สิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์ ล้วนมีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ การดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ของตนเองให้ยาวนาน และยั่งยืนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่เกิดและวิวัฒนาการขึ้นมาบนโลกนั้น ‘มนุษย์’ นับว่าเป็นหนึ่งในชนิดพันธุ์ที่ปรับตัว และดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ของตนเองได้ดีที่สุด โดยเฉพาะกับมนุษย์สายพันธุ์ปัจจุบัน (Homo sapiens sapiens) ที่มีความฉลาด และพลังสมองเป็นเครื่องมือหลักอันทรงแสนยานุภาพ แถมด้วยระบบสังคมที่พร้อมดูแลทารกที่พึ่งเกิดได้อย่างสุดแสนจะเพอร์เฟ็กต์ (นับรวมองค์ความรู้ทางการแพทย์เข้าไปด้วยนะ)

ไม่เพียงเท่านั้น มนุษย์ยังมีความสามารถในการขยายพันธุ์ ที่รวดเร็วพอตัวในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมด้วยกันเอง เพราะพวกเราไม่ต้องรอให้ถึงช่วงติดสัด (สามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดเวลาเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับช่วงตกไข่ของเพศเมีย และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง) และเมื่อกาลเวลาผ่านไป พวกเราก็ได้นำเอาทั้งความสามารถ และ ‘จำนวน’ เข้ายึดครองโลกใบนี้ได้สำเร็จ

ปัจจุบันเรามีจำนวนประชากรทั้งสิ้นรวมแล้วกว่า 7.8 พันล้านคน จะพูดว่าชนิดพันธุ์ของเรานั้น เลือกที่จะเดินเกมชีวิตในลักษณะเจริญทีหลังแบบเอกซ์โพเนนเชียล (exponential) ก็ว่าได้ เพราะพอเราสั่งสมความรู้มากขึ้นก็มีแต่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต และสภาพสังคมไปเรื่อยๆ แบบไร้ขีดจำกัด (ซึ่งรวมถึงจำนวนลูกหลานที่เราผลิตได้ด้วย เพราะมนุษย์สมัยใหม่นั้น กำจัดนักล่าและขีดจำกัดตามธรรมชาติของตนเองไปได้แล้ว)

 ตัวเลขเจ็ดพันล้านนี้ เป็นประเด็นที่ดูน่าหวาดกลัวในความคิดของหลายๆ คนในรูปแบบของแนวคิด ‘ประชากรล้นโลก’ ที่มีให้เห็นกันตามภาพยนตร์และสื่อร่วมสมัยมากมาย ตั้งแต่เจมส์ บอนด์, คิงส์แมน, หรือเกมต่างๆ ที่ตัวร้ายต่างก็ยกเอาแนวคิดนี้มาเป็นข้ออ้างในการยึดครองโลก หรือทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์ทิ้งไปให้หมด ซึ่งถ้าถามว่าแนวคิดนี้มีความเป็นจริงมากน้อยขนาดไหน วิกฤตสภาพอากาศ, ความเหลื่อมล้ำทางสังคม, คุณภาพชีวิตที่ถดถอย, และทรัพยากรธรรมชาติที่ขาดแคลน ล้วนเป็นสัญญาณที่ดูจะตอกย้ำถึงปัญหาที่เกิดจากจำนวนประชากรมนุษย์อย่างชัดเจน

แต่ก่อนที่คุณจะเดินไปกดปุ่มสีแดงๆ เพื่อระเบิดโลกใบนี้ทิ้ง หรือเข้าร่วมขบวนการมหาวายร้าย เชื่อหรือไม่ว่า เราสามารถที่จะ ‘คุม’ จำนวนประชากรได้ผ่านกระบวนการทางสังคม และที่สำคัญที่สุดคือ การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยนั่นเอง ดังนั้นแล้วความหวังของมนุษยชาติจึงยังไม่หมดสิ้นไปซะทีเดียว หากเราทุกคนตัดสินใจที่จะเดินไปในทางที่ถูกต้องกันเสียที

 

ทำไมเราต้องคุมกำเนิด

ในสมัยโบราณ มนุษย์ไม่จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงการคุมกำเนิดเลยแม้แต่น้อย พวกเราอยู่อาศัยกันแบบ Polygamy (โดยเฉพาะการมีคู่ครองเพศหญิงมากกว่าเพศชาย) เพื่อให้มีลูกให้มากที่สุด แต่ด้วยอัตราการตายที่สูงจากการขาดแคลนระบบดูแลและองค์ความรู้ทางการแพทย์ จำนวนประชากรจึงไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่ (เกิดเยอะแต่ก็ตายเร็วเช่นกัน เป็นการคัดสรรทางธรรมชาติอย่างถ่องแท้)

