คำเตือน: บทความนี้ไม่ใช่รักแบบโรแมนติก เหมาะกับคู่รักในวันวาเลนไทน์ และออกนอกแนว 18+ สำหรับชนเผ่าไทย

การร่วมเพศกันระหว่างพี่น้องไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม
หากกระทำกันในพื้นที่ของงานศพ

การมีเซ็กซ์ในงานศพ ถือเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่สำคัญของบางชนเผ่า ทั้งนี้เพื่อต้องการรักษาสมดุลของจำนวนสมาชิกภายในเผ่า ฟังดูอาจจะรู้สึกแปลกๆ ไปสักหน่อยเพราะเราอยู่นอกวัฒนธรรม หากต้องเข้าใจว่าในแต่ละชนเผ่าแต่ละวัฒนธรรมต่างก็มีกฎเกณฑ์เรื่องเพศสัมพันธ์และนิยามความรักที่ต่างกันไป

ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจมากกว่าความรู้สึกแปลกๆ ก็คือ อะไรคือแนวคิดของชนเผ่าบางกลุ่มที่มีเซ็กซ์กันในงานศพ ในที่นี้ผมขอยกเรื่องการฟีเจอริงกันของคน 2 กลุ่มมาเป็นตัวอย่างในบทความนี้

กลุ่มหนึ่งชื่อ เผ่า ‘บารา’ (Bara) และอีกกลุ่มมีชื่อว่า ‘รัส’ (Rus) ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณ

เผ่าบารา: พี่น้องสานสัมพันธ์ในงานศพ

เมื่อมีคนตาย สมาชิกในครอบครัวของชนเผ่าบารา (Bara) ที่เกาะมาดากัสการ์ จะจัดพิธีศพขึ้น โดยในพิธีเหล้าจะถูกเสิร์ฟให้กับทุกคนเพื่อให้เมามายจนความรู้สึกทางศีลธรรมลดลง จากนั้นบรรดาญาติพี่น้องจะมีเพศสัมพันธ์กัน (incest) ในงานศพ – ในทัศนะของชนเผ่าบาราถือว่าการร่วมเพศกันในงานศพเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จำเป็นต้องทำ และถ้าหากมีใครที่เข้ามาขัดขวางจะต้องถูกลงโทษหนักด้วยการเสียวัวให้หนึ่งตัวด้วยความเต็มใจ

เมื่อศพเริ่มจะเน่าเปื่อย สมาชิกชายในครอบครัวก็จะแบกศพที่อยู่ในโลงไปเก็บยังสุสาน ระหว่างทางกลุ่มของเด็กผู้หญิงจะแกล้งเข้ามาขวางทาง ทำให้เด็กผู้ชายต้องต่อสู้ และใช้โลงศพช่วยยันให้พวกเด็กผู้หญิงไปให้พ้นทาง พวกผู้หญิงจะขัดขวางไปเรื่อยๆ จนโลงศพได้ถูกแบกเข้าถ้ำไป

การร่วมเพศกันระหว่างพี่น้องก็คือ
ความพยายามในการทำให้ภาวะโกลาหล (chaos) เกิดความสมดุลขึ้นมา

ปีเตอร์ เมตคาล์ฟ (Peter Metcalf) และ ริชาร์ด ฮันตินตัน (Richard Huntinton) นักมานุษยวิทยาชื่อดังได้อธิบายว่า ในทัศนะของชนเผ่าบารา การร่วมเพศกันระหว่างพี่น้องไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมหากกระทำกันในพื้นที่ (space) ของงานศพ เพราะการตายของสมาชิกคือการสูญเสียประชากร ซึ่งเป็นทั้งแรงงานและองค์ประกอบทางสังคม ดังนั้นการร่วมเพศกันระหว่างพี่น้องก็คือ ความพยายามในการทำให้ภาวะโกลาหล (chaos) เกิดความสมดุลขึ้นมา ด้วยการเพิ่มจำนวนสมาชิก และยังสื่อถึงการทำให้สังคมเกิดความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย

ในขณะที่ การที่เด็กหญิงในเผ่าเข้ามาขวางทางผู้ชายที่แบกโลงศพนั้น มันคือการอุปมา (metaphor) แบบหนึ่ง โดยการแบกศพไปยังถ้ำคือพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่าน (transition) จากภาวะของการมีชีวิตไปสู่ความตายและการกำเนิดใหม่ เพราะโลงศพเปรียบได้กับอวัยวะเพศชาย ปากถ้ำคืออวัยวะของเพศหญิง ดังนั้นการต่อสู้ตลอดทางของผู้ชายที่แบกโลงศพก็เพื่อเอาโลงเข้าถ้ำนั่นเอง (Metcalf and Huntinton, 1993: 113-130)

