18 มีนาคม 2014 ไต้หวันเกิดความไม่ชอบมาพากล เมื่อพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ยื่นญัตติให้สภานิติบัญญัติเห็นชอบข้อตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบ (CSSTA) โดยไม่พิจารณาเป็นรายข้อ แม้จะเคยรับปากเอาไว้เมื่อปี 2013 ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนชาวไต้หวัน ลุกฮือขึ้นมาเดินขบวนและบานปลายไปสู่การเข้ายึดพื้นที่สภานิติบัญญัติและสำนักงานสภาบริหารเพื่อต่อต้านการข้อตกลงที่กำลังจะเกิดขึ้น
เหตุการณ์ดังกล่าวถูกจับตาโดยสื่อน้อยใหญ่จำนวนมาก รวมถึงประชาชนผู้ฝักใฝ่ในประชาธิปไตยของไต้หวัน โดยระหว่างการเข้ายึดสำนักงานสภาบริหารตามแผนการของผู้ชุมนุมนั้น ผู้สนับสนุนได้ส่งดอกทานตะวันมาให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก จนภายหลังกลุ่มดังกล่าวจึงได้ชื่อเรียกว่า ‘ขบวนการนักศึกษาทานตะวัน’ ซึ่งดอกทานตะวันในชื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึง ‘ความหวัง’
นอกจากดอกทานตะวันที่เป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงแล้ว เพลง Goodnight Taiwan ของ Fire Ex. วงพังก์ร็อกรุ่นใหญ่ในประเทศก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นภาพจำของการชุมนุมในช่วงเวลานั้น ด้วยเนื้อหาที่พูดถึงความหวังของคนไต้หวัน พลังของคนรุ่นใหม่ เหล่านี้จึงกลายเป็นเครื่องมือของขบวนการนักศึกษาทานตะวัน ในการปลุกขวัญและกำลังใจในการต่อสู้ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นตรงหน้า
คอลัมน์ Screen and Sound ชวนมาทำความรู้จักวง Fire Ex. ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเพลง Goodnight Taiwan และ ขบวนการนักศึกษาทานตะวัน รวมถึง Stand Up Like a Taiwanese อัลบั้มทางการเมืองของพวกเขา ที่นำเสนอรูปแบบดนตรีในฐานะ ‘อาวุธ’ จนสามารถปลุกพลังให้กับมนุษย์ที่หวังจะเห็นสังคมและการเมืองพัฒนาไปข้างหน้าได้อีกครั้ง
‘Goodnight Taiwan’ เครื่องมือปลุกใจการประท้วงในไต้หวัน
หลังจากวง Fire Ex. ก่อตั้งขึ้นในประเทศไต้หวันเมื่อปี 2000 และโลดแล่นอยู่ในโลกดนตรีมาอย่างยาวนาน สิ่งที่พวกเขาได้ซึมซับกับเส้นทางดนตรีคือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ผ่านเรื่องราวและบทเพลงต่างๆ
เริ่มต้นจากการปลดปล่อยตัวตนของวัยรุ่นและความร็อกใน Let’s Go! (2007) เรื่องราวการเติบโตและความหมายของชีวิตใน A Man On The Sea (2009) ไปจนถึงปัญหาของสังคมและบ้านเมืองใน Goodbye! You!th (2013) ซึ่งในช่วงนั้นเองที่เพลง Goodnight Taiwan ซึ่งพวกเขาเคยแต่งไว้เมื่อปี 2008 เกี่ยวกับการเลือกตั้งใหญ่ในประเทศ กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในฐานะบทเพลงของขบวนการนักศึกษาทานตะวัน
“จริงๆ เพลงนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ทางการเมืองกับขบวนการนักศึกษาทานตะวันแต่อย่างใด อย่างที่บอกว่าเพลงนี้แต่งเอาไว้ตั้งแต่ปี 2008 มันนำเสนอชีวิตภายใต้การปกครองของรัฐบาลจากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจจากการปกครองโดยพรรคประชาธิปัตย์ก้าวหน้า (DPP) ที่ปกครองประเทศมานานถึง 8 ปี เพลงนี้จึงเป็นตัวแทนของความชั่วร้ายที่กำลังมาเยือนประเทศเรา
“ดังนั้น การที่ขบวนการนักศึกษาทานตะวันหยิบบทเพลง Goodnight Taiwan ผมมองว่าพวกเขาน่าจะคุ้นเคยและได้ยินเพลงนี้มาก่อนแล้ว แล้วอาจมองว่าสถานการณ์ในตอนนั้นเพลงนี้อาจมีเนื้อหาที่ซ่อนพลังบางอย่างในการปลุกใจพวกเขาได้” แซม หยาง นักร้องนำของวง บอกเอาไว้แบบนั้น
