งาน ‘คือรักและหวัง 2018’ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมเมื่อปีที่แล้ว

‘วรพจน์ พันธุ์พงศ์’ โต้โผของงาน ให้นิยามงานเล็กๆ ในพื้นที่เล็กๆ ของร้าน On the rose ใต้สะพานพระราม 8 ไว้ว่า ‘งานร้องเล่นดนตรี และฟังทัศนะ นักเขียน กวี ศิลปิน’

เขาส่งข่าวผ่านเฟซบุ๊กตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม โดยเขียนข้อความประกอบเพลง ‘ฝนแรก’ ของวัฒน์ วรรลยางกูร ว่า

เรา-ควรมีเวลามาเจอกัน มาคุยกัน

คุยเรื่องความจริง คุยเรื่องความฝัน

คุยเรื่องความรัก คุยเรื่องความหวัง

ค่ำคืนวันนั้น ‘วาด รวี’ คือคนหนึ่งที่วรพจน์ชักชวนมาร่วมอ่านบทกวี แต่เขาเขียนบทกวีไม่ออก จึงต้องขอยืมบทกวีของเพื่อนมาอ่าน

ซึ่งข้อความในบทกวีชิ้นนั้น นำมาสู่บทสนทนาชิ้นนี้

นักเขียนเพื่อชีวิต

เนื่องจากบทกวีของเพื่อนผมมีคำว่า ‘เสียงเต้นของหัวใจ’ เลยทำให้ผมเปิดหนังสือ เสียงเต้นของหัวใจ ของวัฒน์ วรรลยางกูร ซึ่งในคำนำของหนังสือ วัฒน์เขียนไว้ว่า

“หากมองย้อนยาวไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา งานเขียนหนังสือเป็นงานเดียวที่ผมทำต่อเนื่อง ผูกพัน ได้สุขได้ทุกข์ ได้เพียรดับทุกข์ ก็เนื่องจากงานนี้ บางครั้งถูกเรียกว่านักเขียนอาชีพ บางทีก็นักเขียนอิสระ หรือเริ่มแรกก็ถูกเรียกว่านักเขียนรุ่นใหม่ นักเขียนเพื่อชีวิต นักเขียนร่วมสมัย ผมไม่เกี่ยงงอนอะไรกับการเรียกขานของสังคม ส่วนงานอื่นๆ นอกเหนือจากเขียนหนังสือก็มีมาแทรกเป็นช่วงระยะตามความจำเป็น แต่ไม่ถึงกับจำใจทำ เพราะเลือกทำอย่างมีสติตรองแล้วว่าทำเพื่ออะไร เมื่อสูเจ้ามีกิเลส ก็ต้องหาทางออกที่เหมาะสมกับกิเลสของตัวเอง และตามดูสิว่าจะสร้างสรรค์ไหม”

สิ่งที่ผมสะดุดใจในคำนำของวัฒน์คือหนังสือเล่มนี้พิมพ์เมื่อปี 2537 ตอนที่ผมอ่านคำนำของวัฒน์ ผมอ่านด้วยความสังเกตว่าวัฒน์จะอธิบายตัวเองว่าอย่างไร ซึ่งวัฒน์เขียนไว้ว่า “หรือเริ่มแรกก็ถูกเรียกว่านักเขียนรุ่นใหม่ นักเขียนเพื่อชีวิต นักเขียนร่วมสมัย ผมไม่เกี่ยงงอนอะไร…” สังเกตว่าคำที่วัฒน์ใช้นิยามตัวเอง ที่บอกว่าคนอื่นนิยามเขา มีคำว่า ‘นักเขียนรุ่นใหม่’ มีคำว่า ‘นักเขียนเพื่อชีวิต’ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมจับตามอง แต่มีอีกคำหนึ่ง คือคำว่า ‘นักเขียนสร้างสรรค์’ ซึ่งปรากฏในท่อนสุดท้าย คือ “เมื่อสูเจ้ามีกิเลส ก็ต้องหาทางออกที่เหมาะสมกับกิเลสของตัวเอง และตามดูสิว่าจะสร้างสรรค์ไหม”

ย่อหน้านี้แหละที่ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าวัฒน์เริ่มเขียนงานประมาณปี 2513-2514 คือในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตอนนั้นวัฒน์เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย เขาเป็นนักเขียนที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับกระแสเพื่อชีวิตในตอนนั้น ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 วัฒน์สร้างผลงานเป็นจำนวนมาก และหลังจาก 6 ตุลา วัฒน์ก็เข้าป่า ก่อนจะออกจากป่าหลังจากมีนโยบาย 66/2523

หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา บรรยากาศมันคล้ายๆ กับปัจจุบันในแง่ที่ว่ามันเกิดความสงัดขึ้นในสังคมเมือง หลังจากนักศึกษาถูกปราบและเข้าป่า มันเกิดความหวาดกลัวขึ้น มันเกิดความเงียบสงัดขึ้นในสังคมเมือง ซึ่งในท่ามกลางความเงียบสงัด มันเกิดการสถาปนาสิ่งที่เรียกว่า ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เปิดงานด้วยการอ่านบทกวี

วรรณกรรมสร้างสรรค์

คำว่า ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’ ที่รางวัลซีไรต์เอาไปใช้เป็นยี่ห้อว่า ‘รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน’ คนที่สถาปนาคุณค่านี้ขึ้นมา ก่อนที่ซีไรต์จะฉกเอาไปใช้ ในห้วงเวลาที่ในเมืองเกิดความเงียบสงัดและนักเขียนฝ่ายซ้ายอพยพเข้าป่า คือ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’

ในนิตยสาร โลกหนังสือ ฉบับที่ 12 สุชาติเขียนไว้ว่า

“ไม่ว่าเราจะให้ความสำคัญแก่วรรณกรรมในลักษณะของคำจำกัดความใดก็ตาม สิ่งที่นักเขียนจะต้องตระหนัก ท้าทายกับตัวเองก็คือ เขาคือผู้ทำงานศิลปะ ไม่ว่าทฤษฎีหรือสำนักทิศทางวรรณกรรมจะดำเนินไปเช่นใด ปัญหาที่ว่าวรรณกรรมเพื่ออะไร ก็เป็นปัญหาที่มีคำตอบอยู่ในตัวของมันเอง ถ้าหากคุณค่าในงานวรรณกรรมชิ้นนั้นจะปรากฏตัวออกมาในฐานะงานเขียนสร้างสรรค์ หรือ creative writing ไม่ใช่ผลงานประเภทที่สร้างขึ้นมาเพื่อป้ายหรือยี่ห้ออื่นใด แต่หากนักเขียนพากเพียรพยายามสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีชีวิต เพื่อเป็นตัวแปรในคุณค่าของมันเอง โดยตัวผู้สร้างนั้นๆ กล้าหาญชาญชัยที่จะสร้างผลงานของตนเองให้ลึก ให้แน่น และให้ถึงซึ่งความทรงคุณค่า

“อีกทั้งการสร้างงานในฐานะของผู้สร้างงานศิลปะนั้นก็มิใช่สิ่งเล็กน้อยที่ทำกันแบบสุกเอาเผากิน เพราะการทำงานวรรณกรรมในฐานะที่เป็นวรรณศิลป์ต้องมีความคิดริเริ่ม มีลีลา มีภาษา ทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหาส่งรับซึ่งกันและกัน ขึ้นต่อกันและกันอย่างซื่อสัตย์จริงใจ วรรณกรรมที่ผู้สร้างสรรค์สร้างขึ้นมานั้นจึงจะได้ชื่อว่าสมบูรณ์ ลึกซึ้ง และตอบสนองความประทับใจของผู้อ่าน และในระยะยาว ผลงานวรรณกรรมอันทรงคุณค่าเหล่านั้นก็ยังเป็นตัวแปรให้สาธารณชนได้ยกระดับชีวิตทางวัฒนธรรมให้สูงขึ้นพร้อมกันไป จนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม

“ดังนั้น ขอให้เราจงตระหนักร่วมกันเถิดว่าอำนาจเนรมิตกรรมต่อการสร้างสรรค์ผลงานต่างหากที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์คุณธรรมของนักเขียน และคุณธรรมของนักเขียนดังกล่าวก็อยู่ที่ความสามารถในการสร้างผลงานของตนให้มีชีวิตเลือดเนื้อประทับอยู่ในหัวใจคนอ่าน ความสำเร็จของนักเขียนผู้สร้างสรรค์งานไม่ว่ากลุ่มใดฝ่ายใด ก็ย่อมตัดสินได้ในระดับหนึ่งตรงจุดนี้ มิใช่ตรงจุดที่ว่าด้วยจำนวนจำหน่ายทางการค้าหรือป้ายโฆษณาความคิดทางการเมือง”

นี่คือสิ่งที่สุชาติเขียนไว้ใน โลกหนังสือ ซึ่งผมมองว่ามันคือประกายหรือแรงบันดาลใจที่ทำให้ฝ่ายขวาหรือฝ่ายอนุรักษนิยมในตอนนั้นสถาปนารางวัลซีไรต์ขึ้นมา จนเกิด ‘ภูมิประเทศใหม่ทางวรรณกรรม’ ที่เรียกว่า ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’

