“เฟมินิสต์คือภัยร้าย พวกผู้หญิงประสาทแดกที่อยากเป็นใหญ่”

“ผู้หญิงพวกนี้ก็แค่พวกจิตป่วย เก็บกด”

“โง่หรือเปล่า เฟมินิสต์คือการเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับคนทุกเพศต่างหาก”

“เฟมินิสต์ไม่ใช่แค่การยัดพนักงานหญิงให้อยู่ในระดับบริหาร มันมีอะไรที่มากกว่านั้น”

“ใครจะรู้ว่าพวกคลั่งขงจื๊อแบบผิดๆ อาจน่ากลัวกว่าเฟมินิสต์อีกมั้ง”

“เราสนับสนุนแนวคิดเฟมินิสต์นะ แต่…”

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นภาพประชาชนชาวเกาหลีใต้จำนวนมากรวมตัวกันที่ถนนเพื่อเรียกร้องให้ ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-yeol) ประธานาธิบดีคนคนปัจจุบันจากพรรคพลังประชาชน (People Power Party: PPP) ลาออกจากตำแหน่ง หลังมีข่าวฉาวมากมายเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม นโยบายและการให้สัมภาษณ์หลายอย่างที่แสดงถึงทัศนคติที่อาจเรียกได้ว่า ‘เหยียดเพศ’ รวมถึงความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานเสียงส่วนใหญ่ของเขาคือกลุ่มต่อต้านสตรีนิยม (Anti-feminism) ที่ผู้คนมักเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘แอนไทเฟมฯ’ 

ม็อบต่อต้านประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล มีหลายม็อบและพูดกันในหลายประเด็น บางกลุ่มพูดเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจ สิทธิแรงงานและการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บางส่วนออกมาเรียกร้องเรื่องสวัสดิการรัฐและระบบการศึกษา รวมถึงม็อบเฟมินิสต์ที่ออกมาต่อต้านนโยบายเรื่องเพศของรัฐบาล

องค์กรสตรีนิยมแฮอิล (The Feminist Organization Haeil) เป็นผู้นำการประท้วงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในกรุงโซล กวางจู และปูซาน 

หนึ่งในหัวข้อที่เฟมินิสต์ปราศรัยคือการตั้งคำถามว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีฐานเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 10 ของโลก แต่หากมองเรื่องอื่นๆ อย่าง ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ประเทศที่เจริญแล้วนี้อยู่ในอันดับ 115 จากทั้งหมด 149 ประเทศ 

ทำไมประเทศที่มีพร้อมในหลายด้าน กลับอยู่ในอันดับรั้งท้ายในเรื่องที่ไม่ควรจะรั้งท้ายอย่างเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงประเด็นสำคัญอย่างการถูกเรียกว่า “ประเทศที่มีผู้นำซึ่งมาจากแรงสนับสนุนของกลุ่มต่อต้านสตรีนิยม” ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่เกาหลีใต้จะเชิดหน้าชูตาต่อประชาคมโลกเท่าไหร่นัก

 

‘ทุนนิยมผสมปิตาธิปไตย’ ความฉิบหายที่ส่งผลร้ายต่อสังคม?

เวลานี้วัฒนธรรมเคป็อปกลายเป็นที่พูดถึงทั่วโลก ผู้คนจำนวนมากรู้จักนักร้อง นักแสดง ศิลปิน กลุ่มไอดอลมากหน้าหลายตา ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มาพร้อมกับความสมบูรณ์แบบ ความสวย ความหล่อ ความงดงาม ผิวพรรณที่ดี รูปหน้าที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งผู้คนบางกลุ่มก็มองว่าการเผยแพร่วัฒนธรรมนี้ล้วนเต็มไปด้วยข้อดี แต่ในเวลาเดียวกัน วัฒนธรรมเคปฌอปที่แสนภูมิใจนี้ก็ส่งผลกระทบสังคมเกาหลีใต้ไม่น้อย 

เรื่องเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องที่สามารถแตกขยายแยกย่อยได้ไม่รู้จบ เพราะเรื่องเพศไม่ใช่แค่ว่าใครเป็นเพศอะไร จะเรียกตัวเองว่าอะไร หรือใจความสำคัญหลักจะเป็นแค่เรื่องความเท่าเทียมทางเพศเท่านั้น 

