The woods are lovely, dark and deep,

But I have promises to keep,

And miles to go before I sleep,

Did you hear me butterfly,

Miles to go before I sleep,

กลอนบทดังจาก Stopping by Woods on a Snowy Evening ซึ่งเขียนโดย โรเบิร์ต ฟอร์สต์ (Robert Frost) ได้ถูกหยิบยกมาเป็นปมเงื่อนแรกที่ใช้ขมวดเรื่องราวใน Death Proof หลังจากกลุ่มสาวสุดฮอต โดยเฉพาะอาร์ลีน (แสดงโดย วาเนสซ่า เฟอร์ลิโต้) ที่หากใครพูดประโยคนี้กับเธอ ก็จะได้รับการตอบแทนด้วยการเต้นระบำบนหน้าตักของผู้ที่ท่องบนกลอนดังกล่าว 

หลังจากนั้น ความคึกคะนอง บุ่มบ่าม เฝ้ารอความตื่นเต้นที่จะเกิด ก็เริ่มดำเนินไปอย่างช้าๆ กลอนและเงื่อนไขดังกล่าวได้เริ่มเผยแพร่มวลอารมณ์พิศวาสที่ปกคลุมภายในหนัง สอดคล้องกับไปอุปนิสัยของตัวละครแก๊งหญิงที่มักพูดถึงผู้ชาย เพศสัมพันธ์ และปาร์ตี้ที่จะเกิดขึ้นในค่ำคืนนี้อยู่ตลอด 

แน่นอนว่าด้วยเสน่ห์ของอาร์ลีนย่อมไม่ใช่เรื่องยากที่ปลาเพศผู้จะมาติดเบ็ดที่เธอจุ่มเอาไว้ เพียงแต่ปลาตัวนี้คือ ไมค์ (นำแสดงโดย เคิร์ต รัสเซลล์) สตั้นท์แมนผู้ปลดระวาง แต่ยังทนงค์ไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของงานที่ตนรัก สังเกตได้จากรถยนต์ Chevrolet Chevy Nova  ซึ่งดัดแปลงภายในให้แข็งแรงเหมาะสำหรับนำไปใช้เป็นสตั้นท์แมน ที่เขายังคงใช้ตะลอนไปทั่วเมืองอยู่เสมอ แม้จะเกษียณจากงานแล้วก็ตาม 

เมื่ออาร์ลีนและสตั้นท์แมนไมค์พบเจอกัน ข้อตกลงระหว่างบทกลอนและระบำหน้าตักจึงเกิดขึ้น และลุล่วงถึงจุดสุดยอดได้อย่างสุขสมอารมณ์หมาย ทุกอย่างดูเข้าเคล้าเหมือนจะเป็นค่ำคืนที่ดีสำหรับทุกคน 

ทว่าทั้งหมดนี้กลับไม่ใช่สำหรับสตั้นท์แมนไมค์ เขาต้องการมากกว่านั้น

หากละเลยบทพูดของตัวละครที่ยืดยาวแต่คงไว้ซึ่งความน่าสนใจ อันเป็นเอกลักษณ์ของผู้กำกับแทรันติโนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ในเรื่องนี้ผู้เขียนกลับสนใจการถ่ายทอดประสบการณ์ทางอารมณ์ของตัวละครที่เขากำลังเล่าผ่านภาษากายในเรื่องมากกว่า 

ฝ่ายหนึ่งคือหญิงสาวผู้ได้ขึ้นป้ายบิลบอร์ด จึงย่อมเป็นที่หมายตาของชายแทบทั้งเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย แต่น่าแปลกใจไม่น้อยที่ในคืนนั้นกลับไม่มีชายคนใดมายื่นข้อเสนอบทกวีและระบำหน้าตักกับเธอแม้แต่น้อย 

