“หนูต้องเป็นบ้าไปเลยใช่ไหมพี่ ถึงจะได้ออกไป” คือประโยคที่ น้ำ-วารุณี ผู้ถูกดำเนินคดีอาญา มาตรา 112 กล่าว หลังทนายความเข้าเยี่ยมเธอเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เรื่องทั้งหมดเริ่มจากวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 วารุณีโพสต์ภาพตัดต่อพระแก้วมรกตใส่ชุดจากแบรนด์ SIRIVANNAVARI พร้อมแคปชัน “แก้วมรกต X SIRIVANNAVARI Bangkok” 

ต่อมา วันที่ 28 มิถุนายน 2566 ศาลตัดสินจำคุกเธอ 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา (ลดจากโทษเต็ม 3 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ)

ปัจจุบัน วารุณีถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เธอมีโรคประจำตัวคือโรคอารมณ์สองขั้วหรือไบโพลาร์ ซึ่งต้องกินยาทุกวันและพบจิตแพทย์เดือนละครั้ง แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว อีกทั้งเธอเล่าว่า กรมราชทัณฑ์ไม่มีการจัดหายาให้ ชีวิตในคุกจึงยากลำบาก

 The Momentum ขอพาผู้อ่านย้อนทบทวนคดีของวารุณี และพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ป่วยสุขภาพจิตในคุกไทยไปพร้อมๆ กัน

สรุปไทม์ไลน์คดีวารุณี

– 23 พฤศจิกายน 2564: วารุณีโพสต์ภาพพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงประกอบพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวของพระแก้วมรกต โดยตัดต่อให้พระแก้วมรกตใส่ชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ SIRIVANNAVARI และเพิ่มรูปสุนัขนั่งอยู่ข้างๆ พร้อมแคปชัน “แก้วมรกต X SIRIVANNAVARI Bangkok”

– 2 ธันวาคม 2564: เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าจับกุมวารุณี ณ จังหวัดพิษณุโลก ด้วยข้อกล่าวหาหลักคือมาตรา 112

– 24 กุมภาพันธ์ 2565: สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาล

– 2 พฤษภาคม 2566: นัดสืบพยานวันแรก โดยวารุณียอมรับข้อกล่าวหา แต่กำหนดการสืบพยานวันต่อๆ มา คือวันที่ 3, 9 และ 10 พฤษภาคม 2566 ถูกยกเลิกไป เนื่องจากโรคไบไพลาร์ของวารุณี ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

– 28 มิถุนายน 2566: ศาลอาญาพิพากษาว่าวารุณีมีความผิด 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 112 หมิ่นประมาทกษัตริย์, มาตรา 206 เหยียดหยามศาสนา, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ต้องโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดจาก 3 ปี เพราะจำเลยยอมรับสารภาพ แต่เป็นโทษไม่รอลงอาญา แม้วารุณีจะป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ แต่ศาลเห็นว่าไม่เป็นเหตุให้รอการลงโทษได้ เธอจึงถูกส่งตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลางทันที

– 30 มิถุนายน 2566: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยื่นคำร้องขอประกันตัววารุณีครั้งแรก แต่ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง พร้อมระบุ “มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว”

– 3 กรกฎาคม 2566: ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธคำร้องประกันครั้งที่ 2 ของศูนย์ทนายฯ โดยกล่าวว่า เหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55”

8 กรกฎาคม 2566: ศาลอุทธรณ์ยังคงปฏิเสธคำร้องประกันของศูนย์ทนายฯ 

คุกไทยกับมาตรการช่วยเหลือผู้ป่วยสุขภาพจิต

แม้ศาลอุทธรณ์ยืนยันว่ากรมราชทัณฑ์พร้อมดูแลนักโทษที่ป่วย แต่ระบบของทัณฑสถานหญิงกลางกลับดูไม่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยสุขภาพจิตเท่าไรนัก อ้างอิงจากคำบอกเล่าของวารุณีเอง

ประการแรก ขั้นตอนการฝากยาให้นักโทษในเรือนจำต้องผ่านแพทย์เสียก่อน ซึ่งจิตแพทย์จะเข้ามาเยี่ยมเรือนจำเพียงสัปดาห์ละครั้ง สัปดาห์แรกที่ถูกคุมขังวารุณีจึงยังไม่สามารถรับยาโรคไบไพลาร์ของเธอได้ ทั้งที่ต้องกินต่อเนื่องทุกวัน

