หากพูดถึงวง Idol หรือ Girl Group แนวหน้าในประเทศไทย ชื่อของ BNK48 คงเป็นที่รู้จักและคุ้นหูในช่วงที่ผ่านมา หรืออย่างน้อยๆ  ก็น่าจะพอได้ยินเพลงที่มีชื่อเสียงของวงอย่าง คุกกี้เสี่ยงทาย (Koisuru Fortune Cookie), เธอคือ…เมโลดี้ (Kimi wa Melody), Heavy Rotation และอื่นๆ อีกมากมาย

ภาพกลุ่มเด็กสาวที่มีจำนวนมากที่ทั้งร้องและเต้นบนเวที ในบทเพลงว่าด้วยการให้กำลังใจ ความรักใสๆ การตามหาความฝันและวิ่งตามมันด้วยใจไขว่คว้า เหล่านี้มักเป็นภาพจำของ BNK48 ในสายตาของใครหลายคนมาตลอด

จากวันที่ 2 มิถุนายน 2560 ถึงวันนี้ เป็นเวลามากกว่า 6 ปี 4 เดือน ที่วง BNK48 เปิดตัวในนามวงน้องสาวต่างประเทศของ AKB48 โดยเป็นวงที่มาด้วยแนวคิด ‘ไอดอลที่คุณสามารถพบปะได้’ หรือ ‘ไอดอลสาวข้างบ้าน’ ซึ่งจากสมาชิกรุ่นที่ 1 ที่มี 29 คน ในปัจจุบัน BNK48 ก็มีสมาชิกรุ่นต่อยอดมาจนถึงรุ่นที่ 4 แล้ว ซึ่งถือเป็นเวลาที่ล่วงเลยไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การริเริ่มปั้น ‘ไอดอล’ ยังดูเป็นโมเดลที่ทำได้ยากและมีความเสี่ยงในแง่ของการลงทุนทำธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงบริบทที่ความนิยมของเพลงแนว T-POP ในตลาดเพลงไทยยังไม่แพร่หลายเท่าทุกวันนี้

ทว่าในปัจจุบัน เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า BNK48 เป็น Girl Group อีกวงหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ หากวัดจากจำนวนแฟนคลับที่ยังเหนียวแน่น รางวัลต่างๆ หรือกระทั่งโอกาสในการชิมลางงานอื่นๆ ในวงการบันเทิงอีกมากมายก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จเหล่านั้น

จึงอาจกล่าวได้ว่า บุคคลหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญในการวางรากฐาน กัดฟันต่อสู้ในช่วงที่วงยังไม่ได้เป็นที่รู้จักหรือได้รับการยอมรับในวงกว้าง รวมถึงผู้เป็นทั้ง ‘เบื้องหน้า’ และ ‘เบื้องหลัง’ เป็นคนสำคัญของวงมาตลอด คนๆ คือเหล่าสมาชิกของวง ซึ่งรวมไปถึง ‘แคปเฌอ’ หรือ เฌอปราง อารีย์กุล กัปตันของวง ที่ตอนนี้ยังรับบทเป็นชิไฮนิน (ผู้จัดการวง) คนปัจจุบัน

‘เฌอปราง’ ถือเป็นตำนานของวงอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยหลายสิ่งหลายอย่างที่เธอทำเพื่อ BNK48 มาตลอด สมาชิกของวงหลายคนถึงกับยกย่องว่า เธอเป็นบุคคลผู้ซึ่งทุ่มเทให้กับ BNK48 หรือกระทั่ง 48 Group ในประเทศไทยอย่างแท้จริง ดังนั้นเมื่อเธอตัดสินใจวางบทบาทในการเป็นไอดอล เพื่อก้าวสู่บทบาทใหม่ในฐานะผู้จัดการวง BNK48 อย่างเต็มตัว 

จึงเกิดเป็น ‘Depart’ Cher Cherprang BNK48’s Graduation concert’ คอนเสิร์ตเพื่ออำลาเธอในฐานะกัปตันและตำนานของวงในวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นอย่างสมเกียรติ สง่างาม และสมศักดิ์ศรีของเธอที่สุด จนกระทั่งแฟนคลับของวงหลายคนถึงขั้นยกให้เป็น ‘คอนเสิร์ตที่ดีที่สุด’ ที่ BNK48 เคยมีมา

วันนี้ The Momentum ขอเชิญชวนแฟนคลับวง BNK48 และผู้อ่านทุกคน ขึ้นเครื่องบินเที่ยวบิน BNK 072 มุ่งหน้าสู่ปลายทาง SHN 4812 ผ่านการย้อนชมภาพความประทับใจของคอนเสิร์ตอำลาซึ่งเป็นการจากกันอย่างงดงามที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ 48Group ประเทศไทย

ภาพ: @bnk48official

‘Con Grad พี่เฌอ’ และ ‘Congrat พี่เฌอ’