แต่ยังควบรวมไปถึง ‘ความพยายามทำลายวัฒนธรรมบางอย่างที่เป็นพิษต่อคนในสังคม’ ซึ่งกลุ่มเฟมินิสต์ในเกาหลีใต้ก็มีกลุ่มย่อยหลากหลายที่มองแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน 

‘Escape the Corset’ หรือ ‘การหนีออกจากบ่วง’ คือชื่อการเรียกร้องของกลุ่มเฟมินิสต์ (ที่มีหลายกลุ่มหลายแนวคิด) ต้องการให้คนเกาหลีใต้เลิกกังวลเกี่ยวกับมาตรฐานความสวยความหล่อ เพราะภายใต้กรอบความงามที่สมบูรณ์แบบ ก็กำลังทำร้ายคนในสังคมอยู่ไม่มากก็น้อย

 ในปี 2019 เกิดการประท้วงกลางกรุงโซล ผู้คนในม็อบแสดงความกังวลว่าธุรกิจเสริมความงามและคลินิกศัลยกรรมพลาสติกที่เรียกกันว่า K-Beauty (ความงดงามแบบเกาหลีใต้) อาจทำให้บรรทัดฐานทางสังคมเปลี่ยนไป เพราะใครๆ ต่างก็ให้ค่าคนที่สวยหล่อเกินความเป็นจริง แล้วคนที่ไม่ได้ทำศัลยกรรม หรือคนที่มีรูปร่างหน้าตาตามมาตรฐาน K-beauty ก็จะถูกบีบให้หลุดจากสังคมแบบกลายๆ 

จอน โบรา (Jeon Bora) วัย 25 ปี สมาชิกขององค์กรสตรีนิยมแฮอิล ระบุว่าสื่อสังคมเกาหลีมีส่วนหล่อหลอมค่านิยมความสวยความหล่อแบบจำกัดผ่านภาพยนตร์ ละคร โฆษณา ที่จะเน้นผู้หญิงที่ขาวสวย ไว้ผมยาว แต่งหน้าหนาๆ ใส่คอนแทคเลนส์ที่ทำให้ตาดูโต และสวมเสื้อผ้าเข้ารูปเพื่อเน้นรูปร่าง 

เธอไม่ได้มีปัญหาอะไรที่คนจำนวนไม่น้อยจะอยากลุกขึ้นมาแต่งตัวให้ดีหรือดูแลตัวเอง แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ทำตามกรอบที่ว่านี้เท่าไรนัก ก็มักจะตกเป็นเป้าสนทนาหรือต้องเผชิญกับบทสนทนาที่เธอไม่สบายใจหลายครั้ง

“ทำไมไม่ดูแลตัวเองเลย”

“อยากให้เราช่วยสอนไหม เราช่วยได้นะ”

โบราเกิดความรู้สึกว่าค่านิยมความงามตามแบบฉบับเกาหลีเริ่มส่งผลกระทบต่อเธอมากจนเกินไปหรือไม่ หากไม่ยอมปฏิบัติตัวตามกรอบที่ว่า เธอก็จะต้องเผชิญกับคำถามหรือความห่วงใยที่ไม่จำเป็นต้องห่วงนี้ตลอดไปหรือเปล่า เพราะเธอเป็นนักกีฬายูโดประจำโรงเรียน สิ่งที่เธอทุ่มความสนใจมากที่สุดคือการฝึกซ้อมและพัฒนาฝีมือตัวเอง แต่เพื่อนส่วนใหญ่กลับวิจารณ์เสื้อผ้าโอเวอร์ไซซ์ของเธอ และตั้งคำถามซ้ำไปซ้ำมาว่าทำไมถึงไม่ยอมแต่งหน้า 

ฮวัง ดันบี (Danbi Hwang) สมาชิกอีกคนหนึ่งของแฮอิลกล่าวว่า เธอรู้สึกรำคาญใจมากเวลาที่เธอหรือเพื่อนผู้หญิงคนอื่นๆ ไม่ได้แต่งหน้าไปทำงาน เพื่อนร่วมงานจำนวนมากก็มักจะเข้ามาถามว่า “สบายดีไหมเนี่ย” ถูกทักว่าสภาพเหมือนคนป่วย รวมถึงคำถามคลาสสิกว่าทำไมหน้าซีด ทำไมปล่อยตัวให้โทรม 

