ปี 2019 ของเราถูกต้อนรับด้วยฝุ่น PM 2.5 และกระแสคำถามว่าด้วยเพศสภาพกับอาชีพครู แน่นอนว่าทั้งสอง

ประเด็นนี้ นอกจากจะสร้างความปวดหัวให้กับสมาชิกสังคมผู้มีวิจารณญาณระดับหนึ่งแล้ว ตีแผ่ให้เห็นถึงความล้าหลังของสังคมที่เราอยู่ด้วยเช่นกัน 

ในบทความนี้เราคงต้องปล่อยเรื่องฝุ่นไว้ให้รัฐบาลช่วยกันฉีดน้ำ หรือสวดมนต์เพื่อบรรเทาไปก่อน แต่เรื่องเพศสภาพกับ ‘กล่อง’ ของสังคมนั้น เราจะขอชวนไปฟังเรื่องราวและบทเพลงของศิลปินข้ามเพศ ผู้โดดเด่นอยู่ในวงการที่ดูไม่น่าจะเป็นมิตรกับชาว LGBTQ+ เท่าไร นั้นคือคุณลอร่า เจน เกรซ (Laura Jane Grace) จากวงพังค์ร็อคชื่อดัง Against Me! 

วงนี้เริ่มทำเพลงมาตั้งแต่ ค.ศ.1997 มีเรื่องมีราวเปลี่ยนสมาชิกคนแล้วคนเล่าอีกทั้งยังโดนโยกย้ายเปลี่ยนค่ายไม่น้อยครั้ง แต่คนที่มั่นคงยืนหนึ่งอยู่ตลอดคือนักร้องนำหนุ่มหน้ามน Thomas James Gabel จนเขาเป็นที่รู้จักและขวัญใจแฟนเพลง ด้วยเสียงร้องคำรามที่ดุดัน ขัดภาพลักษณ์ที่ออกจะนิ่งๆ หรือดื้อเงียบ เข้าทางกับเนื้อหาของวงพังค์ที่ว่าด้วยความขบถ และการได้ปลดปล่อยจากกรอบของสังคมในบทเพลง อัลบั้มของพวกเขาประสบความสำเร็จอย่างมากโดยเฉพาะ Searching for a Former Clarity (2005) ที่ติดอันดับ 1 ใน Top Heatseekers ของ Billboard และอัลบั้มถัดมา New Wave (2007) ที่มีเพลงสุดฮิตของชาวพังค์/อัลเทอร์เนทีฟ อย่าง Thrash Unreal ยาวมาถึงอัลบั้มถัดมา White Crosses ก็ไต่ถึงอันดับที่ 7 ใน Alternative chart และมีเพลงชาติเด็กพังค์รุ่นใหม่อย่าง I Was a Teenage Anarchist

ในช่วงที่กำลังโปรโมตอัลบั้มนี้นี่เองที่ได้เกิดเหตุการณ์อันเป็นจุดเปลี่ยนของวง นั่นคือการที่ โธมัส นักร้องนำของเรา ไปให้สัมภาษณ์เปิดตัวกับนิตยสาร Rolling Stones ว่าตนเองรู้ตัวว่าเกิดมาในร่างซึ่งเพศไม่ตรงกับใจ ตั้งแต่จำความได้

เขาสารภาพว่าตอนเขา 4 ขวบ เขาเคยเห็นมาดอนน่าในทีวีและอยากเป็นแบบเธอ ย้อนเล่าไปว่าเคยเล่นบาร์บี้จนพ่อของเขาไม่พอใจ และต้องเปลี่ยนมาเล่นตุ๊กตาทหาร (ถึงกระนั้น เขาก็ยังเลี่ยงที่จะเล่นบทฆ่าฟันกันสงคราม แต่เขามักจะจินตนาการเรื่องอื่นๆ ให้ตุ๊กตา G.I.Joe ของเขาแทน) โดยพ่อของโธมัสเคยรับราชการทหารอยู่ถึง 20 ปี นอกจากนี้เขายังระลึกถึงความทรงจำที่ซึมเศร้าในวัยเด็ก ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ ภาวะความทุกข์ใจในเพศสภาพ หรือ Gender Dysphoria นั่นเอง ตอนนั้นเขาสวดมนต์ขอร้องทั้งเทพเจ้าและปีศาจเพื่อให้ตัวเองเป็นผู้หญิง

