วันนี้ (15 เมษายน 2024) ตุรกีและอิรักเปิดเผยว่า รัฐบาลอิหร่านแจ้งเตือนการโจมตีอิสราเอลล่วงหน้า ขณะที่สหรัฐอเมริกาปฏิเสธพร้อมระบุว่า ทำเนียบขาวจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจของอิสราเอลในเหตุการณ์ครั้งนี้ 

ก่อนหน้านี้ อิหร่านโจมตีอิสราเอลในช่วงค่ำของวันที่ 13 เมษายน จนถึงเช้าตรู่ของวันที่ 14 เมษายนตามเวลาท้องถิ่น โดยมีการเปิดเผยรายละเอียดเบื้องต้นว่า อิสราเอลสามารถตรวจจับขีปนาวุธมากกว่า 120 ลูก โดรน 170 ลำ และจรวดร่อน (Cruise Missile) 30 ลูก 

แม้จะไม่มีรายงานถึงผู้เสียชีวิตและความเสียหายระดับรุนแรง โดยอิสราเอลอ้างว่า สามารถสกัดกั้นขีปนาวุธได้ถึง 99% ด้วยไอรอนโดม (Iron Dome) และระบบป้องกันขีปนาวุธแอร์โรว์ 3 (Arrow 3) พร้อมด้วยความช่วยเหลือจากกลุ่มพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ทว่าประชาชนบางส่วนอยู่ในอาการสาหัส ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเด็กหญิงวัย 7 ปี ที่บาดเจ็บจากเศษขีปนาวุธบนฟากฟ้า

เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นการโจมตีอิสราเอลจากดินแดนของอิหร่านโดยตรงครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ เพื่อ ‘ชำระแค้น’ หลังอิสราเอลเปิดฉากปฏิบัติการทางอากาศ ทำลายสถานกงสุลอิหร่านในดามัสกัส (Damascus) ประเทศซีเรีย (Syria) ในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยอ้างถึงความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ที่สนับสนุนฮามาส (Hamas) ในสงครามระหว่างอิสราเอล

ปฏิบัติการดังกล่าวทำให้สมาชิกของกลุ่มกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps: IRGC) เสียชีวิต 7 ราย โดยมีบุคคลสำคัญอย่าง โมฮัมหมัด เรซา ซาเยดี (Mohammad Reza Zahedi) ผู้บัญชาการสูงสุดของหน่วยโกดส์ (Quds Force) เป็นหนึ่งในนั้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศตุรกีออกมาเปิดเผยถึงการโจมตีว่า ก่อนหน้านี้ ทางการพูดคุยกับสหรัฐฯ และอิหร่าน ซึ่งตุรกีในฐานะตัวกลางไม่อาจห้ามอะไรได้ นอกจากเตือนอิหร่านให้พึงระวังความเหมาะสมในการโจมตี และความบานปลายของเหตุการณ์ที่อาจกลายเป็นสงครามในภูมิภาค

“อิหร่านบอกทางการตุรกีว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ถือเป็นการตอบโต้อิสราเอลที่โจมตีสถานกงสุลในดามัสกัส และจะไม่มีอะไรเกินเลยไปมากกว่านี้ เราจึงคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น” คำพูดส่วนหนึ่งจากนักการทูตชาวตุรกีตามรายงานของรอยเตอร์ (Reuters) พร้อมระบุว่า สหรัฐฯ ฝากข้อความผ่านตุรกีให้แจ้งไปถึงอิหร่านว่า การโจมตีครั้งนี้จะต้องไม่เกินขอบเขตตามกฎหมาย

ท่าทีดังกล่าวสอดคล้องกับ ฮอสเซน อามีร์-อับดุลลาเฮียน (Hossein Amirabdollahian) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ที่ระบุว่า อิหร่านแจ้งให้ประเทศรอบข้างและสหรัฐฯ ทราบก่อน 72 ชั่วโมงของการโจมตี

