เราคงคุ้นเคยกันดีกับบรรยากาศสบายๆ เสียงลมพัดใบไม้พลิ้วกิ่งก้านเอนไหว ลมที่พัดผ่านนาข้าวทำให้ใบและรวงข้าวเสียดสีกัน หรือเสียงของยอดหญ้าที่ลู่ลมไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งฟังแล้วรู้สึกสดชื่นสบายใจ แต่นั่นไม่ใช่เสียงที่มาจากพืชพรรณโดยตรง พืชส่วนใหญ่มีชีวิตที่นิ่งและเงียบ แม้ว่ามีพืชหลายชนิดที่เคลื่อนไหวได้ เช่น พืชกินแมลงอย่างต้นกาบหอยแครง ซึ่งจะส่งเสียงกระทบกันเบาๆ เมื่อตัวกาบปิดลงอย่างรวดเร็วเพื่อดักแมลง หรือเมล็ดของต้นต้อยติ่งที่เมื่อสัมผัสกับน้ำแล้วจะแตกดังแป๊ะ จนเด็กๆ เรียกว่าเม็ดเป๊าะแป๊ะ หรือฝักของต้นหางนกยูง ซึ่งเมื่อแก่ได้ที่ก็จะแตกด้วยเสียงที่ดังพอสมควร แล้วเด็กๆ ก็เก็บมันมาเขย่าเล่นตามจังหวะเพลง

เช่นนี้เอง ฝักของต้นหางนกยูงและแคคตัสจึงเป็นพืชหลักในผลงานเพลงชื่อ ‘Child of Tree’ (1975) ของจอห์น เคจ (John Cage, 1912-1992) บทเพลงสำหรับเครื่องเคาะ (percussions) โดยการใช้พืชเป็นเครื่องบรรเลง
เคจไม่ได้แต่งเพลงนี้ด้วยการบันทึกเป็นโน้ตดนตรีโดยตรง แต่เป็นเพียงลายมือซึ่งเขียนวิธีปฏิบัติในการบรรเลงไว้เท่านั้น เช่น กำหนดให้ใช้วัสดุที่มาจากพืชจำนวน 10 ชนิด โดยมีฝักของต้นหางนกยูงและแคคตัสเป็นหลัก ผู้บรรเลงจะต้องจัดหาวัสดุจากพืชอื่นอีก 8 ชนิด พืชที่เคยใช้ก็อย่างเปลือกของผลไม้ชนิดแข็ง ถั่ว ฟางหญ้า กิ่งไม้ ใบไม้แห้ง ลูกสน กะลามะพร้าว ผักกาด แครอท หัวไชเท้า ฯลฯ ความยาวของบทเพลงต้องเท่ากับ 8 นาที ส่วนลำดับและการบรรเลง (เขย่า ดีด โขก เคาะ ตี สี ฯลฯ) นั้นให้ใช้ผลของการโยนเหรียญเสี่ยงทายตามแบบคัมภีร์อี้จิง (I Ching) ซึ่งเป็นแนวดนตรีเสี่ยงทาย (Music of Changes) ที่เคจคิดค้นขึ้นเพื่อที่จะให้ใช้ระดับเสียงและจังหวะสั้น-ยาวไม่ซ้ำกันในการบรรเลงแต่ละครั้ง

มีตัวอย่างการบรรเลง ‘Child of Tree’ มากมายบนยูทูบ เช่น การบรรเลงของคริสโตเฟอร์ ชัลติส (Christopher Shultis) ที่บันทึกไว้ตั้งแต่ปี 1989 โดยเลือกใช้วัสดุและวิธีการสร้างเสียงได้อย่างน่าสนใจและดูสนุกสนาน และของอีลัน โวลคอฟ (Ilan Volkov) ผู้อำนวยเพลงแห่งวง BBC Scottish Symphony Orchestra ในงานฉลอง 100 ปี จอห์น เคจ เมื่อปี 2012 ที่แสดงให้เห็นวิธีเล่นกับหนามแหลมคมของแคคตัส

หากสังเกต จะพบว่าวัสดุที่นำมาบรรเลงส่วนใหญ่มาจากพืชที่ตายแล้ว เช่นเดียวกันกับวัสดุที่ใช้สร้างเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ของโลกที่ทำจากเนื้อไม้เป็นหลัก อาจจะเป็นเพราะเนื้อไม้นั้นง่ายต่อการขึ้นรูป เช่น ลำตัวของกีตาร์โปร่ง ไวโอลิน วิโอลา เชลโล ดับเบิลเบส ที่เนื้อไม้สามารถสะท้อนเสียงได้อย่างกังวานและมีน้ำเสียงนุ่มนวล ขลุ่ยนานาชนิดมักทำจากกระบอกไม้ไผ่หรือไม้ท่อนที่นำมาไสเป็นท่อกลวง เพราะเจาะให้เป็นรูได้ง่าย