เมื่อเราพัฒนามาจนถึงช่วงที่เริ่มมีความศิวิไลซ์ และเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ค่าเฉลี่ยอายุของมนุษย์ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกันกับการพัฒนาทางสังคมที่มีความซับซ้อน เชื่อกันว่าจุดนี้นี่เองที่ประชากรของเราเริ่มเกิดการบูม หมายความว่าตัวแปรทางธรรมชาติเองไม่สามารถที่จะคุมจำนวนประชากรของเราได้อีกต่อไป ผนวกกับการเข้ามาของศาสนาและแนวคิดที่ต่อต้านการคุมกำเนิดอย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรแบบกลายๆ ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก (ซึ่งประเด็นนี้ก็ไม่ผิดนะครับ ในยุคที่มนุษย์ตายกันง่ายสุดๆ ถ้าดันให้มาคุมกำเนิดเราคงไม่เหลืออะไรไว้สืบเผ่าพันธุ์แน่ๆ)

ถึงแม้ว่าเราจะเริ่มครองคู่กันแบบ Monogamy กันเป็นหลักในยุคสมัยใหม่ แต่นี่ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะอย่างว่า มนุษย์เราสามารถผสมพันธุ์กันได้เรื่อยๆ อยู่ดี (ซึ่ง ณ จุดนี้พวกเราก็ขยายอาณาเขตไปทั่วทุกแห่งหนบนพื้นโลกเรียบร้อยแล้ว) และแต่ละครอบครัวก็มีอัตราการมีลูกที่สูงกว่าหนึ่งเป็นเรื่องปกติ

แน่นอนว่าการเพิ่มจำนวนประชากรของสายพันธุ์หนึ่งๆ จนเกินขีดจำกัดของธรรมชาติ ย่อมเกิดผลเสียตามมาอยู่แล้วครับ หลักการทางชีววิทยาแสดงให้เห็นแล้วว่าหากมีชนิดพันธุ์หนึ่งเกิดขึ้นมากเกินไปในพื้นที่อันจำกัด ย่อมส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันเองจนสามารถนำไปสู่การสูญพันธุ์ได้ จากการขาดทรัพยากร โรคระบาด  และการทำลายตนเอง

ดังนั้นคำถามคือ ทำไมเราถึงยังรอด แถมจำนวนประชากรยังเพิ่มขึ้นซะอีก ทั้งที่หากลองคิดดูดีๆ แล้วละก็ เราผ่านโรคระบาดมานับไม่ถ้วน สงครามอีกเพียบ และภัยพิบัติอีกมากมายมหาศาล ทำไมกัน ประชากรโลกถึงไม่ลดลงเลย

คำตอบง่ายๆ คือ หลักการจำนวนประชากรของสัตว์นั้นใช้กับมนุษย์ไม่ค่อยได้ครับ เพราะเรา ‘ฉลาด’ เกินไป จริงอยู่ที่สถานการณ์ทั้งหมดสามารถสะกิดตัวเลขหลักล้านออกไปจากยอดรวมของประชากรพันล้านกว่าคนของเราได้ แต่นั่นก็แค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้น ยังเหลือมนุษย์อีกเพียบที่พร้อมจะดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป แถมมนุษย์ยุคปัจจุบันเอง ก็สามารถเสกทรัพยากรขึ้นมาได้ผ่านกระบวนการทางการเกษตรและอุตสาหกรรม หลีกเลี่ยงการฆ่าล้างกันเองด้วยการทูตและการเจรจา ประกอบกับระบบสังคมที่สลับซับซ้อนมากที่สุดในจักรวาล รวมถึงสู้กับภัยพิบัติด้วยกำลังและเครื่องมือต่างๆ จนลดอัตราการเสียชีวิตลงได้แบบทวีคูณเมื่อเทียบกับสมัยร้อยปีที่แล้ว

ดังนั้นพวกเราจึงไม่ใช่แค่เป็นสายพันธุ์ที่ขยายพันธุ์เก่งเท่านั้น แต่พอเก็บแต้มจนเต็มที่แล้วก็ดันอยู่เป็นแบบสุดๆ ไปอีกซะอย่างนั้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาจำนวนประชากรยังคงมีอยู่ให้เห็นอยู่แล้วครับ ถึงแม้จะไม่รุนแรงเท่ากับชนิดพันธุ์อื่นๆ แต่ในปัจจุบันมนุษย์เราได้เริ่มตระหนักแล้วว่า ถึงเราจะรอดชีวิตแต่ก็คงอีกไม่นานถ้าเรายังคงบีบคั้นขีดจำกัดของทรัพยากรโลกเช่นนี้ต่อไป รวมถึงตัดสินใจที่จะโยนเอาขนบธรรมเนียบเก่าคร่ำคร่าของศาสนาออกไป เพราะมันใช้ไม่ได้แล้วกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่พวกเรามีเป้าหมายในการเคารพทุกชีวิตและต้องการให้ชีวิตเหล่านั้นเติบโตมาอย่างสมบูรณ์ท่ามกลางจำนวนเพื่อนร่วมโลกที่ดูจะเยอะเกินไป

