เวียดนามกับไทยเป็น 2 ประเทศที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบในเชิง ‘ตัวเลข’ ทางเศรษฐกิจบ่อยครั้ง ถึงแม้จะมีระบบการปกครองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ด้วยความที่เป็นสังคมเกษตรกรรมเหมือนกัน อยู่ในภูมิศาสตร์ที่ใกล้เคียงกัน การเปรียบเทียบ ‘ไทย-เวียดนาม’ จึงถูกกล่าวถึงตลอดมา
เมื่อไม่นานมานี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ออกมาแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross domestic product: GDP) ระบุว่า จีดีพีของประเทศไทยขยายตัวอยู่ที่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสที่ 2/2565 เป็นตัวเลขน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวที่ 3.1 เปอร์เซ็นต์ และยังเป็นตัวเลขการขยายตัวของจีดีพีที่น้อยกว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเวียดนามซึ่งมีจีดีพีขยายตัวอยู่ที่ 7.7 เปอร์เซ็นต์
ว่ากันว่าในปัจจุบัน เวียดนามยังคงมีขนาดเศรษฐกิจที่วิ่งตามไทยอยู่ อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของเวียดนามกลับพุ่งขึ้นก้าวกระโดดในอัตราเร่งที่สูงกว่าไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เวียดนามเติบโตเฉลี่ยปีละ 6 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกัน ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนามสูงกว่าไทยมาหลายปี โดย FDI ที่ไหลเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ปี 2554 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท และปี 2562 อยู่ที่ 4.65 แสนล้านบาท ขณะที่ FDI ที่ไหลเข้ามาลงทุนในไทย ปี 2554 อยู่ที่ 74,100 ล้านบาท และ 1.89 แสนล้านบาท ในปี 2562 และใน 5 เดือนแรกของปีนี้ ไทยมีการลงทุนแบบรายเดือนสะสมอยู่เพียง 1.3 แสนล้านบาท ลดลง 53 เปอร์เซ็นต์จากปี 2564 ตรงกันข้ามกับช่วง 5 เดือนแรกในปี 2565 ที่ FDI ในเวียดนามมีมูลค่ากว่า 6.62 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์หลายฝ่ายจึงมองว่า หาก ‘ไทย’ และ ‘เวียดนาม’ ยังคงรักษาระดับการเติบโต ‘เช่นนี้’ ต่อไป มีความเป็นไปได้ว่าในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจเวียดนามอาจเติบโตมากกว่าประเทศไทย
เพื่อเข้าใจประเด็น ‘ไทย-เวียดนาม’ ในมุมมองที่ลึกมากขึ้น และร่วมหาทางออกว่าประเทศไทยควรอยู่จุดใดของเศรษฐกิจโลก The Momentum ชวน ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องเวียดนาม ให้เปรียบเทียบการแข่งขันระหว่าง 2 ประเทศนี้ให้ชัดขึ้น
ปิติระบุว่า ช่วงเวลาหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ถือว่าเป็นขาขึ้นของประเทศ Emerging Country หรือกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ไม่ใช่แค่เฉพาะไทยกับเวียดนาม แต่ยังรวมถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศอาจมีขนาดการเติบโตที่แตกต่างกัน
หากมองในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ต่างต้องการเป็นตัวกลางทางการค้าระหว่างจีนกับโลกตะวันตก อันเป็นผลมาจากการขาดสะบั้นของห่วงโซ่การค้าเนื่องจากสงครามการค้า จีนกับโลกตะวันตกค้าขายกันโดยตรงไม่ได้ อาเซียนจึงเสนอตัวเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกแทน
“ในช่วงนี้ เห็นได้ชัดว่าเวียดนามกับอินโดนีเซียมีศักยภาพในการแข่งขันมากเป็นพิเศษ ส่วนไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ อยู่ในระดับรองลงมา ส่วนเมียนมาอยู่ในระดับที่แย่ไปเลยเนื่องจากการเมืองภายในประเทศ”
ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศมองว่าตัวเลข GDP ซึ่งไทยเติบโตที่ 2.2 เปอร์เซ็นต์ และเวียดนามเติบโตที่ 7.7 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เป็นผลสะท้อนจากการพยายามเป็นตัวกลางระหว่างจีนกับโลกตะวันตก และหากมองด้านบวก ปิติก็ยังมองว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
“หากย้อนหลังไป 32 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ไทยโตแบบก้าวกระโดดมาโดยตลอด อัตราการเติบโตของประเทศไทยช่วงนั้นอยู่ที่ 7-8 เปอร์เซ็นต์ พอถึงช่วงปี 2000-2010 อัตราการเติบโตเฉลี่ยของเราอยู่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ จนมาถึงปัจจุบันที่ขยายตัว 3 เปอร์เซ็นต์”
