วันนี้ (3 ธันวาคม 2564) เวลา 11.00 น. ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า แถลงข่าวเรื่อง ‘ความเห็นแย้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ จากกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่ระบุว่า การกระทำของ อานนท์ นำภา (ทนายอานนท์) ภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์ ระยอง) และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) จากการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ถือเป็นการล้มล้างการปกครองฯ
ปิยบุตรระบุว่า หลังคำวินิจฉัยศาล วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ตัวเต็มลงในราชกิจจานุเบกษา ความยาวทั้งหมด 29 หน้า โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ส่วนแรกคือ ‘6 ข้อวิจารณ์คำวินิจฉัย’ ส่วนที่สองคือ ‘3 ข้อสังเกตผลสืบเนื่องจากคำวินิจฉัย’ โดยส่วนแรกคือการแสดงความคิดเห็นว่า การดำเนินกระบวนการพิจารณาไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้ชี้แจงแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอ มีการนำการกระทำอื่นที่ไม่ใช่ ‘วัตถุแห่งคดี” มาวินิจฉัย ที่ควรเริ่มต้นว่าการกระทำใดคือการกระทำที่ถูกร้อง การกระทำใดเป็นวัตถุแห่งคดีที่จะใช้พิจารณาว่าการกระทำนั้นล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หน้า 26 และหน้า 27 ระบุไว้ว่า
“แม้การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี จะผ่านพ้นไปแล้ว ภายหลังจากที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญยังปรากฏว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคลต่างๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์เป็นแบบไม่มีแกนนำชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน”
“นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า การชุมนุมหลายครั้ง มีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ำเงิน ซึ่งหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์”
ปิยบุตรมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถเอาการปราศรัยของผู้ถูกร้องทั้งสามในวันอื่นที่ไม่ใช่วันที่ 10 สิงหาคม 2563 หรือการกระทำใดของผู้อื่น ในวันอื่น เวลาอื่น มาใช้เป็นข้อเท็จจริงว่าการกระทำของทั้งสามล้มล้างการปกครองฯ ได้ ต้องเอาเฉพาะการชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 และต้องใช้แค่การกระทำของทั้ง 3 คนเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้นำเอาข้อเท็จจริงอื่นมาร่วมพิจารณาวินิจฉัย และเอาเหตุการณ์หลังวันที่ 10 สิงหาคม 2563 มาพิจารณาด้วย
ยังมีการเขียนคำวินิจฉัยที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ เนื่องจากในช่วงเวลาที่ประเทศไทยถูกทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจอยู่หลายครั้ง ห้วงเวลารัฐประหารที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญได้เขียนประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่เอง ดังข้อเท็จจริงที่ศาลบรรยายความในหน้าที่ 25 ว่า
“แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไทยเมื่อปี 2475 ให้อำนาจการปกครองเป็นของราษฎรทั้งหลายหรือมาจากปวงชนชาวสยาม คณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงและประชาชนชาวไทยยังคงเห็นพ้องกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์เพื่อทรงเป็นสถาบันหลักที่จะต้องอยู่คู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย และทรงใช้อำนาจอธิปไตยนั้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยเรียกรูปแบบการปกครองนี้ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และราชอาณาจักรไทยได้คงไว้ซึ่งการปกครองระบอบนี้ต่อเนื่องมาโดยตลอด”
ปิยบุตร ระบุว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ อย่างไม่สมเหตุสมผล เอาคำขวัญของประเทศที่มีการปกครองแบบสาธารณรัฐ มาปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไหนจะการที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินจริง
ข้อสังเกตที่สองเรื่อง ‘3 ข้อสังเกตผลสืบเนื่องจากคำวินิจฉัย’ เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้ข้อสังเกตว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญใช้คำวินิจฉัยนี้เป็นฐานเพื่อดำเนินคดีอาญาหรือคดียุบพรรคการเมือง ส่งผลให้มีนักร้องเรียนจำนวนมากจะเอาคำวินิจฉัยนี้ไปดำเนินคดีต่อฐานกบฏ บ้างก็จะเอาไปร้องเรียนยุบพรรคการเมือง แต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันทางคดีอาญาแต่อย่างใด และจะต้องมีการพิจารณาคดีกันใหม่ ไม่ใช่นำเอาคำวินิจฉัยนี้ของศาลรัฐธรรมนูญมาตัดสินได้เลย
ส่วนถัดมาคือ การใช้เสรีภาพในการรณรงค์ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่ทำให้สังคมเกิดคำถามและความไม่แน่ใจว่า ตกลงแล้; ประชาชนสามารถเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ได้หรือไม่ หรือจะเรียกร้องให้ทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่รวมถึงหมวด 2 ได้หรือไม่ แต่ศาลไม่ได้พูดแม้แต่ประโยคเดียวว่า ‘การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้’ ดังนั้นประชาชนจึงยังสามารถเรียกร้องต่อได้ แต่ศาลกลับทำให้เกิดความสับสนในสังคม
สุดท้าย การใช้เสรีภาพของสื่อสารมวลชนในการนำเสนอประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากหลังการวินิจฉัย มีการขอความร่วมมือให้สื่อมวลชนระมัดระวังในการนำเสนอ 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้สื่อมวลชนหลีกเลี่ยงการสัมภาษณ์แหล่งข่าว เช่น แกนนำ นักวิชาการ หลีกเลี่ยงการรายงานสด หลีกเลี่ยงการเชิญบุคคลมาสัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นเรื่อง 10 ข้อเรียกร้อง ให้นำเสนอแต่ปรากฏการณ์ตามข้อเท็จจริง ทั้งหมดนี้ ปิยบุตรมองว่ามีปัญหา เพราะวิธีการแบบนี้เป็นสิ่งที่ กสทช. ใช้เป็นประจำตั้งแต่การทำรัฐประหาร เชิญสื่อไปคุย ไปขอความร่วมมือ ไปเตือน ซึ่งปิยบุตรเรียกการกระทำนี้ว่า ‘เตือนแกมขู่’ ทั้งหมด ส่งผลให้คำวินิจฉัยที่ระบุว่าล้มล้างการปกครองฯ ถือเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล
Tags: Report, The Momentum, ปิยบุตร แสงกนกกุล, คณะก้าวหน้า, Internal Affairs