ประเด็นสำคัญที่ผมจะชี้ให้เห็นก็คือ การเกิดขึ้นของวาทกรรมวรรณกรรมสร้างสรรค์ หรือสิ่งที่เรียกว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์ ไม่ใช่อยู่ๆ มันก็เกิดขึ้นมา แต่มันเกิดขึ้นมาท่ามกลางความขัดแย้งในช่วง 14 ตุลาถึง 6 ตุลา และในท่ามกลางความขัดแย้ง มันถูกใช้ในเชิงการเมือง ในแง่ของการกดทับหรือเขี่ยวรรณกรรมเพื่อชีวิตออกไปจากเวทีวรรณกรรมกระแสหลัก โดยที่สุชาติจะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม แต่ผมเชื่อว่าสุชาติคิดในแง่ของศิลปิน ไม่ได้คิดในเชิงการเมือง

ประเด็นสำคัญก็คือ หลังจากนโยบาย 66/2523 และวัฒน์ออกมาจากป่า ในช่วงแรก วัฒน์มึนงงมาก เพราะในฐานะนักเขียนเพื่อชีวิตที่โดดเด่น สร้างงานต่อเนื่องเป็นเวลา 7-8 ปี จนกระทั่งพ่ายแพ้ออกมาจากป่า และต้องมาเจอกับวรรณกรรมสร้างสรรค์ มาเจอกับภูมิประเทศใหม่ของวรรณกรรมซึ่งไม่มีที่ทางให้กับเพื่อชีวิตอีกต่อไปแล้ว

วัฒน์ใช้เวลาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2520 จนกระทั่งตลอดทศวรรษ 2530 ปรับตัวในฐานะนักเขียนผู้สร้างงานเขียน ปรับตัวจากเพื่อชีวิตมาเป็นสร้างสรรค์ จนกระทั่งนวนิยายเรื่อง ฉากและชีวิต ตีพิมพ์ในปี 2539

วาด รวี

ผมคิดว่า ฉากและชีวิต เป็นข้อบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นการปรับตัวของนักเขียนเพื่อชีวิตที่ต้องมาเจอกับภูมิประเทศใหม่หรือคุณค่าของวรรณกรรมแบบใหม่ ซึ่งไม่มีที่ทางให้กับวรรณกรรมที่เป็นเรื่องการเมืองแบบเพื่อชีวิตอีกแล้ว ถ้าสังเกตงานเขียนของวัฒน์จนกระทั่งมาถึง ฉากและชีวิต วัฒน์ปรับตัวให้เข้ากับนิยามของวรรณกรรมสร้างสรรค์ เพื่อที่จะอยู่รอดในฐานะนักเขียนไทยคนหนึ่ง ซึ่งเส้นทางของวัฒน์จากจุดเริ่มต้นที่เพื่อชีวิต มาจนกระทั่งจบที่สร้างสรรค์ มันสะท้อนให้เห็นความเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมแบบเดียวกัน คือความเคลื่อนไหวของการให้คุณค่ากับวรรณกรรมไทย หรือความเคลื่อนไหวของอำนาจที่จะชี้นำคุณค่าของวรรณกรรมไทยในช่วงสองทศวรรษ คือหลังจาก 6 ตุลามาจนกระทั่งตลอดทศวรรษ 2530 และที่น่าสนใจก็คือ ฉากและชีวิต พิมพ์ครั้งที่ 6 ซึ่งสำหรับนวนิยายไทย ถ้าไม่ได้ประทับตราซีไรต์ ไม่มีทางที่จะพิมพ์หกครั้งแบบนี้

จากนักเขียนเพื่อชีวิต วัฒน์พ่ายแพ้กลับมาอยู่ในท่ามกลางวรรณกรรมสร้างสรรค์ และสามารถดำรงอยู่ได้ นวนิยายพิมพ์หกครั้ง ซึ่งแสดงว่ามีกลุ่มก้อนของคนอ่าน แต่หลังจาก ฉากและชีวิต วัฒน์มีนวนิยายอีกเพียงแค่สองเล่ม คือ สิงห์สาโท (2543) และล่าสุดคือ The Pick-Up: ขับชีวิตสุดขอบฟ้า (2548) เท่ากับว่าในช่วงประมาณสิบปี จาก ฉากและชีวิต มาจนถึงวิกฤตการเมืองรอบใหม่ วัฒน์มีนวนิยายแค่สองเล่ม

ปัจเจกนิยม และการคลี่คลาย

สำหรับทิศทางของวรรณกรรมไทย จากวรรณกรรมเพื่อชีวิตมาสู่วรรณกรรมสร้างสรรค์ ถามว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์พาเราไปที่ไหน

