภาเขตสักเท่าไหร่
ระหว่างนั่งดูไปเรื่อยๆ เราจะเห็นแง่มุมต่างๆ ของการเมืองท้องถิ่นเกาหลีใต้ (ถึงแม้ว่าทางผู้จัดจะขึ้นตัวอักษรย้ำแล้วย้ำอีกในทุกตอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือเรื่องสมมติก็ตาม) ความลำบากของนักการเมือง ‘หน้าใหม่’ เห็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เห็นความยิ่งใหญ่ของอำนาจเงินตรา เพราะถ้าหากคุณจะเล่นการเมือง แล้วคุณเป็นทั้งคนหน้าใหม่ในวงการที่ ‘ไม่มีสังกัดพรรคการเมือง’ คุณจะกลายเป็นอากาศธาตุ ไม่มีใครอยากคบหา กลายเป็นคนแปลกแยก ทำให้การทำงานหรือความพยายามผลักดันนโยบายต่างๆ นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ หรือถ้าอยากจะให้เป็นไปได้ก็ต้องทุ่มหมดหน้าตักและเหนื่อยแสนสาหัส
แต่ถ้าคนหน้าใหม่ที่ไม่มีสังกัดพรรคการเมือง เกิดอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นต่อ เป็นผู้มีสิทธิตัดสินใจในบางเรื่อง หรือดูแล้วน่าจะมีผลประโยชน์อะไรบางอย่าง ความไร้ตัวตนที่ว่าจะสลายหายไปในทันที เห็นได้จากตอนแรกที่ กู เซรา แทบไม่มีใครคุยด้วย ทักทายกับใครก็ไม่มีใครสนใจ นั่งเงียบๆ อยู่คนเดียวในการประชุมสภาเสมอ แต่พอเธอกลายเป็นเสียงสุดท้ายตามการโหวตลงคะแนนเสียงแบบประชาธิปไตย ที่ตัดสินว่านโยบายจะได้ไปต่อหรือไม่ คนไร้พวกไร้สังกัดกลายเป็นคนที่ทุกคนต่างต้องให้ความสนใจ นักการเมืองทุกคนยอมทำตัวกลับกลอก ยอมทำทุกอย่างเพื่อทำให้เธอสนองความต้องการของพวกเขาให้ได้
ไม่ใช่เพียงแค่การเผยให้เห็นอุปนิสัยสากลของนักการเมือง Into The Ring ยังเล่าถึงระบบอาวุโสเข้มข้น ถ้าคุณเป็นลูกน้อง เวลาโดนหัวหน้าด่าต้องห้ามเถียง ต้องก้มหน้าก้มตารองรับความโกรธของหัวหน้า แม้หัวหน้าจะด่ายาวเลยเวลางาน คุณก็ต้องก้มต่อไป ถ้าไม่ก้มแล้วหยิบของเตรียมเดินกลับบ้าน เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของคุณแม้แต่น้อย ก็จะได้รับการเตือน ถูกลดตำแหน่ง ถูกกลั่นแกล้ง และได้รับคำปลอบใจจากเพื่อนร่วมงานว่าถ้าทำงานบริษัทเอกชน (ในเกาหลีใต้) คงถูกไล่ออกไปตั้งนานแล้ว
ชีวิตคนเรามักเจออะไรแปลกๆ ที่คาดเดาไม่ได้เสมอ
ความหลากหลายของ ‘เสียง’ ในระบอบประชาธิปไตย
Into The Ring เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็น่วา อุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ของเกาหลีใต้ หยิบเรื่องราวการเมืองระดับชุมชนที่คนไม่ค่อยตื่นเต้น ไม่เร้าใจเหมือนเลือกตั้งใหญ่ มาทำให้ดูมีอะไรได้อย่างยอดเยี่ยม ซ้ำยังสอดแทรกการใช้ชีวิตในประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยให้ได้เห็นตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นฉากที่เด็กตัวน้อยเฝ้ามองการหาเสียงของเหล่าผู้สมัคร ส.ข. พวกเขามีผู้สมัครที่ตัวเองชอบแต่ยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็จะตะโกนบอกผู้สมัครคนโปรดว่า “ถ้าหนูโตแล้ว หนูจะเลือกพี่” หรือการที่เด็กประถมทำโพลเรื่องการย้ายพิพิธภัณฑ์ชุมชนติดหน้าห้องเรียน เพื่อถามความคิดเห็นของเด็ก คุณครู เจ้าหน้าที่ในโรงเรียน และผู้ปกครองที่มารับลูกหลาน
ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าประชาชนต่างภาคภูมิใจในการมีสิทธิ์มีเสียงของตัวเอง ทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติในประเทศประชาธิปไตยมากแค่ไหน
ขณะเดียวกันก็แดกดันการซื้อสิทธิ์ขายเสียง การฉ้อฉล และเล่ห์กลของนักการเมืองอย่างตรงไปตรงมา
มีช่วงหนึ่งที่ทำให้ต้องเลือกประธานสภาเขตจากบรรดา ส.ข. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ด้วยการให้พวกเขาลงคะแนนเสียงกันเอง Into The Ring เลือกนำเสนอการคัดเลือกดังกล่าวด้วยมุมมองของเด็กประถม เล่าเปรียบเปรยกับการสมัครหัวหน้าห้อง
“ผู้สมัครคนที่หนึ่ง ขยัน ตั้งใจทำงาน แต่ไม่ค่อยมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี”
เพราะ ส.ข. คนนี้เป็นคนเถรตรง พูดจาขวานผ่าซาก ถูกมองว่าคบยากและมุ่งไปสู่จุดหมายจนเกินไป
“ผู้สมัครคนที่สองซื้อแฮมเบอร์เกอร์ให้เพื่อนในห้องทุกคน”
แค่แฮมเบอร์เกอร์กับการพูดคุยเล็กน้อยอาจจะดูไม่หนักหนาอะไร แต่พอเสียงบรรยายของเด็กน้อยจบลง ภาพที่เห็นคือผู้สมัครรายนี้ซื้อทองคำแท่งมาแจกเพื่อน ส.ข. และพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าจ่ายเท่ากันเพื่อแลกกับคะแนนเสียง
Into The Ring เล่าถึงความฝัน ชีวิตวัยเด็ก ชีวิตวัยรุ่น ชีวิตวัยทำงาน และความรู้สึกของการเป็นผู้ใหญ่ที่กำลังยืนมองคนรุ่นใหม่ก้าวเข้ามาในโลกของพวกเขา เราจะมองเห็นโลกการเมืองผ่านมุมมองของ กู เซรา เป็นหลัก เห็นชีวิตสุดดราม่าของครอบครัวนักการเมืองเก่าแก่ผ่าน ซอ กงมยอง เห็นภาพรวมของการให้ความสำคัญกับการมีสิทธิ์มีเสียงของประชาชนในชุมชนผ่านเด็กๆ ที่ทั้งหมดถูกนำเสนอผ่านมุมกล้องแปลกตาเพราะถ่ายแบบเลนส์ฟิชอาย เคล้าด้วยดนตรีประกอบเร้าอารมณ์ และการเล่าเรื่องแบบตลกร้ายที่ทำให้เห็นว่า แม้นักการเมืองจะสกปรกโสโครกเพียงใด ในโคลนตมเน่าเสียก็ยังคงมีความหวังอยู่เสมอ
“หนุ่มสาวสมัยนี้ขาดความพยายาม พวกผู้ใหญ่ชอบพูดแบบนั้น แต่มันไม่ใช่เพราะขาดความพยายามอย่างที่เขาบอก เพราะที่นี่ต่อให้เป็นโลกที่พยายามแล้วก็ยังลำบากอยู่ดี แทนที่จะตะโกนขอคะแนนเสียงจากทุกท่าน ฉันอยากบอกพวกคุณว่าไม่เป็นไร แม้วันนี้จะเป็นอีกหนึ่งวันที่ยากลำบาก แต่ทุกอย่างจะต้องเป็นไปด้วยดี
“พวกคุณทำวันนี้ได้ดีมากแล้ว”
Tags: Into The Ring, Nana, ซีรีส์การเมือง, film, นานะ, ประชาธิปไตย, ซีรีส์เกาหลี, การเมืองท้องถิ่น, Screen and Sound, ตรีนุช อิงคุทานนท์