ไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสดูหนังเรื่อง OMG-Oh My God! (2012) บนแพลตฟอร์มสตรีมมิงหนึ่ง ตัวหนังว่าด้วยความศรัทธาและการนับถือศาสนาของสังคมอินเดียสมัยใหม่ ผ่านเรื่องราวชีวิตของ ‘กานจี’ (แสดงโดย ปาเรช ราวัล) พ่อค้าวัตถุมงคลในศาสนาฮินดู ผู้ซึ่งไม่มีความศรัทธาในศาสนาฮินดู (และศาสนาอื่นๆ) แต่อย่างใด 

กระทั่งในวันหนึ่ง อินเดียเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ร้านขายวัตถุมงคลของกานจีได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เมื่อเขาทวงถามไปยังบริษัทประกันเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย บริษัทประกันปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นกับร้านของกานจีนี้ ถูกจัดอยู่ในประเภท Act of God หรือเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากการกระทำของพระเจ้า ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่บริษัทประกันจะไม่ชดเชยค่าเสียหายให้ 

ด้วยเหตุนี้ กานจีจึงตัดสินใจที่จะ ‘ฟ้องร้องต่อพระเจ้า’ ในฐานะผู้ทำความเสียหายในครั้งนี้ และเจ้าสำนักต่างๆ ผู้อ้างตนว่าเป็นพระเจ้าหรือติดต่อกับพระเจ้าได้ จึงถูกเชื้อเชิญมาให้การในชั้นศาล 

 

อะไรคือ Act of God?

คำว่า Act of God หากแปลความตรงตัวจะหมายถึง การกระทำของพระเจ้า แต่สำหรับนักศึกษาวิชากฎหมายแล้ว คำนี้มีความเฉพาะและเจาะจงในทางกฎหมายมากกว่านั้น Act of God ถือเป็น ‘เหตุสุดวิสัย’ ประเภทหนึ่ง โดยมักพบได้บ่อยในชั้นเรียนกลุ่มวิชาที่เกี่ยวข้องกับสัญญา

ในทางกฎหมายเหตุสุดวิสัยเป็นคำที่มักนำไปใช้เป็น ‘เหตุยกเว้น’ หลักปฏิบัติตามสัญญา กล่าวคือ เมื่อสัญญาเกิดขึ้น โดยปกติแล้วคู่สัญญามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อกัน หากไม่ปฏิบัติตามสัญญาก็จะถือว่าผิดสัญญาและต้องชดใช้ตามที่ตกลงกัน แต่ถ้าการไม่ปฏิบัติตามสัญญาเกิดจากเหตุสุดวิสัย คู่สัญญาฝ่ายที่ผิดสัญญาก็อาจไม่ต้องชดใช้ต่อการทำผิดสัญญาก็ได้

การใช้เหตุสุดวิสัยในฐานะเหตุยกเว้นหลักปฏิบัติตามสัญญามีอยู่ในระบบกฎหมายทั่วโลก แม้จะถูกตีความหรือบัญญัติแตกต่างกันไปบ้าง แต่โดยทั่วไปสามารถมองเหตุสุดวิสัยได้ใน 2 ลักษณะ คือเหตุที่เกิดจากบุคคลภายนอก และเหตุที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งทั้งสองลักษณะต้องเป็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายหรือป้องกันได้

และคำว่า Act of God หรือการกระทำของพระเจ้า เอาไว้ใช้เรียกเหตุสุดวิสัยในลักษณะหลัง ซึ่งก็คือเหตุภัยพิบัติตามธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด ที่มนุษย์ไม่อาจควบคุมหรือหลีกเลี่ยงได้นั่นเอง 

Lawsuit Against God และคนแบบกานจีในชีวิตจริง

การเชื้อเชิญพระเจ้าเข้าสู่คดีความทางกฎหมายแบบที่กานจีทำ อาจดูเหมือนเป็นแค่เรื่องแฟนตาซีที่เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในหนัง อย่างไรก็ตาม คนแบบกานจีมีอยู่ในชีวิตจริง และคดีความการฟ้องร้องต่อพระเจ้า (Lawsuit Against God) ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง อาจแบ่งลักษณะของคดีความการฟ้องร้องต่อพระเจ้าได้ถึง 3 กลุ่ม ดังนี้ 