ดังนั้นแล้ว มนุษย์จึงเลือกที่จะคุมกำเนิดสายพันธุ์ของตนเองซะ นอกจากจะแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจำนวนประชากรแล้ว (เช่นประเด็นด้านทรัพยากร) ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงดึงการ ‘ผสมพันธุ์’ ออกมาเป็นกิจกรรมสนองความต้องการที่ปกติมากขึ้น ไปจนถึงปกป้องการเกิดขึ้นของ ‘ชีวิต’ ใหม่ในครอบครัวที่ยังไม่พร้อม

แน่นอนว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความพยายามจากทั้งวงการแพทย์ รัฐบาลในประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ ล้วนช่วยให้กระบวนการคุมกำเนิดเริ่มเป็นที่เข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายในกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ ไม่เพียงแค่นั้น  ค่านิยมทางสังคมสมัยใหม่เริ่มที่จะเลี่ยงการมีลูกหรือมีลูกแค่คนเดียวเท่านั้น ซึ่งสามารถช่วยดึงกราฟประชากรลงมาได้ในระยะยาว

 

เทคโนโลยีการคุมกำเนิดในปัจจุบัน

เกริ่นถึงประวัติศาสตร์ทั้งหมดไปแบบรวบรัดกันแล้ว ทีนี้เราลองมาดูกัน ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันได้เปิดโอกาสด้านการคุมกำเนิดให้พวกเราขนาดไหนบ้าง โดยไล่จากประสิทธิภาพต่ำสุดไปจนถึงสูงที่สุด (เพิ่มเติมคือแต่ละวิธีนั้นอาจจะเหมาะสมแตกต่างกันไปในแต่ละคนด้วย)

แน่นอนว่าเป้าหมายส่วนใหญ่คือการกันไม่ให้เกิดการปฏิสนธิระหว่างสเปิร์มและไข่ แต่บางกระบวนการนั้นก็เน้นไปที่การทำลายการผลิตหรือปิดกั้นสเปิร์มและไข่โดยเฉพาะ ไม่ก็โฟกัสที่พฤติกรรมโดยตรงไปเลย

หมายเหตุ: ร้อยละของความล้มเหลวในการป้องกัน (ยิ่งค่ามากยิ่งไม่ดี) โดยแสดงถึงความเสี่ยงในการตั้งครรภ์จากการใช้งานทั่วไปโดยคนปกติ หากเป็นการใช้งานที่ถูกต้องตามหลักการจริงๆ ค่าเหล่านี้จะลดลงกว่าเดิมได้พอสมควร

 1. พอกันได้ (ที่สำคัญคือนิยมใช้กัน)

หมวดนี้มักจะเป็นกรรมวิธีคุมกำเนิด ‘ทั่วไป’ ที่ผู้คนส่วนใหญ่และภาครัฐรู้จักกันดี รวมไปถึงวงการการแพทย์มักจะแนะนำเป็นอย่างแรกๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผลจากความพยายามหลายสิบปีในการผลิตและพัฒนา จนกลายเป็นผลผลิตอย่าง ‘ถุงยางอนามัย’ ที่หาได้ทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อแล้วในปัจจุบัน แน่นอนว่าที่นิยมใช้กันก็เพราะวิธีเหล่านี้นั้นง่าย สะดวก รวมถึงไม่ค่อยเจ็บตัว และเสียค่าใช้จ่ายไม่มากอีกด้วย จะว่าไปแล้วนี่นับว่าเป็นพื้นฐานของการคุมกำเนิดเลยทีเดียว

 

– การนับวัน (ร้อยละของความล้มเหลวในการป้องกัน N/A – 25%) หรือที่รู้จักกันดีในการหา ‘วันปลอดภัย’ ที่ฝ่ายหญิงไม่ตกไข่ แล้วจึงมีเพศสัมพันธ์ (ทั้งป้องกันหรือไม่ป้องกัน) ปัญหาคือ การวิจัยยืนยันแล้วว่าวิธีนี้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอโดยตัวมันเอง เพราะมีหลายครั้งที่เพศหญิงสามารถตกไข่ได้ไม่ตรงตามวัน หรือมีไข่ค้างอยู่ในระบบสืบพันธุ์ ในบางกรณี การนับวันนั้นแทบจะไม่ได้ผลเลย หากเพศหญิงมีรอบเดือนที่ไม่แน่นอนหรือผิดปกติ ดังนั้นวิธีนี้จึงควรเป็นเพียงวิธีรองที่ใช้ร่วมกับวิธีป้องกันอื่นที่ใช้ได้ผลกว่านี้ในทางการแพทย์ครับ