ชนเผ่าบารา เกาะมาดากัสการ์ ภาพถ่ายเมื่อปี ค.ศ. 1906
Photo: en.wikipedia.org/wiki/Bara_people

ถ้ำที่ใช้เก็บโลงศพของชนเผ่าบารา Photo: en.wikipedia.org/wiki/Bara_people

     

ทาสหญิงผู้นั้นต้องมีเพศสัมพันธ์กับญาติๆ ของผู้ตายหลายคน
ระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ไปนั้น ผู้ชายแต่ละคนจะตะโกนด้วยคำพูดว่า
“ไปบอกนายของเจ้าว่า ข้าได้กระทำภารกิจแห่งความรัก และมิตรภาพให้แล้ว”

เผ่ารัส: บูชายัญด้วยความรัก

บางครั้งความรักมักมาพร้อมกับความตาย ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 922 อิบิน แฟดแลน (Ibn Fadlan) เป็นราชทูตจากคาลิฟ (Kalif) แห่งกรุงแบกแดด (อิรัก) ได้เดินทางไปยังเขตที่เรียกว่าโวลกา (Volga) ซึ่งในปัจจุบันตั้งอยู่ในรัสเซีย ระหว่างทางที่สถานีการค้าของเผ่าบัลแกร (Bulgar) เขาจึงได้พบกับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ‘รัส’ ในช่วงที่แฟดแลนอยู่นั้น ตรงกับการจัดงานศพของผู้นำชนเผ่าระดับสูงผู้หนึ่ง

แฟดแลนได้บันทึกไว้ว่า ในพิธีกรรมศพของผู้นำตระกูลสำคัญคนหนึ่ง ศพได้วางอยู่ในโลงไม้ซึ่งล่วงเลยมาแล้วเกือบ 10 วัน ซึ่งในระหว่าง 10 วันนั้นเป็นช่วงที่ทุกคนดื่มเหล้ากันอย่างเมามาย และมีกิจกรรมทางเพศ (sexual activity) กันอีกด้วย

ตำแหน่งของเขตโวลกา ในประเทศรัสเซียปัจจุบัน
Photo: en.wikipedia.org/wiki/Volga_region

ใกล้วันสุดท้ายของงานศพ ผู้ใหญ่ในครอบครัวได้ถามบรรดาทาสหญิงที่มีอยู่ว่า มีใครจะอาสาสมัครที่จะตายไปกับเจ้านายผู้ล่วงลับหรือไม่ มีทาสหญิงคนหนึ่งขออาสา ก่อนวันสุดท้ายของงานศพ ญาติๆ ต่างพากันดื่มฉลองให้กับศพในกระโจม ซึ่งในนั้น ทาสหญิงผู้นั้นต้องมีเพศสัมพันธ์กับญาติๆ ของผู้ตายหลายคน ระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ไปนั้น ผู้ชายแต่ละคนจะตะโกนด้วยคำพูดว่า “ไปบอกนายของเจ้าว่า ข้าได้กระทำภารกิจแห่งความรัก และมิตรภาพให้แล้ว” (“Tell your master that I have done the duty of love and friendship”)

ทว่าฉากที่ดูโหดร้ายได้เริ่มต้นในวันรุ่งขึ้น แฟดแลนได้บันทึกว่า หญิงชราผู้หนึ่งที่ถูกเรียกว่า

“เทพธิดาแห่งความตาย (The Angle of Death) ได้พาทาสหญิงคนนั้นไปยังศาลาข้างแท่นตั้งศพ ทันใดนั้นผู้ชายจำนวน 6 คน ได้ใช้ไม้เท้าเคาะกับเกราะเสียงดังสนั่น ทาสหญิงเริ่มร้องไห้แต่ปราศจากเสียง เธอเริ่มหวาดกลัว และพยายามหาทางที่จะหนี แต่แล้วทาสหญิงได้ถูกลากเข้าไปในศาลา ผู้ชายทั้ง 6 คนนั้นก็เดินตามเข้าไป และกระทำการร่วมเพศ (intercourse) กับทาสหญิงผู้นั้น เมื่อเสร็จกิจ พวกเขาก็จับตัวเธอไปนอนข้างๆ กับศพเจ้านาย มือและเท้าถูกจับขึงจนขยับไม่ได้ เทพธิดาแห่งความตายเดินไปยังตัวเธอพร้อมถือมีดดาบเล่มใหญ่ ทันใดนั้นก็ใช้ดาบสับลงไปยังซี่โครงของทาสหญิงผู้นั้นหลายครั้ง ในขณะที่ผู้ชายอีกคนใช้เชือกรัดคอ จนทาสหญิงสิ้นลมหายใจ”

