การดูภาพยนตร์เพื่อปลดปล่อยความเศร้าเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้สิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจได้ระบายออกมา เพราะหลายครั้ง บางคนอาจไม่รู้ว่าจะบรรเทาความอึดอัดข้างได้อย่างไร การได้ถ่ายเทความรู้สึกอ่อนแอออกมาบ้างนั้นก็ดีกว่าการเก็บกดอย่างแน่นอน

เราจะมาเยียวยาความเศร้านั้นไปพร้อมๆ กันด้วยภาพยนตร์ 5 เรื่องนี้

The Tale of Princess Kaguya (2013)

ภาพยนตร์แอนิเมชั่นจากตำนานพื้นบ้านอันโด่งดังเรื่องเจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งถูกนำมาร้อยเรียงโดยสตูดิโอจิบลิ กำกับโดยอิซาโอะ ทาคาฮาตะ ผู้ฝากผลงานสุดประทับใจมาแล้วจาก Grave of the Fireflies (1988) และอีกหลายๆ เรื่อง

The Tale of Princess Kaguya ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้เท่าที่ควรเมื่อเทียบกับทุนสร้างจำนวนมหาศาล แต่ในแง่คำวิจารณ์นั้นถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีเลยทีเดียว รวมไปถึงได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยมด้วย และความแตกต่างจากแอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆ ของ The Tale of Princess Kaguya คือลายเส้นอันงดงามแบบศิลปะญี่ปุ่นโบราณซึ่งวาดด้วยพู่กัน

เรื่องราวเกิดขึ้นในชนบทแห่งหนึ่ง ตะเกะโตริ โนะโอะกินะ ชายชราผู้เลี้ยงชีพด้วยการขายไม้ไผ่ อยู่กินกับภรรยากันสองคน แต่ในวันหนึ่ง ตะเกะโตริก็พบกับต้นไผ่ที่ส่องแสงจรัส แล้วก็ได้พบว่าภายในไผ่ต้นนั้นมีเด็กหญิงขนาดตัวเท่าหัวแม่มือนอนอยู่ ด้วยความดีใจปนประหลาดใจ เขารีบพาเด็กน้อยกลับบ้านไปหาภรรยา และตัดสินใจจะเลี้ยงดูเธอให้เติบโต โดยตั้งชื่อว่า คะงุยะ-ฮิเมะ

วันแล้ววันเล่าผ่านไป คะงุยะค่อยๆ เจริญวัยขึ้นอย่างรวดเร็ว เธอร่าเริง สดใส จิตใจดี และรักธรรมชาติ ชีวิตเธอนำพาความมั่งคั่งมาสู่บิดามารดา จนโชคชะตาเริ่มแปรผันไป ความเป็นอยู่และการเอาใจใส่อย่างท่วมท้นของครอบครัวนั้นกลายเป็นการกักขังเธอไว้ กรอบของขนบธรรมเนียมประเพณีบีบบังคับให้คะงุยะไร้ซึ่งความสุข ในท้ายที่สุดเธอก็ทนไม่ไหว ร้องขอต่อดวงจันทร์ว่าให้ช่วยนำพาเธอกลับไปที

คำอ้อนวอนและความรู้สึกนั้นกังวานไปถึงเบื้องบน เหล่าบรรดาทูตสวรรค์จึงมารับตัวเธอกลับไป ทิ้งความเศร้าโศกเสียใจไว้ให้กับคนที่อยู่เบื้องหลัง และความทรงจำที่มีทั้งหมดมาก็จางหายไปจากตัวเธอ

Like Father, Like Son (2013)

ฮิโรคาสุ โคริเอดะ ผู้กำกับภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่มักสร้างความประทับใจให้ผู้ชมเสมอๆ ความสัมพันธ์ของครอบครัวเป็นประเด็นที่เขาให้น้ำหนักอยู่เรื่อยมา ไม่ว่ากับภาพยนตร์เรื่องไหน

Like Father, Like Son ก็เช่นกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จไปตามคาด กวาดรายได้และคำชมไปมากมาย รวมถึงคว้ารางวัล JURY PRIZE จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ไปด้วย

หากดูจากพล็อต Like Father, Like Son ออกจะเกือบให้ความรู้สึกเลี่ยนด้วยซ้ำ แต่พอเข้าไปอยู่ในมือผู้กำกับอย่างคุโรเอดะ มันกลับเรียบง่าย แต่ทว่างดงาม อบอุ่นอย่างประหลาดจนหัวใจพองโต

ภาพยนตร์เล่าเรื่องของครอบครัวสองครอบครัว คือหนึ่ง ครอบครัวโนโนะมิยะ ซึ่งประกอบไปด้วยเรียวตะ มิโดริ และเคตะ สองสามีภรรยากับลูกชายวัย 6 ขวบ และสอง ครอบครัวซาอิกิ ประกอบด้วย ยูดาอิ ยูคาริ และเรียวเซ พ่อแม่และลูกชายวัย 6 ขวบเช่นกัน