Escape the Corset จึงเป็นหนึ่งในการผลักดันสังคมของกลุ่มเฟมินิสต์บางกลุ่มในเกาหลีใต้ เพราะพวกเขาและเธอเชื่อว่าโลกาภิวัตน์ ปิตาธิปไตย และทุนนิยม กำลังสร้างบรรยากาศไม่พึงประสงค์ให้กับสังคมที่ต่อต้านแนวคิดเฟมินิสต์แบบสุดโต่ง 

คิม จียอง (Kim Jiyoung) ศาสตราจารย์แห่งสถาบันร่างกายและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยคอนกุก อธิบายถึงเหตุผลที่ผู้คนบางส่วนในเกาหลีใต้กำลังพยายามต่อต้านอุตสาหกรรม K-Pop และ K-Beauty ที่สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะค่านิยมกับความบันเทิงที่เสริมสร้างภาพจำผิดเพี้ยน การพยายามจะต้องสวยหล่ออยู่ตลอดเวลา เพียงเพื่อให้ผู้คนต้องยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อเครื่องสำอางจำนวนมาก หรือยอมเข้าคลินิกศัลยกรรมปีละหลายครั้ง 

บรรยากาศรอบตัวสร้างความรู้สึกว่าผู้คนจำนวนมากกำลังวิ่งตามอุดมคติที่กลุ่มทุนสร้างขึ้นมา แล้วคนที่เจ็บปวดที่สุดก็คงหนีไม่พ้นผู้คนที่ยอมแพ้ต่อเสียงวิจารณ์ ผู้คนที่เหนื่อยกับการถูกตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่สวย ไม่หล่อ ไม่ดูแลตัวเอง ทั้งที่บางทีก็ไม่จำเป็นจะต้องทำกันจนกลายเป็นวิถีชีวิตขนาดนี้ก็ได้ 

“K-Pop และ K-Beauty กลายเป็นกลไกขนาดใหญ่ที่สามารถกำหนดภาพลักษณ์ในอุดมคติของหญิงสาวและชายหนุ่มได้แบบเบ็ดเสร็จ ไม่เพียงแค่ความงามเท่านั้น แต่ยังกำหนดได้ถึงทิศทางและความฝันของผู้คนในประเทศ”

ศาสตราจารย์คิมยังเสริมอีกว่า หากลองสังเกตความเปลี่ยนแปลงในสังคมให้ดี จะเห็นได้ว่าหญิงสาวเกาหลีในยุคนี้หลายคนฝันอยากจะเป็นช่างแต่งหน้า เป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ เป็นยูทูบเบอร์ หรือได้คลุกคลีอยู่กับเรื่องความสวยความงาม 

“หลายคนเกิดความรู้สึกหมกมุ่นกับบางอย่าง หลายคนเกิดความรู้สึกเกลียดชังตนเอง และรู้สึกเหนื่อยล้าในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ซึ่งความรู้สึกที่ว่ามานี้คือส่วนสำคัญที่ทำให้เราสูญเสียพลังงานหรือสูญเสียความสนใจที่จะมองไปยังโครงสร้างพื้นฐานหรือเรื่องบางอย่างที่ไม่เท่าเทียมในสังคม”

 

สาวผมสั้น อ่านหนังสือเฟมฯ ไม่ยอมอยู่ในกรอบ = สตรีนิยมไม่ก็พวกประสาทแดก 

มาตรฐานความงามแบบแปลกๆ ในเกาหลีใต้ยังปรากฏให้เห็นผ่าน ‘ความเกลียดกลัวสาวผมสั้น’ เพราะกลุ่มแอนไทเฟมฯ ได้กระจายความเชื่อในกลุ่มก้อนกันเองว่าผู้หญิงที่ไว้ผมสั้นคือเฟมินิสต์หัวรุนแรง (Look like a radical feminist) ถ้าไม่เป็นเฟมินิสต์ก็ต้องเป็นเกย์ เป็นพวกรักร่วมเพศ และส่งต่อคลื่นความเกลียดชังผิดๆ นี้ไปในสังคม 

