หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 วัฒน์ วรรลยางกูร ลี้ภัยไปยังประเทศลาว เพราะกังวลว่า ตนจะกลายเป็นนักโทษการเมือง ซึ่งในท้ายที่สุดชื่อของเขาก็ปรากฏอยู่ลำดับที่ 33 ในคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัว ต่อมาผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยในลาว 3 คน (ชัชชาญ บุปผาวัลย์, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) และไกรเดช ลือเลิศ) ได้หายตัวไปอย่างปริศนา ก่อนจะมีการพบศพ 2 ใน 3 คนที่แม่น้ำโขง นักเขียนและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจึงลี้ภัยอีกครั้งไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของครอบครัว 

อีกมุมหนึ่งนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2550 รายนี้ มีผลงานเขียนหลายประเภททั้งเรื่องสั้น นิยาย บทกวี เพลง และสารคดี ที่น่าสนใจคืองานเขียนจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์ทางการเมืองและมีการกล่าวถึงในงานเขียนของวัฒน์ ยกตัวอย่าง นวนิยาย ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ (2522) มีการกล่าวถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่เขาเข้าร่วมการชุมนุมขณะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือ ในสายธาร บทเพลงที่ จตุพร พรหมพันธ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการร้องบนเวที โดยมีวัฒน์เป็นผู้ประพันธ์ ก็มีเนื้อหาอิงการเมืองเช่นเดียวกัน นอกจากการเป็นศิลปินแล้ววัฒน์จึงถูกเรียกอีกฐานะหนึ่งคือ ‘นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย’

จึงเป็นความรู้สึกตื่นเต้นที่ชื่อของศิลปินและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผู้นี้จะถูกกล่าวถึงอีกครั้งใน Dialogue with the Father การแสดงสดเชิงสารคดี กำกับโดย มิสโอ๊ต-ปฏิพล อัศวมหาพงษ์ และวิชย อาทมาท นำเอาชีวิต ตัวตน และอุดมการณ์ของวัฒน์มาบอกเล่าผ่านงานเขียน ภาพวาด บทเพลง และหลักฐานแห่งความทรงจำ ณ ห้องสตูดิโอชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) 

ความน่าสนใจของการแสดงอันดับแรกคือ การที่วัฒน์เสียชีวิตไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน ดังนั้นหากจะกล่าวถึงโดยที่เขาไม่อยู่ ก็นับเป็นความท้าทายของผู้กำกับว่า จะทำอย่างไรให้การแสดงสดครั้งนี้ทำให้ผู้ชมบนที่นั่งเห็นร่วมกันว่า นี่คือเรื่องราวของวัฒน์อย่างแท้จริง ข้อมูลที่ได้ยินจากหูและได้ดูผ่านตาเชื่อถือได้มากแค่ไหน ผลงานที่วัฒน์เป็นผู้ประพันธ์จะทำให้เรามองเห็นตัวตนและอุดมการณ์ของเขาอย่างไร เป็นสิ่งที่เราต้องไปหาคำตอบใน Dialogue with the Father 

[1]

หลังลี้ภัยไปยังประเทศฝรั่งเศส วัฒน์เข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกช่วงกลางปี 2564 ซึ่งผ่านไปด้วยดี แต่เมื่อเข้าสู่ต้นปี 2565 อาการของเขาทรุดลงอีกครั้งจากการติดเชื้อ ทำให้การทำงานของอวัยวะหลายส่วนล้มเหลว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์พยุงชีพ ก่อนจะจากไปอย่างสงบในวันที่ 22 มีนาคม 2565 ตามเวลาประเทศไทย โดยตลอดเวลาที่เขารักษาตัวอยู่นั้น มีลูกๆ ทั้ง 3 คนคอยแวะเวียนมาดูแลอย่างไม่ขาดสาย 

