“ในปัจจุบัน ประเทศเกาหลีใต้กำลังกลายเป็นสังคมที่ครอบงำด้วยผู้หญิง และพวกเธอต้องรับผิดชอบต่อปรากฏการณ์ที่ผู้ชายพยายามปลิดชีพตัวเอง”
คำพูดข้างต้นเป็นของ คิม กีด็อก (Kim Ki-duck) สมาชิกสภากรุงโซลจากพรรคประชาธิปไตยเกาหลี (Democratic Party of Korea) ที่กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในโลกโซเชียลฯ หลังเขาอ้างว่า เกาหลีกลายเป็น ‘สังคมหญิงเป็นใหญ่’ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอัตราการปลิดชีพในหมู่ผู้ชาย
ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา กีด็อกแสดงความคิดเห็นผ่านแถลงการณ์บนเว็บไซต์ ถึงสถิติการปลิดชีพที่สะพานแม่น้ำฮัน (Han) ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า ในปี 2023 ผู้ชายพยายามก่ออัตวินิบาตกรรมเพิ่มขึ้นถึง 1,035 คน จาก 430 คนในปี 2018 หรือคิดเป็น 77% จาก 67% และหนทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาครั้งนี้ได้คือ การเอาชนะโครงสร้างสังคมที่มีผู้หญิงเป็นใหญ่
“ไม่เหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา เกาหลีใต้คือสังคมชายเป็นใหญ่ จนกระทั่งในปี 2023 ผู้หญิงเริ่มครอบงำสังคม สะท้อนจากการมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 5%
“จากจำนวนผู้หญิงที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนไป เช่น ภาวะขาดแคลนแรงงานชาย ความลำบากของผู้ชายในการหาคู่แต่งงานที่เพิ่มขึ้น หรือการเปลี่ยนบทบาททางเพศสภาพ หลังผู้หญิงมีบทบาทในสังคม”
สมาชิกสภากรุงโซลทิ้งท้ายว่า หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาครั้งนี้ได้คือ การการันตีว่า ทั้งเพศหญิงและเพศชายมีโอกาสและสิทธิทางเพศสภาพ ‘เท่าเทียม’ กัน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ด้วยการเพิ่มบทบาทผู้ชายสังคมให้มากขึ้น
ความคิดเห็นของสาธารณชนและข้อแก้ตัวจากกีด็อก
“เขาเป็นพวกเกลียดชังเพศหญิง”
“เกาหลีใต้คือสรวงสวรรค์ของพวกอินเซลสินะ”
ในเวลาต่อมา ข้อสันนิษฐานของกีด็อกทำให้เกิดความเคลือบแคลงจากแรงปะทะในสังคม โดยชาวโซเชียลฯ ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับข้อมูลของเขา และหยิบยกข้อมูลว่า เกาหลีใต้ไม่ใช่สังคมที่ครอบงำด้วยผู้หญิง ทว่าความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคมสูงมาก สะท้อนจากค่าเฉลี่ยรายได้ของผู้หญิงที่ต่ำกว่าผู้ชายถึง 29%
ซง ฮัน (Song Han) ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพจิตประจำมหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) แสดงความคิดเห็นผ่านบีบีซีว่า คำพูดของกีด็อกที่ปราศจากหลักฐานชัดแจ้ง มีความอันตรายและไม่ฉลาดอย่างมาก แม้จริงอยู่ว่า ผู้ชายในโลกมีอัตราการปลิดชีพมากกว่าผู้หญิง เช่น สหราชอาณาจักร ทว่าเบื้องหลังการเสียชีวิตของผู้ชายในเกาหลีจำเป็นต้องได้ตรวจสอบผ่านการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าเศร้าใจมากที่ข้อสันนิษฐานของสมาชิกสภากรุงโซล ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเพศสภาพ
ด้านพรรคยุติธรรมเกาหลี (Justice Party) พรรคการเมืองซ้ายกลางออกมาประณามคำพูดของกีด็อกในครั้งนี้ว่า เป็นการกล่าวโทษผู้หญิงในสังคมเกาหลี ที่พยายามหลบหนีจากการกีดกันทางเพศในสังคมอย่างง่ายดาย โดยขอให้เขาถอนคำพูดและมองสาเหตุของความจริงอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม กีด็อกตอบโต้ผ่านบีบีซีว่า เขาไม่ได้ตั้งใจจะวิพากษ์โครงสร้างหญิงเป็นใหญ่ในสังคม และข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงแค่ความคิดเห็นส่วนตัว ขณะที่สภาเทศบาลกรุงโซลให้ข้อมูลว่า การจะเอาผิดกับสมาชิกสภากรุงโซลไม่สามารถทำได้ ยกเว้นเนื้อหาผิดกฎหมาย และเขาต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหา ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า
เดรสแดง ผมสั้น ไม่ทรงเกียรติในฐานะตัวแทนของประชาชน: ความเกลียดชังเพศหญิงในหน้าการเมืองเกาหลี
ไม่ใช่แค่ความเหลื่อมล้ำทางเพศที่เกิดขึ้นในภาคสังคมและวัฒนธรรม เช่น ปรากฏการณ์การเกลียดกลัวกระแสเฟมินิสม์ (Feminism) ที่ขยายตัวในวงกว้างไม่กี่ปีที่ผ่านมา และท้าทายโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ดั้งเดิม
หลายครั้งความเกลียดชังเพศหญิงยังปรากฏในหน้าการเมืองเกาหลีใต้ไม่ต่างกัน หากยังจำเรื่องราวของ รยู โฮจอง (Ryu Ho-jeong) นักการเมืองหญิงจากพรรคยุติธรรมเกาหลี หลังตกเป็นประเด็นจากการแต่งกายในปี 2020 เมื่อเธอปรากฏตัวในรัฐสภาอันทรงเกียรติ ด้วยชุดเดรสแขนสั้นลายจุดสีแดงสลับสีขาวแบรนด์ Jucy Judy และทรงผมสั้นกุด ซึ่งขัดกับธรรมเนียมดั้งเดิม โดยเฉพาะภาพลักษณ์ความเป็นผู้หญิงบอบบาง เรียบร้อยราวกับผ้าที่พับไว้
“เดี๋ยวเธอก็ใส่บิกินีมาทำงาน”
“ที่นี่คือบาร์หรือเปล่า”
ข้อความเหล่านี้คือ คอมเมนต์ในฟซบุ๊กที่ปรากฏในแฟนเพจของ มุน แจอิน (Moon Jae-in) อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้จากพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี ถึงการแต่งกายของโฮจอง ซ้ำบางส่วนยังตั้งคำถามว่า ผู้หญิงที่มีอายุเพียง 27 ปีจะมีความสามารถเข้ามานั่งตัดสินใจในกิจการบ้านเมืองระดับชาติได้อย่างไร?
