ย่ำเท้าลงไปในดินแดน สวรรค์อาเขต ของ อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ ทั้งมืดและทุลักทุเล ทางสวรรค์ไม่เห็นจะง่าย ต้องระวังภัยที่ไม่รู้ว่าเราจะเหยียบพลาดลงไปเมื่อไหร่ ที่แย่ไปกว่าคือเราอาจสะดุดหัวหรือเหยียบเท้าใครเข้า บางทีนรกของฉัน อาจเป็นสวรรค์ของคุณ เหมือนกับทางเดินขึ้น บางละเมิด ผลงานแสดงเดี่ยวของเธอเมื่อสามปีก่อน ก็ไม่ได้ราบเรียบ ทางเดินคับแคบ อับ และขรุขระ แถมต้องระวังฝนที่ตกลงมาเป็นใบมีดโกนสูงกว่าเหนือหัวเรานิดเดียว
แต่ความไม่คาดหมายเป็นสิ่งที่คาดหมายได้ในการมาดูละครโรงเล็ก เหตุหนึ่ง ด้วยธรรมชาติงานประเภทนี้อยู่กับการจัดการประสบการณ์คนดูในหลากหลายมิติ ที่ต้องขมวดจนกลายเป็นเนื้อเดียว ขณะที่ปัจจุบัน ศิลปะร่วมสมัยเองก็ผลักออกจากมิติบนผนังหรือแท่นวาง ทว่าผสานสิ่งซึ่งอยู่ในท่าทีและคำถามตั้งต้นแตกต่าง เหตุจากแบบฝึกหัดทางศิลปะ เงื่อนไข และวาทกรรมที่รายล้อมงาน
ย้อนความทรงจำของตัวเองเมื่อสี่ห้าปีก่อนที่เริ่มตามดูละครโรงเล็ก จนพัฒนาเป็นบทสนทนากับผู้คนในพื้นที่ รวมถึงโอกาสร่วมฟัง ลอบมอง สังเกต และเรียนรู้ซ้ำ ผ่านกระบวนการที่ไม่เป็นทางการเหล่านี้ นอกเหนือจากความสนใจโดยปกติต่อสิ่งรอบตัว การหมั่นแวะเวียนโรงละครยังถูกขับจากความเชื่อในใจที่ว่า performing art มีพลังทำงาน มันสำรวจสิ่งต่างๆ จนถึงตั้งคำถามต่อร่างกาย ในฐานะพาหะและสาระในตัวที่ไม่อาจถูกปิดบังด้วยตัวบทและสุนทรียศาสตร์ของศิลปะได้หมดจด ความอ่อนแอและข้อจำกัดที่ไม่บรรเลงในเหตุผลของภาษาและความงามตามมาตรฐาน จนถึงความเปราะบางของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ คือหมอกบาง ๆ ของคำถามเหล่านี้ ที่กลายเป็นพลังภายในงาน performing art
ประเด็นที่สนใจส่วนตัว อาจแตกออกเป็นสองอย่าง หนึ่งคือ ศิลปะการแสดงคือสิ่งที่ผลิตซ้ำไม่ได้ เป็นการตายแล้วเกิดใหม่ต่อวันต่อรอบ ในความหมายที่สื่อคือร่างกายที่ควบคุมได้เพียงการฝึกหัด แต่ไม่สามารถชั่งตวงวัดจนได้ค่าที่แน่นอน กระบวนการสร้าง การทำงานกับร่างกาย จึงเรียกร้องความอดทนและความละเอียดละอ่อนต่อความอ่อนแอและขีดจำกัดของมนุษย์ จนถึงการสื่อสารนอกเหนือจากภาษาพูด/เขียน นักแสดงหลายคนจึงฉับไวต่อปฏิกิริยาของผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ส่วนที่สองคือ ระบบความสัมพันธ์ระหว่างสุนทรียศาสตร์ ศิลปะการแสดง[ออก] และการเมือง