ถ้าคุณอายุ 30 ปีลงไป เราไม่แปลกใจถ้าคุณจะไม่รู้จักเรือนเพชรสุกี้ และแปลกลิ้นกับน้ำจิ้มเต้าหู้ยี้ที่มีรสชาติแตกต่างไปจากน้ำจิ้มกวางตุ้งตามร้านยอดนิยม

ถ้าคุณอายุ 30-50 ปี คงมีคนจำนวนมากที่เคยมีประสบการณ์กับเรือนเพชรสุกี้ในวัยหนึ่ง และนึกโหยหาบรรยากาศการล้อมวงที่มีหม้อสุกี้ควันคลุ้งอยู่ตรงกลาง หรือหากไม่มีประสบการณ์นั้น อย่างน้อยๆ คุณย่อมเคยได้ยินชื่อนี้มาบ้าง

และถ้าคุณอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เราก็คงไม่แปลกใจอีกเช่นกัน ถ้าคุณจะบอกกับเราว่า นี่คือร้านประจำในวันที่คุณนึกอยากจะกินสุกี้รสดั้งเดิมสักมื้อ

ในบรรยากาศที่ยังคล้ายเดิมของเรือนเพชรสุกี้ริมถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เราและช่างภาพนั่งลงบนโต๊ะไม้กลมขนาดราวแปดที่นั่ง บริกรยื่นเมนูมาให้เราพลิกเลือกอาหารก่อนส่งออร์เดอร์เข้ายังครัวขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านหลัง ชุดสุกี้ยังเป็นพระเอกของโต๊ะ หมี่ผัดแห้ง น่องไก่เหล้าแดง ออส่วนหอยนางรมที่เราไม่เคยลืมรสชาติ ทั้งหมดจัดเสิร์ฟมาในเวลาไม่นานเพราะเป็นช่วงที่ลูกค้ายังน้อย หากค่ำกว่านี้หน่อยลูกค้าจะหนาตากว่านี้

เนื้อหมักเต้าเจี้ยวที่เสิร์ฟมาเป็นเอกลักษณ์บนจานเปลสเตนเลส ราดมาด้วยเต้าเจี้ยวหมักสูตรลับ โปะหน้าด้วยไข่สดที่เราต้องตีใช้ตะเกียบกวนไข่ให้เข้ากับเนื้อแล้วหย่อนลงในน้ำที่กำลังเดือดพล่าน เกี๊ยวปลาไม่แป้งทำเองสูตรจากไต้หวัน กรุบอร่อยที่ทุกโต๊ะต้องสั่ง กับอื่นๆ และสารพัดผัก รอสัมผัสกับน้ำจิ้มสุกี้สูตรดั้งเดิม ที่ไม่มีผิดเพี้ยนเพราะพ่อครัวคนปรุงก็ยังเป็นคนเดิมกับเมื่อ 50 ปีก่อนที่อยู่คู่ร้านมาจนบัดนี้

ก่อนจะถึงเรื่องราวในบรรทัดถัดไป หากคุณเกิดนึกโหยหาอดีต จะกดไลน์แมนสั่งสุกี้จากเรือนเพชรมากินแกล้มบทความนี้ไปด้วยกันก็ยังได้

ร้านสุกี้ของพ่อค้าผัก ที่คุณปู่ผู้ก่อตั้งยังคอยตรวจสอบคุณภาพด้วยตัวเอง

คุณป้าที่คะเนวัยด้วยสายตาว่าอายุน่าจะกว่า 60 ประจำตำแหน่งอยู่หน้าเคาน์เตอร์ คือหนึ่งในพนักงานของเรือนเพชรสุกี้หลากหลายวัยที่ทำงานด้วยกันมา อายุมากสุดตอนนี้คือคุณปู่ซื้อไช้ แซ่ก๊วย หรือสิงพร เลิศธนพันธุ์ อายุ 95 ที่มักแวะเข้ามาที่นี่ในบางวัน เพื่อดูการทำงาน ตรวจสอบคุณภาพอาหารและบริการด้วยตัวเอง ซึ่งปกติแล้ว เขาประจำอยู่ที่เรือนเพชรสุกี้ ศรีนครินทร์ และหากใครได้เจอตัวละก็ คุณปู่ท่านนี้แหละคือต้นตำรับเรือนเพชรสุกี้ ที่เริ่มต้นหม้อแรกเมื่อ พ.ศ. 2511 ก่อนจะขยายสาขาเข้าสู่ห้างสรรพสินค้าเมื่อราวหนึ่งปีก่อน

