กล่าวอย่างย่นย่อที่สุด Jeanne Dielman, 23 Commerce Quay, 1080 Brussels (1975) คือหนังที่ว่าด้วยการทำงานบ้านของ ‘แม่บ้าน’ คนหนึ่งที่กินเวลาถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง! ที่เพิ่งจะได้รับเลือกให้เป็น ‘ภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล’ จากเหล่านักวิจารณ์ภาพยนตร์ นักวิชาการ และคนทำเทศกาลภาพยนตร์ ทั่วทุกมุมโลกเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
อีกทั้งในวาระที่หอภาพยนตร์นำ Jeanne Dielman, 23 Commerce Quay, 1080 Brussels มาฉายเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราจึงอยากชวนไปสำรวจองคาพยพของภาพยนตร์เรื่องยาวลำดับที่สามของ ช็องตาล อัคเคอร์มาน (Chantal Akerman) คนทำหนังหญิงชาวเบลเยียม เรื่องราวของ ณานน์ (แสดงโดย เดลฟีน เซย์ริก) แม่ม่ายที่อาศัยอยู่กับลูกชายวัยรุ่นในอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง
น่าสนใจไม่น้อยว่าอะไรกันที่ทำให้หนัง ‘แม่บ้าน’ สามัญคนหนึ่งเมื่อ 4 ทศวรรษก่อน ครองหัวใจนักวิจารณ์ภาพยนตร์ได้จนถึงทุกวันนี้
ในหนึ่งชั่วโมงแรกของ Jeanne Dielman, 23 Commerce Quay, 1080 Brussels ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการจับจ้องกิจวัตรประจำวันทุกระเบียดนิ้วของณานน์ ตั้งแต่ต้มมันฝรั่งในครัว ถอดเสื้อกันเปื้อนออก ปิดสวิตช์ไฟในห้องครัว เดินไปยังห้องโถง เปิดสวิตช์ไฟที่ห้องโถงแล้วเปิดประตูรับผู้มาเยือน ทั้งสองหายลับไปในอีกห้องหนึ่ง เธอกับเขาออกมาด้วยกันหลังจากนั้นราวครึ่งชั่วโมง เธอรับเงินจากเขา เขาเดินออกไป เธอปิดสวิตช์ไฟแล้วหมุนตัวออกจากห้องนั้น ตรงมายังห้องกินอาหาร กดเปิดสวิตช์ไฟ เปิดฝาโถเซรามิกเพื่อหย่อนเงินลงในโถ ปิดฝาโถ ปิดสวิตช์ไฟแล้วหมุนตัวออกจากห้อง ตรงไปยังห้องอาบน้ำ ขัดถูเรือนร่างกาย ล้างห้องน้ำ ออกมาเตรียมโต๊ะอาหารอย่างแสนจะพิถีพิถัน
ซึ่งเวลานั้นก็ถึงตอนที่ลูกชายของเธอกลับจากโรงเรียนพอดี สองแม่ลูกจะนั่งกินอาหารที่ณานน์ทำไว้เมื่อช่วงกลางวัน จากนั้นเธอจะส่งเขาเข้านอน แล้วตื่นมาทำทุกอย่างเหมือนเดิมอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น – หรือก็คือเข้าชั่วโมงที่สองของหนัง
เว็บไซต์ภาพยนตร์ IndieWire เคยกล่าวถึงภาพยนตร์ของอัคเคอร์มานเรื่องนี้ว่า เป็นหนัง ‘แอ็กชัน’ ตรงตามตัวอักษร เพราะตลอดทั้งเรื่อง หนังขับเคลื่อนด้วยการ ‘แอ็กชัน’ หรือการกระทำงานบ้านของณานน์ตลอดเวลา พูดให้ถึงที่สุดคือมันแทบไม่มีบทพูดด้วยซ้ำ กล้องจับจ้องไปยังกิจวัตรประจำวันของเธอที่ดูไม่สลักสำคัญอะไร แต่มันก็เป็นกิจวัตรที่สะท้อนว่า หลายต่อหลายเดือนที่ผ่านมานั้น เธอทำเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา จนมันกลายเป็นจังหวะของชีวิตของเธอ ที่ทำราวกับไม่ต้องหยุดคิด ร่างกายจดจำทุกสิ่งได้แม่นยำตั้งแต่การกดเปิดปิดสวิตช์ไฟ การจัดจาน หรือการจัดเตียงให้ลูกชายวัยกำลังโต ดังนั้น