สร้างการยึดโยงที่ซับซ้อนจนกลายเป็นกลไกควบคุม เผยแพร่ โน้มน้าว หรือกระทั่งล้างสมองทางอุดมการณ์หนึ่งได้ โรงละครคือจักรวาลขนาดย่อมที่มีสุนทรียศาสตร์ ศิลปะการแสดง และการเมือง เป็นแกนกลางของการผลิตงาน จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ศิลปะการแสดงจะเข้าไปมีส่วนในขบวนการเคลื่อนไหวและการแข็งขืนทางการเมืองในประวัติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ
งาน physical theatre ของกลุ่มบีฟลอร์เธียเตอร์ (B-floor Theatre) เองก็อยู่บนฐานของความเชื่อต่อ ‘เสรีภาพในการแสดงออก’ (ศิลปะที่สร้างขึ้นในมโนทัศน์นี้มีข้อจำกัดและคำถามที่ควรถูกตั้งภายในตัวเอง แต่ขอไม่อภิปรายเพื่อเบี่ยงประเด็นไปไกล ณ ที่นี้) รวมถึงความรุนแรงจากรัฐต่อผู้คนที่เชื่อสิ่งเหล่านี้ เหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบ สอดส่อง และบันทึกการแสดงรายวันในงาน บางละเมิด กลายเป็นข่าวในบางสื่อที่ใส่ใจ กวักมือผู้ชมที่ก่อนหน้าอาจอยู่ไกลจากประสบการณ์ในพื้นที่โรงละคร โดยเฉพาะช่วงสี่ห้าปีล่าสุดในช่วงตลกร้ายทางการเมือง ผลงานของบีฟลอร์ผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องโดยสมาชิกต่าง ๆ ในทีม เช่น จารุนันท์ พันธชาติ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ ธีระวัฒน์ มุลวิไล จนมาถึงงานชิ้นใหม่ในชื่อ สวรรค์อาเขต ของ อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ กลายเป็น “a must” ของผู้ชมที่มองหา ‘เนื้อหาทางสังคมการเมือง’ จากศิลปะ
กระนั้นปฏิกิริยาตอบรับบนโซเชียลมีเดีย จาก ‘influencers’ จนไปถึงสื่อต่างๆ ที่แข่งกัน feed ด้วยความเร็ว อาจควรชะลอด้วยคำถามที่พอจะแทรกผ่านหมอกเหนือบึงบัวสีฉูดฉาด: เมื่อเราได้ยินสิ่งที่เราอยากได้ยิน เห็นในสิ่งที่เราเห็น หวังให้ศิลปะ ‘ตอบ’ และ ‘ประกาศ’ สิ่งที่เรามีอยู่ในใจแล้วก่อนหน้า จากการแสดงที่เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดใหม่วนซ้ำ…
ท่ามกลางความอื้ออึงเหล่านี้ เราได้ยินเสียงที่ไม่สามารถอยู่ในร่างที่เปล่งวาจา พ้นดินแดนภาษาและหลักการส่วนตนหรือไม่?
ท่ามกลางความมืดทึม เราได้มองเห็นการกลั้นกลืนความทุกข์ที่ไม่สามารถก่นร้องด้วยตัวเองบ้างไหม?
และเราได้สังเกตเห็น ‘การแสดง’ ของผู้ชมที่เกิดขึ้นขนานหรือแทรกซ้อนเข้ามาในงานจนเป็นเนื้อเดียวกับสิ่งที่ตระเตรียมไว้ล่วงหน้าได้บ้างหรือเปล่า?
