โตโยต้า ไทยลีก ฤดูกาล 2561 เปิดฉากไปแล้วเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นี่เป็นฤดูกาลที่ 22 ของการแข่งขันไทยลีกนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2539 และในช่วงเวลานี้ เส้นกราฟของวงการฟุตบอลไทยก็ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่ลดละ

ก่อนเปิดฤดูกาล 2561 จากตัวเลขที่มีการเปิดเผย 18 ทีมในโตโยต้า ไทยลีก ใช้งบประมาณในการบริหารจัดการทีมเพื่อทำศึกในลีกสูงสุดของประเทศอย่างน้อย 2,760 ล้านบาท โดยมีเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด นำมาเป็นอับดับ 1 อยู่ที่ 400 ล้านบาท ตามมาด้วยบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด 300 ล้านบาท ขณะที่อีกสองทีมใหญ่อย่างสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด และทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด คาดว่าใช้เงินราวทีมละ 250 ล้านบาท

เม็ดเงินที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี นำไปสู่การขับเคี่ยวแข่งขันที่เข้มข้นดุเดือด บุคลากรคุณภาพในทุกตำแหน่งหน้าที่จึงเป็นที่ต้องการของทุกสโมสร และไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ทุนหนาหรือทุนน้อย โลดแล่นในลีกสูงหรือลีกรอง ‘นักฟุตบอลฝีเท้าดี’ คือบุคลากรที่ทุกสโมสรต้องมี และการเฟ้นหาหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของทุกสโมสร ก็เป็นที่มาของอีกหนึ่งอาชีพซึ่งเกิดขึ้นควบคู่กับพัฒนาการของฟุตบอลไทย

0  0  0

ตัวแทนนักกีฬาหรือ ‘เอเย่นต์’ คนหนึ่ง (ไม่เปิดเผยตัวตน) ให้ข้อมูลว่า สำหรับคนไทย อาชีพนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเขาคือคนไทยคนแรกๆ ที่เป็นผู้บุกเบิกเส้นทางสายนี้

“ช่วงหนึ่งผมใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ ตอนว่างๆ ก็ไปเตะบอลกับคนที่นั่น ก็เลยได้รู้จักกับเพื่อนคนหนึ่ง เขาบอกว่ามีเพื่อนเป็นนักฟุตบอลสนใจมาเล่นที่เมืองไทย ผมก็เลยติดต่อกับคนรู้จัก แล้วก็นัดหมายให้นักฟุตบอลคนนั้นมาทดสอบฝีเท้า หลังจากสโมสรแห่งหนึ่งเซ็นสัญญากับเขา สโมสรนั้นก็ถามผมว่ามีกองหน้าอีกไหม เขากำลังต้องการ ผมก็ติดต่อเพื่อนของนักฟุตบอลคนนั้นให้มาทดสอบฝีเท้า แล้วจากนั้นคนอื่นๆ ก็ตามมา ก็เลยกลายเป็นว่าโชคดี ได้งานทำแบบไม่รู้ตัว หลังจากนั้นก็เลยทำมาเรื่อยๆ”

หน้าที่ของเอเย่นต์คืออะไร เขาอธิบายว่า งานของเขาคือการเป็นตัวแทนของนักฟุตบอลอย่างเป็นทางการ และเขามีหน้าที่ดูรายละเอียดของสัญญาระหว่างนักฟุตบอลกับสโมสร รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาในทุกเรื่องตลอดอายุของสัญญา

“ไม่มีสโมสรไหนหรอกที่ทำสัญญาให้นักฟุตบอลได้เปรียบ ไม่มีที่ปรึกษาของสโมสรไหนหรอกที่บอกว่าสโมสรเราจะเป็นสโมสรแรกในเมืองไทยที่เทิดทูนบูชานักเตะ เราจะเสียเปรียบทุกข้อในสัญญา ที่ผ่านมา สิ่งที่เคยเกิดขึ้นคือการยกเลิกสัญญาโดยไม่ต้องบอกกล่าว ให้สิทธิ์สโมสรฝ่ายเดียวในการยกเลิกสัญญา คุณเซ็นสัญญากับสโมสรสองปี คุณเล่นไปสามเดือนแล้วถูกยกเลิกสัญญา อีกปีกับเก้าเดือนที่เหลือล่ะ คุณจะอยู่อย่างไร หรือยกเลิกสัญญาเพราะเล่นไม่ดี ซึ่งมันไม่ใช่สาระสำคัญในการยกเลิกสัญญา ฟอร์มมันมีขึ้นมีลงอยู่แล้ว แต่สโมสรก็ใช้สิทธิ์ในการยกเลิกสัญญา ซึ่งทำกันมาหลายปี ทุกวันนี้ก็ยังมี แต่มีน้อยลง”

