(1)

โดยปกติค่าเฉลี่ยที่ ‘เฉลียง’ จะรวมตัวกัน จะใช้เวลาทุกๆ 7 ปี เพื่อจัดคอนเสิร์ตใหญ่ และ ณ วันนี้ ก็เป็น 7 ปีพอดี หากนับจากคอนเสิร์ตพวกเขาล่าสุด ‘ปรากฏการณ์เฉลียง’

ผมเองไม่เคยดูคอนเสิร์ตเฉลียง แต่เป็นแฟนคอนเสิร์ตของพี่ๆ ผ่านดีวีดี และในเวลาต่อมาก็เป็นแฟนคอนเสิร์ตใน ‘ยูทูบ’ เหมือนกับอีกหลายคน และแม้จะไม่ทันยุครุ่งเรืองของเฉลียง แต่บทเพลงของเฉลียงนั้นสวยงามเสมอไม่ว่าจะหันกลับมาฟังใน พ.ศ.ไหน 

เฉลียงไม่ใช่วงดนตรีที่ดังทะลุเพดาน แต่เป็นวงที่เปิดทางเลือกใหม่ๆ ให้เพลงไทย ไม่เช่นนั้น ก็จะไม่มีเพลงอย่าง ‘อื่นๆ อีกมากมาย’ ‘กล้วยไข่’ ‘ต้นชบากับคนตาบอด’ ‘นิทานหิ่งห้อย’ ที่แหกขนบออกมาในช่วงที่เพลงไทยเต็มไปด้วยเพลงรัก เพลงอกหัก แต่เพลงของพวกเขาคือการบอกว่า โลกนี้ยังมีหลายมุม หลายด้าน และมีด้านที่สวยงามเสมอ

ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ตั้งชื่อพวกเขาไว้ว่าเป็น ‘ตัวโน้ตอารมณ์ดี’ แต่คำจำกัดความนั้นตรงมาก แต่ละคนมีบุคลิกเฉพาะของตัวเอง และแม้นแยกย้ายเป็นศิลปินเดี่ยวก็คงไม่ได้รสชาติเท่ากับการรวมตัวกันเป็น ‘เฉลียง’

ขณะเดียวกัน นอกจากการแสดงสดของเฉลียงจะพาหวนระลึกถึงความทรงจำผ่านเพลงเก่าๆ เสน่ห์ของพวกเขายังอยู่ที่การ ‘หยิก’ กันบนเวที และหยิบเอาสถานการณ์ปัจจุบันมาเล่าอย่างอารมณ์ดี ไม่ว่าจะอยู่ข้างการเมืองไหนก็ตาม

หากแต่ความท้าทาย ณ วันนี้ก็คือ 7 ปี เป็นห้วงเวลาที่สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไปชนิดฟ้ากับเหว เพดานการเมืองที่เคยมีกลายเป็นเพดานใหม่ที่หลายคนไม่เคยคาดถึง สมาชิกเฉลียงบางคนเข้าไปเกี่ยวพันกับการเมืองบางขั้วอย่างเข้มข้น

คำถามสำคัญก็คือ ถ้าเราดูคอนเสิร์ตเฉลียง ณ วันนี้ เราจะยัง ‘สนุก’ เหมือนเดิมหรือไม่ บทเพลงอมตะของเฉลียงจะยังเพราะอยู่หรือไม่ หากคนที่เราชอบเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบ แล้วความหมายของเพลงจะยังเหมือนเดิมไหม ในเมื่อเราเริ่มตั้งคำถามกับศิลปินเหล่านั้น 

เป็นคำถามที่ผุดขึ้นในใจเสมอก่อนจะไปดูคอนเสิร์ตนี้เมื่อบ่ายวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา

กระนั้นเอง เมื่อการเมืองเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้าในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนคอนเสิร์ต ก็ทำให้เราดูคอนเสิร์ตเฉลียงได้อย่าง ‘สบายใจ’ มากขึ้น

(2)