หลังจากขาดยาโรคประจำตัว วารุณีเริ่มหันมาพึ่งยานอนหลับ

“ตอนนี้หนูนอนหลับได้เพราะกินยานอนหลับ” เธอกล่าว “ยาที่ใช้อยู่ ราชทัณฑ์ก็ไม่มีให้อยู่แล้ว”

ทว่ากระทั่งสิทธิการได้นอนเต็มอิ่มคงถือว่ามากเกินไปในคุกไทย วารุณีระบุว่า กฎทัณฑสถานหญิงอนุญาตให้ขอยาได้ห้องขังละไม่เกิน 5 คนต่อวัน ซึ่งห้องขังของเธอมีคนอยู่เกิน 20 คน บางครั้งเธอจึงสละสิทธิ์ขอยาให้ผู้อื่นบ้าง

“อยู่ที่นี่ไม่มีคำว่าร่างกายเราเลย ขนาดขอยายังทำได้วันละ 5 คน ถ้าวันหนึ่งมีคนขอยาเกิน 5 คนในห้องก็จะไม่ได้” วารุณีอธิบาย “อย่างคืนนี้หนูต้องเบรกรับยานอนหลับเพื่อให้คนที่เขาป่วยมากกว่า” 

มาถึงตรงนี้ หากย้อนกลับไปพิจารณาข้อความของศาลอุทธรณ์ที่ว่า กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลอาการเจ็บป่วยของคนในเรือนจำได้ ก็น่าสงสัยว่าขอบเขตของการ ‘ดูแล’ แท้จริงแล้วกว้างแค่ไหน

การให้วารุณีรอจนถึงสัปดาห์หน้า จึงจะได้กินยาโรคประจำตัว แม้ทราบดีว่าจริงๆ เธอต้องกินยาทุกวัน สิ่งนี้คือการดูแลอย่างสุดความสามารถจริงหรือ

หรือกระทั่งนโยบายให้ขอยาได้ห้องขังละ 5 คนต่อวัน เป็นนโยบายที่สมเหตุสมผลหรือไม่ ในเมื่อ 1 ห้องขังมีนักโทษมากกว่า 20 คน อย่างที่รู้กันว่าสุขอนามัยในคุกไม่ได้ดีนัก ยิ่งไปกว่านั้น การถูกคุมขังในสถานที่ที่ไม่คุ้นชินสามารถก่อให้เกิดความเครียดสะสมจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตได้ง่าย หากวันหนึ่งจะมีคนป่วยทั้งทางกายและใจพร้อมกันเกิน 5 คนคงไม่แปลก

วันข้างหน้าของวารุณี

จากการเยี่ยมของศูนย์ทนายฯ ครั้งล่าสุด คือวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 วารุณีระบายความเครียดของตนหลายแง่ นอกเหนือจากไม่ได้กินยาและพบจิตแพทย์ตามที่ควรเป็นแล้ว เธอกังวลเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว เพราะตนเป็นเสาหลักในการหาเงิน

“เดือนเดือนหนึ่งหนูต้องโอนค่าใช้จ่ายให้น้องประมาณ 4-5 หมื่นบาท หนูรับผิดชอบครอบครัวอยู่ ถ้าหนูไม่ได้ประกัน ไม่ได้ออกไปทำงาน น้องหนูจะทำอย่างไร” วารุณีกล่าว “หนูต้องเป็นบ้าไปเลยใช่ไหมพี่ ถึงจะได้ออกไป”

“หนูก็รอวันนี้ หวังว่าที่พี่ทนายเอาข่าวการยื่นประกันมาแจ้งจะเป็นข่าวดีหรือเปล่า แต่ก็ไม่ใช่ข่าวดี คราวหน้าถ้ามีการยื่นหรือผลออกมาอย่างไร ช่วยเข้ามาบอกหนูเร็วๆ ได้ไหมคะ เพราะหนูรอ”

ศูนย์ทนายฯ ยื่นประกันตัวอีกครั้งในวันเดียวกับที่เยี่ยมวารุณีล่าสุด แต่เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลยังคงออกคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเช่นเดิม

อ้างอิง

https://database.tlhr2014.com/public/case/1906/lawsuit/681/ 

https://twitter.com/TLHR2014/status/1675810936425443328?s=20 

https://twitter.com/TLHR2014/status/1676905467786973191 

https://twitter.com/TLHR2014/status/1677871765614374913 

https://tlhr2014.com/archives/57234

https://tlhr2014.com/archives/57027

https://tlhr2014.com/archives/57088

https://tlhr2014.com/archives/57129

https://tlhr2014.com/archives/57204 

https://tlhr2014.com/archives/41984

Tags: , ,