“Don’t f*ck it up.”
คือหนึ่งในประโยคที่คนดูรายการ RuPual’s Drag Race ทุกซีซั่นจะต้องจำได้ เพราะเป็นประโยคที่ RuPaul Charles พิธีกรและเจ้าของรายการพูดกับผู้เข้าแข่งขันสองคนที่ยืนอยู่ปากเหวในสัปดาห์นั้นๆ เป็นการให้สัญญาณก่อนที่ทั้งคู่จะเริ่มแบทเทิลลิปซิงก์ใส่กัน เพื่อให้ได้อยู่ในการแข่งขันต่อไป
เรียกว่าถ้าดูมาทุกซีซั่น ตั้งแต่ซีซั่นแรกจนถึงซีซั่นที่ 9 ก็จะต้องได้ยินประโยคนี้ในรายการทั้งหมด 117 ครั้ง
เพราะมีการลิปซิงก์เป็นสิ่งตัดสินชะตาชีวิตว่าจะต้อง sashay away-ไป หรือ shante-สเตย์ต่อ เลยอาจทำให้หลายคนเข้าใจว่า หัวใจหลักของเรียลลิตี้รายการนี้คือการแข่งโชว์ลิปซิงก์ของเหล่าชาวแดร็ก ที่จัดเต็มเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมมาประชันกันบนรันเวย์ จริงๆ แล้ว ถ้าดูไปจนจบ จะได้ยินประโยคที่ RuPaul พูดก่อนปิดรายการแต่ละตอนว่า “If you can’t love yourself, how in the hell you gonna love somebody else?”
ถ้าไม่รักตัวเองก่อน แล้วจะไปรักคนอื่นได้อย่างไรล่ะ…นั่นล่ะสิ่งที่เป็นหัวใจของรายการนี้และจริงสำหรับทุกเพศ
สำหรับคนที่ไม่เคยดูรายการนี้มาก่อน หรือไม่รู้จักว่า RuPaul คือใคร อธิบายให้รวบรัดที่สุด ก็น่าจะต้องบอกว่า RuPaul เป็นทั้งนางแบบ พิธีกร นักร้อง นักแสดง นักเขียน และเจ้าของธุรกิจ ทำมาสารพัดสิ่งตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา จนสถานะของเธอเปรียบได้กับ ‘คุณแม่’ ของแดร็กควีนทั่วโลก และเป็นไอดอลของคอมมูนิตี้ LGBT
ในปี 2017 นิตยสาร Time เลือกให้ RuPaul เป็น 1 ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกด้วยเหตุผลที่ว่า เขาคือแดร็กควีนที่โด่งดังที่สุดในโลก เป็นคนที่มีส่วนผลักดันให้สังคม LGBT เป็นที่ยอมรับในวงกว้างขึ้น เป็นผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งในวงการบันเทิง
รายการ RuPaul’s Drag Race ของเธอก็มีส่วนสำคัญในการทำให้วัฒนธรรมของการแต่งหญิงในสไตล์แดร็กเป็นส่วนหนึ่งของป็อปคัลเจอร์ยุคนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตัวเธอเองเคยพูดด้วยซ้ำไปว่า รายการของเธอคงยากที่จะอยู่ในกระแสหลัก
แต่มาถึงตอนนี้ ซีซั่นล่าสุดของรายการที่เธอปั้นมากับมือและไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นที่สนใจของสื่อกระแสหลักในวงกว้าง ได้ออกอากาศทางช่อง VH1 สถานีโทรทัศน์ที่แมสที่สุดช่องหนึ่งในอเมริกา มีการจัด RuPaul’s Drag Con ที่เป็นเหมือนงานแฟนมีตครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างแดร็กควีนที่เคยมาแข่งขันในรายการและแฟนๆ ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 โดยจัดขึ้นทั้งที่แอลเอและนิวยอร์ก สองเมืองใหญ่ที่ถือเป็นศูนย์รวมชาวแดร็กในฝั่งเวสต์โคสต์และอีสต์โคสต์ และมีการขายลิขสิทธิ์รายการให้ประเทศไทยทำออกมาในเวอร์ชันของตัวเอง เป็น Drag