เสน่ห์ของคอนเสิร์ตเฉลียงทุกครั้งก็คือโชว์ เปรียบเสมือนโชว์ที่พาเรากลับไปหาพวกเขาในฐานะ ‘เพื่อนเก่า’ เราสักคน หลังจากเริ่มคอนเสิร์ตไม่นาน เฉลียงค่อยๆ เดินออกมาทีละคน พร้อมกับเพลงสัญลักษณ์ของตัวเอง วัชระ ปานเอี่ยม กับ ‘รู้สึกสบายดี’ ศุ บุญเลี้ยง กับ ‘แค่มี’ นิติพงษ์ ห่อนาค กับ ‘นายไข่เจียว’ เกียรติศักดิ์ เวทีวุฑาจารย์ กับ ‘เข้าใจ’ และ ฉัตรชัย ดุริยะประณีต กับ ‘ง่ายๆ’ ก่อนจะปิดองก์แรกด้วยฉากที่คุ้นเคยอย่างการยืนหน้ากระดานเรียงกัน ร้องกันคนละท่อนกับเพลง ‘เที่ยวละไม’ ‘เร่ขายฝัน’ และ ‘เอกเขนก’ พร้อมกับ Visual อันสวยงาม บนเวทีที่ออกแบบอย่างประณีต

สิ่งที่ท้าทายนอกจากเรื่องการแซวการเมืองในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไปก็คือ แล้วจะทำอย่างไรให้เฉลียงโชว์ที่มีทุกๆ 7 ปีนั้นมีความ ‘ใหม่’ ครั้งนี้ บรรดาเฉลียงโชว์ซีนของตัวเองเดี่ยวๆ ตามที่แต่ละคนคัดสรรมา พร้อมกับให้เฉลียงแต่ละคนออกแบบโชว์ของตัวเอง

สำหรับผม สุดยอดขององก์นี้ก็คือ เสียงร้องของ ศุ บุญเลี้ยง ในเพลง ‘ต้นชบากับคนตาบอด’ เพลงที่ศุบอกว่า อยากร้องมานานแล้ว แต่เสียงของเขาไม่เหมาะ เลยกลายเป็นหนึ่งในเพลงประจำตัวของวัชระไปแทน พร้อมกับ Visual สีสันสดใส, เสียงภูษิตร้องเสียง ‘ไก่’ กวากวั๊กกวา ในเพลง ‘กุ๊กไก่’ อีกหนึ่งเพลงหาฟังยากของเฉลียง, หรือเพลง ‘ใจเย็นน้องชาย’ ในส่วนของวัชระ ที่ไม่ได้เล่นบ่อยนัก

ถึงตรงนี้ พาร์ตที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ‘ดนตรี’ ที่มีทั้งเครื่องสาย เครื่องเป่า ชุดใหญ่ เติมมิติให้เพลงเฉลียงหนักแน่นมากขึ้น ไม่แพ้ทุกคอนเสิร์ตใหญ่ที่ผ่านมา ขับเน้นให้เพลงที่เน้นเครื่องสายครบชุดอย่าง ‘เธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ’ ‘นิทานหิ่งห้อย’ ‘เรื่องราวบนแผ่นไม้’ นั้น ยิ่งใหญ่ขึ้นทันที 

(3)

อย่างที่เกริ่นไปตอนแรกก็คือ พาร์ตที่สำคัญอย่าง ‘ทอล์ก’ ในคอนเสิร์ตเฉลียง จะเปลี่ยนไปอย่างไรในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป

สารพัดมุขใส่เข้ามาพอหอมปากหอมคอ ทั้งในห้วงเวลาปกติและในช่วงเวลา ‘นิทานหิ่งห้อย’ ที่วัชระจะได้ปล่อยของ ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึง 250 ส.ว., สองลุง, การจับขั้วรัฐบาลของ 8 พรรค ด้วยท่า ‘หัวใจ’ ระหว่างนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แล้วทิ้งให้พิธาอยู่เบื้องหลังในภายหลัง กระทั่งเรื่อง ‘งูเห่า’ 16 ตัว, หรือเจ้าชายตัวสูงจาก ‘แสนสิ..’ ที่จะเข้ามาพิชิตใจสโนว์ไวต์

ถึงตรงนี้ แม้วัชระจะพาอ้อมไปอ้อมมา ศุบอกว่าถึงเวลาที่จะพูดตรงๆ เสียที เพราะในโลกข้างนอกเขาพูดถึง ‘เพื่อไทยการละคร’ ‘ชลน่านการละคร’ กันหมดแล้ว 