“พวกเราโดนปลูกฝังมาว่าอายุเท่าไรก็ต้องทำงาน เรียกว่าเป็นกฎของครอบครัว ทุกคนทำงานไม่มีเกษียณ ทำตามศักยภาพที่ทำได้ ต้องช่วยเก็บโต๊ะ รับออร์เดอร์ นั่งเคาน์เตอร์เช็กบิล ถ้ามองในมุมของคนรุ่นโน้น เขาจะมองว่าการทำงานหนักคือสิ่งที่ดี และมันก็ยังส่งผ่านมาถึงรุ่นเราตอนนี้ ผมก็ทำงานในร้านตั้งแต่เด็ก” คุณโอ๊ต-พงศ์ธรรศ เลิศธนพันธุ์ ทายาทรุ่นสามของเรือนเพชรสุกี้ ซึ่งตามนามบัตรระบุตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ที่หน้าที่ของเขานั้นคือทุกอย่าง ตั้งแต่การดีลกับซัพพลายเออร์ การบริหารจัดการภายในร้าน การขยายร้านไปสู่สาขาใหม่ จนถึงดูแลภาพลักษณ์ของแบรนด์ในยุคที่การแข่งขันกำลังเดือดพล่านพอกัน

“คุณปู่ยังช่วยสังเกตการณ์ทั้งหมด ท่านเป็นคนเคี่ยว ยังไม่ปล่อย ดูแลคุณภาพเองทั้งหมด ถ้าเห็นอะไรไม่ถูกใจ อย่างเรื่องบริการลูกค้าที่มีอะไรขาดตกบกพร่อง เขาจะมากระซิบให้ผมช่วยไปจัดการ หรืออย่างอาหาร เรามีเช็กคุณภาพกันตลอดอยู่แล้ว เพราะผมก็กินในครัวทุกวัน รสชาติได้ไหม คุณภาพได้ไหม แต่เรากินเองบางครั้งมันชิน ก็ต้องมีคุณปู่มาชิมบ้าง ไม่โอเคก็เรียกพ่อครัวมา”

เดิมที คุณปู่เป็นพ่อค้าขายผัก ซึ่งเป็นเพื่อนกับคุณตาของคุณโอ๊ตที่ทำสวนอยู่ดำเนินสะดวก อีกคนปลูกผักทำสวน อีกคนเป็นพ่อค้าคนกลาง นำผักมาขายที่ปากคลองตลาด แต่การค้าที่ต้องอาศัยเงินหมุนเวียนทุกวัน ในขณะที่บางครั้งคนกลางจะยังไม่ได้รับเงินทันที คุณปู่ซื้อไช้จึงมองหาอาชีพที่จะทำให้มีเงินหมุนได้ตลอด เขามองจากสิ่งที่มีอยู่ในมือ นั่นคือผักที่เหลือขายในแต่ละวัน ว่าจะทำอะไรกับมันได้

“ท่านมองว่าอาหารเป็นอะไรที่ทุกคนต้องกิน และขายง่ายเพราะสมัยนั้นคู่แข่งยังไม่เยอะ เลยเอามาผูกโยงกับผักที่ขายอยู่ ทุกวันช่วงสายๆ ขายผักเสร็จก็จะเดินชิมอาหารแถวเยาวราช และในช่วงนั้น สุกี้เริ่มเข้ามาพอดี มีสักสี่ถึงห้าเจ้าเกิดขึ้นมาในเวลาใกล้เคียงกันที่เยาวราช ท่านคิดจะทำสุกี้เพราะทำง่าย แค่เอาทุกอย่างมาต้มรวมกัน แล้วหาความแตกต่างให้ต่างจากเจ้าอื่น”

ถ้าไม่ลับก็ไม่แตกต่าง ดังนั้นอะไรที่ต้องลับ ก็จงลับ

สุกี้สูตรแต้จิ๋วของคุณปู่ เป็นสุกี้สูตรโบราณที่มีอิทธิพลมาจากทางตอนใต้ของจีน น้ำจิ้มสุกี้เต้าหู้ยี้ และเนื้อหมักเต้าเจี้ยวและเครื่องปรุงรสอื่นๆ คือความแตกต่างสำคัญที่ชูขึ้นมาในตอนนั้น รสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ผ่านการ ทำแล้วชิม ทำแล้วชิม มานานสองปี จนได้สูตรเฉพาะ