คำถามที่ว่า ใครจะเป็นเสียงพูดเรื่องราวของศิลปินนักเขียนและนักต่อสู้ทางการเมืองรายนี้ คำตอบก็คงหนีไม่พ้นทายาทของเขาทั้ง 3 คน ได้แก่ วจนา วรรลยางกูร (ลูกคนเล็ก) วสุ วรรลยางกูร (ลูกคนกลาง) และวนะ วรรลยางกูร (ลูกคนโต) ที่เติบโตมาจากการเลี้ยงดูของวัฒน์แต่ต้น และเมื่อถึงวัยหนึ่งก็ต้องพลิกสถานะกลับมาเป็นผู้ดูแล ‘พ่อ’ คนนี้แทน จึงทำให้ทั้ง 3 คนกลายมาเป็นนักแสดง (หรืออาจจะมีความเป็นนักเล่าเรื่องจากประสบการณ์เสียมากกว่า) ใน Dialogue with the Father ซึ่งนับเป็นความลงตัว สร้างความน่าเชื่อถือให้กับการแสดงที่เป็นประเภทสารคดี กับความตื่นเต้นที่ลอยขึ้นมาในใจผู้เขียนโดยอัตโนมัติ 

บนพื้นที่ขนาด 370 ตารางเมตร ของห้องสตูดิโอ เพียงพอให้ผู้ชมได้นั่งชมกัน 2 ฝั่ง โดยมีเวทีการแสดงอยู่ตรงกลางระหว่างที่นั่งชม สิ่งแรกที่มองเห็นคือโต๊ะไม้มีหนังสือ ขวดไวน์ แก้วน้ำ และของใช้เก่าๆ วางกันพะรุงพะรังตรงกลางเวที พร้อมกับที่นั่งว่างเปล่าล้อมรอบ เข้าใจว่าผู้กำกับต้องการเซตฉากการแสดงนี้ให้เหมือนกับห้องหนึ่งของบ้าน อนึ่งสิ่งของเก่าๆ กองรวมกันก็ทำให้นึกถึงข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกทิ้งไว้โดยเจ้าของ อาจจะด้วยความตั้งใจทิ้ง หรือการล่วงลับไปแล้วโดยไม่ทันได้กลับมาจัดการ ซึ่งหลังจากพ้นช่วงปูประวัติของวัฒน์ด้วยการฉายโปรเจกเตอร์ สิ่งของบนโต๊ะโดยเฉพาะหนังสือจึงถูกขยับย้ายไปกองไว้ตามแนวเส้นเชือกที่พาดรอบกรอบของเวทีการแสดง  

[2]

“ชอบอ่านหนังสือเล่มไหนของพ่อมากที่สุด”

ความสำคัญและขาดหายไปไม่ได้เลยของ Dialogue with the Father คือการพูดถึงความเป็น ‘ศิลปิน’ ของวัฒน์ผ่านงานประพันธ์ ในที่นี้ผู้กำกับหรืออาจจะรวมถึงทายาทของวัฒน์ที่เป็นคนดำเนินเรื่อง ใช้การนำผู้ชมด้วยคำถามไปยังผลงานแต่ละชิ้น ผ่านความ ‘ชอบและไม่ชอบ’ คล้ายกับเป็นการวิจารณ์งานเขียน แต่กลับไม่ได้ปักหลักพูดถึงแบบของการเขียนหนังสือเสียทีเดียว ด้วยโจทย์คือต้องพูดถึงหนังสืออย่างไรจึงจะสะท้อนถึง ‘ตัวตน’ ของศิลปินรายนี้

ยกตัวอย่าง หนังสือเรื่อง The Pick-up ขับชีวิตสุดขอบฟ้า (2548) ที่เนื้อหาภาพรวมเป็นหนังสือคอเมดีชวนหัว ที่วนะหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับตัวตนของวัฒน์ในฐานะของพ่อที่เป็นคนอารมณ์ขัน แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าขำก็ตาม ตามมาด้วยการแลกเปลี่ยน ‘ความทรงจำ’ ที่ลูกๆ มีกับผู้เป็นบิดา เช่น วสุที่เล่าว่า พ่อชอบใส่ผ้าขาวม้ามาเต้นหน้ากระจกแล้วทำเสียงเหมือนคนพากย์เปิดหนังไทยยุคเก่าๆ 