ดังนั้นแม้ในห้วงขณะหนึ่งเธอจะรู้สึกกลัวสตั้นท์แมนไมค์และรถของเขามากเท่าไร ก็ไม่น่ากลัวเท่าความรู้สึกที่เริ่มตระหนักได้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นดาวเด่นในเมืองแห่งนี้แต่อย่างใด การตกลงในข้อเสนอร่วมกับสตั้นท์แมนไมค์จึงอาจหมายถึงการสำเร็จความใคร่เล็กๆ น้อยๆ ในคืนนั้น เพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าฉันยังมีของดีอยู่

ในขณะเดียวกัน หลังสตั้นท์แมนไมค์ได้ดูระบำหน้าตักเรียบร้อยแล้ว เขาจึงเข้าใจและมั่นใจขึ้นไปอีกว่า การถึงจุดสุดยอดของตัวเขานั้นไม่ใช่เรื่องกิจกรรมทางเพศแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการได้ออกลีลาสตั้นแมนท์ ผาดโผนไปกับรถคู่ใจของเขาอีกครั้งหนึ่ง นั่นจึงนำไปสู่ความวิปลาศและไล่สังหารกลุ่มหญิงสาวด้วยรถคู่ใจในเวลาต่อมา 

ดูซับซ้อน ลึกลับ คมคาย แต่เชื่อหรือไม่ว่านี้แทบไม่เกี่ยวอะไรกับสาระสำคัญของหนังเลย ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการปูเรื่องและแนะนำตัวละครเพียงเท่านั้น 

จุดนี้ผู้เขียนขอชื่นชมในความบ้าบิ่นของแทรันติโนไม่น้อย เพราะหลังจากนั้น หนังก็เริ่มปูเรื่องราวใหม่กับอีกหนึ่งกลุ่มหญิงสาวและสตั้นท์แมนไมค์ เพียงแต่คราวนี้เรารู้แล้วว่าอดีตสตั๊นท์คนนี้เขามีรสนิยมในการถึงจุดสุดยอดแบบไหน 

หลังจากนั้นเรื่องราวใน Dead Proof เริ่มทำงานกับความรู้สึกของผู้ชม ที่จะสนุก ลุ้น ตื่นเต้นในทุกฉากหลังจากนั้น และเฝ้ารอว่าสตั้นท์แมนไมค์จะออกลวดลายบ้าดีเดือดสังหารหญิงสาวกลุ่มใหม่อีกครั้งเมื่อไรและอย่างไร 

เรื่องราวกำลังดำเนินตามรอยบทในครึ่งเรื่องแรก เพียงแต่คราวนี้มันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะกลายเป็นว่ากลุ่มหญิงสาวคู่กรณีคราวนี้กลับเป็นสตั๊นท์แมนหญิงที่กำลังเดินไปทางไปซื้อรถ 1970 Dodge Challenger เพื่อทำท่า ship’s mast ด้วยการให้สตั๊นท์แมนไปนอนที่ฝากระโปรงหน้ารถ โดยแขนทั้งสองข้างต้องจับเชือกซึ่งผูกอยู่หน้าตาซ้าย-ขวา ของตัวรถ จนท่าทางออกมาคล้าย เสากระโดงเรือ ตามชื่อของท่า (พิจารณาจากเรื่องราวของหญิงกลุ่มนี้ก็รู้แล้วว่าพวกเธอแตกต่างและบ้าระห่ำไม่ต่างจากไมค์)

แน่นอนว่าการพบเจอกันในช่วงท้ายของเรื่องจึงลงเอยด้วยการขับรถยนต์ไล่ล่า ฟาดฟันกันผ่านศิลปะของสตั้นท์แมน กลายเป็นซีนไคลแม็กซ์ที่สนุก เร้าใจ สะใจ และจบบริบูรณ์อย่างมีความสุขสมอารมณ์หมายของผู้ชมยิ่งนัก โดยในระหว่างทางแทบไม่ต้องมีบทพูดที่คมคาย ยียวน เหมือนหนังเรื่องที่ผ่านมาของแทรันติโนแต่อย่างใด 