Goodnight Taiwan เป็นเพลงที่ตีคอร์ดด้วยกีตาร์โปร่งง่ายๆ มีกีตาร์ไฟฟ้าคอยพยุงโครงสร้างเพลงอยู่ข้างหลัง ความเรียบง่ายของบทเพลงจึงทำให้สามารถหยิบนำไปร้องได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในขบวนการนักศึกษาที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะกิจ
และอีกหนึ่งเพลงที่ของวง Fire Ex. ที่ปรากฏอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมคือ 島嶼天光 (Island’s Sunrise) ที่ถึงแม้จะไม่โดดเด่นในฐานะภาพจำกับขบวนการนักศึกษาทานตะวันเท่าไรนัก แต่บทเพลงนี้คือความสำเร็จในการปลุกพลังของผู้คนอย่างแท้จริง
เพลงเริ่มขึ้นด้วยเสียงร้องอันหนักแน่น ควบคู่ไปกับจังหวะรัวกลองปลุกใจ ก่อนจะลดจังหวะดนตรีด้วยเสียงเปียโน หยอกล้ออารมณ์ของผู้ฟังให้ตกมาอยู่ในภวังค์ของบทเพลง ก่อนสุดท้ายจะไล่สเกลโน้ตดนตรี ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยเสียงร้องคอรัสของผู้คนจำนวนมาก จึงเป็นเหตุผลที่ในช่วงท้ายเสียงร้องและดนตรีสามารถส่งพลังบางอย่างให้ผู้ฟังได้ แม้จะไม่ได้มีส่วนร่วมหรือเข้าใจเหตุการณ์ในไต้หวัน ณ ช่วงเวลานั้นเท่าไร
“ถึงคุณแม่สุดที่รัก
ผมขอโทษด้วยที่ต้องทำแบบนี้
แต่ได้โปรด อย่าเป็นห่วงผมเลย
การที่ผมลุกขึ้นมาต่อสู้ในครั้งนี้
เพราะผมไม่อาจให้อภัยคนที่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้อีกต่อไปแล้ว”
— เนื้อเพลงตอนหนึ่งของ Island’s Sunrise
แซมยังให้ความเห็นต่อขบวนการนักศึกษาทานตะวันในช่วงนั้นอีกว่า
“ก่อนหน้านั้นผมก็ออกไปร่วมชุมนุมกับผู้ประท้วงหลายครั้ง แต่สำหรับการชุมนุมกับพวกเขา (ขบวนการนักศึกษาทานตะวัน) มันแตกต่างออกไป ผมสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่น สัมผัสได้ถึงเป้าหมายจากเด็กกลุ่มนี้ว่าไม่ใช่แค่ประเทศที่ดีกว่าที่เขาอยากเห็น พวกเขาอยากเห็นตัวเองที่ดีกว่าด้วยเช่นกัน ตัวเองที่ดีกว่าด้วยรัฐสวัสดิการ ด้วยผู้นำและระบบการปกครองที่เหมาะสม ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาทำในตอนนั้นมันเลยสมเหตุสมผลและน่านับถือหัวใจพวกเขามากๆ
“เวลาเห็นคนอายุน้อยกว่าผมแข็งแกร่งขนาดนี้ ใจมันจะเต้นแรงเป็นพิเศษ ผมชอบอยู่ในมวลพลังแบบนั้น มวลพลังที่เชื่อว่าเราจะชนะ และสามารถพาชีวิตไปอยู่ในจุดที่ดีกว่าได้”
Stand Up Like a Taiwanese หลักฐานการเชื่อมต่อระหว่างดนตรีและการเมือง
หลังจากการชุมนุมของขบวนการนักศึกษาจบไป วง Fire Ex. ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านบทเพลงของพวกเขา กระทั่งปี 2017 อัลบั้ม Stand Up Like a Taiwanese ก็ได้ออกมาเป็นอีกหนึ่งผลผลิตของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไต้หวัน
“อัลบั้มนี้เกิดขึ้นระหว่างความตึงเครียดของไต้หวันและอิทธิพลจากประเทศจีน พวกเขากำลังใช้ทุกวิถีทาง ทั้งทางการเมือง ทางการทูต ทางข้อมูล ช่วงนั้นคุณจะเห็นข่าวปลอมจำนวนมากบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งมันส่งผลต่อผู้คนในไต้หวันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเลือกตั้งในปี 2018 ที่ความกังวลพุ่งขึ้นถึงขีดสุดจากการเลือกตั้งท้องถิ่น หลังพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าแพ้การเลือกตั้งโดยสิ้นเชิง จากที่เคยดำรงตำแหน่งถึง 13 เทศบาล แต่การเลือกตั้งครั้งนี้พวกเขาชนะเพียง 6 จาก 22 เทศบาลทั้งหมด