อรอนงค์เล่าว่า สวรรค์อาเขต คือผลสืบเนื่องจาก บางละเมิด ชวนคิดว่า จะโลกเทพหรือโลกมนุษย์ ก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปเท่าไรในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ ‘เราเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?’ เมื่อมองในฐานะงานแสดง สวรรค์อาเขต แข็งแรงขึ้นด้วยตัวนักแสดงที่รับหน้าที่กำกับด้วยเสร็จสรรพ รวมถึงการทำงานร่วมกันทางความคิดที่มี จารุนันท์ พันธชาติ รับหน้าที่เป็น dramaturg (นักวิเคราะห์บท) และในทางการออกแบบการเคลื่อนไหวร่างกาย มี ธนพล วิรุฬหกุล ทำงานร่วมด้วยในกระบวนการปั้นและปรับท่าทางระหว่างซ้อม เพื่อหาจุดให้สื่อสารได้ใน ‘เส้น’ ที่วางไว้ นั่นคือการไม่ทำให้คนดูรู้สึกว่า ต้อง ‘ยอม’ หรือ ‘เห็นด้วย’ หรือส่งเสียงในลักษณะ ‘ฟังฉันสิ’ แม้ว่าในอีกทาง จะมีแรงหนึ่งที่อรอนงค์ยอมรับว่า “เรามีอารมณ์ร่วมกับประเด็นนี้มากจริงๆ แต่ทำยังไงไม่ให้เป็นการบังคับให้ฟัง แต่มันควรจะมีอะไรเอื่อย ๆ ลอยคลุ้งๆ อยู่ประมาณหนึ่ง”
แล้วเธอจึงถาม:
“สบายมั้ย?”
“สบายดีนะ?”
เป็นคำทักทายแรกจากนาง(บัว)สวรรคค์สีฉูดฉาด ถ้านี่เป็นสวรรค์จริง ก็คงเป็นสวรรค์ที่พูดจากันด้วยภาษาบ้านๆ (vernacular) มากกว่าจะต้องใช้คำหรูหรา (grandiose) ด้วยเนื้อผ้าห่มกายของเธอพบเห็นได้ทั่วไปในท้องตลาด ผู้ชมที่นั่งอยู่ตามชายผ้าของนาง (บัว) สวรรค์ในบึงไร้น้ำ ไม่ถึงขั้นต้องถามตัวเองว่าเมื่อครู่เพิ่งย่ำไปบนอะไร ความรู้สึกของคนดูอาจเปลี่ยนไป ถ้าผืนผ้าที่ถูกใช้เป็นลักษณะที่ในความเป็นจริงเราจะไม่(กล้า)เหยียบเลย แต่มองในอีกทาง องค์ประกอบแบบที่เป็นอยู่ก็สร้างความแปร่งในที โดยเฉพาะเมื่อผ้าผืนใหญ่ถูกเลิกขึ้นจนเห็นแต่สีดำของห่วงยางในตอนหลัง กระทั่งกลายร่างกลายเป็น ‘สิ่งอื่น’ มากขึ้นเรื่อยๆ
การเคลื่อนไหวและการเล่าเรื่องทำงานสนับสนุนกัน ทว่า monologue ของนาง(บัว)สวรรค์เกี่ยวกับอาหารและต้นไม้ร่มรื่น ย้ายไปแตะเรื่องโน่นนี่ที่เกาะเกี่ยวราวกับชีวิตช่างดีไม่มีอะไรให้ต้องวิจารณ์ แต่ถ้าลองมองดูให้ดี รอยยิ้มที่แข็งเกร็งทำงานเป็นหน้ากากฉาบความเหนื่อยหน่ายเสียมากกว่า ไม่ต่างจากชุดนาง(บัว)สวรรค์สีฉูดฉาดที่ห่มคลุมพื้นเกรอะกรังจนเกือบมิดชิด แต่ไม่มีอะไรปิดเนียนสนิทอย่างที่พยายาม
ความไร้สาระของ monologue ก็ฟังดูคล้ายกับ “doublespeak” ใน 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ที่น่าจะชวนขื่นมากกว่าขำ แต่ไม่ว่าจะขื่นหรือขำ monologue และเพดานของกลการยั่วล้ออาจทำงานได้อย่างจำกัดในเงื่อนไขทางวัฒนธรรม เช่น ‘ความดี’ มีความนัยทางวัฒนธรรมและการเมืองที่อาจสูญเสียความหมายเบื้องหลังผ่านการแปลความ จนถึง ‘มุกตลก’ ในตอนต้นที่แม้แต่คนในวัฒนธรรมเดียวกันก็ยังเห็นต่างรส
ขณะที่ ‘ตัวบท’ ของงานพยายามจะพูดถึงปัญหาของดินแดนหนึ่ง ที่ไม่ต้องเดาก็บอกได้ว่าหมายถึงประเทศของพระสยามเทวาธิราช ที่ความสมัยใหม่และความโบราณปรัมปราอยู่เคียงบ่ากัน แต่ตัวบทวิจารณ์สังคมการเมืองของงานชิ้นนี้อาจ oversimplified ไปเพื่อโจมตีเป้าที่ไม่ยากและรับรู้กันอยู่ (พุ่งไปยังไงก็ถูกต้องแน่นอน) ความเหลื่อมล้ำ ความสนใจ-เมินเฉย รวมถึงใครคือ ‘เหยื่อ’ ยังอยู่ในวาทกรรมหลักของการอธิบายปัญหาทางการเมืองและสังคมที่คนส่วนใหญ่พร้อมจะพยักหน้ารับ ด้วยว่ามันกลายเป็นความรู้ที่ถูกใช้และยืนยันซ้ำจนเราไม่คิดเฉลียว…
“ตกลงนั่นคือดอกอะไร?”