การหลั่งนอก (ร้อยละของความล้มเหลวในการป้องกัน 22%) มาด้วยชื่อภาษาอังกฤษสุดแหวกแนวอย่าง ‘Coitus interruptus’ แต่เช่นเดียวกับวิธีการนับวัน นี่ไม่ใช่วิธีที่ปลอดภัยเลยแม้แต่น้อย เพราะสเปิร์มของเพศชายนั้นมีโอกาสปนเปื้อนได้สูงมาก บางครั้งอาจมีการตกค้างอยู่ในท่อปัสสาวะที่นำพาของเหลวทุกอย่างออกมาจากองคชาติ หรือไม่ก็ติดมากับน้ำหล่อลื่นตามธรรมชาติของเพศชาย นี่จึงเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ควรหลีกเลี่ยงที่สุด สู้ไปใช้วิธีการอื่นอย่างอุปกรณ์ป้องกันเช่นถุงยางอนามัยจะดีกว่า ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ วิธีนี้ไม่ได้ป้องกัน STD หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เลยแม้แต่น้อย

– สารฆ่าเชื้ออสุจิ (ร้อยละของความล้มเหลวในการป้องกัน 28%) มักจะได้ยินกันมาบ้างจากวิชาสุขศึกษา ซึ่งก็ทำเอาหลายคนคิดว่ามันน่าจะทำงานคล้ายกับน้ำยาฆ่าเชื้อโรค แต่ความจริงคือ สารฆ่าเชื้ออสุจิส่วนใหญ่จะถูกใส่เข้าไปในช่องคลอดโดยตรงเลย เพื่อทำลายล้างอสุจิให้สิ้นซาก ประเด็นคือ เจ้ายานี่ไม่มีทางทำหน้าที่ของมันได้เต็มประสิทธิภาพแน่ๆ ด้วยความที่อสุจิเป็นอะไรที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ตายง่ายๆ สักเท่าไหร่ ดังนั้นตัวยาในกลุ่มนี้จึงเทียบไม่ได้กับยาคุมกำเนิดจริงๆ เลยแม้แต่น้อย (รวมถึงยาฆ่าเชื้อโรคด้วย) และถูกใช้งานในฐานะ ‘ตัวเสริม’ ในอุปกรณ์ป้องกันทางกายภาพอย่างถุงยางอนามัยเป็นหลัก การใช้ยาชนิดนี้เดี่ยวๆ เพื่อคุมกำเนิดยังนับว่ามีความเสี่ยงสูงพอสมควร จึงไม่ค่อยนิยมกัน และมักจะใช้ในกรณีพิเศษจริงๆ เท่านั้น (ไม่ได้กันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยนะ)

– ถุงยางอนามัยเพศหญิง (ร้อยละของความล้มเหลวในการป้องกัน 21%) นี่น่าจะเป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดที่เหมือนจะเวิร์ก แต่ก็ไม่เวิร์กเลยจริงๆ ครับ ถึงแม้จะมีค่าความเสี่ยงที่รับได้ แต่ด้วยความยุ่งยากในการใช้งานโดยเพศหญิง จึงทำให้ไม่เป็นที่น่าสนใจอย่างแรง (แถมโดนแซงด้วยเรตติ้งของถุงยางอนามัยชายแบบลิบลับ) อย่างไรก็ตาม ถุงยางชนิดนี้นับว่าเป็นวิธีการป้องกันทางกายภาพที่เชื่อถือได้ และมีการใช้งานกันพอสมควรในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