หลายคนอาจสงสัยว่า เพราะอะไรในคอนเสิร์ตอำลาของกัปตันวง BNK48 จึงใช้คำว่า ‘จบการศึกษา’ (Graduation) เพื่อเป็นการประกาศว่าจะลาออกและไม่ได้เป็นสมาชิกของวงแล้ว เหตุผลเพราะว่าในธรรมเนียมของ 48 Group นั้นมองว่า การที่เข้ามาเป็นไอดอลในวงนี้ คล้ายกับการเข้ามาเป็นนักเรียนในโรงเรียนๆ หนึ่ง การฝึกฝนและสั่งสมประสบการณ์จึงเปรียบเสมือนการเรียนในโรงเรียน และเมื่อถึงคราวต้องอำลาและแยกย้ายเพื่อเดินไปตามทางของแต่ละคน คำว่าประกาศจบการศึกษาจึงหมายถึงการบอกว่า ‘พร้อมแล้ว’ ที่จะเติบโตออกจากโรงเรียนนี้ไปผจญภัยในโลกกว้างหลังจากนี้

ซึ่งก่อนหน้านี้ ช่วงเดือนตุลาคมจนถึงพฤศจิกายน 2565 เป็นระยะเวลาที่สัญญาการทำงานของ BNK48 รุ่นที่ 1 เริ่มหมดลงในเวลาไล่เลี่ยกัน ในตอนนั้นจึงเกิดปรากฏการณ์ ‘แกรดยกรุ่น’ และมีคอนเสิร์ตอำลา BNK48 1st Generation Concert ‘Dan D’1ion’ ซึ่งเป็นการรวมตัวครั้งสุดท้ายของสมาชิก BNK48 รุ่นที่ 1 ทั้ง 22 คน ในวันที่ 18 ธันวาคม 2565 โดยในตอนนั้นมีสมาชิกรุ่นที่ 1 เพียง 3 คนเท่านั้นที่ต่อสัญญาอยู่กับวง ได้แก่ เฌอปราง, มิโอริ (มิโอริ โอคุโบะ) และซัทจัง (สวิชญา ขจรรุ่งศิลป์)

กลับมาที่คอนเสิร์ตวันนี้ เมื่อถึงเวลาบ่ายสามโมงที่ตะวันเริ่มคล้อย ที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี ได้เริ่มมีเสียง Overture ซึ่งเป็นเพลงอินโทรที่จะเปิดขึ้นในการเริ่มต้นทุกการแสดงของวงดังขึ้นมา เฌอปรางปรากฏกายที่เวทีกลาง ด้วยชุดเซ็มบัตสึ ‘สัญญานะ’ ซึ่งเป็นเพลงแกรดของเธอและเป็นเพลงที่เฌอปรางมีส่วนร่วมทั้งร้องและเต้นเป็นเพลงสุดท้ายในฐานะเมมเบอร์

เพลงแรกของการแสดงเริ่มต้นขึ้นด้วย ดาวดวงแรก (Hajimete no Hoshi) ซึ่งเรียกเสียงตอบรับจากแฟนคลับในฮอลล์ได้เป็นอย่างดี ด้วยการปรากฏตัวที่เวทีหลักของเหล่าสมาชิกรุ่นที่ 1 ที่ประกาศจบการศึกษาไปแล้วถึง 6 คน ได้แก่ ปัญ (ปัญสิกรณ์ ติยะกร), ตาหวาน (อิสราภา ธวัชภักดี), เจนนิษฐ์ (เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ), ปูเป้ (จิรดาภา อินทจักร), มิวสิค (แพรวา สุธรรมพงษ์) และโมบายล์ (พิมรภัส ผดุงวัฒนะโชค) 

ซึ่งทั้ง 6 คนนั้นมีนัยยะสำคัญในแง่ของการเริ่มก่อร่างสร้างตัวของ BNK48 กล่าวคือ ปัญและเจนนิษฐ์ ก็เป็นกัปตันและรองกัปตันทีม BIII, ตาหวานและปูเป้ ในฐานะกัปตันและรองกัปตันทีม NV, มิวสิค ในฐานะเซ็นเตอร์เพลง อยากจะได้พบเธอ (Aitakatta) ซึ่งเป็นเพลงเปิดตัวของวง และโมบายล์ ในฐานะเซ็นเตอร์เพลง คุกกี้เสี่ยงทาย (Koisuru Fortune Cookie) ซึ่งเป็นเพลงซิงเกิลที่ 2 และเป็นเพลงที่ทำให้ทุกคนรู้จักกับวง BNK48 ซึ่ง ดาวดวงแรก เป็นบทเพลงที่ว่าด้วย การมองย้อนถึงสิ่งที่มีอยู่ในวันนี้ผ่านการเดินทางแสนยาวไกลนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดาย แต่อย่างไรก็ตามจะมุ่งมั่นให้ถึงที่สุด จนกว่าโอกาสนี้จะเป็นของเราในสักวัน 

จากสายตาผู้เขียน ภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าคืออดีตสมาชิกทั้ง 6 คนยืนรอรับกัปตันของพวกเขาที่กำลังเดินมาจากเวทีกลาง ถึงแม้ว่าจะไม่มีประโยคใดที่กล่าวออกมา แต่องค์ประกอบทั้งหมดในเวทีนี้เหมือนกระซิบบอกว่า ‘เรามารับพี่เฌอแล้วนะ’ ซึ่งนับเป็นบรรยากาศที่อบอุ่นและแฝงฝังไปด้วยความหมายตั้งแต่แรกเริ่ม ก่อนที่พวกเขาจะลงจากเวทีไป