แน่นอนว่าผู้ชมเริ่มเห็นตัวเองเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของงาน ตั้งแต่ไฟในโรงละครสว่างขึ้นแล้วพบว่าตัวเองนั่งอยู่บนบึงดอกไม้จำแลง แต่จังหวะที่นักแสดงเริ่มดึงผ้าที่ทอต่อเป็นผืนเดียวกัน ผู้ชมต้องสนองการเคลื่อนไหวในทางใดทางหนึ่ง ส่งให้งานชิ้นนี้กลายร่างจากงานแสดงเดี่ยวเป็นงานแสดงกลุ่มที่มีนักแสดงเดี่ยวนำกระบวนการเคลื่อนไหว ความน่าสนใจของ performing art ในลักษณะนี้ คือการแสดงแต่ละรอบเปลี่ยนไปตามผู้ชม การกำกับทำได้แค่การ ‘ออกแบบ’ ความเป็นไปได้ที่มีมากกว่าหนึ่ง แต่ไม่สามารถควบคุมพลวัตในตัวงานได้โดยสมบูรณ์
นาง(บัว)สวรรค์เริ่มชักชวนผู้คนทำ ‘ความดี’ และสะสม ‘บุญ’ ผ่านการลงแรงช่วยกันในกิจกรรมที่เชื่อว่าไม่มีใครเข้าใจชัดด้วยซ้ำว่า “ทำไปทำไม?” (หรือไม่แม้แต่จะหยุดสงสัย?) สิ่งที่น่าสนใจ (และรบกวนจิตใจกว่า) คือ การกระโจนไปเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงอย่างสุดจิตสุดใจในนามของความช่วยเหลือ คือการเชื่ออย่างจริงจังต่อการ “ช่วยทำคนละไม้คนละมือ” ผ่านคำบอกใบ้อย่างกำกวมของนักแสดงนำให้โยน/โกยเข้ามา (และเราบางคนก็เชื่อฟังทำตาม) จังหวะยืนล้อมวงในห้องกับนาง(บัว)สวรรค์ที่วิ่งวุ่นทั่วห้อง กองห่วงยางในบึงไร้น้ำ ‘ก่อรูปใหม่’ อีกครั้ง เนื้อแท้ที่มันเป็นยางรถยนต์กองสุมเป็นชั้นเหนือหัวขึ้นไป ประติมากรรมเฉพาะกิจจากมวลชนคนดูยืนยิ้ม หัวเราะ ล้อมวง มีนาง(บัว)สวรรค์เป็นจุดรวมสายตาของการมอง — ศิลปะการแสดงกลายเป็นประติมากรรม ประติมากรรมกลายเป็นจังหวะของภาพนิ่งที่เซาะสะกิดประวัติศาสตร์ความรุนแรงและความเมินเฉยอย่างไร้เดียงสาไปพร้อมกัน เรายืนดูมันและยิ้มร่าเพราะเราเชื่อว่าเราเห็นและเข้าใจอย่างไม่ต้องสงสัยใช่ไหม?