ปิติบอกว่าวัฏจักรนี้เป็นวัฏจักรปกติของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กล่าวคือในช่วงแรกของประเทศที่เศรษฐกิจด้อยพัฒนา การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พอมาอยู่จุดที่กลายประเทศกำลังพัฒนา ความเร่งจะลดน้อยลง ต่อมาหากฐานเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยก็จะยิ่งขยับตัวช้าลงไปอีก ตัวอย่างเช่น ประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐฯ ตอนนี้อัตราการเติบโตเฉลี่ยก็ต่ำลงเรื่อยๆ เช่นกัน
“ปัจจุบัน ประเทศไทยพ้นช่วงเศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวประโดดไปแล้ว เราอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย แต่เวียดนามเพิ่งจะเป็นวัยรุ่นตอนต้น เขายังสามารถเติบโตได้อีกเยอะ”
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศยังมองว่าไทยมีศักยภาพขยายตัวได้มากกว่านี้
“ผมมองว่าไทยสามารถโตได้ถึง 4 หรือ 5 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ แต่ด้วยปัญหาภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เราจึงโตได้แค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์”
แม้เวียดนามจะได้เปรียบในเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนที่เหนี่ยวแน่น และภูมิประเทศที่อยู่ใกล้ไต้หวันและจีนมากกว่าไทยจนทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จากทั้ง 2 ประเทศเข้าไปที่เวียดนามได้ง่ายกว่า แต่ไทยยังมีปัจจัยหลายด้านที่เหนือกว่าเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ พลังงาน และห่วงโซอุปทาน เพียงแต่ประเทศไทย ‘เดินผิดทาง’
ทั้งหมดนี้ว่ากันว่าเวียดนามกำลังอยู่ในทางแยกที่ครั้งหนึ่ง ‘ไทย’ ก็เคยต้องเลือกทางแยกนี้มาก่อน เพียงแต่เส้นทางที่ประเทศไทยเลือกในตอนนั้นนำพาประเทศมาถึงจุดที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดต่ำลง
“ในอนาคต ผมมองว่าเวียดนามมีสองเส้นทางที่อาจเป็นไปได้ คือเป็นเหมือนไทย หรือโตเหมือนจีน หากมองจริงๆ เศรษฐกิจจีนเติบโตมาทีหลังไทย แต่เขาแซงหน้าประเทศเราไปแล้ว ผมว่าประเทศไทยเดินมาผิดทาง”
เมื่อถามว่ามี ‘ปัจจัย’ ใดบ้างที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศมองว่ามีทั้งหมด 5 ปัจจัย ได้แก่
1. กฎหมายที่เข้มแข็ง กล่าวคือเวียดนามใช้ช่วงเวลาที่ทั้งโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปฏิรูปกฎหมายของตัวเอง จากเดิมที่กฎหมายขึ้นอยู่กับ ‘ดุลพินิจ’ ของผู้ตีความ มาเป็นกฎหมายที่มีมาตรฐานชัดเจนและอยู่ในระดับเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ผ่านกระบวนการ ‘กิโยตินกฎหมาย’ (Regulatory Guillotine) ที่มีจุดประสงค์เพื่อชำระกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่มีประสิทธิภาพให้ได้อย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ กระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2558 แล้ว
“การมีกฎหมายที่แข็งแรง น่าเชื่อถือ และไม่เปิดช่องให้นักกฎหมายตีความตามใจตัวเอง ส่งผลดีอย่างมากให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจและพร้อมที่จะเข้าไปลงทุนในเวียดนาม นักลุงทุนส่วนใหญ่ไม่อยากทำธุรกิจในประเทศที่กฎหมายเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตีความตามดุลพินิจ เพราะมันสร้างความไม่แน่นอนให้ธุรกิจของพวกเขา ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นกับประเทศไทย”
2. ภูมิประเทศ – แม้เวียดนามจะทะเลาะกับจีนอย่างหนักในประเด็นทะเลจีนใต้ แต่การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของเวียดนามกับจีนพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์จากจีนจึงเคลื่อนไปที่เวียดนามได้ง่ายกว่าไทย
3. ความพยายามในการจัดการคอร์รัปชันที่จริงจังมากขึ้น
4. แนวคิดแบบขงจื๊อ แม้ว่าเวียดนามจะปฏิเสธว่าเขาไม่มีศาสนา แต่วิธีคิดแบบขงจื๊อที่บอกว่าคนต้องพัฒนาตัวเองผ่านการศึกษา ก็ยังแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของคนเวียดนาม
“แนวคิดแบบชนชั้นอันซับซ้อนของขงจื๊อวนเวียนอยู่ในความเชื่อลึกๆ ของคนเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นพ่อมีหน้าที่อย่างไรต่อลูก ภรรยามีหน้าที่อย่างไรต่อสามี เพื่อนมีหน้าที่อะไรต่อเพื่อน เจ้านายมีหน้าที่อย่างไรต่อลูกน้อง ผู้ปกครองมีหน้าที่อย่างไรต่อผู้ใต้ปกครอง แนวคิดการที่จะเจริญก้าวหน้าต้องมาจากการทำงานหนัก ทั้งหมดส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมให้คนเวียดนามพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด”
5. เงื่อนไขทางสังคม กล่าวคือตั้งแต่ปี 1955-1980 เวียดนามผ่านสงครามมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 ปัจจัยนี้เองเป็นตัวหล่อหลอมให้คนเวียดนามแข็งแกร่ง
“เด็กนักเรียนชาวเวียดนามเรียนกันวันหนึ่ง 3 กะ กะแรกเริ่ม 7.00-13.00 น. กะที่ 2 เริ่ม 14.00-18.00 น. กะที่ 3 เริ่ม 19.00-22.00 น. เขาเรียนหนักแบบนี้มาตั้งนานแล้ว มอเตอร์ไซค์ที่ขี่กันบนท้องถนนส่วนใหญ่ก็คือไปเรียนพิเศษกันทั้งนั้น”
ทั้ง 5 ข้อ คือปัจจัยเสริมที่ทำให้เวียดนามอาจพัฒนาไปตามเส้นทางของมหาอำนาจอย่างจีนได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าแล้วมีองค์ประกอบใดบ้างที่อาจทำให้เวียดนามหันเหเส้นทางมาแบบ ‘พี่ไทย’ ปิติให้ความเห็นว่ามี 3 องค์ประกอบที่เป็นไปได้
1. ถึงแม้รัฐบาลเวียดนามพยายามอย่างมากเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ทว่าปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว
2. คนรุ่นใหม่ในเวียดนามมีความทะเยอทะยานสูงมาก อย่างไรก็ตาม ความทะเยอทะยานที่สูงนั้นกลับขัดแย้งกับทัศนคติของผู้ใหญ่ที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งมีแนวคิดแบบอนุรักษนิยม
3. ปัญหาความเจริญแบบกระจุกตัว กล่าวคือปัจจุบัน การพัฒนาต่างๆ กระจุกตัวอยู่เพียงในกรุงฮานอยและเมืองโฮจิมินห์ ในขณะที่เมืองอื่นๆ ระดับการพัฒนาน้อยมาก
“ดังนั้น เวลาเราเห็นเศรษฐกิจเวียดนามโต มันอาจจะโตแบบกระจุกตัวอยู่ที่คนบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ก็คล้ายกับการกระจุกความเจริญอยู่แต่ในกรุงเทพฯ ของประเทศไทย”
เมื่อถามว่าประเทศไทยยังพอมีความหวังจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเหมือนเวียดนามหรือไม่ ปิติให้ความเห็นว่าเป็นไปได้ แต่รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนคนรุ่นใหม่
“คนรุ่นใหม่ปัจจุบัน รู้สึกว่าทำงานหนักไปก็สู้คนนั้นคนนี้ไม่ได้ เพราะว่าคนนั้นคนนี้เขาเส้นใหญ่ เขามาจากฐานที่ใหญ่กว่า ผมว่าถ้าจะแก้ปัญหาไทยโตช้า ต้องเริ่มจากการกระจายอำนาจให้คนเล็กคนน้อยในจังหวัดเล็กจังหวัดน้อย ให้ชุมชนของตัวเองได้มีโอกาสโตขึ้นมา ไม่ใช่ทุกอย่างมาจากส่วนกลาง ส่วนกลางต้องกระจายทรัพยากรต่างๆ อย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากร คน งบประมาณ ความรู้ หรือเวลา
“มากไปกว่านั้น หากผู้มีอำนาจต้องการให้ประเทศพัฒนา การขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น พวกคุณต้องกลับมาพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ รัฐควร ทำให้พวกเขาเห็นอนาคต เห็นเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน รัฐบาลต้องทำให้ประชาชนมีความหวัง”
ท้ายที่สุด เมื่อถามว่าเราควรมองเวียดนามในฐานะอะไร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศทิ้งท้ายว่าห้ามมองเป็นคู่แข่งเด็ดขาด
“ปัจจุบันมีนักธุรกิจไทยไปลงทุนที่เวียดนามจำนวนมาก และบริษัทเหล่านั้นก็เปิดโอกาสให้คนไทยไปทำงานด้วย คนไทยควรจะต้องดีใจที่เศรษฐกิจเวียดนามดีขึ้น เพราะนั่นหมายความว่า ถ้าเขารวยขึ้นเขาก็ค้าขายกับเรามากขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในเวียดนาม คนไทยก็เป็นเจ้าของ ธนาคารไทยก็เปิดที่เวียดนามจำนวนมาก
“ดังนั้น เขาโตเราก็โตด้วย ตรงไหนที่เราอ่อนก็เอาของเขามาเสริม ตรงไหนที่เขาอ่อน ก็เอาของเราไปเสริม มันจะได้โตไปด้วยกัน”
ที่มา
https://www.boi.go.th/upload/content/FDI%20Q2%202022_62ea1b69033a1.pdf
Tags: Report, เวียดนาม, ไทย, ปิติ ศรีแสงนาม