ต่อมาเป็น Set List อุ่นเครื่อง จากเฌอปรางและสมาชิกปัจจุบันของ BNK48 ซึ่งมัดรวมเพลงพิเศษที่หาฟังได้ยาก เพราะโดยปกติแล้วเพลงเหล่านี้มักจะอยู่ในการแสดงในโรงละครปิดของวงเท่านั้น มาให้แฟนคลับได้รับชมกันในวันนั้น ไม่ว่าจะเป็น เสียงระฆังแห่งความฝัน (Saishuu Bell ga Naru), ลุยเข้าไป (Yuuki No Hammer) และต่อด้วย อยากจะได้พบเธอ (Aitakatta) และ วันแรก (Shonichi) ซึ่งเป็นเพลงที่ก็กลายเป็นของหาฟังยากไปแล้วในทุกวันนี้

ภาพ: @bnk48official

สำหรับผู้เขียนในฐานะแฟนคลับ BNK48 รุ่นที่ 1 ไม่เคยคิดมาก่อนว่าการได้ฟัง อยากจะได้พบเธอ และ วันแรก ซึ่งเป็นเพลงสำคัญของรุ่นที่ 1 ผ่านการแสดงด้วยสมาชิกปัจจุบันนั้นจะทำให้เรารู้สึกท่วมท้นมากขนาดนี้ โดยเฉพาะกับเพลง ‘วันแรก’ ที่สำหรับเราอาจเรียกได้ว่าเป็นเพลงประจำรุ่นของ BNK48 รุ่นที่ 1 และเป็นเพลงที่มีประโยคสำคัญ 

“ความฝันต้องเกิดหยากเหงื่อจึงได้มา ใช้เวลาและค่อยเป็นค่อยไปดอกไม้จึงบาน คำว่าพยายาม ไม่เคยทำร้ายสักคนที่ตั้งใจ” 

เมื่อเพลงนี้ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยสมาชิกรุ่นปัจจุบัน มันทำให้เราได้เห็นและรู้สึกจริงๆ ว่าวงเราเติบโตขึ้นมากว่าแต่ก่อนมากแค่ไหน ผสมกับทำให้เราหวนคิดถึงชีวิตส่วนตัวของตัวเองเล็กน้อย ว่าเมื่อก่อนเวลาท้อใจและมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องใดๆ โดยเฉพาะกับเส้นทางในอนาคตและความฝันของตัวเองเ ก็มักจะมีเพลงนี้เป็นเพื่อนให้กำลังใจเสมอ ฟังวนไปจนกว่าจะเข้มแข็งและมีกำลังใจ 

สิ่งหนึ่งที่เราคิดได้ตอนนั้นคือ คนเราก่อนจะประสบความสำเร็จ ทุกคนย่อมต้องผ่าน ‘วันแรก’ มาก่อนเสมอ เช่นดังวง BNK48 ในตอนนั้นที่ตอนนั้นถึงแม้จะมีกระแสตอบรับอย่างดีจากเพลงคุกกี้เสี่ยงทายแล้ว แต่ความท้าทายก็คือจะสามารถรักษาความนิยมของวงต่อไปได้ไหม จึงเกิดเป็นเพลงนี้ที่นำเสนอในมุมของเด็กสาวผู้มีความฝัน ด้วยความรักในเสียงดนตรี ความพยายามในการเป็นไอดอลที่สามารถอยู่บนเวทีอย่างเฉิดฉาย และส่งต่อความสำเร็จนี้จากรุ่นสู่รุ่น โดยนัยยะของรุ่นที่ 1 ที่เริ่มต้นทำเพลงนี้อาจหมายถึงสานต่อ 48 Group ให้สามารถเริ่มต้นได้อย่างดีในประเทศไทย แต่เมื่อเพลงนี้ถูกถ่ายทอดด้วยสมาชิกรุ่นที่ 2 ขึ้นไป จึงอาจมองได้เช่นกันว่าเป็นการที่สมาชิกรุ่นที่ 2, 3 และ 4 จะพยายามสานต่อและรักษาความสำเร็จของวงเอาไว้จากที่พี่ๆ รุ่นที่ 1 ได้วางรากฐานเอาไว้