ในขณะเดียวกัน เนื่องจากในสมัยนั้นไม่มีอินเตอร์เน็ต สิ่งที่เขารู้เกี่ยวกับคนข้ามเพศจึงจำกัดอยู่ในคำด่าล้อของคนรอบข้าง และในบริบทหนังที่ชูแต่ความโศกเศร้าและวิตถาร (อาทิ ในหนังอย่าง The Crying Game หรือ Silence of The Lamb) มันยิ่งทำให้เขารู้สึกแย่กับตัวเอง บอกใครไม่ได้ พอมาในช่วงวัยรุ่นเขาจึงหันไปพึ่งยาเสพติดอย่างร้ายแรงตั้งแต่อายุ 13 ปี ทุกอย่างเพียงเพื่อบรรเทาความทรมานข้างใน อันที่จริงถ้าเราตั้งใจฟังเพลงเขาดีๆ เรื่องปมเหล่านี้ถูกสอดแทรกไว้ในเนื้อเพลงบางช่วงด้วย

“And in the journal you kept by the side of your bed…  Confessing childhood secrets of dressing up in women’s clothes / Compulsions you never knew the reasons to”

—เพลง Searching for a Former Clarity, 2005

อย่างไรก็ดี เพลงพังค์ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางบำบัดตัวเองของโธมัส ซึ่งถ้าเรามองย้อนไปถึงชื่อวง ‘Against Me!’  ของเขาอาจพยายามสื่อถึงความย้อนแย้งในอัตลักษณ์ของตนตั้งแต่ต้น เขาหลงรักเพลงแนวพังค์เพราะความนอกรีต ฉีกกรอบของมัน แต่เมื่อวงของเขามีชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆ และได้เซ็นสัญญาเข้าค่ายเพลงใหญ่อย่าง Sony เขากลับรู้สึกถึงความกดดันที่ต้องทำตัวให้ตรงกับ ‘ภาพลักษณ์ของวงพังค์’ ที่ตลาดได้กำหนดไว้ “(ในวง) ฉันรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆว่าฉันกำลังแสดงบทบาทอยู่ เหมือนว่าฉันถูกยัดเยียดบท ‘ชายผิวขาวผู้เกรี้ยวกราดในวงพังค์’” เขาต้องต่อสู้กับความ ‘แมนสุดโต่ง’ (hyper-masculinity) ของแวดวงนี้อยู่คนเดียวเงียบๆ จะมีก็แต่ช่องทางปลดปล่อยผ่านเนื้อเพลงของเขา ซึ่ง (ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้าย) ถูกยอมรับในฐานะความพังค์ ความขบถต่อสังคม แต่ไม่มีใครคิดว่าสิ่งที่ถูกเขียนออกไปนั้นไม่ใช่จินตนาการทางการประพันธ์ แต่คือความเก็บกดที่กำลังดำเนินอยู่ของโธมัสจริงๆ อย่างในอีกเพลงหนึ่งของอัลบั้ม New Wave ที่ชื่อว่า ‘The Ocean’ เขาเขียนคำร้องไว้ว่า

“If I could have chosen I would have been born a woman / My mother once told me she would have named me Laura / I would grow up to be strong and beautiful like her / One day I’d find an honest man to make my husband”

—หากฉันเลือกเกิดได้ ฉันคงเกิดมาเป็นผู้หญิง และแม่ก็เคยบอกครั้งหนึ่งว่าเธอจะตั้งชื่อฉันว่าลอร่า ฉันจะเติบโตขึ้นมาสวยแกร่งเหมือนแม่ และวันหนึ่งก็จะมีชายที่ซื่อสัตย์เป็นสามี

และวันหนึ่งที่นาย โธมัส ในวัย 31 ปี ก็ลุกขึ้นมาเปลี่ยนชื่อเป็นนางสาว ลอร่า เข้าจริงๆ!