– ถุงยางอนามัยเพศชาย (ร้อยละของความล้มเหลวในการป้องกัน 18%) นี่คือพระเอกตัวจริงของวงการอุปกรณ์คุมกำเนิด และเป็นถึงเสาหลักในหมวดนี้เลยก็ว่าได้ ถุงยางอนามัยนั้น มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและผ่านการพัฒนามามากมาย (ครั้งหนึ่งเคยใช้ทางเดินอาหารสัตว์ในการผลิตด้วยนะ) จนกระทั่งมาใช้ยาง Latex ฆ่าเชื้อเป็นวัสดุหลักในปัจจุบัน ถุงยางจึงได้รับความนิยมขึ้นมาทันที เพราะมีราคาถูก สะดวกที่สุด และใช้ง่ายมากๆ ดังนั้นหากคุณเป็นผู้ชาย คุณต้องยืดอกพกถุงแล้วล่ะ เพราะมันเป็นสุดยอดนวัตกรรมที่ให้ประโยชน์กับทุกฝ่ายเลยจริงๆ (แถมไม่ลำบากเพศหญิงด้วย) ถุงยางอนามัยยังขึ้นชื่อในความหลากหลาย (รสชาติ วัสดุ พื้นผิว ฯลฯ) และกลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าจดจำ ผนวกกับความสามารถในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ดีทีเดียว นี่จึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่โดดเด่นที่สุดแล้วครับในบรรดาวิธีการคุมกำเนิดที่ผมลิสต์มา (อย่าลืมใช้ให้ถูกวิธีก็พอ)

– อุปกรณ์ป้องกันทางกายภาพชนิดอื่นๆ (ร้อยละของความล้มเหลวในการป้องกัน ประมาณ 20-24%) ที่เด่นๆ เลยก็คือ ฝาปิดช่องคลอด และฟองน้ำคุมกำเนิด ที่มีหลักการทำงานในการกันไม่ให้สเปิร์มหลุดเข้าไปผสมกับไข่ได้เช่นเดียวกับกลุ่มถุงยางอนามัย โดยการปิดทางเข้าสู่มดลูกหรือเป็นพาหนะในการกระจายยาฆ่าสเปิร์มผ่านการเคลือบสารชนิดนี้เอาไว้ แต่เนื่องด้วยความยากในการใช้งานจึงส่งผลให้ไม่เป็นที่นิยม (มีใช้อยู่บ้างในบางกรณี) คล้ายๆ กันกับถุงยางอนามัยเพศหญิง

 

 2. กันได้ดี (เริ่ม Advance)

กรรมวิธีในกลุ่มจะเน้นไปที่ยาคุมกำเนิดของเพศหญิงเป็นหลัก ซึ่งโดยรวมแล้วมีความสามารถในการป้องกันที่เพิ่มสูงขึ้นจากการโฟกัสไปที่ ‘ไข่’ แทนที่จะมานั่งสู้กับอสุจินับล้านๆ ที่ไม่มีทางชนะได้ง่ายๆ ด้วยยา แต่ก็แลกมาด้วยกระบวนการที่ซับซ้อนขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายที่อาจจะเพิ่มขึ้นมา อย่างไรก็ตามกรรมวิธีเหล่านี้ก็เป็นที่แนะนำ และนิยมไม่แพ้กันกับหมวดก่อนหน้า แต่ควรคำนึงถึงผลข้างเคียง และปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ถึงการใช้งานที่ถูกต้องเพื่อประสิทธิภาพอันสูงสุดในการคุมกำเนิด (เพิ่มเติมคือวิธีการส่วนใหญ่ในหมวดนี้ไม่ได้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นะครับ)

 

ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด (ร้อยละของความล้มเหลวในการป้องกัน ประมาณ 0.2-6%) แน่นอนว่ามีใช้กันจริงๆ ครับ โดยหลักการทำงานคือการฉีดฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกายเพศหญิงโดยตรง กระบวนการนี้เราเรียกรวมๆ ว่า Combined injectable contraceptives (CICs) และถึงแม้ว่าจะฟังดูเจ็บ แต่ก็นิยมใช้กัน เพราะไม่ต้องมาคอยห่วงเรื่องไล่ลำดับการกินให้ยุ่งยาก โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลในการฉีดให้เป็นระยะ ที่ดีกว่านั้นคือประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดที่สูงแบบสุดๆ ไปเลย บางคนที่ต้องการความชัวร์จึงตัดสินใจเลือกวิธีนี้ครับ (เพราะไม่ต้องถึงขั้นไปทำหมันด้วยนั่นเอง)

– ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดรับประทาน (ร้อยละของความล้มเหลวในการป้องกัน 9%) เป็นเหมือนคู่ตรงข้ามอันร้อนแรงของถุงยางอนามัยชายเลยทีเดียว ยาคุมชนิดรับประทานนั้นทำงานโดยการใช้ฮอร์โมนเช่น โปรเจสโตเจนและ เอสโตรเจน ในการไปหยุดหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการของประจำเดือนเพื่อหยุดยั้งการตกไข่ โดยผู้ใช้ต้องทำการกินยาให้ครบล่วงหน้าก่อนการมีเพศสัมพันธ์และถูกต้องตามลำดับเสมอ (ไม่นับยาคุมฉุกเฉินที่ใช้แยกกัน และไม่ควรใช้บ่อย) ด้วยความสะดวกสำหรับเพศหญิง และการที่ยากลุ่มนี้ถูกวิจัย และผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นที่ยอมรับและนิยมใช้กันทั่วไป ว่ากันว่าผู้หญิงกว่าร้อยล้านคนทั่วโลกเลือกที่จะใช้วิธีการนี้ในการคุมกำเนิดเลยด้วยซ้ำ ขอเพียงศึกษาวิธีการใช้ให้ดีและใช้งานอย่างถูกต้องตามคู่มือ ยาคุมชนิดนี้ก็จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันที่โหดกว่าถุงยางอนามัยชายซะอีก (ถ้าใช้ร่วมกันเป็นคู่ได้จะยิ่งดี) โดยมีข้อแตกต่างสำคัญคือไม่ช่วยกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) เท่านั้น

– ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่น (ร้อยละของความล้มเหลวในการป้องกัน 9%) นี่คือนวัตกรรมที่เข้ามาปฏิวัติวงการยาคุมกำเนิดของเพศหญิงเลยก็ว่าได้ครับ เพราะแทนที่จะใช้วิธีรับประทานตามปกติที่อาจจะพลาดได้ แผ่นแปะที่ใช้จะทำการถ่ายฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกายผ่านการดูดซับทางผิวหนังแทน ซึ่งเพิ่มความสะดวกขึ้นไปอีก รวมถึงสามารถหยุดการใช้งานได้ทันทีหากต้องการให้ระบบการตั้งครรภ์กลับมาเป็นปกติเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม ควรระวังการใช้งานร่วมกับยาชนิดอื่นๆ เช่นยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อรา

– ยาคุมกำเนิดชนิดวงแหวน (ร้อยละของความล้มเหลวในการป้องกัน 9%) เป็นวงแหวนที่ทำจากวัสดุพิเศษสำหรับใช้ในร่างกาย และใส่เข้าไปในช่องคลอด เพื่อให้ฮอร์โมนและสารเคมีภายในสามารถถูกดูดซับไปได้โดยตรงเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือน จึงช่วยประหยัดเวลาในการเปลี่ยนอุปกรณ์ได้ นี่เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้คนบางกลุ่มที่ไม่อยากใช้ยาคุมชนิดแผ่นหรือรับประทาน แต่ควรศึกษาถึงผลข้างเคียงจากการใช้งานด้วย

แผ่นครอบปากมดลูก (Diaphragm) (ร้อยละของความล้มเหลวในการป้องกัน 12%) ต้องขอแยกออกมาจากกลุ่มอุปกรณ์ป้องกันทางกายภาพในหมวดก่อนหน้า เพราะมันมีค่าประสิทธิภาพในการป้องกันที่ดีกว่าหลายเท่า เจ้าแผ่นครอบชนิดนี้ทำงานโดยการไปปิดทางเข้ามดลูกไว้เลย (จินตนาการว่ามันทำงานคล้ายๆ กับฝาปิดช่องคลอดก่อนหน้า แต่ปิดกั้นทางเข้าได้สนิทกว่าพร้อมกับมีสารฆ่าเชื้ออสุจิเคลือบกันไว้อีกชั้นหนึ่ง) การใช้งานควรได้รับการดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยความที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และมีต้นทุนต่ำ ทาง องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำให้เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์พื้นฐานที่จำเป็นในการคุมกำเนิด (ถึงแม้จะแข่งกับกลุ่มถุงยางอนามัยหรือยาคุมชนิดอื่นในด้านความนิยมได้ยากพอตัวก็ตาม)

 

 3. กันได้ดีที่สุด (แต่ก็ต้องแลกหน่อย)

นี่คือหมวดของวิธีการคุมกำเนิดที่ขึ้นชื่อว่าได้ผลดีที่สุดแล้วครับ โดยเน้นไปที่การหยุดการทำงานของระบบสืบพันธุ์ในระยะยาวหรือถาวรเลยทีเดียว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่กระบวนการเหล่านี้มักจะมีความซับซ้อนสูงที่สุด และในบางครั้งก็จะเป็นการตัดสินใจที่ย้อนกลับไม่ได้อีกเลยเหมือนกัน เช่นเดียวกับหมวดก่อนหน้า การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) ไม่ใช่ปัจจัยหลักของวิธีการเหล่านี้ครับ

– ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง (ร้อยละของความล้มเหลวในการป้องกัน – 0.05%) มีใช้ทั้งในเพศหญิงและชาย แต่ที่รู้จักกันดีคือแบบที่ใช้ในเพศหญิงสำหรับฝังบริเวณใต้ผิวหนัง (มักจะเป็นแขน) โดยตัวยาจะถ่ายโอนฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกายโดยตรง วิธีนี้มีผลในระยะยาวถึงสามปี จึงเป็นหนึ่งในวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดและครอบคลุมช่วงเวลาที่ยาวนานมาก เมื่อยาหมดอายุก็สามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ตามเดิม ไม่เหมือนกับการทำหมันที่แทบจะย้อนกลับไม่ได้เลย การฝังยาคุมต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสมอ และเมื่อทำการฝังแล้วก็สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ จนกว่าจะถึงกำหนดที่แพทย์นัดเพื่อเปลี่ยนยาและตรวจสอบผลข้างเคียง วิธีการนี้เป็นที่นิยมมากที่สุดในกลุ่ม Sex Worker และผู้มีความเสี่ยงหรือเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิดระยะสั้นไม่ได้ (ตัวยาไม่ได้ป้องกัน STD แต่อย่างใด)

ห่วงอนามัยคุมกำเนิด (ร้อยละของความล้มเหลวในการป้องกัน ประมาณ 0.2-0.8%) เป็นอุปกรณ์ที่ดูน่ากลัวหน่อย แต่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดแล้วในกลุ่ม ‘เครื่องมือ’ คุมกำเนิด ตัวห่วงมักจะใช้วัสดุเช่นทองแดงเป็นตัวทำลายสเปิร์มและหยุดยั้งการปฏิสนธิโดยธรรมชาติผ่านการใส่เข้าไปใน ‘มดลูก’ ของเพศหญิงซึ่งไม่ส่งผลข้างเคียงที่อันตรายต่อร่างกาย เจ้าห่วงคุมกำเนิดนี้สามารถใส่เอาไว้ได้ในระยะยาว (5-12 ปี) ใช้ได้ในผู้หญิงทุกช่วงวัย และสามารถใช้ในฐานะตัวคุมกำเนิดฉุกเฉินได้ด้วย โดยการใช้งานจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ต่างกับวิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ ที่มีความซับซ้อนสูง ห่วงคุมกำเนิดนับว่าเป็นที่นิยมที่สุดในกลุ่มการคุมกำเนิดระยะยาวชนิดย้อนกลับได้ และเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผู้คนที่ไม่ต้องการฝังยาแต่อยากได้การคุมกำเนิดที่ทีผลยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

– การทำหมันชาย (ร้อยละของความล้มเหลวในการป้องกัน 0.15%) ตรงไปตรงมามากครับ การทำหมันชาย (Vasectomy) คือการตัดและผูกท่อนำอสุจิ เพื่อให้อสุจิที่ถูกผลิตขึ้นไม่สามารถหลุดเข้าสู่ท่อปัสสาวะได้ การผ่าตัดนั้นไม่ยุ่งยากเท่ากับการทำหมันหญิง แต่อาจจะมีผลข้างเคียงในระยะสั้นหรือระยะยาวได้ ควรศึกษาให้ดีและปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ (ในปัจจุบันมีวิธีคุมกำเนิดไม่กี่ชนิด ที่ทดแทนความสามารถระยะยาวของการทำหมันชายได้ จึงทำให้ยังเป็นตัวเลือกที่มีให้เห็นกันอยู่ครับ ที่น่าสนใจคือการนำเอามาใช้ในฐานะบทลงโทษต่ออาชญากรรมทางเพศของผู้ต้องหาชาย ซึ่งได้รับเสียงตอบรับมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน)

– การทำหมันหญิง (ร้อยละของความล้มเหลวในการป้องกัน 0.5%) เป็นกระบวนการผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์ที่เราเรียกว่า Essure หรือห่วงโลหะเข้าไปในท่อนำไข่ (Fallopian tube) เพื่อหยุดยั้งการตกไข่ในระยะยาว ถึงแม้ตัวอุปกรณ์จะถูกออกแบบมาให้ใช้ตลอดชีวิต แต่ผลการวิจัยยังคงใช้ข้อมูลจากการใช้งานระยะสั้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น ประกอบกับผลข้างเคียงที่มีมากและความยากลำบากในการผ่าตัด วิธีนี้จึงไม่เป็นที่นิยม และถูกใช้งานในกรณีพิเศษเท่านั้น (สู้ไปใช้วิธีคุมกำเนิดแบบย้อนกลับได้ชนิดอื่นจะดีกว่าครับ)

 