หลังจากพักเบรกพอหอมปากหอมคอ ก็ได้เข้าสู่เซ็ต ‘ของหายาก’ ในองค์ที่สอง ซึ่งเริ่มต้นโดยเพลง Tomodachi ja nai ka? เวอร์ชันภาษาไทย ซึ่งเพลงนี้เป็นอีกเพลงสำคัญของเฌอปราง เพราะเป็นเพลงที่แฟนคลับของเธอได้ร่วมใจช่วยกันโหวตให้เฌอปรางได้ไปถึงอันดับที่ 39 ในการเลือกตั้งเวิลด์เซ็มบัตสึครั้งใหญ่อย่าง AKB48 53rd Single World Senbatsu General Election ของวงพี่สาวอย่าง AKB48 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดที่สมาชิก BNK48 เคยไปถึง ต่อด้วยเพลง เสียงหัวใจตึกตัก (Hatsukoi yo, Konnichiwa) แสดงร่วมกับ วี (วีรยา จาง) และจีจี้ (ณัฐกุล พิมพ์ธงชัยกุล) สมาชิกรุ่นที่ 2, เพื่อน (Tomodachi) แสดงร่วมกับ อิสึรินะ (รินะ อิซึตะ) และ มิโอริ สมาชิกรุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นขนานแท้ทั้ง 2 คนในวง โดยทั้งสองคนเปิดเผยอย่างชวนซึ้งใจว่า เฌอปรางเป็น ‘เพื่อน’ คนแรกๆ ของทั้งสองคนที่เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะมีกำแพงภาษาอยู่บ้าง แต่เฌอปรางก็เป็นเพื่อนที่ดีของทั้งคู่มาเสมอตลอดระยะเวลาหลายปี ต่อด้วย ก็เพราะว่าชอบเธอ (Kimi no Koto ga Suki Dakara) ที่เป็นเพลงที่น้องเล็กของรุ่นที่ 1 อย่าง ‘ซัทจัง’ ได้เป็นเซ็นเตอร์จากการเลือกตั้งครั้งแรกของวง โดยซัทจังกล่าวว่าดีใจมาก ที่ได้มีโอกาสแสดงเพลงนี้เต็มเพลงในงานใหญ่อีกครั้ง ซึ่งซัทจังยังเป็นสมาชิกคนสุดท้ายของรุ่นที่ 1 ที่ยังคงอยู่กับวง และยังไม่ประกาศจบการศึกษาอีกด้วย

ปิดท้ายเบรคนี้ด้วย ทุ่งดอกไม้ยามรัตติกาล (Oshibe to Meshibe to Yoru no Chouchou) ซึ่งเป็นอีกเพลงที่เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าแฟนคลับหลายคนแต่หารับชมได้ไม่ง่ายนัก  เฌอปรางปรากฏตัวในชุดสีขาว และทำการแสดงคู่กับ ป๊อปเป้อ (พิณญาดา จึงกาญจนา) สมาชิกรุ่นที่ 3 ในชุดสีดำ ซึ่งเป็นคนที่แฟนคลับรู้กันดีว่าป๊อปเป้อชื่นชมเฌอปรางมากๆ เพลงนี้จึงมักเป็นเพลงพิเศษที่เหล่าแฟนคลับมักรอลุ้นว่า ‘คู่ขาวดำ’ ในการจะทำการแสดงคู่กันแต่ละครั้งนั้นจะเป็นใคร ทว่าความพิเศษไม่จบแค่นั้น เพราะจู่ๆ ในการแสดงรอบนี้ก็มีการปรากฏตัวของ ‘สีดำอีกคน’ มาด้วย ซึ่งนั่นก็คือ เหมาเว่ยเจีย (Mao WeiJia) หรือ ‘เหมาเหมา’ (MaoMao) กัปตันวง AKB48 Team SH ที่ชื่นชอบเฌอปรางมากๆ อีกคนมาปรากฏตัวในการแสดงด้วย นั่นจึงเรียกเสียงฮือฮาจากแฟนคลับได้เป็นอย่างดี เพราะไม่บ่อยนักที่จะมีการแสดงในรูปแบบพิเศษเช่นนี้

 

‘รุ่น 1’ คัมแบ็กอย่างอบอุ่น

ต่อมาเป็นเพลง Beginner ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่เฌอปรางเป็นเซ็นเตอร์ จากการชนะการเลือกตั้งในงาน BNK48 6th Single Senbatsu General Election ซึ่งเป็นงานเลือกตั้งครั้งแรกของวง BNK48 กล่าวได้ว่า เป็นอีกเพลงหนึ่งที่มีความปลุกใจทั้งเนื้อร้องและทำนอง โดยความพิเศษคือมีการเพิ่ม Intro Dance เข้าไป ทำให้เพลงนี้ยิ่งทวีคูณความเท่มากขึ้นไปอีก

ต่อเนื่องอารมณ์ปลุกใจกันด้วยเพลง River ซึ่งเป็นเพลงจากอัลบั้มแรกของวง ว่าด้วยกาเปรียบเทียบอุปสรรคปัญหาเหมือนแม่น้ำที่ขวากกั้น แต่ให้ยึดถือในความเชื่อมั่นในตัวเอง ยังไงก็จะผ่านไปได้ โดยความพิเศษ คือ ช่วงกลางเพลง อร (พัศชนันท์ เจียจิรโชติ) และน้ำหนึ่ง (มิลิน ดอกเทียน) สมาชิก BNK48 รุ่นที่ 1 ได้ปรากฏตัวบนเวทีช่วงกลางเพลง ซึ่งก็เรียกเสียงดีใจจากแฟนคลับมากมายเช่นเดียวกัน เพราะว่าเพลงนี้นอกจากจะเป็นเพลงหลักในอัลบั้มแรกของวง ซึ่งปล่อยต่อจากเพลงวันแรก ก็เรียกได้ว่าในตอนนั้นเพลงนี้ถือเป็น ‘ยุคทอง’ ของทั้งอรและน้ำหนึ่ง ที่สำหรับแฟนคลับของทั้งสองคนแล้ว เพลงนี้จึงมีความหมายมากๆ เพราะเพลงนี้เป็นช่วงที่ทั้งคู่เริ่มมีคนรู้จักในวงกว้างหลังจากเดบิวต์

