วันนี้ (11 กันยายน 2566) เวลาประมาณ 07.59 น. ที่รัฐสภา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางมาแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา โดยถ้อยคำแถลงส่วนหนึ่งระบุว่า จะมุ่งมั่นสร้างความสามัคคี ปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมกับผลักดันปัญหาเศรษฐกิจเป็นวาระเร่งด่วน ทั้งนี้มีการประชุมรัฐสภาทั้งหมดสองวัน คือวันที่ 11-12 กันยายน 2566 มีกรอบระยะเวลาในการแถลงนโยบายของรัฐบาลรวม 40 ชั่วโมง 

เวลา 09.33 น. วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวเปิดประชุม โดยกล่าวว่า ตามมาตรา 162(1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะรัฐมนตรีต้องแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาและให้ที่ประชุมรัฐสภาซักถาม โดยสามารถอภิปรายสนับสนุนหรือคัดค้านได้ แต่จะไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันนี้

ต่อมา เศรษฐาและคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา โดยกล่าวว่า จะมุ่งมั่นสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อให้สังคมก้าวสู่ความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศ ให้ก้าวหน้าเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกคน โดยวันนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ ทั้งเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ จากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงปัญหาสังคมและการเมืองที่ยืดเยื้อ นี่จึงเป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลจะเร่งแก้ไข

“รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการดำเนินงานของประชาชนจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต เพื่อแก้ปัญหา สร้างความพร้อม และวางรากฐานอนาคตให้กับคนไทยทุกคน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลวางการแก้ไขปัญหาเป็นกรอบระยะสั้น กรอบระยะกลาง และกรอบระยะยาว โดยกรอบระยะสั้นคือรัฐบาลกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง และกรอบระยะกลางและระยะยาว คือสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทุกคน 

นโยบายที่สำคัญมีดังนี้

1.เติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ทำหน้าที่จุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้น โดยจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปทุกพื้นที่อย่างถึงราก เมื่อระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนและขยาย รัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนกลับมาในรูปแบบของภาษี

2.แก้ปัญหาความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญ และให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน

3.รัฐบาลจะใช้การบริหารในรูปแบบของการกระจายอำนาจ (ผู้ว่าฯ CEO) เพื่อสร้างประสิทธิภาพการบริหารงานในแต่ละจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

4.สนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ (Soft Power) ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถ ด้านความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย เพื่อสร้างมูลค่าและสร้างรายได้ รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างรายได้ผ่านการส่งเสริม ‘1 ครอบครัว 1 ทักษะ’

5.รัฐบาลจะดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคม แห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพ ของผู้เรียนตามความถนัด เพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้ กระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง โดยไม่ละเลยการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศ และการปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ

6.การทหาร จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร หน่วยบัญชารักษาดินแดน ให้เป็นแบบสร้างสรรค์ และลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง

7.ยกระดับ ‘นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค’ โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อบนฐานข้อมูลที่มีความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถ เข้ารับบริการได้ทุกที่ทั่วประเทศไทยด้วย ‘สวัสดิการโดยรัฐ’

Tags: , ,