การพิจารณากฎหมายการทำแท้งของเกาหลีใต้เกิดขึ้นหลังจากปี 2557 ที่แพทย์คนหนึ่งยื่นคำร้องต่อศาลหลังจากที่เขาถูกฟ้องในข้อหาทำแท้งทารกในครรภ์อายุสามเดือน โดยกล่าวว่า การห้ามไม่ให้แพทย์ทำแท้งเป็นการละเมิดสิทธิ์ในการแสวงหาความสุขความเสมอภาคและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้การพิจารณาคดีกฎหมายทำแท้งในเกาหลีใต้กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยไปจนถึงการเดินขบวนประท้วงบนท้องถนน

โดยในวันที่ 11 เมษายน 2562 ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ 7 ใน 9 คนมีคำวินิจฉัยว่าการกำหนดให้ทำแท้งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายนั้นเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ  นั่นหมายความว่าจากนี้ไปจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายและร่างกฎหมายการทำแท้งที่ถูกกฎหมายเกิดขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ในปลายปี 2563 นี้ อายุครรภ์ที่กำหนดให้ทำแท้งได้อยู่ที่ 20 สัปดาห์ ส่วนยุติการตั้งครรภ์หลังจากตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์เป็นต้นไปจะยังคงถือว่าผิดกฎหมายอยู่

ก่อนหน้านี้ผู้หญิงที่ทำแท้งในเกาหลีใต้อาจมีโทษถูกจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปีและถูกปรับได้ถึงสองล้านวอน (1,780 ดอลลาร์) ในขณะที่แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ด้านการดูแลสุขภาพที่เป็นผู้ช่วยในการยุติการตั้งครรภ์อาจถูกจำคุกนานถึงสองปี

จากการสำรวจของสถาบันเพื่อสุขภาพและสังคมแห่งเกาหลีในปีนี้ มีรายงานว่าผู้หญิงสามในสี่ที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 44 ปี คิดว่ากฎหมายห้ามทำแท้งเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม นอกจากนี้ ประมาณ 20% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังกล่าวอีกว่าพวกเขาเคยทำแท้งแม้ว่าจะผิดกฎหมาย โดยในปี 2560 ที่ผ่านมามีผู้คนมากกว่า 235,000 คนลงนามคำร้องเพื่อเรียกร้องให้ทำแท้งถูกกฎหมายด้วยเช่นกัน

ในการพิจารณากฎหมายครั้งนี้โดยศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบันมุน แจ-อิน (Moon Jae-in) ซึ่งเป็นชาวคาทอลิกได้รับการแต่งตั้งเป็น 1 คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คนของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันนี้อีกด้วย แม้ว่าเขาจะไม่ได้ออกมาให้ความเห็นอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับปัญหานี้ แต่มุน แจ-อินก็มีท่าทีให้การสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศและสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิชนกลุ่มน้อยมาโดยตลอด

ที่มา:

https://edition.cnn.com/2019/04/11/health/south-korea-abortion-ban-ruling-intl/index.html?fbclid=IwAR0QV06DRLheHy6AuAIFEawWPI4G1xIxqe5I4EcTS3KV_P2kEwtXAtJERaY

เครดิตรูป

Jung Yeon-je / AFP