ท้ายที่สุดแล้วนวัตกรรมและเทคโนโลยีการคุมกำเนิดก็ยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะดูเหมือนกับว่าเรามีตัวเลือกตั้งร้อยแปดพันอย่างแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะวงการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์คุมกำเนิด ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากในปัจจุบัน ทั้งในด้านการควบคุมจำนวนประชากร การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (ในอุปกรณ์บางชนิด) ลดการตั้งครรภ์โดยอุบัติเหตุหรือการปฏิสนธิโดยไม่ต้องการ และการช่วยให้ ‘เซ็กส์’ กลายเป็นเรื่องที่ปกติมากยิ่งขึ้นในสังคมมนุษย์ ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะมีวิธีที่ดีกว่าและปลอดภัยมากขึ้นไปอีกก็ได้

สำหรับในไทยนั้น สามารถติดต่อหน่วยงานเช่น สสส. หรือหน่วยงานทางการแพทย์ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ทันที สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการคุมกำเนิด

 

ทุกอย่างที่เราทำนั้นได้ผลหรือไม่

ได้ผลสิครับ เพราะอัตราการเกิดของประชากรนั้นค่อยๆ ลดลงเรื่อยจนกระทั่งถึงจุดสมดุลในประเทศพัฒนาแล้วด้วยซ้ำครับ (วัดจากอัตราการมีลูก) แต่ทั้งหมดนี้ยังคงยาวไกลต่อความเป็นจริงต่อการรักษาเสถียรภาพประชากรในระยะยาว เพราะในอีกหลายส่วนของโลก อัตราการเกิดก็ยังคงสูงอยู่ดี โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้

ทางสหประชาชาติประเมินจำนวนของประชากรโลกไว้ที่ 10,000 ถึง 12,000 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2100 ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่ยังคงสูงจนน่าใจหาย สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องรีบดึงกราฟลงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ ก่อนที่โลกใบนี้จะกลายเป็นสถานที่ที่คนรุ่นต่อไปต้องเกิดมาโดยทรัพยากรมีไม่เพียงพอที่จะรองรับพวกเขาได้ และส่งผลกระทบในแง่ลบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศอันแสนจะบอบบางนี้

การมีเพศสัมพันธ์อย่างถูกต้องและคุมกำเนิดตลอดเวลาเป็นอะไรที่เราทุกควรจะทำ หากเรายังไม่พร้อมที่จะสร้างอีก ‘ชีวิต’ ขึ้นมาบนโลกใบนี้

 

บทส่งท้าย

ในฐานะที่เติบโตและ ‘ตั้งใจ’ เรียนวิชาสุขศึกษามากพอตัว ผมเองยังคงสัมผัสได้ว่าในเวลานี้ ความล้มเหลวในการศึกษาและกระจายความรู้ด้านเพศศึกษานั้นส่งผลต่อประเทศไทยในเวลานี้ขนาดไหน เรายังคงอยู่ในสังคมที่ผู้คนเอาค่านิยมผิดๆ ทางศาสนามาใช้โต้แย้งข้อมูลที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และทำให้การคุมกำเนิดดูเป็นเรื่องไม่สำคัญ ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดต่อทั้งสังคมไทยและสังคมโลก (นี่ทำให้การทำแท้งเป็นอะไรที่ยากขึ้นไปกว่าเดิม) โชคยังดีที่คนรุ่นใหม่เริ่มที่จะพลิกโฉมวงการทั้งหมดนี้แล้ว และดูเหมือนองค์ความรู้พื้นฐานจะเริ่มเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้นผ่านการเข้ามาของบทเรียนออนไลน์

ไทยจะรอดพ้นจากปัญหาท้องไม่พร้อม, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, การขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศ, การมีลูกเกินจำนวน และอีกสารพัดวิกฤติที่เกี่ยวข้อง เพื่อกลายเป็นประเทศที่เข้าถึงสมดุลประชากร และกลายเป็นตัวอย่างที่ดีต่อประชาคมโลกได้หรือไม่นั้น คงต้องติดตามกันต่อไป

ที่แน่ๆ คือเวลาและทรัพยากรของเรา ค่อยๆ หมดลงเรื่อยๆ แล้วทุกวินาที

สุขสันต์วันวาเลนไทน์ครับ

 

อ้างอิง

https://youtu.be/QsBT5EQt348 

https://biologydictionary.net/overpopulation/

https://sciencing.com/effects-animal-overpopulation-8249633.html

www.who.int/reproductivehealth/publications/family_planning/en/ 

https://www.un.org/en/sections/issues-depth/population/

https://bit.ly/2Z8sc97

วิกิพีเดีย 

https://en.wikipedia.org/wiki/Human_overpopulation

https://en.wikipedia.org/wiki/Birth_control

https://en.wikipedia.org/wiki/Comparison_of_birth_control_methods

https://en.wikipedia.org/wiki/Overpopulation

Tags: ,