ในการแสดงช่วงนี้ ผู้เขียนยังได้ยินชื่อหนังสือ ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ (2522) ซึ่งนับเป็นผลงานที่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองไทยของวัฒน์ผลงานหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ร่วมสมัยอย่างเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุม 14 ตุลาคม 2516 และการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 เอาไว้ในหนังสือที่แทบจะเป็นหนังสือแนวความรักของชาย-หญิงในยุคนั้น (ถึงขนาดที่ผู้ประพันธ์เขียนติดแถบบนปกหนังสือว่า นิยายรักนักกิจกรรม) อย่างไรก็ดี นี่นับเป็นกลยุทธ์ในการปูพื้นตัวตนของวัฒน์ ให้มองเห็นอิทธิพลของการเมืองกับผู้เป็นพ่อและศิลปิน โยงไปถึงแก่นคือ “ถ้าไม่มีการเมืองบ้าๆ บอๆ พ่อของเราก็อาจจะเป็นนักแต่งนิยายตลกก็ได้” ตามที่วนะได้กล่าวไว้ 

ความน่าสนใจอีกอย่างคือ การที่ได้เห็นทั้ง 3 ทายาทมีหน้าที่กำกับเรื่องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งมีอยู่บ้างที่นักแสดงอาจมีการพูดทับกัน ซึ่งเป็นบริบทการพูดคุยปกติ แต่ก็ต้องวกกลับมาที่เส้นเรื่องแบบเดิมว่า ต่อไปต้องเล่าอะไร ซึ่งนอกจากการกำกับแล้วก็ต้องใช้ทักษะการจำและสติของนักแสดงไม่น้อย ทว่าพี่น้องบ้านวรรลยางกูรก็ไม่มีปัญหาเส้นเรื่องเปลี่ยน ขณะเดียวกันการพูดทับกันบ้างยังทำให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น

[3]

ในช่วงที่วัฒน์ยังมีชีวิตอยู่ เขาเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง ประสบการณ์บนเส้นทางนักเคลื่อนไหวจึงส่งตรงมายังลูกๆ ของเขา สิ่งนี้ผู้เขียนสรุปจากเรื่องเล่าของทายาททั้ง 3 และมีบางช่วงตอนที่เมื่อได้ยินแล้วก็ชะงัก เช่น วจนาเคยเข้าร่วมม็อบพฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 แต่ตัวเกิดปี 2534 จนพี่ๆ พากันแซวว่า “ไปม็อบตั้งแต่ผมยังไม่ขึ้น” ขณะที่ลูกๆ แต่ละคนมีความทรงจำผูกกับการชุมนุมทางการเมือง วนะเคยไปวาดรูปในม็อบ ส่วนวสุก็เคยไปแสดงละครเรื่อง อากงเอสเอ็มเอส ในพื้นที่ชุมนุม

ในชีวิตจริง วนะเป็นจิตกรภาพเหมือน วสุทำงานด้านการละครภายใต้กลุ่ม Underduck ส่วน วจนาทำงานด้านสื่อมวลชนที่ The101.world ความเชี่ยวชาญงานศิลป์สรรพแขนงของทั้ง 3 ทายาทนี้ ถูกนำมาโลดแล่นบนเวทีการแสดงสด Dialogue with the Father ทั้งหมด เพื่อใช้อธิบายถึงความผูกพัน ความรัก และความทรงจำ โดยเราได้เห็นภาพเหมือนของวัฒน์วาดโดยลูกคนโตที่เปิดเผยกับผู้ชมว่า เขาเคยพูดคุยกับภาพวาดที่ไม่มีชีวิตซึ่งเป็นผลงานของเขาเอง หรือการแสดงแบบ Physical Theatre ระหว่างการบรรยายความสัมพันธ์ของลูกๆ กับวัฒน์โดยลูกคนกลาง ในขณะที่ลูกคนเล็กใช้ทักษะการเป็นสื่อมวลชน ‘เขียน’ เล่าช่วงเวลาสุดท้ายก่อนการจากลา