“บทเพลงในอัลบั้มนี้ จึงทำการรวบรวมเสียงของผู้คนในไต้หวัน ที่พยายามเปล่งออกมาว่าพวกเขาไม่ยอมก้มหัวให้อำนาจและอิทธิพลมืดที่กำลังคืบคลานเข้ามา เสียงที่พวกเขาประกาศกร้าวว่าจะไม่ยอมแพ้ ขอลุกขึ้นสู้ เพื่อนำประชาธิปไตยกลับมาสู่แผ่นดินไต้หวันอีกครั้ง
“เป้าหมายของอัลบั้มนี้ ผมอยากให้ใครก็ตามที่กำลังเปล่งเสียงแบบเดียวกับที่พวกเราทำได้รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้อยู่คนเดียว พวกเขามีพรรคพวกหนุนหลัง ประชาธิปไตยที่เคยได้รับมาและกำลังจะได้รับมาอีกครั้งในอนาคตข้างหน้าคือผลงานของพวกคุณ ขอให้จงภูมิใจ”
อัลบั้ม Stand Up Like a Taiwanese มีทั้งหมด 10 เพลง ที่ถึงแม้จะมีหลักใหญ่ใจความเดียวกันตามที่ได้กล่าวไป แต่ในรายละเอียดก็มีการแบ่งเรื่องราว ไล่เรียงอารมณ์เอาไว้ได้อย่างงดงาม และอัลบั้มนี้ยังมีการยกย่องถึงเหตุการณ์ทวงคืนความยุติธรรมในอดีต จึงมีหลากหลายบทเพลงที่พูดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในไต้หวันและประเทศอื่นๆ
อย่างเช่นเพลง 林夕 City of Sadness ที่อุทิศให้กับ ‘การปฏิวัติร่ม’ เหตุการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง ที่คนหนุ่มสาวออกมาต่อต้านความไม่ชอบมาพากลในการเลือกผู้แทนซึ่งอาจถูกบงการจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ หรือเพลง 九四五 (1945) ที่เล่าถึงการโจมตีทางอากาศในไทโฮคุ โดยกองทัพสหรัฐอเมริกา จนมีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นรายกลางกรุงไทเป ซึ่งการอ้างอิงเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งลูกเล่นที่พยายาม ‘ห่อหุ้มจิตวิญญาณทางการเมืองของคนรุ่นก่อน’ ในอัลบั้มที่สอดแทรกประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ออกมายืนหยัดกับความไม่ถูกต้องได้อย่างแยบยล
ในฟากฝั่งของไต้หวันในปัจจุบัน บทเพลงที่น่าสนใจคือ 滅火器 ( A Man On The Sea) ที่ดำเนินด้วยเสียงกีตาร์อะคูสติกผสมผสานกับเสียงร้องของแซมได้อย่างลงตัว
“แน่นอนว่าสุดท้ายแล้ว
อิสรภาพคือจุดจบของเรื่องนี้
มันจะเป็นปลายทางของพวกเราทุกคน
ไม่ว่าจะห่างไกลแค่ไหนก็ถาม
แต่สุดท้ายพวกเราจะไปถึงตรงนั้นอย่างแน่นอน”
— เนื้อเพลงบางส่วนใน Liberal Sailboat
ปัจจุบัน Fire Ex. ก็ยังคงทำดนตรีและเดินหน้าส่งความหวังให้กับประชาธิปไตยต่อไป ในขณะเดียวกันเหตุการณ์บ้านเมืองทั้งในไต้หวันและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ก็ยังมีความขัดแย้ง ความอยุติธรรมที่กำลังถูกท้าทายและต่อต้าน โดยกลุ่มคนที่อยากเห็นความเท่าเทียมเกิดขึ้นในทุกหย่อมหญ้า
แม้เพลงหนึ่งเพลงอาจทำได้เพียงแค่ไหลผ่านเข้าหูและบันทึกอยู่ในความทรงจำ ไม่ได้ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเชิงรูปธรรมดั่งที่ตาเห็น แต่นั่นก็เพียงพอแล้วต่อการปลูกฝังให้รู้จักเติบโตด้วยแนวคิดที่มองว่าทุกคนเท่ากัน จนส่งผลต่อผู้คนที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคตข้างหน้า ดังที่เกิดขึ้นกับประเทศไต้หวันในปัจจุบัน
ดังนั้น หากจะบอกว่า ‘ดนตรี’ กับ ‘การเมือง’ ไม่เกี่ยวข้องกันนั้น Fire Ex. คือหลักฐานที่พิสูจน์แล้วว่าสมมติฐานนี้ผิดโดยสิ้นเชิง
Tags: การเมือง, ไต้หวัน, ดนตรี, Screen and Sound, วงดนตรีไต้หวัน, Fire Ex., Stand Up Like a Taiwanese, Goodnight Taiwan