ผู้เขียนจึงมองว่า Dead Proof กลายเป็นหนังที่อยู่ในหมวดที่ดูเอาสะใจ ไม่ต้องคิด วิเคราะห์ ตกผลึกอะไรมากมาย ก็สามารถสนุก ลุ้น ระทึก และเข้าถึงจุดสุดยอดของหนังได้ไม่ต่างจากตัวะครสตั้นท์แมนไมค์และอาร์ลีน

ทั้งหมดนี้คือผลลัพธ์ที่เกิดจากความตั้งใจสองส่วนของแทรันติโน อันดับแรกคือความพยายามในการคาราวะหนังเกรดบียุค 60s-70s ที่มักสร้างเพื่อความบันเทิงล้วนๆ ไม่ต้องคิดมาก ซึ่งแน่นอนว่า Dead Proof เกิดขึ้นโดยเป้าหมายนั้น ถึงขนาดว่าในช่วงแรกมีการวางโปรแกรมฉายเป็นหนังควบร่วมกับ Planet Terror (2007) ให้เหมือนกับการฉายหนังในสมัยก่อนด้วย 

ส่วนที่ต้องเป็นการไล่ล่าด้วยรถยนต์และสตั๊นแมนท์ เป็นเพราะครั้งหนึ่งแทรันติโนเคยได้สังสรรค์กับ ฌอน เพนน์ (Sean Penn) พระเอกชื่อดัง ในระหว่างกำลังขับรถกลับที่พัก แทรันติโนเอ่ยขึ้นมาว่าเขาไม่อยากตายในอุบัติเหตุรถยนต์เหมือนในฉากหนัง Pulp Fiction จึงอยากได้รถที่มีระบบความปลอดภัยที่ดีกว่านี้

แต่พระเอกหนังบู๊ที่นั่งอยู่เบาะข้างๆ กลับแนะนำอะไรที่น่าสนใจมากกว่านั้น โดยเขาบอกว่า 

“นายไปหารถรุ่นไหนก็ได้ แล้วเอาไปให้ทีมสตั๊นท์แมน พร้อมเงินอีกสักหมื่นเหรียญฯ เดี๋ยวพวกนั้นก็จัดการดัดแปลงรถให้นายพร้อมระบบกันตาย (Death Proof) ให้ได้เลย” และนั่นก็กลายเป็นที่มาของเค้าโครงเรื่องทั้งหมดในหนังเรื่องนี้ 

นอกจากที่มาจะน่าสนใจ หนังเรื่องนี้ยังสอดแทรกงานชั้นครูเกี่ยวกับหนังตระกูลไล่ล่ามากมายเอาไว้ให้คนได้เชื่อมโยงทั้ง Dirty Mary Crazy Larry (1974), White Line Fever (1975) และโดยเฉพาะ Vanishing Point (1971) ที่เป็นต้นเหตุให้ตัวละครหญิงกลุ่มที่ 2 ตัดสินใจซื้อรถ 1970 Dodge Challenger

ท้ายสุด สิ่งที่ Dead Proof มอบให้ นอกจากจะเป็นเรื่องของความสนุกแล้ว ผู้เขียนยังมองไปถึงธรรมชาติของมนุษย์ในการหาอะไรมา ‘ยึดเหนี่ยว’ เป็นเกราะกำบังให้ชีวิตมีความหมายและปลอดภัยอยู่เสมอ ตัวละครอาร์ลีนเองอาจจะมี Dead Proof ของตัวเองคือความสวยงามและการเป็นที่หมายปองของชายทั่วเมือง ส่วนสตั๊นท์แมนไมค์คือการได้ทำอะไรโลดโผนให้หัวใจกระชุ่มกระชวยอีกครั้ง 

เหล่านี้คือวิธีการสร้าง Dead Proof หรือเกราะกันตาย ทำให้ตัวเองรู้สึกว่า ‘ชีวิตนี้ยังคงมีคุณค่า’ ให้หายใจต่อไปได้

Tags: , , ,