เธอเสียชีวิตในกรุงวอชิงตันด้วยวัย 87 ปี ก่อนจะถึงกำหนดการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา 46 วัน แต่เธอได้ทิ้งมรดกทางการเมืองไว้ ให้หลานสาวบันทึกข้อความหนึ่งไว้ที่ข้างเตียงก่อนเธอสิ้นใจ 

ความปรารถนาอันแรงกล้าของฉันคือ จะไม่มีใครมาแทนที่ฉันจนกว่าจะมีประธานาธิบดีคนใหม่เข้ามารับตำแหน่ง

บนขั้นบันไดอาคารซูพรีมคอร์ตมีคนนำช่อดอกทิวลิปและลิลลีสีขาวไปวางไว้อาลัยและยกย่องตุลาการหญิงผู้เป็นแบบอย่างของนักต่อสู้เพื่อสิทธิและความเสมอภาคของสตรีมาตลอดระยะเวลา 27 ปี

รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก (Ruth Bader Ginsburg) เกิดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 1933 ในย่านผู้ใช้แรงงานของบรูคลีน จากพื้นเพครอบครัวชาวยิว แม่เป็นผู้อพยพจากออสเตรีย ส่วนพ่ออพยพจากโอเดสซามาอยู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 13 ทั้งสองไม่ได้มีการศึกษาสูง จึงทุ่มเทความหวังไปที่ลูกสาวของตน รูธมีพี่สาวหนึ่งคน แต่เสียชีวิตตอนรูธอายุได้สองขวบ แม่ของเธอก็เช่นกัน เสียชีวิตเมื่อตอนที่เธอเพิ่งเรียนจบจากเจมส์ แมดิสัน ไฮสคูล

รูธเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์และจบออกมาพร้อมเกียรตินิยม ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย รูธรู้จักกับมาร์ติน กินสเบิร์น (Martin Ginsburg) คนที่เธอปลงใจแต่งงานด้วยในเวลาต่อมา หลังจากนั้นทั้งสองโยกย้ายไปที่ฟอร์ต ซิลล์ รัฐโอคลาโฮมา ที่ซึ่งมาร์ตินรับราชการทหาร ต่อมาเขาสมัครเรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเมื่อเจน (Jane) ลูกสาวของทั้งสองอายุได้ 14 เดือน รูธก็สมัครเข้าเรียนต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดด้วยเช่นกัน ที่นั่นเธอเป็นหนึ่งในจำนวนนักศึกษาหญิง 9 คนที่ต้องขับเคี่ยวกับนักศึกษาชายร่วมรุ่นกว่า 500 คน 

ตอนเรียนอยู่ที่ฮาร์วาร์ดปีสอง รูธเป็นนักศึกษาหญิงดีเด่นอันดับ 25 ของรุ่น เธอทุ่มเทกับการเรียนทั้งๆ ที่ต้องรับภาระหนักในครอบครัว เพราะสามีของเธอล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง ในการเรียนชั้นปีที่สาม เธอโอนย้ายมาเรียนวิทยาลัยกฎหมายของมหาวทิยาลัยโคลัมเบียจนจบการศึกษา

กระทั่งมาร์ติน กินสเบิร์กหายป่วย และเข้ารับตำแหน่งทนายอัยการในนิวยอร์ก ปี 1959 ในปีถัดมารูธจึงเริ่มบทบาทการต่อสู้ในฐานะนักกฎหมาย เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคเพื่อสตรี

ปี 1973 คดีแรกของรูธในซูพรีมคอร์ต เธอว่าความให้กับทหารอากาศหญิงคนหนึ่งซึ่งได้รับสวัสดิการสังคมไม่เท่าเทียมกับทหารเพศชาย ครั้งนั้นเธอหยิบยกประโยคของซาราห์ กริมเค (Sarah Grimké) นักกิจกรรมจากยุคศตวรรษที่ 19 มากล่าว 

ฉันไม่ได้เรียกร้องอภิสิทธิ์ให้กับคนเพศเดียวกับฉัน ทั้งหมดที่ฉันเรียกร้องจากพี่น้องเพศชายของเรา ก็เพียงขอให้ยกเท้าออกจากบ่าของเราก็พอและเธอก็ชนะความ

….. 

ปี 1981 แซนดรา เดย์ โอคอนเนอร์ (Sandra Day O’Conner) ได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการหญิงคนแรกในศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา สิบสองปีถัดมา วันที่ 10 สิงหาคม 1993 รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์กเข้ารับตำแหน่งเป็นตุลาการหญิงคนที่สอง

ประธานาธิบดีบิล คลินตันจากพรรคดีโมแครตเป็นคนเสนอชื่อเธอในตำแหน่งดังกล่าว ปีนั้นคลินตันกำลังมองหาผู้พิพากษาซูพรีมคอร์ตคนใหม่อยู่พอดี และขณะนั้นรูธ กินสเบิร์กอายุครบ 60 ปี ออกจะสูงวัยเกินสำหรับตำแหน่งสำคัญ แต่เพราะเธอมีบทบาทสำคัญในเรื่องสิทธิสตรี ครั้งแรกที่คลินตันนัดคุยทุกอย่างก็ราบรื่นภายในสิบห้านาทีผมสามารถตัดสินใจได้เลยว่าจะเสนอชื่อเธอเพื่อรับตำแหน่งนี้เขาบอกกับสื่อในปีถัดมา

ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์กยังคงสืบเนื่องการสนับสนุนสิทธิและความเสมอภาคสำหรับผู้หญิง ฤดูร้อนปี 1993 เธอเน้นย้ำว่า ผู้หญิงควรตัดสินใจได้เองว่าจะเก็บทารกในครรภ์ตนเองหรือจะทำแท้ง แม้หลังการแถลงที่ชัดถ้อยชัดคำในประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างรุนแรง แต่วุฒิสภาก็รับรองด้วยคะแนนเสียง 96 ต่อ 3

สิทธิคือความรักที่สมหวังสำหรับฉันเป็นคำกล่าวของเธอในหนังสารคดี ‘RBG’ (2018) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเธอ

คำพิพากษาของรูธในซูพรีมคอร์ตมักเป็นที่จดจ่อรอฟังของใครๆ และเมื่อใดที่เธอมีความเห็นตรงใจคนส่วนใหญ่ เธอมักสวมจาบ็อตผ้าลูกไม้ (Jabot – ปกคอเสื้อ) เป็นนัยบ่งบอกทับเสื้อครุย โดยเฉพาะคำคัดค้านของเธอมักมีรายละเอียดอธิบายถึงเหตุผลเสมอว่าทำไม ภาพใบหน้ามั่นใจ แว่นตาโดดเด่น จาบ็อตผ้าลูกไม้ และประโยคคำพูดฉันคัดค้านของเธอสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ทั้งบนถ้วยกาแฟ เข็มกลัด แผ่นแม่เหล็ก หรือผลิตภัณฑ์สินค้าอื่นๆ

ความชัดเจนในถ้อยคำและการจัดการด้านสิทธิสตรีจากวัยสาวถึงวัยชราทำให้ รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์กกลายเป็นตัวแทนของกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย รวมถึงเป็นที่มาของสมญานาม ‘Notorious RBG’ (รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์กที่อื้อฉาว) ล้อตามชื่อของแรปเปอร์ Notorious BIG เธอเองก็เข้าใจสมญานามนั้นดี แม้ว่าความโปรดปรานในดนตรีของเธอจะเป็นเพลงโอเปราก็ตาม

คำวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบเกี่ยวกับเธอจากฝ่ายลิเบอรัลก็มีเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องที่เธอรั้งตำแหน่งตุลาการนานเกินไป พวกเขามองว่าเธอน่าจะก้าวลงตำแหน่งตั้งแต่สมัยบารัก โอบามาขึ้นเป็นประธานาธิบดี จะได้มีตุลาการไม่ว่าชายหรือหญิงจากฝ่ายลิเบอรัลมาแทนบ้าง แต่รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์กยืนยันซ้ำครั้งว่าเธอจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตราบเท่าที่เธอยังมีเรี่ยวแรงและพลัง การสละตำแหน่งด้วยเหตุผลทางการเมืองนั้นไม่ใช่หนทางที่เธอคิดอยากทำ และเธอยึดถือกฎเกณฑ์นั้นตราบลมหายใจสุดท้าย

ปีที่แล้ว หลังจากแพทย์ตรวจพบเนื้องอกหลายจุดในร่างกาย เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีการตรวจพบเจอมะเร็งครั้งใหม่ และได้ทำการรักษาด้วยเคมีบำบัด แต่สุดท้ายมะเร็งในตับอ่อนก็พรากชีวิตเธอไปเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา

…..

ผู้คนกว่าหนึ่งพันคนเดินทางไปรวมตัวที่ด้านหน้าอาคารซูพรีมคอร์ต มีการวางดอกไม้ไว้อาลัย และร่วมร้องเพลง ‘This is our Land’ เพื่อให้กำลังใจกันและกัน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์รับรู้ข่าวการจากไปของตุลาการหญิงภายหลังการหาเสียงในมินเนโซตา และไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมงต่อมาเขาก็แสดงท่าทีตอบรับไม่สำคัญว่าใครจะเห็นด้วยกับเธอหรือไม่ เธอเป็นผู้หญิงที่เยี่ยม และมีชีวิตที่ดีสั้นๆ และไม่ได้พาดพิงไปถึงความปรารถนาสุดท้ายก่อนตายของเธอ

 

อ้างอิง:

https://www.faz.net/2.1677/nachruf-auf-ruth-ginsburg-ein-leben-fuer-die-gleichheit-16961580.html

https://www.weser-kurier.de/deutschland-welt/deutschland-welt-politik_artikel,-trauer-und-streit-_arid,1934656.html#nfy-reload

https://www.dw.com/de/notorious-rbg-supreme-court-richterin-ruth-bader-ginsburg-ist-tot/a-54984146

Irin Carmon & Shana Knizhnik, Notorious RBG: The Life and Times of Ruth Bader Ginsburg, Dey Street Books (2015)

Tags: ,