คนจำนวนมากมักมีภาพจำว่า หนังที่เข้าฉายและได้รางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ (Festival de Cannes) คือหนังอาร์ต ดูยาก หัวสูง ชวนน่าเบื่อ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่า ที่ผ่านมา ‘หนังคานส์’ จำนวนมากเป็นแบบนั้น และได้กลายเป็นกำแพงให้คนดูไม่กล้าเข้าหาโดยปริยาย
แต่สำหรับ Anatomy of a Fall หนังคานส์ปีล่าสุดแตกต่างออกไป เพราะด้วยวิธีการเล่าที่ง่าย สนุก และบันเทิงสุดๆ ทำให้ผลงานเรื่องนี้ของ ฌูสตีน ทริเยต์ (Justine Triet) คว้าปาล์มทองคำ (Palme d’Or) รางวัลสูงสุดในเทศกาลมาครอง อีกทั้งเมื่อหนังเริ่มเข้าฉายให้คนทั่วโลกได้ยลโฉมช่วงปลายปี 2023 ที่ผ่านมา รวมทั้งในประเทศไทย นักวิจารณ์และคนดูต่างให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือหนังที่ดีที่สุดของปีอย่างไรข้อกังขา
แม้จะมีนักวิจารณ์ส่วนหนึ่งมองว่า หนังเรื่องนี้ไม่มีลูกเล่นเทคนิคที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับหนังคานส์เรื่องอื่นๆ ที่เคยฉายในเทศกาลมาก่อน แต่ Anatomy of a Fall ก็มีสิ่งอื่นที่แข็งแกร่งมากๆ มาทดแทน นั่นคือความดุเดือดเลือดพล่านของเนื้อเรื่อง ที่ว่าด้วยการไต่สวนคดีเสียชีวิตปริศนา เมื่อภรรยาตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าฆาตกรรมสามีตัวเอง รวมถึงฉากเด็ดที่ต่อให้ไม่ได้ใช้เทคนิคหวือหวาอะไร แต่กลับเจ็บปวดรวดร้าวสมจริง จนไม่แปลกใจหากคณะกรรมการที่นำโดย รูเบน ออสต์ลุนด์ (Ruben Östlund) นักทำหนังชาวสวีเดน ผู้ชอบสำรวจความร้าวรานของชีวิตคู่จากเรื่อง Force Majeure (2014) และ Triangle of Sadness (2022) จะยื่นต้นปาล์มให้หนังเรื่องนี้
***บทความนี้มีการเปิดเผยรายละเอียดสำคัญในภาพยนตร์
Anatomy of a Fall ดำเนินเรื่องด้วยการพาผู้ชมไปรู้จัก แซนดร้า (แสดงโดย แซนดร้า ฮุลเลอร์) นักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนชื่อดังชาวเยอรมัน ที่กำลังให้สัมภาษณ์กับนักศึกษาสาวคนหนึ่งด้วยท่าทางผ่อนคลายที่บ้านบนภูเขาหิมะ แต่หลังสัมภาษณ์ไปได้สักระยะ จู่ๆ แซมวล (แสดงโดย แซมมวล เธอิส) สามีชาวฝรั่งเศส ผู้เป็นนักเขียนนิยายเช่นกัน เพียงแต่ไม่โด่งดังเท่า กลับเปิดเพลงดังกระหึ่มชวนหลอกหลอน ขัดจังหวะการสัมภาษณ์ที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มจนต้องยกเลิกไป
จังหวะนั้น แดเนียล (แสดงโดย ไมโล มาชาโด กราเนอร์) ลูกชายของทั้งคู่ผู้มีปัญหาด้านการมองเห็น พาสุนัขนำทางตัวโปรดชื่อสนูปออกไปเดินเล่นข้างนอก แต่เมื่อเขากลับมากลับพบศพผู้เป็นพ่อนอนเสียชีวิตจมกองเลือดอยู่กลางหิมะหน้าบ้าน
เจ้าหน้าที่วินิจฉัยว่าสาเหตุการตายของแซมวล มาจากการตกมาจากหน้าต่างห้องใต้หลังคาบ้านชั้น 3 แล้วหัวกระแทกถังขยะเหล็กแข็งๆ ก่อนร่วงลงบนพื้นหิมะอีกที และในเมื่อช่วงเกิดเหตุ คนเดียวที่อยู่บ้านก็คือแซนดร้า นั่นทำให้เธอกลายเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่งไปโดยปริยายว่า เธอฆาตกรรมสามีตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าเธอยืนกรานเสียงแข็งกับทั้งเจ้าหน้าที่และวินเซนต์ (แสดงโดย Swann Arlaud) ผู้เป็นทนายว่าเธอไม่ใช่ฆาตกร
เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ การสืบสวนยังพบเจอว่าระยะหลังมานี้ความสัมพันธ์ของ 2 สามีภรรยาไม่ค่อยสู้ดีเท่าไร แซมวลไม่เพียงโดนภรรยานอกใจ แต่ยังโดนภรรยาขโมยไอเดียในนิยายที่สามียังเขียนไม่เสร็จดีไปพัฒนาต่อเองจนโด่งดัง หนำซ้ำเธอยังใช้อำนาจที่เหนือกว่าทั้งเวลาอยู่ในบ้านและบนเตียง จนแซมวลเกิดอาการชอกช้ำทางใจ
นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานชิ้นเด็ดมากๆ ก็คือเทปบันทึกเสียงการทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรงของทั้งคู่ บ่งชี้ว่ามีการทำลายข้าวของและทำร้ายร่างกายกันเกิดขึ้น หลักฐานที่ออกมายังหักล้างสิ่งที่แซนดร้าบอกกับตำรวจและเจ้าหน้าที่ด้วย เช่น ร่องรอยฟกช้ำบนข้อมือของเธอ เกิดจากการเดินชนขอบโต๊ะ ทั้งที่จริงแล้วมาจากการทะเลาะวิวาท ทั้งหมดทั้งมวลยิ่งทำให้ใครๆ มองว่า แซนดร้า คือคนร้าย แม้กระทั่งลูกชายของเธอก็ไม่สามารถคิดเป็นอื่นได้
สุดท้ายแล้ว ลูกชายคนนี้นี่เองกลับกลายเป็นตัวแปรสำคัญของการไต่สวน นำไปสู่บทสรุปสุดท้ายของคดีที่ไม่มีใครคาดคิด พร้อมกับทำให้คนดูเดินออกจากโรงพร้อมกับคำถามมากมายเต็มหัวไปหมดว่า สุดท้ายแล้วความจริงคืออะไรกันแน่
เพียงแค่นี้ก็ถือเป็นการอารัมภบทของหนังแนวสืบสวนสอบสวน (Courtroom Drama) ที่น่าสนใจแล้วสำหรับผู้เขียน เพราะหลังจากนี้ เราจะได้ติดตามดูตัวละครเชือดเฉือนกันด้วยคำพูด ตัวละครนั้นกล่าวหาตัวละครนี้ ตัวละครนี้กล่าวหาตัวละครนั้น แต่ละฝ่ายพยายามงัดหลักฐานออกมาเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง รวมถึงสาดโคลนใส่ฝ่ายตรงข้ามไปพร้อมกัน โดยมีคนดูทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุนคอยตัดสินความผิดจากพยานหลักฐานที่ปรากฏ
และยิ่งหากเป็นหนังขึ้นโรงขึ้นศาลที่ว่าด้วย ‘สามี VS ภรรยา’ ความสนุกและความร้าวรานจะทวีคูณขึ้นเป็น 2 เท่า ด้วยการโต้เถียงด้วยคำพูด การระบายอารมณ์ใส่กันของคนรักที่แปรเปลี่ยนกลายเป็นคนเคยรัก มันชวนเจ็บจี๊ดและกรีดแทงทางความรู้สึกยิ่งกว่าโดนกระสุนทั้งโลกยิงใส่เสียอีก ตัวอย่างของหนังแนวนี้ที่น่าจดจำได้แก่ Kramer vs. Kramer (1979) , A Separation (2011), Marriage Story (2019) รวมถึง Anatomy of a Fall
ทริเยต์ ผู้กำกับของเรื่องเล่าว่า เธอได้แรงบันดาลใจการถ่ายทำฉากการทะเลาะครั้งใหญ่ของ แซนดร้าและแซมวล จากฉากโต้เถียงกันอย่างรุนแรงใน Marriage Story ของผู้กำกับ โนอาห์ บัมบาช (Noah Baumbach) ซึ่งเป็นฉากที่ทรงพลังและกรีดหัวใจได้เจ็บแสบ เมื่อต้องเห็นคนที่เคยรักกันด่าทอกัน ไปจนถึงการพลั้งปากพูดว่าอยากฆ่ากันให้ตายออกมา
แต่นั่นไม่ใช่หนังเรื่องเดียวที่ทริเยต์ได้แรงบันดาลใจมา Anatomy of a Fall ยังมีชื่อคล้ายกับหนังแนวเดียวกันที่ฉายเมื่อปี 1952 เรื่อง Anatomy of a Murder ว่าด้วยการไต่สวนคดีฆาตกรรมเจ้าของบาร์โดยฝีมือของชายคนหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่าตัวเจ้าของบาร์มาข่มขืนภรรยาของเขา แม้เนื้อหาอาจไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรักและความเกลียดชังเป็น 2 สิ่งที่แทบจะแยกจากกันไม่ขาด และพลังทำลายล้างของมันมีมากกว่าที่ใครจะคาดคิด