หน้าที่ของเอเย่นต์คือการเป็นตัวแทนของนักฟุตบอลอย่างเป็นทางการ มีหน้าที่ดูรายละเอียดของสัญญา รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาในทุกเรื่องตลอดอายุของสัญญา

ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับวงการฟุตบอลไทยมาหลายปี เขาบอกว่าสถานภาพของนักฟุตบอลไทยส่วนใหญ่ยังคงไม่ต่างจากหมาล่าเนื้อ “ทุกวันนี้มันเหมือนกับพีระมิด ยอดพีระมิดคือคนที่ติดทีมชาติหรืออยู่กับทีมใหญ่ ได้เงินเดือนสามแสนสี่แสน ส่วนตรงกลางพีระมิดคือพวกที่เซ็นสัญญาหนึ่งปี พอหมดสัญญาก็ต้องวิ่งหาทีมใหม่ อำนาจต่อรองก็ไม่ค่อยมี ส่วนพวกที่อยู่ด้านล่างของพีระมิดคือพวกที่เซ็นสัญญาหกเดือน เงินเดือนออกบ้างไม่ออกบ้าง สำหรับภาพรวมของฟุตบอลไทย ฉากหน้าอาจจะดูดี แต่ในลีกระดับล่าง ภาพอาจจะไม่ค่อยดีนัก”

ในตอนนี้ เขาตอบไม่ได้ว่าดูแลนักฟุตบอลอยู่กี่คน แต่จากการคัดกรองนักฟุตบอลก่อนที่จะร่วมงานกัน ทำให้งานของเขาไม่ยุ่งยากจนเกินไป

“ผมต้องดูก่อนว่านักฟุตบอลคนนั้นนิสัยเป็นอย่างไร เคยโกหกใครบ้าง พูดง่ายๆ คือ ถ้าคุณนิสัยดี ผมก็ทำงานได้ง่าย ผมจะทำงานกับคนที่คุยรู้เรื่อง คนที่มีทัศนคติที่ดีต่อการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และคนที่เคารพผู้อื่น ถ้าเป็นนักฟุตบอลต่างชาติและติดต่อกับผมโดยตรง ผมจะไม่ร่วมงานด้วย เพราะผมไม่สามารถเชื่อได้ว่าคุณไม่เคยล้มบอล คุณไม่เคยบาดเจ็บ หรือคุณไม่เคยทำเรื่องฉาวโฉ่มาก่อน ผมก็ต้องมีเอเย่นต์ที่คัดเลือกให้ก่อนที่จะส่งมา บางทีเอเย่นต์ดูให้ชั้นหนึ่งแล้วก็ยังมีผิดพลาด”

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมสโมสรจึงเลือกใช้เอเย่นต์ แทนที่จะใช้ ‘แมวมอง’ ในการค้นหาผู้เล่นฝีเท้าดี จากรายงานของไทยพับลิก้า สโมสรฟุตบอลในไทยเลือกที่จะซื้อนักฟุตบอลทั้งไทยและต่างชาติจากข้อมูลที่เอเย่นต์ส่งมา โดยไม่มีการส่งแมวมองไปเฟ้นหานักฟุตบอลฝีเท้าดี โดยเฉพาะนักฟุตบอลต่างชาติที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการส่งคนไปติดตามฟอร์มการเล่น

เอเย่นต์ที่ให้ข้อมูลกับเรายกตัวอย่างว่า “สมมติว่าเมืองทองฯ เป็นพันธมิตรกับเอฟซี โซล เมืองทองฯ อยากได้กองหน้า เอฟซี โซล อาจจะมีกองหน้าแค่สามคน แต่เอเย่นต์มี 20-30 คนให้เลือก พอเอเย่นต์ส่งมา สโมสรก็พิจารณาอีกที”

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความสำเร็จอันเนื่องมาจากการมีผู้เล่นต่างชาติฝีเท้าดีเข้ามาเสริมทีมอย่างต่อเนื่อง (แชมป์ไทยลีก 6 สมัย) ซึ่งการใช้ข้อมูลจากเอเย่นต์ บวกรวมกับการหาข้อมูลจากเว็บไซต์ ก็ทำให้แฟนฟุตบอลชาวไทยมีโอกาสได้ชมฝีเท้าของนักฟุตบอลต่างชาติคุณภาพสูงอย่างแฟรงก์ อาเชียมปง (กานา), ออสมาร์ อีบาเญซ (สเปน), โก ซุล-กิ (เกาหลีใต้), อันเดรส ตูเญซ (เวเนซุเอลา), และดีโอโก หลุยส์ ซานโต (บราซิล)