นอกจากนี้ หน่วยงานความมั่นคงของอิรักยังเปิดเผยว่า อิหร่านติดต่อทางการทูตตามปกติ โดยแจ้งการโจมตีอิสราเอลล่วงหน้าถึง 3 วัน แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียดและเวลา พวกเขาจึงสามารถเตรียมการรักษาความปลอดภัยด้วยการปิดน่านฟ้าได้ทันพอดี

ทว่าข้อมูลทั้งหมดขัดกับแหล่งข่าวจากทำเนียบขาว โดยผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของรัฐบาล โจ ไบเดน (Joe Biden) ที่ไม่เปิดเผยตัวตนปฏิเสธผ่านรอยเตอร์ว่า สหรัฐฯ ติดต่อกับอิหร่านผ่านตัวกลางจริง แต่ไม่ได้รับการแจ้งเตือนว่า การโจมตีจะเกิดขึ้นภายใน 72 ชั่วโมง

“นี่เป็นเรื่องที่ไร้มูลความจริงเป็นอย่างมาก พวกเขาไม่ได้แจ้งเตือนหรือส่งสัญญาณในทำนองว่า เรากำลังจะโจมตี คุณต้องอพยพผู้คนด่วนอะไรทำนองนี้เลย” 

แหล่งข่าวจากสหรัฐฯ ระบุก่อนย้ำว่า ข้อความที่อิหร่านส่งมาคือ ‘ทำลายล้างอย่างมหันต์’ และประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะห้ามด้วยคำว่า ‘อย่า’ เพียงคำเดียว

ขณะนี้ สหรัฐฯ ภายใต้ไบเดนพยายามสงวนท่าทีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะยังสนับสนุนสิทธิป้องกันตนเอง (Right of Defense) ของอิสราเอล และตอบคำถามถึงวิธีการหลีกเลี่ยงความบานปลายในความขัดแย้งด้วยการ ‘ไม่ยุ่งเกี่ยว’ ในการตอบโต้ของอิสราเอล

ซึ่งตรงกับบทวิเคราะห์นิวยอร์กไทมส์ (New York Times) ว่า ลึกๆ แล้ว ทำเนียบขาวก็ไม่ต้องการให้เรื่องราววุ่นวายไปมากกว่านี้ ท่ามกลางความปรารถนาของอิสราเอลในการล้างแค้น หลัง โยอาล์ฟ แกลลันต์ (Yoav Gallant) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอิสราเอล เผยว่า การเผชิญหน้าครั้งนี้ยังไม่จบสิ้น

ความขัดแย้งครั้งนี้จะบานปลายกลายเป็นสงครามในภูมิภาคหรือไม่?

เบื้องต้น ผู้เชี่ยวชาญหลายส่วนวิเคราะห์ว่า ความขัดแย้งครั้งนี้อาจขยายตัวไปสู่สงครามในระดับภูมิภาค (Regional War) หลังอิสราเอลกับอิหร่านทำ ‘สงครามเงา’ ผ่านความขัดแย้งในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นนิวเคลียร์ที่เปรียบเสมือนภัยคุกคามสำคัญของอิสราเอล

ทั้งนี้ อัฟฟอน ออสโตวาร์ (Afshon Ostovar) รองศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงแห่งชาติประจำ Naval Postgraduate School และผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพอิหร่าน ให้เหตุผลว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่เพราะว่าอิสราเอลเกรงกลัวแต่อย่างใด หากแต่การเปิดหน้าสู้โดยตรงกับอิหร่าน จะนำมาสู่ ‘สงครามจริงจัง’ ในภูมิภาค 

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะศักยภาพทางการทหารของอิหร่าน สะท้อนจากการเป็นหนึ่งในคลังขีปนาวุธและโดรนที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง พร้อมด้วยความก้าวหน้าในด้านวิทยาการต่างๆ เช่น การมีอยู่ของขีปนาวุธนำวิถีที่มีพิสัยถึง 2,000 กิโลเมตร หรือระยะการบินโดรนถึง 1,200-1,500 ไมล์ พร้อมด้วยโหมดการบินในระดับต่ำเพื่อหลบเลี่ยงเรดาร์ตรวจจับ 