เมื่อนาง(บัว)สวรรค์ผลัดกลีบใบสีฉูดฉาดและสลัดหน้ากากของรอยยิ้ม สวรรค์ดูคล้าย apocalypse มากกว่าดินแดนของผู้มีบุญสูงส่ง สิ่งที่เหลือคือกองเนินยางสีดำ และผู้ชมที่ยังคงยืนล้อมวง อรอนงค์ทวนท่าร่ายรำคล้ายบทเปิด ทว่าใบหน้าชุ่มด้วยเหงื่อ เครื่องสำอางหลุดลอกพร้อมกันกับกลีบใบสีสดที่ผลัดออกจากร่างกาย
ดอก(บัว?)สวรรค์ลอยสูงขึ้นไปสุดเพดานออกห่างจากร่างเดิม เวลานั้น ระยะห่างเปิดให้องศาการมอง ย้อนเป็นคำถามต่อความแน่ใจตั้งต้น ที่ทั้งทบทวนอดีต และทวงความหวังต่ออนาคต บนปัจจุบันที่ถูกสูบกลืนระหว่างสองสิ่งนี้
“ทำไม?”
“ทำไม?”
“ทำไม?”
การโยนคำถามไม่ใช่การหาคำตอบ (แต่คุณตอบได้ ไม่มีใครว่า) บางคำถามคือการสร้างปฏิกิริยาเพื่อก่อเป็นคำถามที่ใหญ่กว่า คำถามสำคัญอันจะได้ยินก็ต่อเมื่อคำถามเล็กๆ ถูกกองสุมรวมกันและโยนซ้ำต่อเนื่อง คำถามเพื่อนำไปสู่การสำรวจอย่างถี่ถ้วน คำถามเพื่อย้อนกลับไปถามผู้ถาม และตามกลับมาถามซ้ำผู้ตอบ หรือสนองต่อคำถามว่า “ทำไม” เราถึงให้คำตอบและมีท่าทีต่อคำถามในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง?
และคำถามยิ่งจำเป็นมากขึ้นในดินแดนที่มีคำตอบเสร็จสรรพให้จากทุกทาง มีคุณค่าที่กลายเป็น ‘สัจธรรม’ อันไม่ยินดีจะถูกท้าทาย
และท้ายสุด ประเด็นที่พูดออกมาไม่ได้ มันไม่แฝงอยู่ในภาษาของการเมืองหรือแบบแผนที่คนอยากฟัง แต่อยู่ในชั่วขณะ ช่องว่าง หมอกบาง ที่ไม่สามารถูกจับด้วยภาษาเขียนหรือหลักการที่ตายตัวและไร้จินตนาการ
ภาวะที่เหมือนจะชัดแต่กลับมองไม่เห็น ชั่วขณะที่ปริ่มและแปร่งแต่กลับไม่มีใครถาม “ทำไม?” สุมกองภาระที่อธิบายไม่ได้ด้วยหลักการที่ถูกประทับยอมรับไว้ล่วงหน้าต่างหาก คือปุจฉาทางการเมืองที่แท้จริง นอกจากจะเห็นโครงสร้าง การเคลื่อนไหว และได้ยินบทพูด เราสามารถที่จะรับรู้การมีอยู่ของหมอกบางเปลี่ยนสีที่พาคำถามวนแทรกระหว่างนักแสดง ผู้ชม วัตถุ และเสียงดนตรีได้บ้างหรือไม่? และทำไม (ไม่)?
Fact Box
สวรรค์อาเขต (Sawan Arcade) คือการแสดงเดี่ยว โดย อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ ศิลปินจากกลุ่มบีฟลอร์เธียเตอร์
การแสดงเป็นภาษาไทยและมี ซับไตเติลภาษาอังกฤษ
รอบการแสดง 12 รอบ วันที่ 8-20 มกราคม 2018
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/events/190489491494436/
Tags: ละครเวที, ศิลปะการละคร, กลุ่มบีฟลอร์, B-Floor, เสรีภาพ, ศิลปะการแสดงสด