“สมัยนั้นน้ำจิ้มสุกี้มีเข้ามาหลายสูตรพร้อมๆ กัน เพราะอาหารจีนจะมีแปดภาค แปดรส แต่ที่เข้ามาในไทยและได้รับอิทธิพลหลักๆ ก็จากแต้จิ๋วกับกวางตุ้ง ที่จะเห็นว่ามีอาหารจีนหรือสุกี้สองสูตรนี้ค่อนข้างเยอะ ซึ่งจุดเริ่มต้นก็เข้ามาพร้อมกันแต่แตกสายออกไป

“คุณปู่ขายผักไปก็ฝึกทำสูตรสุกี้ไป มีเพื่อนรุ่นน้องเป็นผู้ช่วย ที่ต่อมาก็เป็นเพื่อนคู่ใจมาเปิดร้านด้วยกันและทำหน้าที่กุ๊กเป็นหลัก ตอนนี้เขาก็ยังทำหน้าที่นี้อยู่ พอท่านได้สูตรที่พอใจที่ทุกคนรู้สึกว่ามันอร่อย น่าจะขายได้ ก็มองหาทำเล เยาวราชคู่แข่งเยอะแล้ว สุดท้ายมาลงเอยที่เพชรบุรีตัดใหม่ คือสาขานี้ ตึกหลังนี้เลย”

ท่ามกลางตึกสูงที่ขึ้นใหม่ และตึกสี่ชั้นที่เรานั่งกันอยู่นี้กำลังจะกลายเป็นของเก่า ย้อนกลับไปปี 2511 ย่านเพชรบุรีตัดใหม่ยังเป็นทุ่งกว้าง มีตึกแถวอยู่สองข้างถนน  ประจวบเหมาะกับที่เมืองเริ่มขยาย แม้ตอนเปิดร้านทำเลนี้เรียกได้ว่าไม่ได้อยู่ใจกลางเมือง แต่ทุกวันนี้คนสัญจรหนาแน่น และความหนาแน่นของการจราจรนี้เอง ที่ทำให้เรือนเพชรสุกี้เป็นร้านที่คนมักแวะฝากท้องกลางทางในตอนค่ำที่รถติด

“ที่นี่เป็นโรงงานด้วย มีห้องเย็น และเป็นครัวกลาง ของทุกอย่างอยู่ที่นี่หมด พร้อมส่งของไปที่สาขาทุกวัน”

น้ำจิ้มที่ว่าเป็นสูตรลับนั้น ก็เคี่ยวกันในครัวนี้ “พื้นฐานก็เหมือนกับน้ำจิ้มแต้จิ๋วทั่วไป เป็นเต้าเจี้ยวผสมพริก แต่จะแตกต่างกันที่ส่วนประกอบ ที่แต่ละร้านก็มีสูตรของตัวเองอยู่และเป็นความลับร้อยเปอร์เซ็นต์ เต้าเจี้ยวหมักเนื้อก็เหมือนกัน  เป็นเต้าเจี้ยวที่ผสมอะไรอีกหลายอย่าง แต่ควรจะหมักกี่วันถึงจะได้เต้าเจี้ยวที่มีรสชาติที่ดี อันนี้คือประสบการณ์แล้ว”

อดีตที่คนโหยหาคือเสน่ห์ที่ขายได้

เรือนเพชรสุกี้เริ่มปรับตัวตามชื่อเสียงและความนิยม จากพัดลม สู่ห้องแอร์ จากเตาแก๊ส สู่เตาไฟฟ้า และจากอาคารเปิดที่มีโต๊ะนั่งอยู่เพียง 15-20 โต๊ะ กลายเป็นร้านสุกี้ขนาดเกือบร้อยโต๊ะที่มีห้องจัดเลี้ยงสำหรับคนต้องการความเป็นส่วนตัว ช่วงวัยที่แตกต่างจึงมีภาพความหลังที่ต่างไป