สำหรับผู้เขียน การให้ทายาทของวัฒน์ทั้ง 3 คน ได้แสดงฝีมือการเล่าเรื่องตามความเชี่ยวชาญของตัวเองใน Dialogue with the Father ทำให้มองเห็นว่า พวกเขาสามารถใช้ศิลปะสื่อสารถึงตัวตน สิ่งที่อยู่ในความทรงจำ และการต่อสู้ของพ่อรวมถึงการต่อสู้ของตัวเองเพื่อให้เกิดความยุติธรรมทางการเมือง ดังที่วจนาได้พูดเอาไว้ในท่อนหนึ่งว่า 

“เตยทำงานเป็นสื่อมวลชน ใช้อาวุธคือการเขียนไม่ต่างจากพ่อ เราใช้เครื่องมือแตกต่างกัน แต่เรามีความคิดที่ไม่ต่างกันเลย

“เราอยากใช้การเขียนเพื่อการเปลี่ยนแปลง แต่มันคงไม่ใช่แค่หนังสือเล่มเดียว หรือบทเพลงเดียวที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราต้องทำงานไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ทำงานไป ให้มันเข้าให้ถึงหัวใจคนทีละนิดๆ ในที่สุดมันก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ นั่นแหละคือสิ่งที่เตยกับพ่อคิด นี่แหละคือความสัมพันธ์ของเตยกับพ่อ” บทสนทนาส่วนหนึ่งใน Dialogue with the Father

[4] 

แม้สไตล์การเล่าเรื่องจะไม่ได้ฉูดฉาด ไม่มีคำพูดดึงอารมณ์ เป็นเพียงการสนทนากันของนักแสดงด้วยน้ำเสียงเรียบๆ แต่ปฏิพลและวิชย อาทมาท หรือแม้แต่ทีมกำกับศิลป์และเทคนิค DuckUnit ก็รังสรรค์การเดินเรื่องราวได้อย่างส่งอารมณ์ อาจจะมีหวาดเสียวไปบ้างในช่วงที่วนะต้องทำผัดเผ็ดหน่อไม้ดองกันสดๆ ในห้องสตูดิโอเพื่อจำลองการทำอาหารที่วัฒน์ชอบกิน ทำเราต้องแหงนมองสปริงเกอร์ดับเพลิงกับลุ้นว่า มันจะปล่อยน้ำลงมาไหม แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี ขณะที่ความเป็นธรรมชาติประกอบการเรื่องราวที่มาจากความทรงจำระหว่างลูกกับพ่อทั้งวนะ วสุ และวจนา Dialogue with the Father จึงเป็นการแสดงสดเชิงสารคดีที่สมจริง แม้มีฉากหรือไม่มีฉากอะไรมาประกอบก็ได้

ชีวิต ตัวตน กับการต่อสู้ทางการเมืองที่มาจากความทรงจำ คงไม่มีอะไรมาชั่ง ตวง วัดได้ว่า ทายาททั้ง 3 แสดงได้อย่างสมจริง สื่อสารได้ดีขนาดไหนบนหลักของการแสดงเชิงสารคดี แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว Dialogue with the Father แทบจะไม่นับว่าเป็นการแสดง แต่เป็นเรื่องจริงที่ถูกนำมาเล่าบนเวที เพื่อสื่อสารทางตรงต่อคนดูให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เป็นไป ย้ำเตือนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับวัฒน์กับผู้ชม และให้ก้มลงสำรวจสังคมว่า ยังมีคนที่ถูกกระทำแบบเขาอีกหรือไม่ 

นอกเหนือจากนั้นคือการเน้นย้ำว่า เมื่อมีนักต่อสู้ทางการเมืองตายไปสัก 10 คน ก็จะเกิดคนที่มีความคิด อุดมการณ์ และความหวังแบบเดียวกันอีกนับร้อยเกิดขึ้น หากสังคมยังคงมัวเมาอยู่กับการปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองแบบนี้ต่อไปไม่จบสิ้น 

ที่มา

https://www.bbc.com/thai/thailand-60830192

https://tlhr2014.com/archives/10951

https://www.the101.world/phuchana-and-his-son/

https://www.bbc.com/thai/thailand-52946342

Tags: , , , , , , ,