กลุ่มที่ 1 ฟ้องว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างความเสียหาย 

ในปี 1969 เบ็ตตี เพนโรส (Betty Penrose) ฟ้องต่อศาลในรัฐแคลิฟอร์เนียเรียกร้องค่าเสียหายต่อพระเจ้าเป็นเงิน 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ จากการที่บ้านของเธอถูกฟ้าผ่าในปี 1960 โดยเพนโรสเชื่อว่า จำเลยหรือพระเจ้าจะต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาสิ่งต่างๆ ในจักรวาล รวมถึงสภาพอากาศในรัฐแอริโซนา ดังนั้น การที่บ้านของเธอพังทลายก็เพราะพระเจ้าละเลยและเพิกเฉยในการควบคุมสภาพอากาศ  

ทนายความของเพนโรสอธิบายการนำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลว่า เป็นเพราะก่อนหน้านี้มีชายคนหนึ่งยกที่ดินให้กับพระเจ้า และเขาเห็นว่าเมื่อพระเจ้าสามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ พระเจ้าก็ควรสามารถถูกฟ้องร้องให้รับผิดในความเสียหายที่ตนเองก่อได้เช่นเดียวกัน 

คดีนี้ถือเป็นคดีแรกและเป็นคดีเดียวในประวัติศาสตร์คดีความการฟ้องร้องต่อพระเจ้า ที่ศาลตัดสินให้เพนโรสเป็นฝ่ายชนะ โดยให้เหตุผลว่า ‘จำเลย (พระเจ้า) ไม่มาศาล’ อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ว่าชัยชนะของเพนโรสอาจเป็นชัยชนะลมหรือไม่ เพราะแม้จะมีบันทึกว่าศาลตัดสินให้เธอชนะคดี แต่กลับไม่มีบันทึกที่พูดถึงค่าเสียหายตามที่เธอได้เรียกร้องแต่อย่างใด 

ต่อมาในปี 2007 ก็มีคดีความการฟ้องร้องต่อพระเจ้าเกิดขึ้นอีกครั้ง ในคดีนี้วุฒิสภารัฐ เออร์นี แชมเบอร์ส (Ernie Chambers) ร้องต่อศาลดักลาส ขอให้ศาลสั่งห้ามไม่ให้พระเจ้าทำความเสียหายหรือภัยอันตรายทางธรรมชาติอีกต่อไป โดยแชมเบอร์สกล่าวหาว่า พระเจ้าเป็นสาเหตุของสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นบนโลก ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ สงคราม รวมถึงการก่อการร้ายต่างๆ  

ความน่าสนใจของคดีนี้ คือผู้ฟ้องนำข้อมูลความเชื่อทางศาสนามาใช้เพื่อบรรยายเขตอำนาจฟ้อง กล่าวคือแชมเบอร์สบรรยายฟ้องว่า พระเจ้าเป็นผู้อยู่ทุกหนทุกแห่ง (Omnipresent) ดังนั้น พระเจ้าจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลดักลาสด้วยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ศาลดักลาสไม่รับฟ้องด้วยเหตุผลทางเทคนิคว่า ไม่สามารถหาที่อยู่ที่ชัดเจนของพระเจ้าได้

กลุ่มที่ 2 ฟ้องว่าพระเจ้าไม่ช่วยปัดป้องความชั่วร้าย

ในประเทศโรมาเนีย ปี 2005 พาเวล มีร์ชา (Pavel Mircea) นักโทษชาวโรมาเนียที่ถูกจำคุก 20 ปีจากเหตุฆาตกรรม ฟ้องร้องพระเจ้าข้อหาฉ้อโกงและละเมิดสัญญา โดยในคดีนี้มีการฟ้อง คริสต์จักรออร์ทอดอกซ์โรมาเนีย (Romanian Orthodox Church) ในฐานะตัวแทนของพระเจ้า 