เราได้เห็นการโจมตีนักกีฬายิงธนู อัน ซาน (An San) ที่ถึงแม้เธอจะสร้างชื่อเสียงให้ประเทศด้วยการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาได้ถึง 3 เหรียญ แต่กลุ่มแอนไทเฟมฯ ก็ยังคงเกลียดชังเธอ และพิมพ์ข้อความสาดโคลน แห่กันไปคอมเมนต์คุกคามทางเพศเธอในอินสตาแกรม

กลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ยังเคยโจมตี ไอรีน (Irene) สมาชิกวง Red Velvet เพราะสรุปเอาเองว่าเธอเป็นเฟมินิสต์เพราะเธอถือหนังสือ ‘คิมจียอง เกิดปี 1984’ ที่เล่าถึงชีวิตของหญิงสาวเกาหลีในสังคมที่อัดแน่นด้วยแนวคิดแบบปิตาธิปไตย ซึ่งแฟนคลับบางส่วนที่เป็นแอนไทเฟมฯ ก็พากันเผารูปไอรีนและบอกว่าจะไม่เป็นแฟนคลับของเธออีกต่อไป 

ข่าวจำนวนมากที่พบได้ตามอินเทอร์เน็ต คือหนึ่งในเครื่องยืนยันว่าผู้หญิงเกาหลีใต้จำนวนมากกำลังถูกจำกัดกรอบสิทธิเสรีภาพแบบกรายๆ สื่อต่างประเทศรายหนึ่งได้พูดคุยกับหญิงสาวคนหนึ่ง เธอบอกว่าตัวเองและกลุ่มเพื่อนยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพียงเพื่อจะได้หลุดออกจากคำครหา หรือแม้กระทั่งเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับชีวิตตัวเอง 

คิม (Kim) ที่สบายใจบอกแค่นามสกุลกล่าวกับสำนักข่าว NPR ว่าเธอกำลังเผชิญกับเรื่องที่ไม่ควรจะเจอ ตอนนี้เธออายุ 20 ปี และกำลังเรียนด้านวิจิตรศิลป์อยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ชีวิตเธอก็เหมือนกับคนอื่นๆ จนกระทั่งในช่วงฤดูร้อนเธอตัดสินใจตัดผมสั้น 

“พ่อกับแม่ตกใจมากตอนเห็นฉันตัดผมสั้น พ่อรีบถามเลยว่าตัดผมทำไม แล้วก็ถามอีกว่าฉันเป็นเลสเบี้ยนหรือเปล่า” 

กลายเป็นว่าแม้แต่ครอบครัวที่ควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย ก็สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับคิม นอกจากนี้ เมื่อเธอไปเรียนก็จะถูกเพื่อนมองด้วยสายตาแปลกๆ เดินบนถนนก็มีสายตาของผู้ชายหลายคนมองมา จนทำให้เธอเกิดความรู้สึกระแวง ไม่ปลอดภัย ทั้งที่การตัดผมของเธอมีเหตุผลแค่เพราะว่าอากาศร้อน ตัดผมแล้วทำให้รู้สึกไม่เหนียวตัวเท่านั้นเอง 

นอกจากจะต้องสวยตามแบบฉบับ K-Beauty หรืออาการเกลียดกลัวผู้หญิงผมสั้น หากผู้หญิงคนไหนมีภาพลักษณ์ผิดแปลกไปจากที่สังคมกำหนดไว้ หรือแม้กระทั่งทำบางอย่างที่ ‘เข้าข่ายว่าเป็นเฟมินิสต์’ พวกเขาหรือเธอก็จะถูกสังคมโจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะกับเหล่าคนดังที่มีหน้ามีตาและเป็นที่รู้จักในสังคม ยิ่งพวกเขาหรือเธอมีชื่อเสียง คนที่ไม่รู้จักมักจี่กันก็พร้อมจะสาดคอมเมนต์และความเกลียดชังจำนวนมากใส่ตัว 