ถัดไปเป็นเพลง สายซับ เพลงสบายๆ ว่าด้วย ‘ครอบครัว’ ในฐานะคนพิเศษที่คอยสนับสนุนเราอยู่ไม่ห่าง และเป็นเพลงประกอบซีรีส์ 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ (2562) โดยมีเฌอปราง ปัญ โมบายล์ และแก้ว (ณัฐรุจา ชุติวรรณโสภณ) ซึ่งเป็นสมาชิกรุ่นที่ 1 ทั้งหมดขึ้นแสดงด้วยกัน

ผู้เขียนคิดในใจหลังจากสองเพลงนี้จบลง ‘เอาล่ะ รุ่น 1 มาแน่’

ซึ่งเป็นการคาดเดาที่ถูกต้องที่สุด เพราะเพลงต่อไปคือ Iiwake Maybe ซึ่งเป็นเพลงที่ถูกปล่อยมาเป็นซิงเกิลหลังจากที่รุ่นที่ 1 แกรดยกรุ่นไปไม่นานนัก ในตอนนั้นเหล่าอดีตสมาชิกหลายคนโอดครวญกันเองในโซเชียลมีเดียว่า เสียดายที่เพลงนี้มาหลังจากพวกเธอประกาศจบการศึกษาไปแล้ว เพราะว่าเป็นหนึ่งในเพลงสำคัญของวง AKB48 ที่พวกเธอหลายคนชื่นชอบ โดยเฉพาะ ‘มิวสิค’ เซ็นเตอร์คนแรกของวง ที่ในตอนออดิชันเข้าวงนั้นเธอได้ร้องเพลงนี้เป็นภาษาญี่ปุ่นจนเข้าตากรรมการและได้ผ่านเข้ามาเป็นสมาชิกเสียด้วยซ้ำ ซึ่งในวันนี้เฌอปรางเลยสานฝันให้ โดยการให้โชว์นี้เป็นการแสดงทั้งร้องและเต้นด้วยสมาชิกรุ่นที่ 1 ทั้งหมดถึง 16 คน ซึ่งสำหรับเราในฐานะแฟนคลับรุ่น 1 ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเพลงที่มีความรู้สึกท่วมท้นอย่างมากขณะรับชม เหมือนกับฝันของเราเป็นจริง 

ช่วง Talk ต่อมา เราได้ยินรุ่นที่ 1 ทั้ง 16 คนบนเวทีได้แนะนำตัวด้วยประโยคที่คุ้นเคยอีกครั้ง ในสายตาเราทุกคนเติบโตขึ้นอย่างงดงาม และสำหรับตัวเราเอง เรามองสมาชิก BNK48 รุ่นที่ 1 เปรียบเสมือน ‘พี่สาว’ ที่เติบโตมาด้วยกันในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ซึ่งถึงแม้ว่าตอนนี้จะต่างคนต่างแยกย้ายไปตามทางของตัวเองแล้ว แต่ก็ยังหวังดีต่อกันเสมอ และจนกว่าเราจะมีโอกาสได้พบกันใหม่ในเวลาที่เป็นใจอีกครั้ง

เหล่าอดีตสมาชิกเล่าว่า เฌอปรางเป็นคนส่งข้อความชวนสมาชิกรุ่น 1 ทุกคนมาคอนเสิร์ตครั้งนี้เองกับมือ ซึ่งบ่งบอกถึงความใส่ใจที่กัปตันมีให้กับเพื่อนๆ ทุกคนเสมอ โดยสมาชิกที่แสดง Iiwake Maybe ทุกคนมาจากความสมัครใจ และตำแหน่งในการยืนมาจากการจับฉลาก ราวกับ ‘ล็อกมง’ เพราะเซ็นเตอร์ที่ยืนในเพลงนี้คือ ‘มิวสิค’ ส่วนอรบอกว่าไม่เคยดีใจที่ได้ยืนแถวหลังขนาดนี้มาก่อน เพราะเพลงนี้เต้นยากมาก เน้นให้เพื่อนข้างหน้ายืนบังเอา ทั้งหมดนี้เป็นบรรยากาศสนุกสนานปนซึ้งใจที่เกิดขึ้น หลังจากที่พวกเธอไม่ได้เจอกันอย่างพร้อมหน้าเป็นเวลานาน

‘ไม้ที่ส่งต่อ’ ให้กับสมาชิกรุ่นหลัง

เบรกถัดมาของคอนเสิร์ตเริ่มต้นขึ้นโดยเพลง วันใหม่ (Shoujotachi yo) ซึ่งเป็นเพลงประจำรุ่นที่ 4 ของ BNK48 และเป็นรุ่นล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปีนี้ เนื้อหาของเพลงเล่าถึงกลุ่มเด็กสาวที่เปรียบว่า ตัวเองเป็นดาวดวงเล็กๆ ที่กำลังพยายามเติบโตและเปล่งประกายจนวันหนึ่งกลายเป็นดาวดวงใหม่ในท้องฟ้า โดยที่มีเพื่อนๆ ในรุ่นทั้งหมดคอยเป็นกำลังใจและเดินหน้าไปสู่จุดหมายด้วยกัน บนเวทีเฌอปรางปรากฏตัวอยู่ตรงกลาง ห้อมล้อมไปด้วยสมาชิกรุ่นที่ 4 ทุกคนร้องและเต้นด้วยกัน