มีร์ชาอ้างว่าการเข้ารับบัพติศมาถือเป็นการทำสัญญาระหว่างเขากับพระเจ้า ที่พระเจ้าควรจะปกป้องเขาจากปีศาจ แต่แทนที่จะทำอย่างนั้น พระเจ้ากลับยกเขาให้ปีศาจ ซึ่งสนับสนุนให้เขากระทำความผิดฐานฆ่าคนตาย นอกจากนี้ เขายังขอเงินคืนจากพระเจ้าที่เขาใช้สำหรับการซื้อเทียนเพื่อสวดภาวนา 

แต่สุดท้ายใน 2 ปีหลังจากการยื่นฟ้อง ศาลตัดสินยกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากพระเจ้าไม่ได้เป็นประธานแห่งสิทธิในกฎหมายโรมาเนีย อีกทั้งพระเจ้าก็ไม่มีที่อยู่ที่ชัดเจนที่จะส่งหมายศาลไปให้

กลุ่มที่ 3 ฟ้องว่าพระเจ้าเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย

ในปี 2016 มีคดีความในประเทศอินเดียฟ้องร้องพระเจ้าในศาสนาฮินดู โดยผู้ฟ้องคดีนี้คือ จันทัน กุมาร ซิงห์ (Chandan Kumar Singh) ทนายความชาวอินเดีย ฟ้องร้องต่อศาลรัฐพิหารว่า พระราม (Rama) เทพเจ้าองค์สำคัญในศาสนาฮินดู กระทำการที่ไม่เหมาะสมต่อพระชายา คือนางสีดา (Sita) ในตอนที่พระรามเนรเทศนางสีดาออกจากเมือง เมื่อพบว่านางสีดาตั้งครรภ์หลังจากที่โดนลักพาตัวไป จันทันขอให้ศาลตัดสินว่าพระรามมีความผิดในการขับไล่นางสีดาออกจากเมือง โดยไม่ต้องมีโทษแต่ประการใด เพื่อให้เป็นการยอมรับว่าในสังคมอินเดียเคยมีการปฏิบัติต่อที่ไม่เป็นธรรมต่อสตรี 

และเช่นเดียวกับคดีอื่นๆ ที่มีการฟ้องร้องต่อพระเจ้า ศาลแห่งรัฐพิหารไม่รับฟ้อง โดยมองว่าเป็นคดีที่ไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ นอกจากนี้จันทันยังถูก รันจัน กุมาร ซิงห์ (Ranchan Kumar Singh) ฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทจากการที่เขากระทำการลบหลู่พระเจ้าแห่งศาสนาฮินดู ทั้งยังถูกร้องเรียนต่อสภาทนายความให้ยึดใบประกอบอาชีพทนายความจากการกระทำนี้อีกด้วย

 

อ้างอิง

Alex Boese, The woman who sued God and won, Tue Dec 20, 2022, https://www.weirduniverse.net/blog/comments/woman_who_sued_god_and_won

การยกมอบกรรมสิทธิในที่ดินที่เรียกกันว่า Morning Star ให้กับพระเจ้าเกิดขึ้นโดย Louis Gottlieb เกิดขึ้นในเมืองโซโนมา รัฐแคลิฟอร์เนีย แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว Louis Gottlieb ก็ไม่สามารถยกที่ดินให้กับพระเจ้าได้ ใน The Press Democrat, Morning Star memories: Gottlieb’s hippie heaven, June 29, 1986, https://northbaydigital.sonoma.edu/digital/collection/Lebaron/id/1054/.

Alex Boese, The woman who sued God and won, Tue Dec 20, 2022, https://www.weirduniverse.net/blog/comments/woman_who_sued_god_and_won.

Chambers v. God Pleadings, https://lawprofessors.typepad.com/civpro/files/chambers_v.%20God%20Pleadings.pdf, 3. 

Los Angeles Times, Suit against God thrown out over lack of address, OCT.15, 2008, https://www.latimes.com/entertainment/la-on-god16-2008oct16-story.html

Religion News Blog, Romanian convict sues God. Case declined, July 12, 2007, https://www.religionnewsblog.com/18712/man-sues-god

Vikas Pandey, Why an Indian lawyer tried to sue God, February 8, 2016, https://www.bbc.com/news/world-asia-india-35489971.

 

Tags: , , ,