วันนี้ (1 มีนาคม 2567) The Momentum มีโอกาสไปสำรวจโครงการวิจัย ‘รถไฟไทยทำ’ ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มีเป้าหมายเพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ตามนโยบาย ‘Thai First’ ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน โดยรถไฟขบวนนี้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘รถไฟสุดขอบฟ้า (Beyond Horizon)

รถไฟขบวนนี้ทำการทดสอบวิ่งมาแล้วเป็นระยะทาง 700 กิโลเมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในขบวนจะประกอบไปด้วยชั้นผู้โดยสารระดับ Super Luxury จำนวน 8 ที่นั่ง และชั้นผู้โดยสารระดับ Luxury อีก 17 ที่นั่ง มีจอส่วนตัวพร้อมระบบแอนดรอยด์ พร้อมห้องน้ำ สุญญากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ 

รถไฟสุดขอบฟ้าขบวนนี้ใช้วัสดุและอุตสาหกรรมภายในประเทศ (Local Content) คิดเป็นกว่า 44.1% ของกระบวนการผลิต ถือว่าสูงกว่าเป้าหมายการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศที่ตั้งไว้ที่ 40%

ก่อนหน้านี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มักจัดซื้อรถไฟจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนในระยะหลัง อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังมีความพยายามในการประกอบรถไฟขึ้นเองภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าตู้โดยสารรถไฟจากต่างประเทศ

สำหรับนโยบาย Thai First กำหนดให้ทุกโครงการระดับรางหลังปี 2565 ต้องใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศอย่างน้อย 40% และจากการคาดการณ์ในอีก 20 ปีข้างหน้า ความต้องการตู้รถไฟโดยสารจะมีไม่น้อยกว่า 2,425 ตู้ แต่ประเทศไทยยังแทบไม่มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมากเท่าที่ควร ดังนั้น ต้องเร่งสร้างผู้ผลิตที่มีความพร้อมทั้งงานวิจัยและการพัฒนา (Research & Development: R&D) และการถ่ายโอนองค์ความรู้จากต่างประเทศ (Technology Localization)

Tags: , , , ,