องค์กรภาคประชาชน 23 องค์กร ประกาศจะรวบรวมหนึ่งหมื่นรายชื่อเพื่อยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. อย่างน้อย 35 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิเสรีภาพของสื่อ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม การละเมิดสิทธิชุมชน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 61 องค์กรภาคประชาชนกันจัดกิจกรรม ‘ปลดอาวุธคสช. ทวงคืนสถานการณ์ปกติ’ ที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยอภิปรายถึงเหตุผลของการรวบรวมรายชื่อเพื่อยกเลิกกฎหมายครั้งนี้ว่า ตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 4 ของรัฐบาลรัฐประหาร มาถึงช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้ว และควรจะเดินหน้าสู่สถานการณ์ปกติ ดังนั้น บรรดากฎหมายที่ออกมาในช่วงยึดอำนาจเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้เข้าสู่ภาวะปกติก็ไม่มีความจำเป็นแล้ว แต่ประกาศและคำสั่งจำนวนไม่น้อยยังคงมีผลในทางคดีความ ที่จับกุมและตั้งข้อหาคนจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ประกาศและคำสั่งของคสช. จะมีสถานะเป็นกฎหมายและให้บังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติมายกเลิก ทำให้เครือข่ายประชาชนออกมาตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อเตรียมเสนอร่างกฎหมายให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งทั้ง 35 ฉบับ

ตัวอย่างประเด็นในประกาศและคำสั่งที่ภาคประชาชนเสนอให้ยกเลิก เช่น ข้อห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือทำกิจกรรม การควบคุมสื่อ การห้ามสื่อเสนอข้อมูลที่เป็นภัยต่อความมั่นคง และวิจารณ์คสช. การการละเมิดสิทธิชุมชนและการแทรกแซงการปกป้องสิ่งแวดล้อม

สุภาพร มาลัยลอย เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มองว่า ปัญหาใหญ่ของการมีประกาศและคำสั้่งเหล่านี้ คือ การใช้อำนาจโดยไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน และทำให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญกลายเป็นสิทธิที่ไม่มีความหมาย ข้อน่ากังวลหนึ่งคือ ประกาศและคำสั่งต่างๆ ที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน แต่ไปสนับสนุนหรือเอื้อต่อการลงทุนมากกว่า

ตัวอย่างหนึ่งที่หลายองค์กรกังวล คือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 หลายฉบับ ที่สั่งให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ยกเว้นการใช้กฎหมายผังเมือง ข้ามขั้นตอนกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ฯลฯ

อรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอิสานเล่าว่า ตั้งแต่รัฐบาลคสช.เข้ามาบริหาประเทศ ทางคสช.เองมีแนวนโยบายที่จะทวงคืนผืนป่า โดยจะทวงคืนพื้นที่ป่าให้ได้ 40% ของทั้งประเทศ ขณะเดียวกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ยากจน มันไม่ใช่การทวงคืนจากนายทุน แต่เป็นการทวงคืนจากกลุ่มคนจนที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทับซ้อนไป

“เราจะเห็นตามข่าวช่วงปี 2557 มีเจ้าหน้าที่ทหารถือเลื่อยไฟฟ้าไปตัดยางพารา ยึดพื้นที่ที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ตรงนี้ส่งผลกระทบต่อคนในพื้ที่ที่ไร้ที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน

“วันนี้ คำสั่งคสช.ต่างๆ ควรจะยกเลิกได้แล้ว เพราะมีรัฐธรรมนูญใหม่ออกมาแล้ว มันไม่ควรจะผูกขาดอำนาจของตัวเองไว้ชั่วกัปชั่วกัลป์ เรามองสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามันเหมือนกับรัฐบาลทำเพื่อตัวเอง ไม่ใช่ทำเพื่อความมั่นคงหรือประเทศชาติ”

ด้านรังสิมันต์ โรม อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เล่าว่า สำหรับตัวเขาและเพื่อน ได้รับผลกระทบที่ตรงที่สุดคือการที่ต้องเข้าไปอยู่ในคุกด้วยคดีละเมิดคำสั่งคสช.หลายครั้ง ประกาศและคำสั่งเหล่านี้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องรู้สึกรับผิดชอบอะไร หากเปรียบเทียบกับสมัยก่อน เจ้าหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก แต่ประกาศและคำสั่งเหล่านี้ทำให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่มีลักษณะตามอำเภอใจ ซึ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน

 

ที่มาภาพ: วิชญาดา วิวัฒน์

Tags: , ,