Race Thailand ที่เพิ่งออนแอร์ตอนแรกไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับการต่อยอดไปเป็นรายการ RuPaul’s Drag Race All Stars อีก 3 ซีซั่น และรางวัลจากอีกหลายสถาบัน ที่เริ่มต้นจาก NewNowNext Awards ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับคนทำงานและรายการที่เป็นเรื่องของ LGBT ในปี 2009 อันเป็นปีที่ซีซั่นแรกออกอากาศ มาจนถึงรางวัลใหญ่อย่าง Primetime Emmy Awards ปี 2016 ที่ RuPaul ได้รางวัลในสาขา Outstanding Host ในรายการเรียลลิตี้ และรางวัล Best Reality Competition จากเวที MTV Movie & TV Awards ปี 2017
ถึงตอนนี้ แม้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้จักรายการของ RuPaul แต่การจะบอกว่า RuPaul’s Drag Race เป็นรายการที่หลุดลูปกระแสหลัก ก็คงจะไม่ถูกอีกต่อไป
ความเป็นตัวแม่ของ RuPaul ทำให้ทุกซีซั่น มีแดร็กควีนจากทั่วโลกส่งวิดีโอออดิชันเข้ามาหลายพันคน ก่อนที่ทางรายการจะคัดเหลือเพียง 9-14 คน โดยนอกจากเสน่ห์และความสามารถของแต่ละคนที่พาพวกเธอเข้ามาอยู่ในรายการนี้แล้ว เรายังได้เห็นความพิถีพิถันในการคัดเลือกอย่างหนึ่งตรงที่ประชากรแดร็กควีนที่อยู่ในรายการเป็นเหมือน ‘melting pot’ เพราะไม่มีซีซั่นไหนที่มีแต่คนขาวทั้งหมด หรือคนผิวสีทั้งหมด แต่เราจะได้เห็นคนขาว คนผิวสี คนลาตินอเมริกัน คนเอเชียที่ถึงแม้จะเป็นเอเชียน-อเมริกันก็ตาม มาแข่งขันในเกมเดียวกัน และยังได้เห็นแดร็กควีนพลัสไซส์ที่มั่นใจในเรื่องรูปร่างของตัวเองไม่ต่างจากแดร็กควีนไซส์เอส
เพราะฉะนั้นถ้าดูจากความหลากหลายของผู้เข้าแข่งขันและย้อนไปดูผู้ชนะในแต่ละซีซั่น ที่มีทั้งแดร็กควีนเอวคอดกิ่วที่สวยจนถ้าไปอยู่บนเวทีนางงามก็ไม่ดูผิดที่ผิดทาง แดร็กควีนผิวสีที่เป็นคุณพ่อลูกหนึ่ง แดร็กควีนลูกครึ่งซึ่งโตที่อินโดนีเซีย ไปจนถึงแดร็กควีนสาย spooky ก็พอบอกได้ว่า การแข่งขันบนเวทีนี้ไม่ใช่เรื่องของความงามในแบบที่คนส่วนใหญ่ยึดติด แต่เป็นความงามที่มาจากความมั่นใจและรู้ว่าจุดเด่นของตัวเองคืออะไร
หลายต่อหลายครั้งที่บทสนทนาในห้องแต่งตัวทำให้คนดูได้รู้ว่า ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนมีแบ็คกราวน์ที่แตกต่างกัน บางคนโชคดีเกิดมาในครอบครัวที่เข้าใจโดยไม่ต้องอธิบายมาก แต่อีกหลายคนเคยมีอดีตที่ขมขื่นจาก ‘ความต่าง’ ของพวกเขา หลายคนเคยสับสนในความรู้สึกของตัวเองเพราะการไม่ยอมรับจากคนอื่น ที่ส่งผลมาถึงความรู้สึกยอมรับตัวเอง ถึงขนาดที่มีบางคนเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน แต่การได้รู้ว่าการเป็นตัวของตัวเองไม่ใช่เรื่องผิดก็ทำให้รู้สึกเหมือนได้เกิดใหม่อีกครั้ง