กรณีของ ซอลลี่ (Sulli) ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนสังคมเกาหลีใต้ เธอเคยออกมาประท้วงรัฐบาลประธานาธิบดี พัค กึนฮเย (Park Geun-hye) ออกมารณรงค์ให้ผู้คนเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อผ้าอนามัยที่มองว่าเป็นเรื่องสกปรก จะต้องซื้อแบบหลบๆ ซ่อนๆ รวมถึงการ ‘โนบรา’ หรือเรียกชื่อผู้ชายที่อายุมากกว่าด้วยชื่อเฉยๆ ที่ทำให้หลายคนมองว่าเธอไม่มีสัมมาคารวะ มิหนำซ้ำยังพูดเรื่องความหลากหลายทางเพศหลายครั้ง 

เมื่อสังคมตัดสินว่าซอลลี่ไม่ตรงกับภาพลักษณ์ที่ถูกยัดเยียดให้ต้องทำตาม ทำให้เธอต้องเผชิญกับคอมเมนต์แย่ๆ รับคลื่นความเกลียดชังจากคนทั้งประเทศ เช่นเดียวกับไอดอลอีกคนอย่าง คู ฮารา (Goo Hara) ที่ทั้งถูกแฟนหนุ่มทำร้ายร่างกาย และถูกสังคมประณามสาปส่งด้วยเหตุผลเดียวกับซอลลี่เพียงเพราะเธอมีแฟน และเป็นผู้หญิงที่ไม่ตรงปก (วลีเด็ดที่ชาวเน็ตใช้บ่อย) และด้วยเหตุผลมากมายที่ไม่มีใครล่วงรู้ว่าพวกเธอต้องพบกับความเจ็บปวดจากสิ่งใดบ้าง สุดท้ายทั้งคู่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย

เรื่องราวของซอลลี่และคู ฮารา ที่เกิดขึ้นในปี 2019 รวมถึงกรณีการเสียชีวิตของ โอ อินเฮ (Oh Inhye) ในปี 2020 และซง ยูจอง (Song Yoojung) ในปี 2021 กลายเป็นที่พูดถึงไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะกับขบวนการเฟมินิสต์ยุคใหม่ที่เรียก 2 กรณีนี้ว่าเป็นการฆาตกรรมทางสังคม (Social Murders) พวกเธอไม่ได้ฆ่าตัวตาย แต่สังคมท็อกซิกคือส่วนสำคัญที่ตัดสินโทษประหารชีวิตพวกเธอด้วยเหมือนกัน 

หากย้อนกลับไปดูกระทู้ข่าวก่อนที่ไอดอลทั้ง 2 คนจะเสียชีวิต คอมเมนต์กว่า 90% คือการรุมประณามสาปส่ง ไล่ไปตาย ด่าทอว่าร้ายด้วยคำหยาบคาย กลายเป็นที่รองรับอารมณ์ของคนในโซเชียลมีเดีย 

การเสียชีวิตของนักแสดงหญิงเหล่านี้ในเกาหลีใต้ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศในประเทศ กระตุ้นให้นักสิทธิสตรีรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้องเรื่องการยุติการกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ต ขอให้รัฐบาลปรับความเข้มงวดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ 

ผู้คนบางส่วนมีมุมมองน่าสนใจว่า หากมองจากตัวเลข สถิติ การรายงานข่าว จะพบว่าคนดังเพศหญิงจะถูกด่าทอและไล่ไปตายมากกว่าเพศชาย และได้รับโอกาสให้กลับเข้าวงการน้อยกว่าคนดังชายอย่างเห็นได้ชัด แม้หลายกรณีพวกเธอจะไม่ได้ทำอะไรผิดก็ตาม 

 

‘เฟมินิสต์’ VS ‘แอนไทเฟมินิสต์’

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) องค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่ยอมรับระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจการค้าเสรีในการร่วมกันและพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปและโลก ระบุว่า สองถึง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เกาหลีใต้ยังคงเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศที่เหลื่อมล้ำมากที่สุด โดยในปี 2021 วัดช่องว่างดังกล่าวได้มากถึง 31% สูงเกินค่าเฉลี่ยที่องค์กร OECD กำหนดไว้สองเท่า ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีช่องว่างความเหลื่อมล้ำเรื่องค่าจ้างกับเพศอยู่ที่ 16.9% 