ต่อด้วยเพลง First Rabbit เพลงประจำรุ่นของ BNK48 รุ่นที่ 3 ว่าด้วยการเดินทางตามหาความฝัน แม้ว่าจะมีวันที่ท้อหรือได้พบเรื่องร้ายมากมายเพียงใด แต่เหล่านั้นจะทำให้เราเติบและโตขึ้นไป ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวและหวั่นไหว ขอเพียงแค่ใจสู้และก้าวเท้าออกไปเผชิญกับโลกกว้าง เช่นดังกระต่ายตัวแรกของฝูง ซึ่งสมาชิกรุ่นนี้เรียกได้ว่า เป็นสมาชิกรุ่นแรกที่เฌอปรางดูแลอย่างเต็มตัว เพราะในช่วงที่รุ่น 3 เดบิวต์นั้น เฌอปรางได้มีส่วนร่วมมากมายในแต่ละย่างก้าวของน้องๆ เนื่องจากรุ่น 3 เป็นรุ่นที่จะเน้นการทำกิจกรรมแสดงในโรงละครของวงเป็นหลัก ซึ่งในส่วนนี้ตอนนั้นเฌอปรางก็รับหน้าที่ ‘โปรดิวเซอร์’ ของสเตจ Ganbare! Kenkyuusei ซึ่งเป็นสเตจแรกของรุ่น 3 ในช่วงแรกเริ่มอย่างเต็มตัว จนกระทั่งในวันนี้ ที่ 2 สมาชิกจากรุ่นที่สาม อย่าง ฮูพ (ปาฏลี ประเสริฐธีระชัย) และ ป๊อปเป้อ ได้เลื่อนขั้นเป็นกัปตันทีม BIII และรองกัปตันทีม NV นั่นทำให้กล่าวได้เลยว่า รุ่น 3 คือรุ่นที่เฌอปั้นมาเองกับมือจริงๆ โดยที่เพลงนี้เฌอปรางก็แสดงร่วมกับสมาชิกของรุ่น 3 เช่นกัน

สุดท้ายของโชว์ แน่นอนว่าเป็นเพลง ฤดูใหม่ (Tsugi no Season) เพลงประจำรุ่นของ BNK48 รุ่นที่ 2 ว่าด้วยการเข้ามารับไม้ต่อสานความนิยมที่รุ่นพี่ได้กรุยทางสร้างเอาไว้ และกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการวางรากฐานวงในช่วงแรกต่อไป ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นรุ่นที่มีความใกล้ชิดกับรุ่นที่ 1 มากที่สุด ทั้งในแง่ความที่ระยะเวลาในการเข้ามาเป็นสมาชิกไล่เลี่ยกัน 

‘เพลงประจำรุ่นยังคงขลังอยู่เสมอเลย’ นี่คือสิ่งแรกที่ผุดมาในหัวหลังจากที่เราดูโชว์ช่วงนี้จบ

ความพิเศษอย่างหนึ่งของเพลงประจำรุ่น คือ หากไม่ได้เป็นสมาชิกในรุ่นนั้นๆ เราก็อาจไม่ค่อยมีโอกาสเห็นสมาชิกต่างรุ่นมาขึ้นแสดงต่างเพลงในคอนเสิร์ตใหญ่ๆ เท่าไรนัก จึงบอกเลยว่าเป็นอีกหนึ่ง ‘ของหายาก’ ที่ไม่ได้มีโอกาสหารับชมได้ง่ายๆ

“เฌอมีคนกลุ่มหนึ่ง ที่อยากแนะนำให้ทุกคนรู้จัก” นี่คือคำพูดติดปากของกัปตันวง ซึ่งเมื่อเราได้ยินประโยคทำนองนี้ก็น่าจะพอได้รู้เลยว่า ในวันนี้จะมีการเปิดตัว BNK48 รุ่นใหม่ และหลังสิ้นเสียงประโยคนั้นก็จะเป็นการเปิดตัวสมาชิกรุ่นใหม่ในตอนนั้นๆ 

สมาชิกรุ่นใหม่ที่เข้ามาจากการเฟ้นหาเด็กสาวที่มีความฝัน พวกเขาล้วนเป็นเลือดใหม่ที่จะเข้ามาเป็นกำลังพลที่จะเข้ามาช่วยซัพพอร์ตและทำให้วงก้าวต่อไป 

ภาพ: @bnk48official

หากให้เปรียบเทียบ อย่างที่บอกว่าสำหรับผู้เขียน รุ่น 1 รู้สึกเหมือนพวกเขาเป็นพี่สาว

รุ่น 2 อาจเปรียบได้กับ ‘เพื่อน’ เพราะช่วงที่เริ่มตามวงอย่างจริงจัง เป็นช่วงที่รุ่นสองเริ่มต้นกิจกรรมวงพอดี