จะว่าไป ‘ไม้’ เหล่านี้ก็คือเศษซากของต้นไม้นั่นเอง คงจะมีแต่แคคตัสกระมังที่ผู้บรรเลงต้องยกขึ้นเวทีทั้งกระถาง เมื่อแสดงเสร็จก็คงต้องยกกลับบ้านแล้วรดน้ำใส่ปุ๋ยตั้งไว้ดูเล่นต่อไป

การที่เราได้เห็นรูปแบบแปลกใหม่ของศิลปะร่วมสมัย
น่าจะมีส่วนช่วยให้เราผูกพันใกล้ชิดกับสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์อย่างต้นไม้มากขึ้น

ที่เกริ่นมาเช่นนี้เพราะต้องการถามว่าจะเป็นไปได้ไหมที่ต้นไม้มีชีวิตจะสร้างเสียง(ดนตรี)ออกมาได้

คำถามนี้เป็นที่สนใจของทั้งนักวิทยาศาสตร์และศิลปินนักดนตรีมาช้านาน จนกระทั่งราวปี 1992 นักประดิษฐ์ ยูจิ โดกาเน (Yuji Dogane เกิด 1957) และนักประพันธ์เพลง มาโมรู ฟูจิอิดะ (Mamoru Fujieda เกิด 1956) ก็ร่วมกันสร้างงานผลงานเพลงชื่อ ‘Patterns of Plants’ โดยโดกาเนพัฒนาอุปกรณ์ที่เรียกว่า Plantron ซึ่งใช้หลักการในการวัดกระแสไฟฟ้าสถิตตามใบไม้และนำกลับมาแปลงเป็นเสียง (หรือโน้ตดนตรี) และฟูจิอิดะนำลำดับชุดของเสียงเหล่านั้นมาเรียบเรียงเป็นชิ้นงานดนตรี โดยใช้เครื่องเป่าประเภทแคนพื้นบ้านของญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘โชว’ พิณโกโตะ และไวโอลิน ในการบรรเลง

แม้ว่าดนตรีในผลงาน ‘Patterns of Plants’ ของฟูจิอิดะจะไม่ได้มาจากต้นไม้โดยตรง และเสียงดนตรีมีลักษณะคล้ายกับการสุ่ม (random) คล้ายกับงานของจอห์น เคจ แต่ผลงานของฟูจิอิดะก็เป็นเสมือนการสร้างกลุ่มเสียงของเครื่องดนตรีอะคูสติกอันแผ่วเบาและลื่นไหลของสรรพเสียง ดุจดังบรรยากาศที่แวดล้อมในสวนญี่ปุ่น

ผลงานการประพันธ์ของฟูจิอิดะ เช่น The Third Collection: Pattern IX

ความจริงแล้ว ในแวดวงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มีการก่อกำเนิดของดนตรีอีกประเภทที่เรียกว่า ดนตรีสภาวะแวดล้อม หรือ ambient music มาก่อนแล้ว ลักษณะของเสียงดนตรีชนิดนี้พัฒนามาจากเสียงบรรยากาศต่างๆ รอบตัวเรา เช่น เสียงหวีดหวิวของลม เสียงพลิ้วไหวของใบไม้ เสียงของแมลงและสัตว์ในธรรมชาติ ลำธาร น้ำตก และป่าเขา เสียงดนตรีในลักษณะนี้จึงมักจะเป็นคลื่นเสียงที่ฟังสบาย ให้ความรู้สึกนิ่ง (คล้ายสภาวะสมาธิ) จนบางครั้ง ambient music เป็นเสมือนตัวแทนของศาสตร์ทางดนตรีที่ว่าด้วยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติไปนั่นเลย

มีนักดนตรีหลายต่อหลายกลุ่มที่พยายามพัฒนาเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าสถิตอ่อนๆ ที่เกิดขึ้นตามต้นไม้ให้กลายเป็นเสียงดนตรี ศิลปินกลุ่มหนึ่งที่ทำสำเร็จจนสามารถสร้างตัวโปรโตไทป์ออกจำหน่ายได้ คือกลุ่ม Data Garden ซึ่งประกอบด้วย 2 นักดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ โจ แพทิทุชชี (Joe Patitucci) (คนละคนกับจอห์น แพทิทุชชี มือกีตาร์เบสชั้นนำของโลกนะครับ) กับอเล็กซ์ ไทสัน (Alex Tyson) ร่วมด้วยวิศวกรหนุ่ม แซม คูซูมาโน (Sam Cusumano) ทั้งหมดเป็นชาวฟิลาเดลเฟีย

กลุ่ม Data Garden ประดิษฐ์อุปกรณ์ที่เรียกว่า MIDI Sprout (MIDI คือระบบการแปลงโน้ตดนตรีตามคุณสมบัติของเสียงสูง-ต่ำ สั้น-ยาว ดัง-เบา ให้เป็นข้อมูลดิจิทัล และส่งผ่านไปยังอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ เช่น คีย์บอร์ด-ซินธิไซเซอร์ ส่วน Sprout ก็คือถั่วงอกนั่นเอง) โดยการระดมทุนจากเว็บไซต์ Kickstarter