ในปี 2022 สำนักข่าว The Economist จัดอันดับให้เกาหลีใต้เป็นประเทศสมาชิกที่ปฏิบัติต่อพนักงานหญิงแย่ที่สุดใน OECD โดยเฉพาะในเรื่องของการลาคลอดที่เข้มงวด ซึ่งเป็นหนึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการเกิดของเกาหลีใต้ต่ำลงอย่างน่าใจหาย รวมถึงประเด็นที่ว่าผู้หญิงเกาหลีใต้ส่วนใหญ่จำเป็นที่จะต้องเลือกระหว่างอาชีพที่อยากทำหรือจะต้องออกมาเป็นแม่และเมียที่ดีเพื่อสร้างครอบครัวตามค่านิยมหลักของสังคม 

ริตา เซกาโต (Rita Segato) นักมานุษยวิทยาจากอาร์เจนตินา เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็น ‘อาณัติของผู้ชาย’ ที่หล่อหลอมสังคมทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการออกกฎหมายที่เหลื่อมล้ำ แล้วทำเหมือนกับว่ากฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นนี้ผ่านฉันทามติของสาธารณะ เพื่อกักขังผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศที่บังคับให้ต้องเงียบและก้มหน้าก้มตาใช้ชีวิตแบบไม่เท่าเทียมต่อไปเรื่อยๆ 

สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งมองตรงกันว่าเหตุการณ์ #MeToo ในปี 2018 คือหนึ่งในตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในเกาหลีใต้ ที่ทำให้ขบวนการเฟมินิสต์ยุคใหม่ในพื้นที่ที่มีแนวคิดปิตาธิปไตยหนาแน่นได้เริ่มจับกลุ่มกันอีกครั้ง เพื่อพูดถึงความเท่าเทียมในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะในครอบครัว สถานศึกษา ที่ทำงาน องค์กรทางการเมือง ฯลฯ

ประชาชนและสื่อสามารถเปิดโปงการกระทำเหยียดเพศของนักการเมืองเกาหลีใต้ได้หลายคน เช่น คดีล่วงละเมิดทางเพศเลขานุการของอดีตนายกรัฐมนตรีโซล ปาร์ค วอนซูน (Park Wonsoon) และโอ คอดน (Oh Keodon) อดีตนายกเทศมนตรีปูซาน ที่กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้จำนวนมากในประเทศรู้สึกว่าเสียงของพวกเขามีความหมาย หากออกมารวมตัวกัน เสียงก็จะยิ่งดังขึ้น และอาจสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างให้กับสังคม วัฒนธรรมแบบเก่า หรือแม้กระทั่งในโลกการเมืองที่มักสงวนไว้ให้แค่ ‘ความเป็นชาย’ 

ทว่าในปัจจุบัน เกาหลีใต้ในยุคประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล ถูกเรียกได้ว่าเป็น ‘ยุคเฟื่องฟูของแอนไทเฟมินิสต์’ ใช้ประโยชน์จากกลุ่มต่อต้านสตรีนิยมที่เป็นฐานเสียงหลัก ขณะเดียวกันก็ออกนโยบายที่ทำให้กลุ่มดังกล่าวพึงพอใจ เช่น คำมั่นสัญญาที่จะยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว (Ministry of Gender Equality and Family) หรือชื่อเดิมที่เรียกกันว่า ‘กระทรวงสตรี’ และการเพิ่มโทษคดีข่มขืนที่เป็นเท็จ (ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงคนหนึ่งแจ้งความว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ถ้าไม่มีหลักฐานมากพอ ผู้แจ้งความอาจโดนข้อหาแจ้งความเท็จเสียเอง) ที่กลายเป็นส่วนสำคัญทำให้ผู้หญิงจำนวนมากไม่กล้าออกมาแจ้งความ 

ขบวนการต่อต้านเฟมินิสต์ในเกาหลีใต้มีขนาดใหญ่กว่าที่หลายคนคาดคิด พวกเขาจะสร้างชุมชนออนไลน์ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความเชื่อว่า เฟมินิสต์ในเกาหลีใต้คือพวกหัวรุนแรงและเกลียดกลัวผู้ชาย เห็นได้จากช่องยูทูบช่องหนึ่งที่มีผู้ติดตามมากกว่า 5 แสนคน ที่มักจะลงเนื้อหาโจมตีเฟมินิสต์ว่าเป็น ‘ผู้ป่วยทางจิต’ หรือเปลี่ยนความหมายของคำว่า Feminist ด้วยการย่อให้เหลือเพียงแค่ ‘femi’ แล้วใช้คำคำนี้ในเวลาที่จะกล่าวหาว่าอีกฝ่ายเป็นพวกโรคจิต 

