สำหรับใครที่ติดตามแวดวงคริปโตเคอร์เรนซีมาเป็นเวลานาน คงจะทราบดีว่า ระบบบล็อกเชน (Blockchain) นั้นเป็นระบบการเก็บข้อมูลแบบไร้ตัวกลางที่มีความปลอดภัยมากแค่ไหน เนื่องจากเป็นระบบที่พึ่งพาการตรวจสอบจากผู้คนในเครือข่ายของบล็อกเชน ดังนั้น ความถูกต้องจะเกิดขึ้นหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับคนในเครือข่ายผู้ตรวจสอบทั้งหมด พูดง่ายๆว่า ระบบของบล็อกเชนเป็นระบบที่พึ่งพา ‘ฉันทามติ’ ของผู้คนในเครือข่าย

เมื่อเริ่มพัฒนาบล็อกเชน สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือการสร้างวิธีในการหาฉันทามติ หรือที่นักพัฒนามักเรียกว่า ‘Consensus Algorithm’ โดยสาเหตุที่บุคคลสำคัญในโลกการเงิน และโลกเทคโนโลยีอย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) และเจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) มีข้อกังขาเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในระบบบล็อกเชนของบิตคอยน์ เนื่องจากมี Consensus Algorithm ที่เรียกว่า ‘Proof of Work’ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากมายเหลือเกิน

เนื่องจากการลงฉันทามติจำเป็นต้องมีสิ่งที่สามารถยืนยันได้ว่าคนในเครือข่ายนั้นมีหลักฐานในการยืนยันจริงๆ Proof of Work จึงเป็นระบบที่บล็อกเชนยุคแรกเริ่มนำมาใช้งาน ด้วยการให้เครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายช่วยกันแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์ เพื่อยืนยันความถูกต้องในการทำธุรกรรม หากใครแก้สมการได้ก่อน จะมีสิทธิ์ในการเขียนบล็อกของข้อมูลนั้นลงไป และจะมีคนในเครือข่ายคนอื่นๆ มาช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องให้อีกทอดหนึ่ง วิธีนี้เองคือ ‘การขุด’ 

บล็อกเชนที่ใช้ระบบดังกล่าวอย่างบิตคอยน์, อีเธอร์เรียม (Ethereum) หรือไลท์คอยน์ (Litecoin) ล้วนเป็นบล็อกเชนยุคเก่า โดยวิธี Proof of Work นั้นเป็นวิธีที่ให้ความปลอดภัยสูงมาก ยิ่งคนในเครือข่ายมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ความปลอดภัยสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะหากจะมีคนต้องการเปลี่ยนแปลงธุรกรรมเพียงแค่ 1 ธุรกรรม จำเป็นที่จะต้องใช้กำลังไฟ และเครื่องคอมพิวเตอร์ให้มากกว่า 50% ของเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย ซึ่งตามทฤษฎีแล้วเป็นไปไม่ได้เลย

ถึงแม้ว่า Proof of Work จะเป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูง แต่ด้วยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และกำลังไฟที่ต้องใช้ในระบบอย่างมหาศาล ทำให้นักพัฒนาบล็อกเชนในยุคถัดมาคิดค้น Consensus Algorithm ในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Proof of Stake’ ซึ่งเป็นระบบการยืนยันความถูกต้องที่บล็อกเชนยุคหลังๆ นิยมใช้ ไม่ว่าจะเป็น Cardano (ADA), Polkadot (DOT), หรือว่า Stella (XLM) เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ขัดขวางไม่ให้คริปโตเคอร์เรนซีได้รับการยอมรับในวงกว้าง

การทำงานของ Proof Of Stake คือระบบจะ ‘สุ่ม’ ผู้ที่มีสิทธิ์ตรวจสอบความถูกต้อง และได้เขียนบล็อกข้อมูลลงในระบบของบล็อกเชน แต่ผู้ที่จะมีสิทธิ์ถูกสุ่มนั้นคือผู้ที่นำเหรียญของบล็อกเชนนั้นๆ เข้ามาฝากไว้ตามเกณฑ์ระบบ เพื่อแลกกับโอกาสที่จะถูกสุ่มให้เป็นผู้ยืนยันความถูกต้อง เพราะฉะนั้น หมายความว่าใครที่ฝากเหรียญมากกว่าก็จะมีโอกาสถูกเลือกมากกว่านั่นเอง แต่หากผู้ที่ได้รับสิทธิ์ทำการเขียนข้อมูลที่ไม่ถูกต้องลงไป หรือพยายามที่จะโกงระบบ เหรียญที่ฝากไว้ก็จะถูกริบ โดยแต่ละบล็อกเชนก็มีกฎเกณฑ์ในการเลือกของตัวเอง ขึ้นอยู่กับการเขียน Smart Contract อันเปรียบเสมือนกับรัฐธรรมนูญของบล็อกเชนตัวนั้น

ไม่ว่าจะเป็น Proof of Work หรือว่า Proof of stake ผู้ที่มีสิทธิ์ในการเขียนบล็อกใหม่ก็จะได้รับเหรียญของบล็อกเชนบางส่วนเป็นผลตอบแทน ซึ่งผลตอบแทนนี้เอง ที่เป็นแรงจูงใจให้ผู้คนต้องการที่จะได้เป็นผู้เขียนบล็อก และยืนยันความถูกต้องของระบบบล็อกเชน

ด้วยวิธีนี้ ทำให้ปัญหาด้านการใช้พลังงานนั้นหมดไป และมีความรวดเร็วในการทำธุรกรรม เนื่องจากแทนที่จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมหาศาล กลับใช้เพียงแค่เครื่องเดียวในการยืนยันความถูกต้องในระบบ ถึงแม้ว่าจะขัดกับระบบกระจายศูนย์ (Decentralize) ที่เป็นแก่นแท้ของคริปโตเคอร์เรนซีตัวแรกของโลกอย่างบิตคอยน์ก็ตาม 

แม้ปัจจุบัน Proof of Work และ Proof of stake จะยังคงมีปัญหาของตัวเอง แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อนาคตข้างหน้าอาจเราอาจจะมี Consensus Algorithm ที่ดีกว่า เร็วกว่า ปลอดภัยกว่า และกระจายศูนย์กว่าก็เป็นได้

Tags: , ,