อย่างไรก็ตาม แสนยานุภาพของอิหร่าน ยัง ‘เป็นรอง’ เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ อิสราเอล หรือแม้แต่บางประเทศในยุโรปก็ตาม โดยเฉพาะศักยภาพของกองทัพอากาศ โดยนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า เครื่องบินส่วนใหญ่อยู่มาตั้งแต่สมัยของ พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (Shah Mohammad Reza Pahlavi) ซึ่งอยู่ในช่วงปี 1941-1979

ขณะที่ เบห์นาม เบน เทเลบลู (Behnam Ben Taleblu) นักวิจัยอาวุโสประจำ Foundation for Defense of Democracies และผู้เชี่ยวชาญขีปนาวุธอิหร่าน ระบุผ่านโพลิติโค (Politico) เขาเชื่อว่า จนถึงตอนนี้ อิหร่านยังไม่ต้องการให้เกิดสงครามใหญ่อย่างใด สะท้อนจากแหล่งข่าว ‘หลังม่าน’ ของวอชิงตันโพสต์ (Washington Post) ว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักการทูตและผู้นำกองทัพระดับสูงเข้าเจรจากับกลุ่มติดอาวุธ โดยเฉพาะฮิซบอลเลาะห์ เพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายมากกว่านี้ 

เขาย้ำว่า จริงอยู่ที่ว่าอิหร่านพร้อมจะเสี่ยงกว่าเดิม หลังเหตุการณ์โจมตีสถานกงสุลในกรุงดามัสกัสคือจุดเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ แต่การโจมตีด้วยขีปนาวุธระยะไกล ที่รู้ดีอยู่แล้วว่าอิสราเอลป้องกันได้ ก็ยังไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงของการทำสงคราม

นอกจากนี้ อัลจาซีรา (Al Jazeera) วิเคราะห์ทิ้งท้ายว่า แม้ความขัดแย้งครั้งนี้อาจทำให้ เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) เบี่ยงเบนความสนใจของโลกจากสิ่งที่เกิดขึ้นในกาซา และกดดันให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการรุนแรงเพื่อตอบโต้อิหร่าน ทว่าการกระทำครั้งนี้อาจทำให้ ‘ซื้อใจ’ ประเทศในโลกมุสลิมมากขึ้น สืบเนื่องจากท่าทีที่ ‘ไม่นิ่งนอนใจ’ ต่อความก้าวร้าวของอิสราเอล หากเทียบกับมหาอำนาจอื่นๆ อย่างตุรกีและซาอุดีอาระเบียที่ยังสงวนท่าที

ปัจจุบัน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ประชุมเพื่อหาทางออกต่อความขัดแย้งครั้งนี้ โดยร้องขอให้ทุกฝ่าย ‘ยับยั่งชั่งใจ’ ท่ามกลางเหตุระเบิดในค่ายผู้ลี้ภัยนูเซยัติ (Nuseirat) ในกาซาโดยฝีมือของกองทัพอิสราเอล

 

อ้างอิง

https://www.reuters.com/world/middle-east/iranian-notice-attack-may-have-dampened-escalation-risks-2024-04-14/

https://www.aljazeera.com/news/2024/4/14/true-promise-why-and-how-did-iran-launch-a-historic-attack-on-israel

https://www.aljazeera.com/news/2024/4/14/iran-attacks-israel-with-over-300-drones-missiles-what-you-need-to-know

https://www.nytimes.com/2024/04/14/world/middleeast/iran-israel-drones-attack.html

https://www.politico.com/news/magazine/2024/04/14/middle-east-iran-israel-war-00152138

https://www.washingtonpost.com/world/2024/02/18/iran-proxies-middle-east/

https://www.nytimes.com/2024/04/14/world/middleeast/iran-attacks-israel-history.html

https://www.nytimes.com/2024/04/12/world/middleeast/iran-israel-military-weapons.html

https://www.reuters.com/world/middle-east/iran-informed-turkey-advance-its-operation-against-israel-turkish-source-2024-04-14/

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,