ฮวัง (Hwang) สมาชิกอีกคนขององค์กรสตรีนิยมแฮอิล อธิบายการใช้คำว่า ‘femi’ เพิ่มเติมว่าใช้เพื่อดูถูกเหยียดหยาม กลายเป็นว่าหากมีใครเดินมาถามว่าเป็น ‘femi’ หรือไม่ นั่นหมายความว่าผู้พูดรู้สึกว่าเรากำลังเป็นพวกจิตป่วยประสาทแดกหรือไม่ 

จากบทความ ‘ปมเรื่องเพศ’ กับ ‘การหาเสียงแบบสาดโคลน’ สื่อมองการเลือกตั้งผู้นำเกาหลีใต้ 2022 เละเทะที่สุดในรอบหลายปี ผู้เขียนเคยอธิบายการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ที่ออกมาจัดการประท้วง พวกเขารู้สึกว่าตัวเองก็กำลังเผชิญกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ ไม่พอใจที่ผู้ชายต้องเกณฑ์ทหาร ส่วนผู้หญิงได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ รวมถึงการที่เพศชายต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นจำนวนมาก ส่วนรัฐบาลก็พยายามช่วยเหลือแค่เรื่องสิทธิสตรีแต่หลงลืมสิทธิของเพศชาย ส่วนม็อบเฟมินิสต์ชูประเด็นว่าคนทุกเพศล้วนได้รับความเจ็บปวดจากสังคมเกาหลีใต้ ที่เต็มไปด้วยความเป็นปิตาธิปไตยเข้มข้น

เฟมินิสต์หลายคนมักได้รับข้อความขู่ฆ่า ข้อความที่บอกว่าจะสะกดรอยตามถึงบ้าน ดักรอเพื่อทำร้ายหรือข่มขืน เฟมินิสต์ในเกาหลีใต้จึงมักขับเคลื่อนประเด็นที่พวกเขาอยากพูดแบบไม่เปิดหน้า และคนที่ยอมเปิดหน้าบางส่วนถูกคุกคามจนยอมแพ้และเดินทางออกนอกประเทศก็มี 

กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกิดขึ้นกับ พัค เยอึน (Park Ye-Eun) อดีตสมาชิกวง Wonder Girls ผู้ไม่เคยปฏิเสธว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ ออกมาเล่าเรื่องราวที่ถูกกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์คุกคามหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประจำปี 2022 ออกมาว่า ยุน ซอกยอล เป็นผู้ชนะ ฐานเสียงส่วนใหญ่ของเขาที่เป็นกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์พากันส่งข้อความขู่ฆ่า ข้อความแสดงความรังเกียจหรือสมน้ำหน้าให้เยอึนทางอินสตาแกรม

เพราะวาทกรรมเกี่ยวกับสิทธิสตรีเป็นเรื่องต้องห้าม ส่วนผู้ชายจำนวนหนึ่งก็อ้างว่าพวกเขาต่างหากที่ตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติทางเพศ ต้องอยู่ในความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมากกว่าที่ผู้หญิงหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศกำลังเผชิญอยู่ด้วยซ้ำ 

“ในฐานะเฟมินิสต์ การเปิดเผยใบหน้า พูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ มักได้รับผลกระทบที่คาดไม่ถึง และมีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าที่คิด”

 

อ้างอิง

https://theswaddle.com/feminists-in-south-korea-are-protesting-a-wave-of-anti-feminism/

https://www.npr.org/2022/12/03/1135162927/women-feminism-south-korea-sexism-protest-haeil-yoon 

https://www.npr.org/2019/05/06/703749983/south-korean-women-escape-the-corset-and-reject-their-countrys-beauty-ideals 

https://www.nbcnews.com/news/world/stark-gender-inequality-south-korea-hostility-feminism-growing-rcna59747 

https://iai.tv/articles/the-myth-of-the-one-true-feminism-auid-2329 

https://www.newsroom.co.nz/social-issues/the-flipside-of-womens-rights-movements 

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,