หลังจากใช้เวลาค้นหาสิบกว่าปี มันนำเรามาสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘ปัจเจกนิยม’ ปัญหาความเป็นมนุษย์ ปัญหาชะตากรรมของบุคคล มันลงลึกเข้าไปสู่ความเป็นมนุษย์หนึ่งคน แต่มันตัดมิติทางการเมืองออกไป สภาพแบบนี้เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในทศวรรษ 2540 คือตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจจนกระทั่งมาถึงก่อนวิกฤตการเมืองรอบใหม่ในปี 2549 ซึ่ง ฉากและชีวิต มาจนกระทั่ง The Pick-Up ต้องเรียกว่าเป็นเรื่องชะตากรรมของปัจเจก คือเข้ามาสู่สิ่งที่เรียกว่าปัจเจกนิยม

ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเมือง ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ผมคิดว่าวัฒน์ค่อนข้างมึนงง สังเกตไหมว่าตั้งแต่ปี 2549 จนกระทั่งบัดนี้ วัฒน์ไม่มีนวนิยายหรือเรื่องสั้นเลยสักเรื่อง ซึ่งไม่มีช่วงไหนที่วัฒน์เว้นว่างจากการเขียนมากเท่ากับช่วงปี 2549 จนถึงปัจจุบัน เขาเขียนแค่บทความและบทกวี แต่ไม่มีนวนิยายและเรื่องสั้น

ผมได้ข่าวว่าวัฒน์กำลังเขียนนวนิยาย ซึ่งผมอยากเห็นมากๆ อยากเห็นในแง่ที่ว่านักเขียนระดับวัฒน์ซึ่งถูกเหวี่ยงจากเพื่อชีวิตมาสู่สร้างสรรค์ จนกระทั่งมาสู่ปัจเจกนิยม จะเขียนออกมาอย่างไร

ชีวิตของวัฒน์ วรรลยางกูร มีแค่สองมิติใหญ่ๆ คือนักเขียนกับการเมือง เพราะฉะนั้น การคลี่คลายของวัฒน์จึงมีความสำคัญในความรู้สึกของผม ถ้าได้เห็นนวนิยายของวัฒน์ มันแทบจะเป็นข้อบ่งชี้เลยว่าวรรณกรรมไทยจะคลี่คลายไปในทิศทางไหน เพราะหลังจากปี 2549 ผมคิดว่าวรรณกรรมไทยรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองค่อนข้างช้ากว่าแวดวงอื่น แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว งานปัจเจกนิยมซึ่งเป็นพระเอกบนเวทีในทศวรรษ 2540 ตอนนี้ปัจเจกนิยมไม่ใช่พระเอกอีกต่อไปแล้ว เพราะความคาดหวังของคนอ่านหรือความคาดหวังของสังคมไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว ผู้คนไม่ได้หมกมุ่นกับความเป็นปัจเจก แต่กำลังเป็นทุกข์กับปัญหาสังคมการเมืองที่ยังไม่คลี่คลาย ไปทางสีเหลืองก็ไม่คลี่คลาย ไปทางสีแดงก็ไม่คลี่คลาย ทุกคนเป็นทุกข์กับเรื่องนี้อยู่ลึกๆ ในใจ และกำลังหาทาง หาความคิด หาสิ่งที่จะมาคลี่คลายอารมณ์ความรู้สึก

คนที่อ่านวรรณกรรมจำนวนหนึ่งคาดหวังตรงนี้ คาดหวังว่างานวรรณกรรมจะช่วยคลี่คลายอะไรบางอย่าง แต่ตอนนี้มันยังไม่ปรากฏ และปัจเจกนิยมก็ไม่ใช่คำตอบแล้ว ซึ่งผมคิดว่านี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของวัฒน์ วรรลยางกูร แต่เป็นปัญหาของนักเขียนร่วมสมัยในปัจจุบันว่าจะคลี่คลายตัวเองอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้

 

Fact Box:

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 มีที่มาจากแนวคิดของ พล.ต.เปรม ติณสูลานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2517 ซึ่งต้องเผชิญกับสงครามแย่งชิงมวลชนกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

หลังเหตุการณ์รัฐประหารเดือนตุลาคม 2520 พล.อ.เปรมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก่อนจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเดือนพฤษภาคม 2522

หลังจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรมได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม 2523 และในวันที่ 23 เมษายน 2523 จึงมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่อง ‘นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์’ โดยเน้นใช้การเมืองนำการทหาร เพื่อยุติสถานการณ์สงครามปฏิวัติของคอมมิวนิสต์

การปฏิบัติข้อ 4.7 ในคำสั่งดังกล่าวระบุว่า

“ปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัวหรือที่จับได้อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ ชี้แจงเพื่อให้ได้เข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในปัญหานี้อย่างถ่องแท้ ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม”

Tags: , ,