ปัจจุบัน โครงการไปได้ดี มีผู้สนใจซื้อไปใช้แล้วประมาณ 300 ตัว และคงจะผลิตล็อตใหม่ออกมาอีกเรื่อยๆ เจ้า MIDI Sprout มีราคาอยู่ที่ตัวละ 300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณหมื่นกว่าบาท

โดยการออกแบบ MIDI Sprout ใช้เซนเซอร์ที่เรียกว่า Galvanic Skin Response (GSR) (แบบเดียวกับที่ใช้ในการวัดคลื่นหัวใจหรือคลื่นสมองของอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์) จำนวน 2 ตัว ในการรับกระแสไฟฟ้าสถิตอ่อนๆ ที่เกิดขึ้นตามใบของต้นไม้ แล้วนำไปแปลงเป็นสัญญาณดนตรีในระบบ MIDI โดยการส่งข้อมูลดิจิทัลผ่านสาย MIDI ไปยังซินธิไซเซอร์ หรือซาวนด์โมดูล หรือซอฟต์แวร์สร้างเสียงดนตรีที่ใช้กันในคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้จึงต้องมีเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ชนิดนี้อยู่แล้ว หรือต้องมีตัวแปลงสาย MIDI ให้เป็นพอร์ตยูเอสบี เพื่อให้ใช้เสียงจากคอมพิวเตอร์ได้ จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนว่าจะให้ต้นไม้นั้นๆ (ส่วนใหญ่มักจะใช้พืชที่มีใบใหญ่ๆ เพื่อความสะดวกในการแปะเซนเซอร์กับใบ) ส่งเสียงออกมาเป็นเพลงแบบไหนดี

เป็นไปได้ไหมที่ต้นไม้มีชีวิตจะสร้างเสียง(ดนตรี)ออกมาได้

อย่างที่ยกตัวอย่างมาก่อนหน้านี้ บทเพลงทั้งหลายที่มาจากต้นไม้นั้นไม่ได้เป็นเสียงที่ต้นไม้นั้นๆ เปล่งออกมา แต่เป็นการนำสัญญาณของการมีชีวิต ซึ่งก็คือไฟฟ้าสถิตอ่อนๆ มาปรับใช้ให้เข้ากันกับจริตจะก้านของมนุษย์ ถ้าจะให้ต้นไม้ส่งเสียงออกมาเป็นเพลงแร็ป ฮิปฮอป ฮาร์ดร็อก หรือฮาร์ดคอร์ ก็ทำได้โดยการปรับเสียงจากซินธิไซเซอร์หรือคอมพิวเตอร์ของเราให้เป็นเสียงของแนวดนตรีที่ว่า แต่ก็คงจะไม่เหมาะไม่ควรกับแนวคิดในการรักษ์โลกสักเท่าไร ดังนั้น แนวดนตรีที่ศิลปินนักดนตรีนำมาใช้กับเสียงเพลงที่มาจากต้นไม้ จึงเป็นแนว ambient music นั่นเอง

กิจกรรมการสร้าง sound installation ของกลุ่ม Data Garden เช่น ผลงานการติดตั้งในสวนสาธารณะชุด ‘The Switched-On Garden’ หรือการสร้างเสียงให้กับต้นกัญชา (ไม่แนะนำให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปเลียนแบบ) หรือชมคลิปของโจ แพทิทุชชี ซึ่งเดินป่าหาประสบการณ์สัมผัสธรรมชาติที่เกาะพะงันบ้านเรา

คำถามที่ว่าทำไมต้นไม้ชนิดนี้ถึงมีเสียงแบบนี้ แท้จริงแล้ว ตัวศิลปินเองต่างหากที่เป็นผู้เลือกใช้เสียงในแบบนั้นๆ ซึ่งในที่สุด กิจกรรมต้นไม้ร้องเพลงก็เป็นได้แค่สัญลักษณ์ของการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติกิจกรรมหนึ่งเท่านั้น แต่การที่เราได้เห็นรูปแบบแปลกใหม่ของศิลปะร่วมสมัย ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้เราผูกพันใกล้ชิดกับสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์อย่างต้นไม้มากขึ้น จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าเราจะเคารพและให้ความสำคัญกับพวกมันมากขึ้น เราจะหันมาปลูกมากกว่าตัด หันมารดน้ำพรวนดินมากกว่ารอเก็บกินผลอยู่ร่ำไป

ผลงานล่าสุดของยูจิ โดกาเน คือการนำเครื่อง Plantron มาติดกับไกเกอร์เคาน์เตอร์เพื่อวัดปริมาณรังสีตกค้าง และแปลงออกมาเป็นเสียงแห่งภยันตราย นี่ก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงพิษภัยจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ อันเป็นผลกระทบของเทคโนโลยีต่อสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน

Tags: , , , , , , ,