“เปิดร้านสักสิบปียี่สิบปีก็ขายดีมาตลอด เพราะร้านยังไม่เยอะ ห้างยังไม่มี สมัยคุนปู่ถือว่าดังเลย ตอนนั้นโอ๊ตยังไม่เกิด แต่ได้ยินมาว่าเคยออกรายการทีวีที่ดังมาก ทุกคนรู้จัก ฉะนั้น คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์จะรู้จักเรือนเพชรหมด ถ้าไม่เคยมาที่ร้านอย่างน้อยก็ต้องเคยได้ยิน แล้วสมัยนั้นใครที่ขึ้นมาแล้วติดตลาดได้มันติดยาวเลย ต่างจากปัจจุบันหรือย้อนไปสักสิบปีก่อนหน้านี้ที่ร้านอาหารผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด การแข่งขันสูงมาก ฉะนั้นใครทำให้ลูกค้าติดแบรนด์ได้ คนนั้นรอด ซึ่งเหนื่อยมาก”

ความเก่านั้นสร้างใหม่ไม่ได้ หรือแม้สร้างได้ก็เพียงความเก่าเทียมที่ไม่รู้สึกจริงเมื่อสัมผัส อายุของวันเวลานั้นซุกซ่อนอยู่ในวัตถุ ผู้คน และอยู่ในความทรงจำ เป็นเสน่ห์ของอดีตที่บางครั้งก็อร่อยไม่แพ้รสชาติ

“มันเป็นเรื่องราวของร้านที่ส่งต่อมา เป็นความยูนีคที่คนเข้ามากินจะรู้สึกอีกแบบหนึ่ง บรรยากาศและประสบการณ์การกินมันต่างกัน การอยู่ในร้านที่อบอวลด้วยความเก่าแก่ กับร้านในห้างที่มีความสมัยใหม่ ทำให้เกิดการรับรู้ที่แตกต่าง ต่อให้เราไปเปิดสาขาที่ไหนก็ตาม สูตรเดียวกัน ทุกอย่างส่งออกจากที่นี่หมด เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ลูกค้าก็ยังบอกว่ารสชาติไม่เหมือน คนยังนึกถึงที่นี่เพราะผูกพันกับที่นี่ เป็นเรื่องของอารมณ์ร่วม”

เอกลักษณ์นั้นแทรกอยู่ในทุกปัจจัยที่เราอาจไม่ทันสังเกต และจะเป็นตัวบ่งบอกแบรนด์ที่สำคัญ จานสุกี้สเตนเลสที่แค่เห็นรูปก็ไม่ต้องบอกว่าร้านไหน โต๊ะไม้ โคมจีน ตัวอักษรบนผนัง ฯลฯ เราคิดเรื่องนี้ไปพลางขณะกำลังคนหม้อสุกี้เพื่อไม่ให้ไข่ติดก้นหม้อ เป็นอีกเรื่องที่คุณโอ๊ตบอกว่าวิธีการกินนั้นสามารถแยกได้เลยว่าคนนี้เป็นลูกค้าเก่าหรือลูกค้าใหม่

“ถ้าได้กลิ่นไหม้เราต้องดูแลเป็นพิเศษหน่อยเพราะแสดงว่าเป็นลูกค้าใหม่ ลูกค้าเก่าจะรู้ว่าเวลาเทต้องคนเพราะเรามีเต้าเจี้ยวมีไข่อยู่บนจานเนื้อ เวลากินคือคลุกแล้วเทลงไป ไข่ที่เป็นฝอยๆ พอลงหม้อไปโดนความร้อนปุ๊บมันจะไหม้ เหม็นทั่วร้านเลย (หัวเราะ) แต่มันก็เป็นตัวที่ช่วยบอกว่าเรายังมีลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามา ซึ่งเรื่องพวกนี้เราจะเจอในร้านสาขาที่เพิ่งเปิดใหม่ คือที่เซ็นทรัลบางนา กับเซ็นทรัลพระรามสอง ช่วงแรกเราเปลี่ยนหม้อกันวุ่นวายมากเพราะไหม้ทุกโต๊ะ