อย่างไรก็ตาม โฮจองให้สัมภาษณ์สั้นกับสำนักข่าวยอนฮับ (Yonhap) ว่า การแต่งตัวของเธอในครั้งนี้ เป็นความตั้งใจที่จะทุบทำลายประเพณีของรัฐสภาที่มักต้องสวมใส่ชุดสุภาพเรียบร้อย และเน้นย้ำว่า อำนาจของรัฐสภาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสวมใส่สูทเท่านั้น
“รัฐสภาครอบงำด้วยชายวัยกลางคนในวัย 50 ปี ฉันแค่อยากจะทำลายธรรมเนียมการสวมใส่สูทสีดำและเนกไท ด้วยการแต่งตัวตามปกติเท่านั้น” โฮจองระบุกับสำนักข่าวเอบีซี (ABC) โดยยืนยันว่า ชุดสีแดงของเธอก็เหมือนชุดทำงานทั่วไปที่ผู้หญิงคนอื่นใส่ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เคยปรากฏรูปของเธอที่สวมกางเกงยีนส์ เสื้อยืด รองเท้าผ้าใบ และแบกกระเป๋าเป้สีเหลืองในออฟฟิศของพรรค
ในช่วงเวลานั้น รัฐสภาเกาหลีใต้มีสมาชิก 300 คน แต่ก็นับว่าถูกครอบงำด้วยผู้ชายและวัยกลางคนมากที่สุด โดย 79% ของสมาชิกรัฐสภาคือวัย 40 ปีขึ้นไป ขณะที่ 3% มีอายุต่ำกว่า 30 ปี และผู้ชายครองสภามากที่สุดถึง 84.3%
ต่อมาในปี 2021 โฮจองยังเคลื่อนไหวสนับสนุนการเปิดเผย ‘รอยสัก’ โดยสวมชุดเดรสสีม่วงเปิดหลังที่มีรอยสัก เพื่อต่อต้านกฎหมายห้ามสัก จากคำตัดสินของศาลสูงสุดในปี 1992 ซึ่งการกระทำของเธอทั้งหมด ถูกจับตามองในฐานะ ‘อนาคต’ ของประเทศนับต่อจากนี้
ปัจจุบันกระแสสาดโคลนเพศหญิงในการเมืองเกาหลีใต้ยังไม่จางหาย เมื่อเดือนที่ผ่านมา สมาชิกสภาโซลวัย 60 ปีคนหนึ่งเพิ่งตีพิมพ์ผลงานทางเว็บไซต์ โดยสนับสนุนให้ผู้หญิงเล่นกีฬายิมนาสติกเพื่อบริหารอุ้งเชิงกราน ซึ่งเชื่อว่า จะเสริมสร้างอัตราการเกิดของประเทศที่ตกต่ำลง
ขณะที่กลุ่ม Think Tank ของรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ด้วยการเสนอแนะให้เด็กผู้หญิงเข้าโรงเรียนก่อนผู้ชาย เพื่อที่จะได้ดึงดูดเพื่อนร่วมห้อง และแต่งงานกันได้เร็วขึ้นในอนาคต
อ้างอิง
https://x.com/koryodynasty/status/1810137915101712774
https://www.bbc.com/news/articles/cml2kvd2dvno
https://edition.cnn.com/2020/08/07/asia/south-korea-politician-dress-intl-hnk/index.html
https://abcnews.go.com/International/red-dress-creates-political-storm-south-korea/story?id=72209187
https://koreajoongangdaily.joins.com/2021/06/17/national
Tags: Feminism, โซล, สังคมชายเป็นใหญ่, เฟมินิสต์, ความเหลื่อมล้ำทางเพศ, เฟมินิสม์, รัฐสภาเกาหลีใต้, นักการเมือง, รยู โฮจอง, เพศสภาพ, เกาหลีใต้