“สิ่งที่รายการนี้น่าจะสอนคนทั่วไปได้ก็คือเรื่องของความแตกต่างในแต่ละคน การมองวัฒนธรรมแดร็กสามารถช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าคุณเป็นใคร ร่างกายของคุณเป็นแบบไหน และมันมหัศจรรย์แค่ไหนที่เราเป็นอย่างที่เราเป็นอยู่” RuPaul ตอบคำถามของ โอปราห์ วินฟรีย์ ที่ว่า คุณคิดว่ารายการของคุณสอนคนทั่วไปในเรื่องการแสดงความเป็นตัวเองออกมาได้อย่างไรบ้าง
“Charisma, uniqueness, nerve, and talent.” คือคุณสมบัติที่ RuPaul มองหาในตัวผู้เข้าแข่งขันที่เธอจะมอบมงให้ โดยวัดจากภารกิจในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งมีทั้งภารกิจย่อยและภารกิจใหญ่ รวมถึงการครีเอทรันเวย์ลุคตามธีมที่กำหนดในแต่ละสัปดาห์ โดยมีเวลาให้ทำชุดเพียงหนึ่งวันเท่านั้น ซึ่งบางครั้งเวลาหนึ่งวันนั้นหมายถึงการเริ่มตัดเย็บกันตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว
“การมองวัฒนธรรมแดร็กสามารถช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าคุณเป็นใคร ร่างกายของคุณเป็นแบบไหน และมันมหัศจรรย์แค่ไหนที่เราเป็นอย่างที่เราเป็นอยู่”
และยิ่งการแข่งขันงวดเข้าถึงสัปดาห์ท้ายๆ มากขึ้นเท่าไร โจทย์ที่ได้ก็จะยิ่งโหดขึ้นเท่านั้น ในบางซีซั่นเราจะได้เห็นผู้แข่งขันนั่งหน้าเครียด แต่งเนื้อเพลง และเข้าห้องอัด ในขณะที่อีกซีซั่น ผู้แข่งขันที่มองว่าตัวเองไม่ใช่คนตลก กลับต้องนั่งปั้นสคริปต์ที่จะขึ้นโชว์สแตนด์อัปคอเมดี้ต่อหน้าคนดูหลายสิบคน ซึ่งทุกคนรู้ดีว่าจะถนัดหรือไม่ถนัด จะเคยทำหรือไม่เคยทำมาก่อน ก็ต้องทำให้ดีที่สุดและบอกตัวเองว่าห้าม f*ck it up ในทุกขั้นตอนของการแข่งขัน
RuPaul บอกว่าจุดประสงค์ของเขาในการคิดโจทย์ต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อเฟ้นหาคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งผู้ชนะที่สุดเท่านั้น แต่เป็นไปเพื่อช่วยให้แต่ละคนได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง เอาคำว่า “ทำไม่ได้” ออกไปจากหัว นั่นคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังทุกโจทย์ในรายการนี้
ความร้ายสไตล์ bitchy ที่ไม่ได้ไปถึงเบอร์ใส่ร้ายป้ายสีหรือแช่งชักหักกระดูกกัน คือสีสันอย่างหนึ่งที่ทำให้รายการนี้น่าติดตาม ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนเองก็พอรู้อยู่แล้วว่า ถ้าอยู่ในรายการนี้แล้วล่ะก็ ต้องพร้อมรับมือการจิกกัดทั้งทางคำพูดและอาการกลอกตามองบนในทุกตอนที่ออนแอร์
แต่ข้อความที่อยู่ใต้ความร้ายที่เป็นเปลือกสีสันฉูดฉาด และการแข่งขันของเหล่าแดร็กควีนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บวกความสามารถกันตลอดเวลานั้น คือการทำความเข้าใจความแตกต่างของตัวเองและยอมรับในสิ่งที่เป็น ไม่ว่าจะเป็นใครหรือเพศไหน แล้วใช้ความเข้าใจนั้นมาเป็นเครื่องมือในการยอมรับความแตกต่างของคนอื่นเช่นกัน
เหมือนอย่างที่คุณแม่ RuPaul พูดอยู่เป็นประจำในรายการนั่นล่ะว่า
“If you can’t love yourself, how in the hell you gonna love somebody else?”
Tags: RuPaul’s Drag Race, LGBT, LGBTQ, RuPaul