“ร้านเพชรบุรีตัดใหม่กลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มครอบครัว ไล่มาตั้งแต่รุ่นคุนปู่อายุเจ็ดสิบแปดสิบจนถึงเด็กเลย พนักงานออฟฟิศบ้างตามช่วงเวลามื้อเที่ยง แต่ที่เห็นชัดเลยคือกลุ่มคนมีอายุหรือครอบครัวขยาย รวมถึงกลุ่มวัยกลางคนที่โหยหาอดีต ตอนไปเปิดร้านในศูนย์การค้า เราคิดว่าคนกลุ่มนี้ที่อยู่ละแวกนั้นจะไป แต่เขาก็ไม่ไป เขายังมาที่นี่เหมือนเดิม ฉะนั้นคนที่ไปที่สาขาก็จะเป็นกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งบางคนอาจจะไม่เคยมีประสบการณ์ที่นี่ แล้วก็มีกลุ่มใหม่ๆ คือกลุ่มเด็ก กลุ่มวัยรุ่น ที่จะมีสักครั้งที่เขาอยากเข้าไปลอง”

อยู่กับคนรุ่นใหม่อย่างไม่เสียตัวตน

ลุงป้าอายุ 50 ที่มีความขลังนิดๆ ลูกทุ่งหน่อยๆ คือภาพลักษณ์ของเรือนเพชรสุกี้ที่คนทั่วไปมองเห็น การจะรักษาแบรนด์เอาไว้ให้แข็งแรงท่ามกลางความนิยมของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับน้ำจิ้มกวางตุ้งตามร้านสุกี้สมัยนิยม ทำให้คุณโอ๊ตซึ่งเข้ามารับช่วงเป็นรุ่นที่สามยังต้องทำงานหนัก เพราะแม้จะมีแฟนประจำอยู่แล้ว แต่หากขาดการสื่อสารกับคนกลุ่มใหม่ ไม่แน่ว่าวันหนึ่งชื่อของเรือนเพชรจะค่อยๆ เลือนหายไป

“จากรุ่นคุณปู่มารุ่นคุณพ่อ ที่ผ่านมาเหมือนเราไม่ได้เปิดเผยตัวเองสู่โลกภายนอก คนรุ่นต่อๆ มาสักเจนเอ็กซ์จะไม่ค่อยรู้จักเรือนเพชรแล้ว จนสักสี่ห้าปีที่แล้วผมรู้สึกว่าถ้าเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เราจะมีแต่กลุ่มลูกค้าอายุห้าสิบขึ้น คนช่วงตรงกลางจะหายไป และคนกลุ่มใหม่ที่ควรจะเข้ามาเขาจะไม่รู้จัก

“การเปิดสาขาคือการออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง ได้เจอผู้บริโภคหลายแบบขึ้น ทำให้เราต้องปรับตัวเยอะมาก คือตั้งแต่ช่วงเปิดร้านผมคิดมาตลอดว่าเรือนเพชรเป็นแบรนด์ที่แข็งในระดับหนึ่ง คนรู้จัก เวลาเข้าไปอยู่ในห้างมันน่าจะมีความโดดเด่น สามารถดึงให้ลูกค้าเข้าไปได้ แต่เหมือนเราคิดผิด เราไม่ได้ทำโปรโมชั่นหรือพีอาร์ เพราะคิดว่าสามารถเวิร์กได้ด้วยตัวมันเอง แต่มันก็เป็นช่วงฮันนีมูนที่สองสามเดือนแรกคนอยากลอง สักพักยอดเริ่มวูบ เลยต้องมองย้อนกลับไปว่าเกิดจากอะไร”

นอกจากรูปแบบการบริการที่ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับความเคยชินของลูกค้าในศูนย์การค้าที่ต่างจากร้านดั้งเดิม การสร้างพื้นที่สื่อสารกับลูกค้าทางช่องทางโซเชียลมีเดีย ก็คือหนึ่งในวิธีในการสร้างคาแรกเตอร์ใหม่ให้เรือนเพชร

“เรือนเพชรก็ยังเป็นคุณป้าคุณลุงอยู่นั่นแหละ แต่ทันสมัยขึ้น ใช้ไลน์เป็น เราพยายามเอาตัวเองแทรกเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของเขา ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ก็สนใจและอยากรู้อยากลองในความเก่าที่เราเป็น ส่วนการที่เขาโตมากับน้ำจิ้มกวางตุ้ง พอได้มาลองน้ำจิ้มแต้จิ๋ว ก็จะมีคนสองแบบคือชอบหรือไม่ชอบไปเลย คนที่กินแล้วชอบในความแปลกใหม่ คราวหน้าเขาจะชวนคนอื่นมากินด้วย แต่คนที่กินแล้วไม่รู้ว่านี่น้ำจิ้มอะไร ไม่เหมือนที่เคยกิน ไม่ชอบ ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปัจเจก รสชาติเป็นเรื่องซึ่งเราบังคับไม่ได้ แต่เราก็ยังมีอาหารอื่นนอกจากกี้นะ  เรามีอาหารจีนอีกเป็นร้อยเมนูเลย อยากลองดูมั้ย ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร

“ผมมองว่าถ้าเราไม่มีการเปลี่ยนแปลงเราก็จะตายไป อย่างตอนนี้เราก็มีเมนูใหม่ๆ เข้ามา มีหมูสไลซ์ที่ลูกค้าชอบมากเพราะเขาติดอะไรพวกนี้ การที่ทำให้ร้านมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา มันสร้างแรงจูงใจสร้างการกระตุ้นให้กับลูกค้าได้เข้ามาลอง”

ในขณะที่สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ทางเดียวกันเขาก็ต้องทำความเข้าใจกับคนรุ่นเก่าซึ่งทำงานด้วยกันมา และนั่นก็ยากเอาการสำหรับคนหนุ่มวัย 28 อย่างเขา

“ที่ผ่านมาเราเป็นกงสีร้อยเปอร์เซ็นต์ ร้านเราจะมีญาติหลายคนมาก อายุสักเจ็ดสิบก็มี แต่ตอนนี้ผมพยายามปรับมาเป็นรูปแบบบริษัทมากขึ้น มีโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจนขึ้น เอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่ทุกเรื่องที่เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงมักเกิดการต่อต้านด้วยช่องว่างระหว่างวัย ในรุ่นเราที่คิดว่ามันโอเค แต่ในความคิดของคนอีกรุ่นเขามองว่ามันไม่เวิร์ก คำว่า ‘อันนั้นกด็อยู่แล้วจะเปลี่ยนทำไม’ จะได้ยินบ่อยมาก ก็ต้องทำความเข้าใจ บางสิ่งที่เสนอไปแล้วเวิร์ก เขายอมเปลี่ยนก็ดี แต่อันไหนที่มันยังไม่ถึงเวลาก็ชะลอไว้หน่อย ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนกัน

“อย่างสิ่งหนึ่งที่เวิร์กมากคือระบบจ่ายเงินแบบ e-payment ที่เอามาใช้กับลูกค้าคนจีนซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ในย่านนี้ ที่บางครั้งเขามาเที่ยวแล้วเงินไทยไม่พอ เมื่อก่อนเขาก็จะสั่งเท่าที่เขามีเงินจ่ายได้ แต่พอเอาระบบนี้เข้ามา คนจีนจ่ายเงินง่ายขึ้น และยอดขายก็เพิ่มขึ้น จากที่เคยยอดบิลพันนิดๆ เดี๋ยวนี้หกพันหรือเป็นหมื่นก็มี เพราะเขาไม่ต้องคอยมาเปิดกระเป๋าดูว่าเงินจะพอมั้ย”

ครึ่งศตวรรษแรกของการเดินทาง ไม่สายไปสำหรับการเติบโตในปีต่อๆ ไป แม้จะมองว่าเป็นเรื่องหินนักสำหรับการรักษาสิ่งที่คุณปู่สร้างไว้ แต่หากมองให้เห็นหัวใจของแบรนด์ที่แข็งแรงอยู่แล้ว การขับเคลื่อนต่อของคนรุ่นสามก็ยังมีต้นทุนที่มั่นคงอยู่ หน้าที่ของเขาคือพาเรือนเพชรให้เข้าไปอยู่ในใจลูกค้ากลุ่มใหม่ให้ได้

“คนที่นึกถึงเรือนเพชรจะนึกถึงสุกี้เต้าหู้ยี้ เต้าเจี้ยว นั่นคือความรู้สึกแรก แต่ถ้าจะทำให้เขาเริ่มเป็นแฟน เราเองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคน เรามีธงที่เป็นซิกเนเจอร์อยู่แล้ว ก็พยายามเอาสิ่งนี้สอดแทรกให้เข้ากับความชอบของคนในยุคนั้นโดยที่ต้องไม่เสียตัวตน

“เรามองว่าตัวตนเป็นเรื่องสำคัญ”

Tags: , , ,