0  0  0

ปวเรศ อาจวิบูลย์พร กองกลางดาวรุ่งวัย 20 ปี คือนักฟุตบอลรุ่นใหม่ที่เลือกทำงานร่วมกับเอเย่นต์ตั้งแต่ในช่วงแรกของอาชีพนักฟุตบอล

อดีตกองกลางทีมชาติไทยชุดอายุไม่เกิน 12 ปี 13 ปี และ 14 ปี เริ่มต้นชีวิตนักฟุตบอลอาชีพกับบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อะคาเดมี ก่อนจะได้สัมผัสกับศึกเอ็ม 150 แชมเปี้ยนชิพ (ไทยลีก 2) ในสีเสื้อของเชียงใหม่ เอฟซี ในฤดูกาล 2559 จนกระทั่งย้ายมาอยู่กับพีทีที ระยอง ในฤดูกาล 2561

ปวเรศบอกว่าเขาได้รับคำแนะนำจากนักฟุตบอลรุ่นพี่ให้ทำงานร่วมกับเอเย่นต์ และการเซ็นสัญญากับพีพีที ระยอง ก็คืองานแรกที่เขามีเอเย่นต์เป็นที่ปรึกษา

“เขาจะดูแลเรื่องสัญญา เรื่องรายได้ และให้คำแนะนำ คือเป็นเหมือนสื่อกลางระหว่างผมกับสโมสร เขาจะคุยกับสโมสรและมาคุยกับผมว่าผมโอเคไหมกับสัญญาแบบนี้ ถ้าผมไม่โอเค เขาก็จะไปคุยกับสโมสร”

สำหรับนักฟุตบอลดาวรุ่งอย่างปวเรศ การทำงานร่วมกับเอเย่นต์คือเรื่องใหม่ของชีวิตนักฟุตบอล แต่แน่นอนว่านับจากนี้เป็นต้นไป สิ่งนี้จะอยู่คู่กับเขาไปตลอดอาชีพค้าแข้ง

ปวเรศ อาจวิบูลย์พร เริ่มต้นทำศึกเอ็ม 150 แชมเปี้ยนชิพ ฤดูกาล 2561 กับพีทีที ระยอง

ด้านกองกลางมากประสบการณ์วัย 31 ปี อย่าง พิชิตย์ ใจบุญ การย้ายจากสุโขทัย เอฟซี สู่แอร์ฟอร์ซ เซ็นทรัล เอฟซี ทีมน้องใหม่ของศึกโตโยต้า ไทยลีก ในช่วงก่อนเปิดฤดูกาล 2561 คือประสบการณ์แรกของการทำงานร่วมกับเอเย่นต์

พิชิตย์บอกว่าก่อนหน้านี้เขาไม่คิดว่าเอเย่นต์มีความสำคัญต่ออาชีพนักฟุตบอล และที่ผ่านมา การย้ายสโมสรแต่ละครั้งก็เป็นการตกลงกันโดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก แต่เมื่อธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องกับฟุตบอลมากขึ้น บวกรวมกับการเข้าสู่ช่วงปลายของอาชีพ เขาจึงตัดสินใจทำงานร่วมกับเอเย่นต์ในปีที่ 12 ของอาชีพนักฟุตบอล “เพราะรายละเอียดของสัญญาบางข้อ เราไม่สามารถคุยกับสโมสรได้ เราให้ตัวแทนของเราไปคุยดีกว่า มันง่ายกว่า สมมติว่านักกีฬาเล่นเก่งมาก แต่ต่อรองไม่เป็น มันก็เสียโอกาส หรือถ้านักกีฬาบาดเจ็บ สโมสรจะดูแลอย่างไร ค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นอย่างไร ผมจึงต้องให้ใครสักคนมาช่วยดูแลเรื่องกฎหมาย”

เช่นเดียวกับ ภัทร ปิยภัทร์กิติ อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติไทยวัย 37 ปี ซึ่งร่วมงานกับเอเย่นต์มาตั้งแต่เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว หลังจากได้รับบาดเจ็บจนแทบไม่ได้ลงเล่นในฤดูกาลหนึ่ง ก่อนจะไม่ได้รับการต่อสัญญาหลังจากจบฤดูกาล