สองครอบครัวนี้มีฐานะความเป็นอยู่ต่างกัน ครอบครัวหนึ่งมีความเป็นอยู่อย่างชนชั้นกลาง อาศัยคอนโดในเมืองใหญ่ พ่อทำงานหนัก แม่เป็นแม่บ้าน และมีการวางแผนอนาคตของลูกชายไว้อย่างรอบคอบ ส่วนอีกครอบครัวนั้นอาศัยอยู่ห่างออกมา ฐานะแบบบ้านๆ เปิดกิจการเล็กๆ

แต่แล้วสองครอบครัวนี้ก็มีส่วนให้ต้องมาเกี่ยวข้องกัน เหตุเพราะลูกชายของทั้งคู่ถูกสลับตัวกันตั้งแต่แรกเกิด นั่นจึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ว่ากับทั้งตัวลูกชาย หรือคนเป็นพ่อแม่เอง

ความผูกพันระหว่างช่วงเวลา 6 ปีนั้นก็สำคัญ แต่ความสัมพันธ์ทางสายเลือดนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่มีวันตัดขาด พวกเขาทั้งหมดจึงต้องเรียนรู้และปรับตัวเข้าหากัน สิ่งที่ไม่ง่ายเลยก็คือความซับซ้อนทางความรู้สึก ความอึดอัดที่กลับไม่ได้ไปไม่ถึง และการตั้งคำถามต่อหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวพวกเขาเอง ถึงอย่างนั้น ความเป็นครอบครัวก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป

Along with the Gods: The Two Worlds (2017)

หากเอ่ยถึงชื่อผู้กำกับยง-ฮวา คิม ชื่อนี้อาจจะไม่คุ้นหูมากนัก แต่ถ้าเอ่ยถึงภาพยนตร์ 200 Pounds Beauty หรือฮันนะซัง สวยสั่งได้ หลายคนน่าจะร้องอ๋อ ฮันนะซังเป็นภาพยนตร์ที่ดูสนุก มีอารมณ์ขัน และชวนเสียน้ำตาไปพร้อมๆ กัน ใครต่อใครต่างประทับใจในบทเพลงและความซาบซึ้งของภาพยนตร์ และการกลับมาของผู้กำกับยง-ฮวา คิม ในครั้งนี้ก็สั่นสะเทือนหัวใจไม่แพ้ครั้งก่อน

Along with the Gods สร้างจากการ์ตูนออนไลน์ชื่อดัง Singwa hamgge ที่มียอดอ่านกว่าพันล้านวิว และยอดขายถึง 450,000 เล่ม ภาพยนตร์เรื่องนี้ทุ่มทุนสร้างไปกว่า 35 ล้านเหรียญหรือสี่หมื่นล้านวอน แต่หลังจากเข้าฉายเพียงไม่กี่วัน ก็ทำรายได้จนได้ทุนคืนในระยะเวลาอันสั้น และสร้างปรากฏการณ์ยอดคนดูถล่มทลาย พร้อมๆ กับกระแสชื่นชมที่ตามมาอย่างมากมาย

ภาพยนตร์เรื่องนี้รวมดาวเด่นไว้มากมาย ทั้งชาแทฮยอน (My Sassy Girl), จูจีฮุน (Princess Hours), ฮาจุงวู (The Handmaiden) และ คิมฮยางกี (Snowy Road)

เรื่องราวของคิมจาฮง นักดับเพลิงที่เพิ่งเสียชีวิต และเขาเป็น ‘วิญญาณคนดี’ ที่มีสิทธิไปเกิดใหม่ได้ทันที แต่เขาจะต้องผ่านการไต่สวนจากนรกแห่งบาปทั้งเจ็ดเสียก่อน โดยมียมทูตผู้พิทักษ์สามองค์คอยนำทางและช่วยเหลือ เรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังของคิมจาฮงจึงค่อยๆ เปิดเผยออกมาเรื่อยๆ ความดีงามทั้งหมดนั้นอาจเป็นเพียงภาพมายา? และความรู้สึกผิดบาปอย่างรุนแรงนั้นก็ทำให้เราไม่อาจเกลั้นน้ำตาจากหัวใจของตัวเองได้

A Taxi Driver (2017)

A Taxi Driver กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลของเกาหลีใต้ โดยทำเงินไปกว่า 95 พันล้านวอน ในช่วงเวลาที่ภาพยนตร์เข้าฉาย มีผู้ชมตีตั๋วเข้าชมจำนวน 8 ล้านคนภายใน 13 วันเท่านั้น

ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดยจองฮุน ผู้เคยฝากผลงานการกำกับมาแล้วจากภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิ Rough Cut (2008 ), Secret Reunion (2010) และ The Front Line (2011) และสิ่งที่ช่วยขับเน้นให้ภาพยนตร์ดำเนินไปได้อย่างดีก็คือเหล่านักแสดงมากความสามารถ ไม่ว่าจะเป็น รยูจุนยอล จากละคร Reply 1988, ซองคังโฮ จาก Memories of Murder (2003) และโธมัส เคร็ทสช์แมน จาก Avengers: Age of Ultron (2015)

A Taxi Driver มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 1980 ที่กวางจูมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้น บรรดานักศึกษาและชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ โดยที่คนนอกพื้นที่ไม่รับรู้อะไรเลยกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่น

ปีเตอร์ นักข่าวชาวเยอรมันตัดสินใจไปเกาหลีเพื่อไปทำข่าว แต่เขาก็ต้องปิดบังตัวตนที่แท้จริง การเดินทางไปกวางจูไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสถานการณ์อันเลวร้ายทำให้กวางจูถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง ปีเตอร์จึงจ้างแท็กซี่เพื่อไปยังจุดหมาย นี่เองที่ทำให้เขาได้พบกับคิมมันซบ ผู้ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของคนทั่วไปที่โดนรัฐปิดหูปิดตา

คิมมันซบไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นที่กวางจู และเขาก็แทบจะไม่สนใจมันด้วยซ้ำในทีแรก แต่เมื่อไปถึงที่นั่นแล้ว ความเป็นจริงก็ได้ปรากฏกายออกมา เหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้นตรงหน้า ความบิดเบือนทั้งหลายแหล่ปลาสนาการไปสิ้น สิ่งที่พวกเขาจะต้องทำต่อจากนั้นก็คือการเผยแพร่ข่าว รวมถึงทำให้คนภายนอกได้รับรู้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

ความถูกผิดนั้นคืออะไรกัน ทำไมทหารถึงลงมือทำร้ายประชาชนที่ต่อสู้เพียงมือเปล่า

Us and Them (2018)

ผลงานการกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกของเรเน่ หลิว ผู้หญิงมากความสามารถที่เป็นทั้งนักร้อง นักแต่งเพลง นักเขียน และนักแสดงมือรางวัล ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศจีน โดยทำรายได้ในวันแรกที่เข้าฉายถึง 45.5 ล้านเหรียญหรือ 290 ล้านหยวน และมีรายได้มากกว่า 1 พันล้านหยวนภายในสองสัปดาห์

Us and Them กำกับภาพโดยมาร์ก ลี พิง-บิง (Mark Lee Ping-bing) ผู้ที่เคยมีผลงานการกำกับภาพมาก่อนจากภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง In the Mood for Love (2000) ของหว่องกาไว และกำกับภาพ The Assassin (2015) ของผู้กำกับรุ่นใหญ่โหวเซี่ยวเสียน

ภาพยนตร์แบ่งออกเป็นสองช่วงเวลา คืออดีตกับปัจจุบัน อดีตถูกแทนด้วยภาพสี ส่วนปัจจุบันแทนด้วยภาพขาวดำ ซึ่งภาพยนตร์มีเหตุผลในตัวของมันเองว่าเหตุใดถึงเป็นแบบนั้น

เรื่องราวเริ่มต้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2007 หนุ่มสาวคู่หนึ่งบังเอิญพบกันบนรถไฟ และจุดหมายปลายทางของพวกเขาก็คือหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งห่างไกลจากปักกิ่ง นับจากนั้นความสัมพันธ์ของพวกเขาก็ค่อยๆ เป็นไปอย่างเชื่องช้าและคืบคลานเข้ามาเกาะเกี่ยวกันทีละน้อย

ท่ามกลางกรุงปักกิ่งที่แสนจะวุ่นวาย ความอบอุ่นและเรี่ยวแรงในการใช้ชีวิตแต่ละวันถูกซุกซ่อนอยู่ในห้องพักแคบๆ ที่ความโหดร้ายและการแข่งขันของสังคมมันสามารถบั่นทอนให้เหือดหายไปได้เหมือนกัน

การกลับบ้านในเทศกาลตรุษจีนแต่ละปีทำให้เราเห็นความก้าวหน้าและถอยหลังของความสัมพันธ์ จวบจนจุดสิ้นสุด จนใครสักคนเลือกเดินจากไป และพวกเขาจะกลับมาพบกันโดยบังเอิญอีกครั้ง ในรูปแบบที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ในลักษณะที่หวนไห้และเจ็บปวดอย่างไม่อาจย้อนคืน

Tags: , , , , , , , ,