เมื่อนิทานหิ่งห้อย ร้องถึงท่อน “เด็กน้อยนอนตักคุณยายอมยิ้มละไม ใต้หมอนไม่มีกล่องอะไร ไม่มีสิ่งใดๆ ถูกขัง” แม้หน้าตา-ท่าทางการร้องของศุจะเป็นไปตามปกติ เสียงของผู้ชมจึงหัวเราะขึ้นมาพร้อมกันทันใด เพราะก่อนหน้านี้วัชระเพิ่งเล่าถึงแขกวีไอพีของโรงพยาบาลตำรวจอย่างออกรส

อีกมุขหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การแซะตัวเองของ นิติพงษ์ 

ทีมเฉลียงนำ ChatGPT ขึ้นมาเสิร์ชประวัติของวงก่อนจะพบว่า ChatGPT ไม่รู้จักวงนี้อีกต่อไป ขณะที่เมื่อเสิร์ชประวัตินิติพงษ์ ห่อนาค กลับพบว่าเคยเป็นนิติพงษ์เป็น ‘นักธุรกิจ’ และ ‘นักการเมือง’ ชาวไทย ทำให้นิติพงษ์ย้อนอดีตไปว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยลงสมัคร ส.ว.กรุงเทพฯ แล้วได้คะแนนเป็นอันดับสองกว่า 3 แสนคะแนน เมื่อหลายปีก่อน

เมื่อพูดถึงนิติพงษ์ในอีกช่วงเวลาหนึ่ง ศุก็ได้ทีย้อนนิติพงษ์ว่า “พี่ระวังเถอะ ถ้าลงเลือกตั้งรอบนี้จะได้ถึงหมื่นคะแนนหรือเปล่าก็ไม่รู้”

เป็นการหยอกแรงๆ แบบน่ารักๆ ของเฉลียง 

(4)

ถึงที่สุดการไปดูคอนเสิร์ตของเฉลียงก็เปรียบได้หลายอารมณ์ ห้วงหนึ่งคือการกลับไปดูความอัจฉริยะของ ประภาส ชลศรานนท์ ที่พาวงการเพลงไทยแหกขนบเพลงรักเมื่อ 4 ทศวรรษก่อน ไปสู่เพลงแนว ‘คิดบวก’ และหากเพลงประภาสไม่ได้คณะเฉลียงเป็นผู้ถ่ายทอด เพลงเหล่านี้ก็คงไม่ได้ ‘ทำงาน’ ผ่านคน ผ่านหลากเจเนอเรชันมาจนถึงวันนี้ 

สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร เนื้อเพลงอย่าง ‘ต่างก็เพียงผู้จะชม สิ่งจะชมสำคัญในมันนั่นคืออันใด’ ท่อนหนึ่งของเพลง ‘ต้นชบากับคนตาบอด’ หรือ ‘คนเรียกคนดี ติดที่เขาเอาใจใคร’ ท่อนหนึ่งของเพลง ‘รู้สึกสบายดี’ เมื่อผ่านเวลาต่างช่วงอายุ ก็ทำงานคนละแบบกันออกไป

ส่วนบรรดาคณะเฉลียง 6 คน ที่ยืนอยู่หน้าแสงไฟในคอนเสิร์ต ก็คงเหมือนกลับไปหา ‘ญาติผู้ใหญ่’ ที่เราคุ้นเคยเมื่อครั้งเด็กๆ – เป็นญาติที่เราอาจจะเบื่อหน้าเขาบ้าง เราอาจตั้งคำถามกับความคิดเขาบ้างในบางครั้ง แต่ก็เป็นญาติที่เรารักสุดหัวใจ เป็นญาติที่เราอุ่นใจเวลาอยู่ใกล้ๆ แล้วในกลุ่มนี้ ก็อาจมีบางคนที่เรารักสุดๆ มีคนที่เราเฉยๆ แต่เมื่อพวกเขามารวมตัวกัน ก็ทำให้เราได้เห็นสีสันอีกเฉดหนึ่ง

เป็นเฉดเดียวกับที่เพลง ‘อื่นๆ อีกมากมาย’ เพลงจบของคอนเสิร์ตนี้ว่าไว้ 

“อื่นๆ อีกมากมาย อีกมากมาย อีกมากมาย ที่ไม่รู้ อาจจะจริงเราเห็นอยู่ เผื่อใจไว้ ที่ยังไม่เห็น”

Tags: , , , ,