จากนั้นญาติสนิทของคนตาย ซึ่งต้องเปลือยทั้งตัว พร้อมเอามือหนึ่งปิดรูทวาร ส่วนอีกมือหนึ่งถือคบไฟไปยังเรือ ก็จะจุดไฟขึ้น เพื่อให้ผู้ตายเดินทางไปสู่สวรรค์ ไม่ช้าศพก็ถูกเผา จากนั้นก็ลากเรือกลับขึ้นมา แล้วเอาซากของเรือและศพบรรจุลงในสุสานที่ทำเป็นเนินดิน  (Pearson, 2000: 1-2)

ไมค์ ปาร์กเกอร์ เพียร์สัน (Mike Parker Pearson) นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญด้านความตายอธิบายว่า ประเพณีของชาวรัสนี้คือกลุ่มหนึ่งของชาวไวกิ้ง ดังเห็นได้จากพิธีกรรมลอยเรือศพ โดยการฆ่าทาสหญิงนั้นมาจากแนวคิดการบูชายัญมนุษย์ เพื่อให้ตายไปรับใช้เจ้านายในโลกหน้า (Pearson 2000: 3)

จอร์จส์ บาตาย (Georges Bataille) ได้อธิบายว่า การบูชายัญเป็นการทำชีวิตและความตายนำไปสู่ความกลมกลืน (harmony) ชีวิตเป็นเพียงของชั่วคราวเท่านั้น ในขณะที่ความตายคือสัญลักษณ์ของชีวิตและเป็นหนทางสู่ความเป็นนิรันดร์ (Bataille, 1986: 91-92) เราไม่รู้ว่าทาสหญิงนั้นอาสาสมัครด้วยความเต็มใจจริงๆ หรือไม่ ถ้าจริง การอาสาอุทิศตนบูชายัญก็คือเพื่อต้องการชีวิตที่เป็นนิรันดร์

เมื่อเราเอาเรื่องของชนเผ่าบารามาเป็นแนวเทียบเคียงจะพบว่ามีอะไรบางอย่างที่คล้ายกันอยู่บ้างคือ ก่อนที่ทาสหญิงจะตาย เธอต้องร่วมเพศกับญาติพี่น้องของผู้ตายหลายคนด้วยกัน ถึงกรณีนี้จะไม่ได้ต้องการลูก แต่การร่วมเพศก็คือวิธีการอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความคิดในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับครอบครัวหรือกับเผ่า เพื่อให้ภาวะทางความรู้สึกที่เหมือนขาดสมาชิกไปในสังคมกลับมาเติมเต็ม และหน้าที่ของทาสหญิงผู้นี้ก็คือการนำเชื้อพันธุ์ของญาติผู้ตายไปเติบโตยังโลกหน้า ไม่ใช่เพื่อโลกนี้ ซึ่งถือเป็นเพียงโลกชั่วคราว การที่ทาสหญิงต้องร่วมเพศกับคนหลายคนก็เพื่อจะได้มีเชื้อพันธุ์ของญาติติดตามไปอยู่ด้วยในโลกหน้า

ทั้งหมดนี้อาจเป็นที่มาของคำพูดระหว่างมีเซ็กซ์ว่า “ข้าได้กระทำภารกิจแห่งความรัก และมิตรภาพให้แล้ว” ความรักนี้ก็คือความเป็นห่วงต่อผู้ตาย ส่วนมิตรภาพก็คือการสานสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นในโลกนี้กับคนตายในโลกหน้านั่นเอง เธอจึงเป็นเหมือนกับสื่อกลางที่เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างสองโลก

ความรักอาจเป็นจุดกำเนิดของการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง แต่ในสังคมของชนเผ่าบางกลุ่ม เพศสัมพันธ์เป็นหน้าที่สำคัญเหนือความรัก เพราะเพศสัมพันธ์ช่วยทำให้เกิดสมาชิกใหม่ และทำให้สังคมเกิดความอุดมสมบูรณ์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

ต่างจากสังคมปัจจุบันที่ความรักเป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ พอควร บ่อยครั้งที่ปราศจากเหตุผล และหน้าที่ของสังคม

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

  • Bataille, Georges. 1986. Erotism: Death and Sensuality. San Francisco: City Lights Books.
  • Pearson, Mike Parker. 2000. The Archaeology of Death and Burial. United State: Texas A&M University Press.
  • Metcalf, Peter and Huntinton, Richard. 1993. Celebrations of Death: The Anthropology of Mortuary Ritual. Cambridge: Cambridge University press.
Tags: , ,