“ตอนนั้นเราก็ต้องหาทีมเอง ซึ่งการหาทีมเองมันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปีนั้นเราเจ็บตลอด ไม่ค่อยได้ลงเล่น การมีเอเย่นต์จึงช่วยเราได้ เพราะเขาจะคุยกับคนนั้นคนนี้ได้มากกว่าเรา ซึ่งก็เป็นอีกแรงหนึ่งในการช่วยเราหาทีม”

พิชิตย์ ใจบุญ (หมายเลข 28) มุ่งมั่นกับการทำผลงานให้ดีที่สุดกับแอร์ฟอร์ซ เซ็นทรัล เอฟซี

0  0  0

ในทรรศนะของ ‘เอเย่นต์’ คนหนึ่ง ถึงแม้นักฟุตบอลไทยส่วนใหญ่จะยังคงมีสถานะไม่ต่างจาก ‘หมาล่าเนื้อ’ แต่ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับวงการฟุตบอล เอเย่นต์ผู้นี้คิดว่าฟุตบอลไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องช่วยกันแก้ไขปรับปรุง แต่เรื่องสำคัญสำหรับเขาก็คือ “อยากให้มองว่านักฟุตบอลไทยคือบุคลากรของประเทศ เราควรปกป้องเขา ส่งเสริมเขา และสร้างความยั่งยืนให้กับเขา”

ภัทร ปิยภัทร์กิติ ลงทำหน้าที่ในนัดที่พีทีที ระยอง บุกเอาชนะสมุทรสาคร เอฟซี  เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์

สำหรับภัทร ตำแหน่งผู้รักษาประตู ทำให้อายุงานของเขายืนยาวกว่าผู้เล่นในตำแหน่งอื่น แต่ในวัย 37 ปี เขารู้ดีว่าปลายทางของอาชีพนักฟุตบอลอยู่อีกไม่ไกล และจากประสบการณ์การลงเล่นตั้งแต่เมื่อครั้งต้องจ้างคณะตลกมาให้ความบันเทิงกับคนดูในช่วงพักครึ่ง เขาบอกว่าทุกวันนี้นักฟุตบอลไทยมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ด้วยค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ทุกคนเข้าใจดีว่าหากต้องการมีพื้นที่ในสนาม สิ่งที่แต่ละคนต้องทำมีเพียงอย่างเดียว นั่นคือการแสดงผลงานทั้งในสนามซ้อมและสนามแข่งให้ดีที่สุด

“อยากให้มองว่านักฟุตบอลไทยคือบุคลากรของประเทศ เราควรปกป้องเขา ส่งเสริมเขา และสร้างความยั่งยืนให้กับเขา”

เช่นเดียวกับพิชิตย์ การลงเล่นให้กับทีมน้องใหม่ของลีกสูงสุดอย่างแอร์ฟอร์ซ เซ็นทรัล เอฟซี เป็นงานที่ทั้งยากและท้าทายในเวลาเดียวกันสำหรับการพาทีมรอดพ้นจากการกลับไปเล่นในศึกเอ็ม 150 แชมเปี้ยนชิพในฤดูกาลหน้า จากเด็กต่างจังหวัดที่ใช้ฟุตบอลเป็นใบเบิกทางสู่อาชีพการงานและรายได้ พิชิตย์บอกว่าฟุตบอลให้ทุกอย่างกับเขา และสำหรับในช่วงปลายของอาชีพค้าแข้ง เขากับภรรยาก็มีแผนการคร่าวๆ สำหรับชีวิตหลังจากเลิกเล่นฟุตบอลเรียบร้อยแล้ว

ส่วนผู้เล่นดาวรุ่งอายุน้อยอย่างปวเรศ สองนัดแรกของพีทีที ระยอง ในฤดูกาลใหม่ ยังไม่ปรากฏชื่อของเขาอยู่ในสนาม แต่ระยะเวลาอย่างน้อยสองปีกับสโมสรแห่งนี้ มันคงเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าสำหรับก้าวต่อไปบนเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพ

ไม่ว่าจะเป็นนักฟุตบอลหรือตัวแทนนักฟุตบอล พวกเขาคือกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนฟุตบอลไทยให้ก้าวเดินต่อไป และสำหรับฤดูกาล 2561 ที่กำลังเริ่มต้น การชมฟุตบอลไทยในวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ

 

 

ขอขอบคุณภาพจากสโมสรฟุตบอลพีทีที ระยอง

Tags: , , , ,