รุ่น 3 และรุ่น 4 สำหรับเลยอาจเทียบได้กับ ‘น้องสาว’ ที่ถึงแม้พักหลังเราจะไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดมากนัก แต่การมองดูพวกเขาเติบโตก็ทำให้รู้สึกอยากเอาใจช่วยต่อๆ ไป

หากอยากเห็นว่าการเติบโตของวงมีพัฒนาการมาขนาดไหน สิ่งที่อยู่ทั้งหมดทุกอย่างในคอนเฌอปรางนี้เป็นสิ่งที่ตอบคำถามนั้นได้อย่างดี และการที่ได้เห็นเฌอปรางแสดงร่วมกับสมาชิกทุกคนในวันนี้ ราวกับเป็นสิ่งที่กัปตันของเรากำลังบอกเป็นนัยๆ ว่า ‘หลังจากนี้ก็ฝากด้วยนะ’

‘ซากุระที่กำลังเบ่งบานบอกเราให้รู้และเตรียมใจ’ กับการจากลาครั้งหนึ่ง ที่งดงามที่สุดในประวัติศาสตร์ 48G ประเทศไทย

ช่วงโค้งสุดท้ายของคอนเสิร์ต มีจากเปิด VTR ย้อนเวลาเล่าความเป็นมาของเฌอปรางตั้งแต่ออดิชันจนถึงปัจจุบัน ซึ่งล้อกับชื่อคอนเสิร์ตในครั้งนี้ 

Depart’ Cher เป็นการเพิ่มลูกเล่นของคำว่า Departure ซึ่งแปลว่าการออกเดินทาง โดยเที่ยวบิน BNK 072 หมายถึง หมายเลขในวันออดิชันของเธอ และ SHN 4812 หมายถึงการก้าวไปเป็นผู้จัดการ (Shihainin) ที่ถ้าอ่านแบบเล่นคำออกเสียงในภาษาญี่ปุ่น จะได้ความหมายออกมาเป็นตัวเลข 4-8-1-2

เมื่อ VTR จบลง เฌอปรางได้ขึ้นโซโลร้องเพลง เธอที่เป็นเธอ ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ให้เธอในโอกาสพิเศษนี้ ว่าด้วยการที่อาจจะไม่ได้เป็นคนที่เก่ง ดี หรือสมบูรณ์แบบไปตามแบบฉบับของใคร แต่เธอที่เป็นเธอนั้นมีค่าที่สุดในแบบของตัวเอง

ต่อมา บนเวทีสมาชิกรุ่นที่ 1 ปรากฏตัวขึ้นทุกคนด้วยเพลง Jiwaru DAYS ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายในการรวมตัวของสมาชิกรุ่นที่ 1 ก่อนจะแยกย้าย ความพิเศษคือ สมาชิกรุ่นที่ 1 นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ 22 คนสุดท้าย แต่ยังรวมไปถึงเพื่อนสมาชิกรุ่นเดียวกันที่จบการศึกษาไปก่อนหน้าอย่าง เมษา (เมษา จีนะวิจารณะ), คิทแคท (รรษมณฑ์ พงษ์วานิช), น้ำหอม (คริสติน ลาร์เซ่น), แคน (นายิกา ศรีเนียน) และนิ้ง (มนัญญา เกาะจู) กลับมาร่วมเวทีร้องเพลงอีกครั้ง

ภาพ: @bnk48official

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญช่วงท้ายสำหรับผู้เขียนคือเพลง ความทรงจำและคำอำลา (Sakura no Hanabiratachi) ซึ่งเป็นอีกเพลงสำคัญในธรรมเนียมของ 48 Group เพราะเป็นเพลงที่สุดท้ายของการแสดงใน set list ของเสตจ PARTY ga Hajimaru yo ในโรงละครของวง โดยเพลงนี้จะเป็นเพลงที่ทำนองช้า ว่าด้วยความทรงจำที่มีค่าและการอำลาเพื่อแยกย้ายไปตามเส้นทางของตัวเอง ดังนั้นเพลงนี้จึงจะเศร้าเป็นพิเศษหากอยู่ในโชว์จบการศึกษาของใครสักคน

ซึ่งเมื่อการจากลาในครั้งนี้เป็นของเฌอปราง บุคคลผู้เป็นทุกอย่างให้ BNK48 แล้ว เพลงนี้จึงเต็มไปด้วยหยาดน้ำตาของทั้งเฌอปราง สมาชิกและอดีตสมาชิก รวมถึงแฟนคลับทุกคนที่อยู่ในฮอลล์ธันเดอร์โดม

เพลงนี้ทำการแสดงด้วยสมาชิกของวงทั้งเก่าและใหม่ โดยที่เหล่าอดีตสมาชิกที่ประกาศจบการศึกษาไปแล้วได้ยืนล้อมส่งเธอจากเวทีกลาง และสมาชิกรุ่นที่ 2-4 ยืนรอรับจากเวทีหลัก เมื่อท่อนสุดท้ายของเพลงขึ้นมา 