ทริเยต์เคยดูหนังเรื่องนี้มาเป็นสิบปีแล้วและประทับใจมาก จึงตั้งใจใช้ชื่อนี้ในหนังของเธอเพื่อยั่วล้อไปกับหนังคลาสสิกที่นำแสดงโดย เจมส์ สจ๊วร์ต (James Stewart) ซึ่งชวนให้คิดเล่นๆ ว่า หากทริเยต์ตัดสินใจใช้ชื่อเรื่องว่า Anatomy of a Murder ก็น่าจะทับซ้อนกันได้ดีทีเดียว
อย่างไรก็ตามถ้า Anatomy of a Fall ใช้ชื่อว่า Anatomy of a Murder จริงๆ สิ่งที่เธอต้องแลกมาก็คือบทสรุปในช่วงท้ายเรื่อง จากที่ลงเอยด้วยความคลุมเครือและไม่ได้ชี้ชัดว่า แซนดร้า ฆาตกรรมแซลมวลจริงหรือไม่ ยังอาจไปลดทอนความแข็งแกร่งของประเด็น ‘ความจริงคืออะไร’ จนเจือจางลง
ชื่อเรื่อง Anatomy of a Fall ไม่เพียงสื่อความถึงการวิเคราะห์ ‘การตก’ ลงมาเสียชีวิตของแซมวลอย่างละเอียดในทางวิทยาศาสตร์ แต่ยังหมายถึง ‘การล่มสลาย’ ของหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น ความรัก ความเป็นครอบครัว ความไว้เนื้อเชื่อใจ รวมถึงการล่มสลายของความจริง เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่า ช่วงเวลาที่หายไประหว่างสองสามีภรรยาเกิดอะไรขึ้นกันแน่
ย้อนกลับไปที่การเปิดเผยคลิปเสียงที่แซมวลแอบบันทึกเก็บไว้โดยไม่บอกภรรยาให้รู้ ฉากดังกล่าวมีคนนั่งอยู่ในศาลเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา ทนาย อัยการ โจทก์ คณะลูกขุน และบรรดาคนที่เข้ามาฟังการพิจารณาคดี (รวมถึงคนดูหนังอย่างเราเองก็นับเป็นผู้ที่เข้ามาพังการพิจารณาคดีเช่นกัน)
ขณะที่เทปเล่นไปเรื่อยๆ คนดูจะมีแต้มต่อมากกว่าตัวละครในเรื่อง เพราะได้รับรู้ข้อมูลที่มากกว่า ได้เห็น ‘ภาพ’ ปฏิกิริยาที่ทั้งคู่มีต่อกันอย่างชัดเจน ซึ่งแตกต่างกับทุกคนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีที่ได้ยินแต่เสียงที่บันทึกมาเท่านั้น
จนกระทั่งพอเกิดเสียงตุบตับ ทำร้ายร่างกายกัน จังหวะนี้เองผู้กำกับถึงปรับให้คนดูอย่างเรากลับไปอยู่ในสถานะเดียวกันกับตัวละครในห้องพิจารณาคดี ที่จะได้ฟังแต่เสียงเท่านั้น ไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเองแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และมีคำอธิบายของแซนดร้าเท่านั้นที่บอกว่า แซมวลทำร้ายตัวเอง ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจริงหรือไม่
แต่ก็เหมือนที่วินเซนต์ ทนายความของแซนดร้า กล่าวในเรื่องนั่นคือ เธอจะเป็นคนที่ฆ่าสามีหรือไม่ ‘นั่นไม่ใช่ประเด็น’ เมื่อเทียบกับการหักล้างภาพที่ผู้คนจำนวนมากคิดและตัดสินไปเรียบร้อยแล้วต่างหากว่า เธอคือฆาตกร
ถ้าถามว่าเธออยากหักล้างภาพดังกล่าวออกจากความคิดของใครมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเธอเอง (แม่อยากให้ลูกรู้ไว้ แม่ไม่ใช่ปีศาจร้ายนะ)
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า แดเนียลเป็นคนที่เข้าใกล้ความจริงมากที่สุด ด้วยความเป็นคนในครอบครัว ทำให้เขามีข้อมูลวงในที่ใครๆ ไม่รู้ แต่ด้วยตัวแปรที่เข้ามาสอดแทรกอย่างการสูญเสียการมองเห็น และการจดจำรายละเอียดต่างๆ ได้ไม่ดีพอ เช่น หลังจากพ่อของเขาตาย เขาพยายามให้การกับตำรวจว่าเกิดอะไรขึ้นจากมุมมองและความทรงจำของเขา ซึ่งไม่ตรงกับพยานหลักฐานที่มีอยู่