ชั่วโมงแรกที่หนังอุทิศให้หนึ่งวันของณานน์จึงแทบไม่เรียกร้องสิ่งใดจากคนดูเลย เราเพียงแต่เฝ้ามองเธอเคลื่อนไหวไปทั่วอะพาร์ตเมนต์ ใช้ชีวิตของเธอที่เป็นระเบียบ ไม่เหลือช่องว่างให้ความเป็นไปได้อื่นๆ แทรกเข้ามา ทุกสิ่งเกิดขึ้นอย่างมีแบบแผนแน่ชัด กระนั้น ชีวิตประจำวันที่เธอรู้จักก็มาสะดุดเอาเมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น และนั่นคือต้นธารของความรวนทั้งหมดอันยังผลให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตามมาหลังจากนั้นระเนระนาดราวกับโดมิโนถูกผลักลงพื้น
“หนังเรื่องนี้ว่าด้วยสามวันของผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นชีวิตที่มีระเบียบ ไม่อาจมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปได้” อัคเคอร์มานกล่าว “หล่อนเป็นแม่ม่าย อาศัยอยู่กับลูกชาย และเธอใช้ชีวิตเหมือนเดิมก่อนหน้าที่สามีของเธอจะตายจากไป เพราะเธอใช้ชีวิตไปต่อได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงการมีอยู่ของผู้ชาย สิ่งนี้ประทับแน่นอยู่ในเนื้อตัวของเธอ เธอจึงพบปะผู้ชายตอน 5 โมงถึง 5 โมงครึ่งทุกวัน เว้นก็แต่สุดสัปดาห์ ชีวิตของเธอเป็นระเบียบอย่างยิ่งจนไม่เหลือช่องว่างอะไรให้สิ่งอื่นแทรกไปได้เลย และเมื่อวันที่สองสิ้นสุดลง จักรวาลชีวิตที่แสนมีแบบแผนของเธอนั้นก็เริ่มรวนเร เธอพบว่าตัวเองมีเวลาว่างสักชั่วโมงหนึ่งได้ และการที่เธอมีเวลาว่างนี่เองที่ทำให้เธอเริ่มวิตกกังวลน่ะ
“ประเด็นคือ ฉันไม่คิดว่าผู้ชายจะทำหนังเรื่องนี้หรอก นับตั้งแต่แรกเกิดเลย ผู้ชายถูกสอนเรื่องคุณค่าต่างออกไป อย่างการล้างจานของผู้หญิงน่ะไม่ถูกมองว่าเป็นศิลปะ ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ว่าฉันจะตั้งใจมาท้าทายอะไรนะ ฉันแค่เล่าเรื่องที่ฉันสนใจแค่นั้นแหละ และหนังเรื่องนี้คือคำตอบนั้น”
ความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นในวันที่สอง คือเมื่อณานน์ต้มมันฝรั่งสุกเกินไป และเห็นได้ชัดว่าเธอรับมือกับสภาวะดังกล่าวไม่ถูก เธอยกหม้อขึ้นมา เดินไปยังถังขยะเล็กๆ แล้วเดินวนไปยังห้องน้ำด้วยไม่รู้ว่าต้องเอามันฝรั่งไปทิ้งไว้ที่ไหน เนื่องจากเหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้น มันอยู่นอกเหนือจากความคุ้นเคยของเธอ อยู่พ้นไปจากตารางเวลาอันเต็มไปด้วยความเฉพาะเจาะจง เธอยังลืมปิดฝาโถที่ใส่เงินไว้ ลืมปิดสวิตช์ไฟเมื่อออกจากห้อง ราวกับว่าความคุ้นเคยที่เธอรู้จักมาโดยตลอดนั้นถูกสั่นคลอนด้วยความอัดอั้นตันใจต่อบางอย่างที่ไม่ปรากฏให้ตาเห็น เธออาจรู้สึกมันมาตลอด ลึกซึ้งอยู่ในจิตใต้สำนึก แต่ไม่เคยสำแดงตนออกมาแจ่มชัดเพราะชีวิตของเธอแน่นไปด้วยตารางหน้าที่มากมาย นับตั้งแต่การปลุกลูกชายไปเรียน จัดรองเท้าให้เขา ทำอาหาร ล้างจาน ออกไปซื้อของ จัดจานอาหารเย็น กระทั่งเมื่อความผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้น จนเธอต้องต้มมันฝรั่งใหม่เพราะครั้งก่อนนั้นสุกเกินไป เธอต้องนั่งนิ่งๆ บนโต๊ะอาหารกับลูกชายที่แทบไม่ปริปากคุยอะไรกับเธอ เธอมีเวลาว่าง โมงยามที่ไม่ต้องขยับตัวทำอะไร ทำให้ณานน์สัมผัสถึงความอึดอัดและแรงระเบิดลึกล้ำนั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ดูเผินๆ แล้วหนังทั้งเรื่องจะดู ‘ไม่มีอะไร’ มากไปกว่าชีวิตของแม่บ้านหนึ่งคน แต่ความมหัศจรรย์คือ อัคเคอร์มานทำให้คนดูเห็นและเข้าใจได้ในเพียงครั้งเดียว ตั้งแต่ในวันแรกของเรื่อง ว่าณานน์ทำสิ่งต่างๆ ในแต่ละวันจนกลายเป็นกิจวัตร เพราะหากกำกับไม่แม่นจริง หนังอาจต้องถ่ายทอดฉากแต่ละวันของณานน์ซ้ำๆ เพื่อให้คนดูเข้าใจให้ได้ว่าหนึ่งวันของเธอเคลื่อนผ่านไปอย่างไรซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ผ่านการกำกับอย่างพิถีพิถัน ละเอียดละออสุดขีด บวกกันกับการแสดงอันแสนทรงพลังของเซย์ริกผู้อยู่ตรงหน้าคนดูตลอด 3 ชั่วโมงครึ่ง (มีวิดีโอสั้นๆ ที่บันทึกเบื้องหลังการถ่ายทำฉากที่ตัวละครณานน์หวีผมซึ่งอัคเคอร์มานให้เซย์ริกหวีผมช้าลง)
อาการรวนของตารางเวลาส่งผลกับเธอข้ามวัน ณานน์ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่เมื่อเข้าวันที่สามแล้วก็ไม่มีอะไรเหมือนเดิม (เพราะการตื่นนอนขึ้นมาเริ่มต้นชีวิตประจำวันใหม่ ควรจะเป็นเสมือนการ ‘รีเซต’ ระบบสำหรับเธอ) แม้กระทั่งชีวิตนอกอะพาร์ตเมนต์ก็ไม่เป็นใจ ร้านส่งของปิด เธอต้องไปยังร้านอื่นก่อนหน้าเวลาที่ควรจะเป็นซึ่งเจ้าของร้านยังจัดแจงร้านตัวเองไม่เสร็จ ขณะที่อีกร้านหนึ่งยังไม่เปิดดี ณานน์เลยต้องไปยืนมองดูร้านข้างๆ ที่เปิดก่อน แต่ก็เป็นการมองอย่างไร้ความหมาย เพราะเธอไม่รู้ว่าจะซื้ออะไร หรือแม้แต่ว่าร้านนั้นขายของแบบไหนเนื่องจากที่ผ่านมาในตารางประจำวันของเธอ เธอไม่เคยให้ความสนใจมันแม้สักนิด
ความเปลี่ยนแปลงเริ่มรุนแรงและคืบคลานเข้ามาใกล้เรื่อยๆ เมื่อความคุ้นเคยของเธอแทบไม่หลงเหลืออีก กาแฟที่เคยชงดื่มทุกวันกลายเป็นเหมือนสิ่งแปลกปลอม เธอใส่นม ยกดื่ม ก่อนจะลุกไปเททิ้ง หยิบนมขึ้นมาดื่มเพราะสงสัยว่านมอาจจะบูดทำให้รสของกาแฟเปลี่ยนไป แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ นมไม่ได้บูด กาแฟก็ไม่ได้เสีย เพียงแต่เธอเท่านั้นที่แตกต่างไปจากเดิม และเรื่องราวเหล่านี้ก็ควบแน่นขึ้นเรื่อยๆ จนระเบิดเป็นองก์สุดท้ายอันแสนตราตรึง
อัคเคอร์มานเรียก Jeanne Dielman, 23 Commerce Quay, 1080 Brussels ว่าเป็นหนังเฟมินิสต์ จากการให้พื้นที่ในเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่เคยถูกนำเสนอด้วยสายตาแบบนี้มาก่อนเลย เช่น การจับจ้องไปยังชีวิตรายวันของผู้หญิง ที่แทบจะถือเป็นห่วงโซ่ชั้นล่างสุดในงานภาพของภาพยนตร์ กระทั่งฉากจูบหรือฉากรถชนกันก็ยังอยู่ในสถานะที่สูงกว่า ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเรื่องราวของตัวมันเองแต่อย่างใด แต่มันเป็นเพราะที่ผ่านมาผู้คนแทบไม่สนใจเรื่องราวของผู้หญิงเลยต่างหาก
Tags: 1080 Brussels, Jeanne Dielman, ช็องตาล อัคเคอร์มาน, Screen and Sound, 23 Commerce Quay