“กลีบดอกไม้เป็นดั่งน้ำตาร่วงหล่นอย่างช้าช้าไม่เคยจาง อาจเป็นความทรงจำเพียงบางบางแต่ก็งดงามไม่เคยจะเลือน จะข้ามบันไดแห่งภูผาให้ทุกอย่างเป็นเสมือน เริ่มต้นวันใหม่พร้อมเป็นผู้ใหญ่ บ๊ายบายก่อนนะเพื่อน”

อาจกล่าวได้ว่าโชว์นี้เป็นโชว์ที่มีคนขึ้นแสดงมากที่สุดโชว์หนึ่งในประวัติศาสตร์ 48G ในไทย ซึ่งเต็มไปด้วยหยาดน้ำตา และเป็นการจากลาที่สวยงามจริงๆ

ต่อด้วย VTR อีก 1 ตัวที่รวบรวมคลิปจากเหล่าสมาชิกวงพี่สาววงอื่นๆ มาส่งคำอวยพรและคำแสดงความยินดีกับเฌอปรางในการจบการศึกษาในครั้งนี้ และขอให้เธอโชคกับเส้นทางการเป็นผู้จัดการวงในอนาคต

ส่งท้ายไปด้วยเพลง สัญญานะ เพลงสุดท้ายของเฌอปรางในฐานะสมาชิกวง BNK48 ที่ว่าด้วยการขอฝากวงไว้กับสมาชิกรุ่นหลัง โดยสัญญาว่าเราจะรักกันต่อแบบนี้ตลอดไป และปิดฉากความประทับใจด้วยการที่เฌอปรางถอยออกมาข้างหน้า แล้วหันกลับไปบอกกับเหล่าสมาชิกปัจจุบันว่า “จากนี้ไปขอฝาก BNK48 ด้วยนะ” เพื่อปิดฉากการเป็นสมาชิกวงของเธออย่างงดงามและสมบูรณ์แบบ โดยหลังจากนี้เธอจะรับตำแหน่ง ‘ฌิไฮนิน’ (เป็นการเล่นคำระหว่างคำว่าผู้จัดการวงในภาษาญี่ปุ่น และอักษร ฌ ซึ่งเป็นอักษรตัวแรกในชื่อของเธอ) อย่างเต็มตัวนับแต่นี้เป็นต้นไป

ก้าวต่อไปในฐานะ ‘ฌิไฮนิน’ 

เฌอปรางให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนเริ่มคอนเสิร์ตในวันนั้นว่า ไม่ได้มีภาพผู้จัดการวงว่าอยากเป็นแบบไหนเป็นพิเศษอยู่ในหัวเลย เพียงแค่อยากช่วยประคับประคองน้องๆ ในวงให้ได้แสดงศักยภาพในแบบของตัวเองอย่างเต็มที่ รวมถึงกล่าวเพิ่มเติมว่าในวันนี้ที่วงการ T-POP ถือว่าได้รับความนิยมสูงขึ้น วงการไอดอลก็ยังคงมีอยู่ ถึงแม้ว่า BNK48 จะมีกลุ่มแฟนคลับที่เหนียวแน่นที่คอยติดตามและให้กำลังใจเสมอมา แต่ก็พร้อมที่จะตีตลาดกลุ่มแฟนคลับใหม่ๆ ด้วยการมีโปรเจคพิเศษทั้ง eRAAA ที่ทำเพลงแนวอีสาน, INDY CAMP ที่เปิดโอกาสให้เหล่าสมาชิกได้มีโอกาสทำเพลงในแบบของตัวเอง เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านดนตรี และ QRRA ที่ทำเพลงแนว T-POP ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นโปรเจคที่อยากส่งเสริมน้องๆ ในวงนอกเหนือในส่วนของ BNK48 

กัปตันและผู้จัดการวง ทิ้งท้ายในการให้สัมภาษณ์ถึงสมาชิกของ BNK48 ว่า ขอบคุณทุกคนที่ร่วมสร้าง BNK48 ด้วยกันมา และภูมิใจในตัวทุกคนเสมอ

ภาพ: @bnk48official

สุดท้ายนี้ มีหลายครั้งที่ผู้เขียนคิดตอนเขียนบทความนี้ว่า นี่เราพูดถึงสมาชิกคนอื่นๆ ในวงมากเกินไปหน่อยไหมนะ ทั้งที่เป็นคอนเสิร์ตจบการศึกษาของเฌอปรางแท้ๆ แต่เมื่อท้ายที่สุดแล้วผู้เขียนก็มาคิดได้ว่า สิ่งเหล่านี้แหละคือ ‘ความเป็นเฌอปราง’ ที่เห็นได้ชัดมากที่สุดแล้ว กัปตันวงผู้ที่คิดถึงตัววงและสมาชิกในวงก่อนตัวเองเสมอ เธอสามารถจัดวางให้สมาชิกทุกคนมีพื้นที่ของตัวเองอย่างเหมาะสม

ทั้งหมดนี้จึงออกมาเป็นคอนเสิร์ตที่ประทับใจผู้เขียนมากที่สุดงานหนึ่งในปีนี้ และอยากย้ำส่งท้ายอีกทีว่าเป็นการจากลาที่สวยงามและสมบูรณ์แบบมากจริงๆ

Tags: , , , , , , , ,