นั่นทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า เขาเชื่อมั่นในสิ่งที่เขาพอจะมองเห็นหรือได้ยินมากแค่ไหน เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่อยู่ในความทรงจำของเขาคือความจริง และหากคนที่ใกล้เคียงกับความจริงที่สุดยังไม่เชื่อในสิ่งที่เขาพอจะมองเห็นหรือได้ยิน แล้วตัวคนดูอย่างเราเองล่ะ จะเชื่ออะไรได้ (น่าสังเกตว่ามีหลายครั้ง ที่กล้องจับภาพในมุมแทนสายตาแดเนียล ทำให้คนดูจะได้เห็นแบบเดียวกับที่ แดเนียลมองเห็นด้วย)
เราอาจคุ้นเคยคำพูดยอดฮิตจากการ์ตูนเรื่องหนึ่งว่า “ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว” แต่สิ่งที่ Anatomy of a Fall ชวนตั้งคำถามก็คือ ยิ่งเราใช้ชีวิตนานขึ้น โลกนี้ก็มีความซับซ้อนมากขึ้น แต่ละคนย่อมมีมุมมองการมองโลกที่ไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ที่คนคนหนึ่งพบเจอมา ย่อมไม่ใช่ประสบการณ์เดียวกันของคนอื่นๆ มุมมองต่อเรื่องบางเรื่องที่ไม่ตรงกัน
นั่นหมายความว่าความจริงเพียงหนึ่งเดียวของแต่ละคนจะเท่ากันหรือไม่
หลังจากหนังจบลง มีคนวิเคราะห์ไว้หลายรูปแบบว่า ตกลงแล้วความจริงใน Anatomy of a Fall คืออะไรกันแน่ ผลปรากฏว่ามีทั้งคนที่เชื่อว่า แซนดร้าคือฆาตกรตัวจริง เพราะมีแรงจูงใจชัดเจน และในที่เกิดเหตุไม่มีใครอื่นแล้วที่จะเข้าถึงตัวเขาได้นอกจากเธอ ไปจนถึงคนที่เชื่อว่า แซมวลตัดสินใจฆ่าตัวตายต่างหาก พิจารณาจากหลักฐานที่ออกมา ค่อนข้างน่าเชื่อถือว่า เขาวางหมากทุกอย่างเอาไว้เพื่อป้ายสีภรรยา เพราะรู้ว่าเธอมีแรงจูงใจแน่ชัดหากจะฆาตกรรมตัวเขา และจะเป็นหลักฐานที่แน่นหนาพอจนอย่างน้อยเธอก็ไม่น่าจะหลุดรอดไปได้ง่ายๆ ฯลฯ
ประเด็นดังกล่าวยังเป็นประเด็นร้อนที่ NEON ผู้จัดจำหน่ายหนังเรื่องนี้ในอเมริกา หัวใสเอามาทำแคมเปญโฆษณา ‘Did she killed her husband?’ เพื่อให้คนดูได้ถกเถียงกันนอกโรงด้วยว่าตกลงแล้วเธอฆ่าสามีจริงหรือไม่
ไม่ว่าข้อถกเถียงจะเป็นเช่นไร คนดูเองก็ไม่มีทางรู้ดีไปกว่าเจ้าของเรื่องอย่างผู้กำกับทริเยต์ ที่แน่นอนว่าจะไม่มีวันเฉลยปมปริศนานี้ออกมา แม้กระทั่งในวาระสุดท้ายของชีวิต แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับความคิด ความเชื่อ และมุมมองของตัวเราเองในการตัดสินใจจากข้อมูลที่มีว่า ถ้าเป็นเราจะตัดสินความผิดในคดีนี้ออกมาอย่างไร
Anatomy of a Fall อาจถูกนักวิจารณ์จำนวนหนึ่งมองว่าไม่ได้มี Cinematic ที่หวือหวา อาจไม่คู่ควรกับรางวัลสูงสุดของคานส์ แต่ในขณะเดียว คณะกรรมการของคานส์และนักวิจารณ์จำนวนมากไม่ได้คิดแบบนั้น และยังยกย่องว่าคือหนังที่ดีที่สุดของคานส์และดีที่สุดของปี
Anatomy of a Fall อาจได้รับคำชื่นชมว่าเป็นหนังปาล์มทองคำที่ดูง่ายดูสนุก แต่ใครจะไปรู้ อาจมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มองว่ายังเป็นหนังอาร์ตที่ดูยาก เข้าใจยากอยู่ดี ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองและประสบการณ์ของแต่ละคนในการประเมินหนังแต่ละเรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลให้ความจริงของแต่ละคนไม่เท่ากันอยู่ดี
ที่แน่ๆ ก็คือ คุณจะรู้คำตอบนี้ได้ด้วยการไปพิสูจน์ด้วยสายตาตัวเองในโรงภาพยนตร์
Tags: Screen and Sound, Anatomy of a Fall, หนังเศกาลเมืองคานส์, ฌูสตีน ทริเยต์, หนังปาล์มทองคำ