การเปลี่ยนแปลงนี้แม้จะส่งผลกับชีวิตส่วนตัวของเธออย่างมาก (เธอตัดสินใจแยกทางกับภรรยาเก่า ที่มีลูกด้วยกันหนึ่งคน) แต่ในด้านงานเพลงแล้ว ลอร่า ยังคงเขียนเพลงร็อคที่เต็มไปด้วยคำสารภาพและเนื้อหาที่เทออกมาจากใจของเธออย่างตรงไปตรงมา อัลบั้มที่ถูกปล่อยออกมาผ่านค่ายเพลงอิสระ Total Treble Music 

หลังการเผยตัวในบทสัมภาษณ์ของ Rolling Stones ทั้งสองอัลบั้ม (Transgender Dysphoria Blues, 2014 และ Shape Shift with Me, 2016) ต่างมีเนื้อหาบางส่วนว่าด้วยการ transitioning หรือกระบวนการแปลงเพศของเธอ ที่มีความซับซ้อนทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ ท่ามกลางเสียงซัดสาดของกลองและเสียงระรัวคอร์ดกีตาร์ไฟฟ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของแบนด์

“Who’s gonna take you home tonight?
Does god bless your transsexual heart, True Trans Soul Rebel?

You should’ve been a mother,
You should’ve been a wife.
You should’ve been gone from here years ago,
You should be living a different life.”

—True Trans Soul Rebel, 2014

การแจ้งเกิดของ ลอร่า (ชื่อเต็ม Laura Jane Grace) ทำให้วงกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง และแน่นอนว่าอาจจะมีผู้ฟังบางส่วนที่ไม่ชอบภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปของนักร้องนำ แต่เธอก็ไม่สนใจ “คนพวกนั้นคงฟังเราแค่เปลือก แต่ถ้าแฟนพันธ์แท้จะเข้าใจว่าเราเป็นยังไงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” ซึ่งดูว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะบัตรคอนเสิร์ตของวงนี้ยังคง sold-out อย่างต่อเนื่อง แถมลอร่ายังสังเกตเห็นว่าในคอนเสิร์ตของเธอเริ่มมีกลุ่มแฟนใหม่ๆที่เป็น LGBTQ+มากขึ้นอีกด้วย

นอกจากผลงานเพลงของเธอแล้ว ลอร่ายังใช้พื้นที่ในสื่อของเธอเป็นกระบอกเสียงให้กับคนข้ามเพศในวาระต่างๆมากมาย อาทิเช่น ในคอนเสิร์ตที่ North Carolina เธอนำเอาสูติบัตรที่จารึกเพศกำเนิดเพศชายของเธอ ออกมาเผาไฟบนเวที เพื่อประท้วงกฏหมายการห้ามคนข้ามเพศเข้าห้องน้ำที่ไม่ตรงเพศกำเนิดในรัฐดังกล่าว, ในปี  2014 วงของเธอเล่นคอนเสิร์ตในงาน pride และเธอทำรายการซีรีย์ทีวีทางช่อง AOL ชื่อ True Trans with Laura Jane Grace ตีแผ่บทสนทนาของเธอกับผู้คนข้ามเพศในหลายสาขาอาชีพ ในช่วงที่เธอกำลังแปลงเพศของตัวเธอเอง, และในปี 2016 เธอเขียนหนังสือชีวประวัติร่วมกับ Dan Ozzi ชื่อ Tranny: Confessions of Punk Rock’s Most Infamous Anarchist Sellout

ด้วยทั้งเส้นทางดนตรีที่มั่นคง บวกกับการเป็นตัวของตัวเองอย่างซื้อสัตย์ ทำให้ ลอร่าได้รับรางวัล Icon Award บนเวที AP Music Award เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาด้วย

ในกรณีนี้เราจะเห็นว่า คนข้ามเพศอย่างลอร่าได้ใช้เส้นทางนี้ เป็นทั้งบทพิสูจน์และแม่แบบ แถมผลิตผลงานดีๆ มาสั่งสอนสังคมได้อย่างถึงเครื่อง! เราก็ขอเล่าตัวอย่างนี้ไว้ เป็นกำลังใจแก่ชาว LGBTQ+ ทุกๆท่าน ไม่ว่าจะทำอยู่ในสายงานไหน ให้ซื่อสัตย์กับตัวเอง และทำงานที่ดีต่อกันไป ถ้ามีใครเอามุมมองแคบๆ มาบั่นทอนเรา ก็จงเปิดเพลงพังค์ของ Against Me! ใส่ดังๆ ไปเลยจ้า!  

Tags: , , , , , ,